ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กุมภาพันธ์ 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
ภาษาและวรรณกรรม
ไทย-จีน 2,500 ปีมาแล้ว
ภาษาและวรรณกรรมไทย-จีน แลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่กันและกัน 2,500 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ยังไม่เรียกตนเองว่า “ไทย” หรือ “คนไทย” แต่ถูกจีนเรียกว่า “เยว่” (หมายถึงคนป่าเถื่อน) สมัยนั้นรวมทั้งจีนก็ยังไม่ถูกเรียกว่าจีน
แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย “ตกหลุมดำ” ของ “เชื้อชาติไทย” ซึ่งไม่มีจริงในโลก ดังนั้น เลยพากัน “นับหนึ่ง” ที่กรุงสุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย แล้วตีขลุมเหมารวมภาษาและวรรณกรรมเริ่มที่กรุงสุโขทัย ทำให้ตัดทิ้งความสัมพันธ์ของภาษาและวรรณกรรมไทย-จีน ตั้งแต่สมัยเริ่มแรก
ไทย-จีน 2,500 ปีมาแล้ว
ไท-ไต บรรพชนกลุ่มหนึ่งของไทยหลายพันปีมาแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของเยว่ซึ่งใกล้ชิดจีน ด้วยเหตุดังนั้นวัฒนธรรมจีนจำนวนหนึ่งจึงถ่ายทอดผ่านเยว่สู่ไท-ไต สืบเนื่องถึงลาวและไทยทุกวันนี้ วัฒนธรรมจีนพบในไทย เช่น หม้อสามขา, เครื่องสำริด, ความเชื่อขวัญ, ปีนักษัตร แม่ปีลูกปี เป็นต้น
หลักฐานโบราณคดีพบในไทย ที่แสดงความสัมพันธ์จีนกับไทยไม่น้อยกว่า 2,000 ปีมาแล้ว เช่น เครื่องปั้นดินเผา 3 ขา, เครื่องมือเครื่องใช้สำริดแบบฮั่น
เครื่องปั้นดินเผา 3 ขา เป็นวัฒนธรรมลุงชานในจีน บริเวณทางใต้ลุ่มน้ำฮวงโหต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำแยงซี มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว พบบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน กระจายลงไปถึงภาคใต้และคาบสมุทรมลายู (จากหนังสือ “สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย” ของ ชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 42-48)
เครื่องมือเครื่องใช้แบบฮั่น เป็นวัฒนธรรมสำริด เคลื่อนย้ายมาจากจีนราว 2,000 ปีมาแล้ว พบบริเวณลุ่มน้ำน่าน ที่ม่อนวัดเกษมจิตตาราม คลองโพ ต.ท่าเสา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ (จากหนังสือ “เมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง กรุงสุโขทัย และรอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย” ของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555)
เชื่อเรื่องขวัญ (ในศาสนาผี) คล้ายคลึงกับจีนเชื่อเรื่องหวั่น (กวางตุ้ง), ฮุ้น (แต้จิ๋ว) [พระยาอนุมานราชธน อธิบายในหนังสือไทย-จีน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2479)]
ขวัญ เป็นวัฒนธรรมร่วมจีน, ไทย และอุษาคเนย์ [อาจมีที่อื่นอีก] มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว
คนแต่ละคนในความเข้าใจและความเชื่อของไทยสมัยก่อน ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ (1) ส่วนที่เป็นตัวตน เรียกมิ่ง คือ ร่างกายอวัยวะต่างๆ และ (2) ส่วนที่ไม่เป็นตัวตน เรียกขวัญ คือ ไม่มีรูปร่าง
ไทย ว่า ขวัญ ส่วนจีน ว่า หวั่น (กวางตุ้ง) ฮุ้น (แต้จิ๋ว) [จากหนังสือ “ไทย-จีน” ของ พระยาอนุมานราชธน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2479) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2505 หน้า 93]
พิธีกรรมหลังความตาย มีส่งขวัญคล้ายกันทั้งไทยและจีน (จากหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา โดย เจียแยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 86)
คนจีนโบราณไม่เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด (ตามพุทธศาสนา) แต่เชื่อว่าคนตายแล้วขวัญยังอยู่ มีสถานะเป็นเจ้าประจำวงศ์ตระกูล (คำจีนว่า “เจียสิน” เสียงแต้จิ๋วว่า “เกซิ้ง”)
ขวัญของคนจีนมี 2 ประเภท อยู่รวมกัน ได้แก่ หุน [คำไทยว่า ขวัญ] เป็นฝ่ายหยาง หรือฝ่ายจิต มีความนึกคิด และมีอารมณ์ ซึ่งเป็นสมรรถนะทางจิต ส่วน พ่อ [แปลว่า มิ่ง] เป็นฝ่ายหยิน หรือฝ่ายกาย มีความเคลื่อนไหวทางกาย แต่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเป็นสมรรถนะทางกาย
เมื่อคนตกใจหรือเจ็บป่วย ขวัญ 2 ประเภทจะออกจากร่างชั่วคราว ครั้นคนตาย ขวัญ 2 ประเภทออกจากร่าง โดยหุน (ขวัญ) จำญาติมิตรได้ แต่พ่อ (มิ่ง) ถ้าขาดหุนอยู่ด้วยจะกลายเป็นผีดิบ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี
