ผี พราหมณ์ พุทธ / สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของไทย (6) : การชุมนุม ‘สัตสังค์’ / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของไทย (6)

: การชุมนุม ‘สัตสังค์’

ก่อนการระบาดของไวรัสโคโรนา หากท่านไปวัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช หรือวัดวิษณุ สมาคมฮินดูธรรมสภาในวันอาทิตย์ช่วงสายๆ ท่านจะได้พบกับคนฮินดูจำนวนมากที่มา “ชุมนุม” กัน

การชุมนุมนี้มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการเทศน์สอน ร้องเพลงสรรเสริญ พิธีกรรมบูชา และมีการเลี้ยงอาหารอินเดียมังสวิรัติตามประเพณี

การชุมนุมนี้เรียกว่า “สัตสังค์” (satsanga) (อ่านแบบสันสกฤตว่าสัตสังคะ หรืออ่านรวบแบบฮินดีว่า สัตสังค์) คำว่า สัต (สตฺ) แปลว่า ดี จริง ศุภะ ปุณยะ ฯลฯ ส่วนคำว่า สังค์ (สงฺค) แปลว่า การชุมนุม การมารวมกัน ความรักใคร่ไมตรี ฯลฯ

“สังค์” มีความหมายคล้ายคำว่า “สังฆะ” ที่เราใช้ในพุทธศาสนา ซึ่งความหมายที่แท้จริงไม่ได้หมายถึงนักบวชพระภิกษุ แต่หมายถึงหมู่ กลุ่มคนหรือชุมชน (community) ที่ต่างเกื้อกูลในการปฏิบัติต่อกันนั่นเอง

“สัตสังค์” จึงมีความหมายว่า การเข้าสมาคมกับความดี หรือชุมนุมของความดี ความจริง หรือบางครั้งท่านก็นิยามว่า สัตสังค์ คือ ชุมนุมของ “สัตปุรุษ” หมายถึงสาธุชน

ตรงข้ามกับคำว่า “กุสังค์” ซึ่งหมายถึง การสมาคมด้วยทุรชนหรือคนพาล ที่ส้องเสพด้วยก็จะนำมาแต่ความเสื่อม

ในศาสนาฮินดูเน้นเรื่องนี้มากครับ ถึงขนาดมีคำสอนเรื่องบาปหนักห้าประการ (ปัญจมหาปาตกะ) ตามคัมภีร์เก่าๆ ข้อสุดท้ายท่านห้ามมิให้ส้องเสพกับคนประพฤติบาปหนัก (ฆ่าพราหมณ์ ลักทรัพย์ของครู ทำทุราจารด้วยภรรยาครู ดื่มสุรา) ขืนสมาคมด้วย เท่ากับเป็นบาปหนักอีกข้อ

การชุมนุมสัตสังค์นี้จะมีที่มาอย่างไรไม่ชัดแจ้ง อาจมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งคงไม่ได้มีลักษณะหรือรูปแบบที่ตายตัวชัดเจนอย่างสัตสังค์สมัยใหม่ แต่หมายถึงการที่ศิษย์ไปอยู่กับคุรุของตน หรือใช้ชีวิตร่วมกันในอาศรมเป็นกลุ่มเป็นก้อน ใช้ชีวิตศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติธรรมร่วมกันเป็นหลัก

สัตสังค์จึงมีในทุกศาสนาของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นฮินดู พุทธ หรือไชนะ แต่เดิมเป็นเรื่องของพวกนักบวชสละโลกไม่ใช่เรื่องฆราวาส

ส่วนในพวกฆราวาสนั้น ก็มีการไปชุมนุมตามเทวสถานต่างๆ บ้าง แต่ก็เพื่อการประกอบพิธีกรรม หรือบูชาเทวรูปตามวาระโอกาส มิใช่เพื่อไปร่ำเรียน ปฏิบัติหรือรับคำสอนอย่างในสำนักของนักบวช

ของบ้านเราก็เป็นเช่นนี้ครับ เทวสถานสำหรับพระนครที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปสักการะได้นั้นก็เน้นการประกอบพิธีกรรมและบูชาเป็นสำคัญ ไม่ได้จัดการชุมนุมกันเป็นกลุ่มก้อนที่มีกิจกรรมบางอย่างร่วมกันเป็นประจำ