[สรุปจากบทความเรื่อง “ป้ายสถิตวิญญาณจากจีน สู่ราชสำนักไทย” ของถาวร สิกขโกศล ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2559 หน้า 161]
ขวัญ, กงเต็ก ความเชื่อเรื่องขวัญของจีน จึงขุดพบกองทหารดินเผาในสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี เป็นต้นทางประเพณีกงเต็ก ดังนี้
(1.) เมื่อหัวหน้าเผ่าตาย บรรดาบริวารต้องถูกทำให้ตายแล้วฝังดินในหลุมศพเดียวกัน (2.) ต่อมาปั้นหุ่นคนแทนเหล่าบริวารที่เป็นคนจริง ฝังร่วมหลุมศพพระราชา (3.) สมัยหลังจากนั้นเผากระดาษแทนปั้นหุ่นคน แล้วเรียก “กงเต็ก” สืบจนทุกวันนี้
[สรุปจาก (1.) บทความเรื่อง “กงเต็ก” ของวรศักดิ์ มหัทธโนบล พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2542 หน้า 70 และ (2.) หนังสือ “กงเต็ก พิธีศพชาวจีนแต้จิ๋ว” ของธรรญาภรณ์ วงศ์บุญชัยนันท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2550 หน้า 8-9]
คำจีนในไทย หลายพันปีมาแล้ว
รากเหง้าภาษาไทยอยู่ดินแดนทางใต้ของจีน ย่อมเป็นเหตุให้ภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนผสมปนเปอย่างธรรมชาติ แล้วฟักตัวอยู่ในภาษาไทยตั้งแต่หลายพันปีมาแล้ว ครั้นนานเข้าก็กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน (เป็นเหตุให้ถูกเข้าใจสมัยหลังว่าคำจีนเหล่านั้นเป็นภาษาไทย) จากนั้นทยอยแผ่ลงทางทิศใต้ตามเส้นทางคมนาคมการค้าของดินแดนภายใน กระทั่งถึงบริเวณประเทศไทยทุกวันนี้ มีหลักฐานสำคัญๆ ได้แก่ ชื่อปีนักษัตร (บางชื่อ) ในภาคเหนือและภาคกลาง
แถน เชื่อว่าเป็นคำร่วมกับคำจีน เทียน แปลว่า ฟ้า [พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) บอกไว้ในหนังสือ “พงศาวดารโยนก” (เรียบเรียงเมื่อปลายแผ่นดิน ร.5 พ.ศ.2451)]
สิบสองนักษัตร ไทยรับจากจีน (โดยเชื่อกันว่าจีนรับจากตะวันออกกลางอีกทอดหนึ่ง) นามปีมหาจักรของไทยในล้านนา ตรงกับภาษาจีนโบราณ เช่น
ล้านนา เรียก ปีกาบใจ้ ตรงกับจีนว่า กับจี้ (ภาคกลางเรียก ปีชวดเอกศก)
ล้านนา เรียก ปีกัดเม้า ตรงกับจีนว่า กี่เม้า (ภาคกลางเรียก ปีเถาะฉศก)
[สรุปจากหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา ของเจียแยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 34-35]
แม่ปีลูกปี ในล้านนาได้ต้นแบบจากปฏิทิน “กานจือ” ของจีน ราว 3,000 ปีมาแล้ว (คำอธิบายโดยสรุปของเจีย แยนจอง นักปราชญ์จีนเรื่อง ไท-ไต) แม่ปี หมายถึง ศก มี 10 ศก ได้แก่ กาบ, ดับ, ลวาย, เมิง, เปิด, กัด, กด, ลวง, เต่า, ก่า ลูกปี หมายถึง นักษัตร มี 12 นักษัตร ได้แก่ ใจ้, เป้า, ยี่, เม้า, สี, ใส้, สง้า, เม็ด, สัน, เล้า, เส็ด, ไก๊ [ปีนักษัตรทางภาคกลาง เรียกชื่อปีด้วยคำจากหลายภาษา เช่น ชวด (ภาษาจีน), ขาล (ภาษาเขมร), จอ (ภาษากุย) เป็นต้น]
ปลาบู่ทอง คำบอกเล่าไท-ไตในจีน
ปลาบู่ทอง มีกำเนิดจากนิทานของชาวจ้วง (พูดตระกูลภาษาไท-ไต ต้นกำเนิดภาษาไทย) มณฑลกวางสี ทางใต้ของจีน แล้วแพร่กระจายหลายทิศทางกว้างไกล
ทางหนึ่ง กระจายไปกับตระกูลภาษาไท-ไต ตามเส้นทางการค้าจากทางใต้ของจีน เข้าถึงลุ่มน้ำโขง ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ออกอ่าวไทย
อีกทางหนึ่ง เข้าสู่ราชสำนักจีน พบหลักฐานเก่าสุดในหนังสือของจีน โดยต้วนเฉิงซี (ระหว่าง พ.ศ.1346-1406) แล้วแพร่หลายถึงยุโรป ถูกดัดแปลงเป็นเรื่องซินเดอเรลล่า มีบันทึกโดยชาวอิตาลี พ.ศ.2180
[รายละเอียดอยู่ในข้อเขียนเรื่อง “ซินเดอเรลล่าและปลาบู่ทอง มีที่มาจากนิทานของชาวจ้วง?” ของศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 28 กันยายน-4 ตุลาคม 2561 หน้า 82 และมีบอกในเอกสารหลายเล่ม เช่น (1.) จากซินเดอเรลล่า ถึงปลาบู่ทอง โดยเสาวลักษณ์ อนันตศานต์ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2540, (2.) ชนชาติไทในนิทาน โดยศิราพร ณ ถลาง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545, (3.) บทความเรื่อง “ชาวจ้วง-ลาว-ไท” ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน-ปลาบู่ทอง-เต่าคำ”
วรรณกรรมเกี่ยวกับผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่ของโลก โดยทองแถม นาถจำนง ในหนังสือ “ร่องรอยกาลเวลา : อาเซียนศึกษา” (ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต บรรณาธิการ) เอกสารประกอบการสัมมนาแบ่งปันความรู้สู่สาธารณะ พ.ศ.2557 หน้า 35-50]