ผมเข้าใจว่า กิจกรรมชุมนุมสัตสังค์ของฆราวาสจริงๆ น่าจะเริ่มพร้อมกับการเกิดขึ้นของขบวนการภักติในภาคใต้ ซึ่งบรรดานักบุญเหล่านี้คงจะได้เดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง เพื่อให้คำสอน พร้อมขับร้องเพลงสรรเสริญไปตามสถานที่ต่างๆ แต่คงไม่ได้มีสถานที่เฉพาะสำหรับสัตสังค์อย่างในปัจจุบัน

ในเวลาต่อมา เมื่อขบวนการภักติยุคกลางในภาคเหนือแพร่หลาย สัตสังค์กลายเป็นกิจกรรมหลักของศาสนาฮินดู มีภาพเขียนในยุคกลางที่แสดงให้เห็นการชุมนุมกันทางศาสนาในป่า ในพระราชวัง หรือละแวกบ้าน

กิจกรรมของสัตสังค์ในเวลานั้น นอกจากจะมีการให้คำสอนและขับร้องเพลงแล้ว ก็อาจมีการยกเอาตำนานเทพหรือมหากาพย์ต่างๆ เช่น รามายณะมาอ่านกันด้วย และคงมีการโต้แย้งถกเถียงประเด็นคำสอนและปรัชญาจากต่างสำนักต่างศาสนาด้วยเช่นกัน

ศาสนาสิกข์เองเมื่อก่อตั้งแล้วก็ได้มีสัตสังค์ตั้งแต่สมัยพระศาสดาองค์แรกคือคุรุนานักเทพ ต้องไม่ลืมนะครับว่าขบวนการภักติสมัยกลางนั้นมีอิทธิพลโดยตรงต่อศาสนาสิกข์

แต่สัตสังค์ของศาสนาสิกข์ค่อนข้างมีระบบชัดเจนเนื่องจากอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและระเบียบที่ถูกกำหนดไว้แล้วโดยคุรุหลายองค์ แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกับศาสนาฮินดูมากก็ตาม

สถานที่สำหรับสัตสังค์นอกจากลานกว้างหรือป่าเขาแล้ว ต่อมาได้เกิดสถานที่เพื่อการชุมนุมโดยเฉพาะ เช่น ธรรมศาลา (ซึ่งหมายถึงสถานที่พักของคนเดินทางแสวงบุญ) หรือลานของ “หะเวลี” อันหมายถึงแมนชั่น หรือกลุ่มอาคารของพวกพ่อค้าในภาคเหนือและตะวันตกของอินเดีย ที่มักมีลานกว้างไว้สำหรับทำกิจกรรมอยู่ตรงกลาง

เหตุที่เทวสถานยังไม่ใช่สถานที่สำหรับสัตสังค์ ผมคิดว่าเพราะสัตสังค์นั้นไม่ได้มีการแบ่งแยกผู้คนที่เข้าร่วม ผิดกับธรรมเนียมของเทวสถานแต่โบราณที่มักไม่ให้คนวรรณะต่ำเข้า อีกทั้งเทวสถานไม่ได้ถูกออกแบบให้ทำกิจกรรมในลักษณะนั้น แต่มีเพื่อการสักการบูชาเป็นหลัก

เผลอๆ พวกพราหมณ์เองก็อาจไม่ชอบบรรดานักบุญหัวก้าวหน้าที่ปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของพวกตน จะให้มาทำกิจกรรมชุมนุมของคนเหล่านี้ได้อย่างไร

กระนั้นในเวลาต่อมา เทวสถานบางแห่งก็ได้จัดให้มีการสัตสังค์ด้วย โดยเฉพาะในภาคเหนือของอินเดีย เพราะขบวนการภักติได้กลายเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตชาวบ้านไปแล้ว

เมื่อเกิดองค์กรฮินดูปฏิรูป (คือช่วงเรียกร้องเอกราชอินเดีย) กิจกรรมสัตสังค์จะจัดโดยสมาคมหรือ “สมาช” ต่างๆ เช่น พรหโมสมาช อารยสมาช ฯลฯ นอกจากเพื่อทำกิจกรรมทางศาสนา สัตสังค์ยังเป็นกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดทางปรัชญาและสังคมการเมืองที่เกี่ยวกับศาสนา รวมทั้งกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ด้วย

สัตสังค์ในปัจจุบันที่ได้รับอิทธิพลของทั้งขบวนการภักติในยุคกลางและยุคการก่อร่างประเทศอินเดีย จึงมีกิจกรรมที่กว้างขวางและหลากหลายมาก ทั้งทางศาสนา การถกเถียงทางความคิด การศึกษา การขับร้องเพลงสรรเสริญ กิจกรรมทางวัฒนธรรม งานสังคมสงเคราะห์ และเป็นโอกาสที่จะได้พบและรับฟังคำสอนของคุรุที่มีชื่อเสียง

นอกจากนี้ สัตสังค์ยังเป็นเสมือนโอกาสที่ทำให้คน “บ้านเดียวกัน” ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกัน โดยเฉพาะสัตสังค์ในต่างประเทศ

กล่าวถึงบ้านเรา สัตสังค์เป็นกิจกรรมหลักในศาสนาสถานของชาวฮินดูที่มาจากภาคเหนือ คือเทพมณเฑียร ฮินดูสมาช, วัดวิษณุ ฮินดูธรรมสภา, อารยสมาช, สมาคมกฤษณะจิตสำนึกนานาชาติ (หะเรกฤษณะ) และคีตาอาศรมแห่งประเทศไทย

ส่วนวัดแขกสีลม ผมเข้าใจว่าไม่ได้มีสัตสังค์ เพราะเป็นเทวาลัยตามขนบวัฒนธรรมเดิมของอินเดียใต้ที่เน้นการประกอบพิธีกรรมเป็นสำคัญ

ที่จริง ความข้างต้นสะท้อนสิ่งที่น่าสนใจว่า การที่วัดของชาวฮินดูทางเหนือในบ้านเรามีสัตสังค์ แต่เทวาลัยทางใต้ไม่ค่อยมีนั้น มีเหตุผลทางประวัติศาสตร์อยู่ด้วย คือศาสนสถานของฮินดูในภาคเหนือเหล่านี้เป็นการงอกเงยมาจากบรรดาสมาชและองค์กรฮินดูปฏิรูปในช่วงเรียกร้องเอกราชอินเดียนั่นเอง

แม้สัตสังค์ของฆราวาสจะมีรากเหง้าเก่าแก่ อย่างน้อยๆ ก็ถึงยุคขบวนการภักติซึ่งแพร่หลายในภาคเหนือ แต่ผมคิดว่าสัตสังค์ที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ฮินดูที่เพิ่งสร้าง” เช่นกัน เพราะนอกจากมันถูกทำให้สำคัญยิ่งขึ้นโดยองค์กรฮินดูปฏิรูป มันยังมีลักษณะบางอย่างที่น่าสนใจ กล่าวคือ การกำหนดให้มีสัตสังค์ในรอบสัปดาห์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่อะไร

สัตสังค์ของศาสนาฮินดูในกรุงเทพฯ หรือในอินเดียเอง ส่วนใหญ่ทำกันในวันอาทิตย์ ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง ส่วนฮินดูสมาชที่เชียงใหม่สมัยผมเรียนอยู่มีสัตสังค์เวลากลางคืนวันอังคาร ท่านว่า เพราะชาวบ้านนับถือพระหนุมาน จึงกำหนดวันอังคารอันเป็นวันบูชาพระหนุมานเพื่อทำสัตสังค์

วันที่กำหนดให้บูชาพระแต่เดิมของฮินดู ที่จริงเน้นวันทางจันทรคติ เช่น วันสิบห้าค่ำ สี่ค่ำ สิบเอ็ดค่ำ ฯลฯ ซึ่งมีมากมายหลายหลาก แต่การกำหนดวันอาทิตย์ในรอบสัปดาห์ให้เป็นวันสัตสังค์ ผมเดาว่าเป็นสิ่งใหม่ เพราะวันอาทิตย์โดยปกติแล้วไม่ได้มีนัยยะพิเศษในทางศาสนาฮินดู ผิดกับชาวคริสต์ที่มักกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันไปโบสถ์ ส่วนชาวมุสลิมก็มีวันศุกร์เป็นวันสำคัญในสัปดาห์ ซึ่งล้วนรับมาจากคติของชาวยิวที่ให้มีวัน “สะบาโต” คือวันศักดิ์สิทธิ์หนึ่งวันในรอบสัปดาห์นั่นเอง

การกำหนดให้มีสัตสังค์ในรอบสัปดาห์ โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ ก็คือการเอาอย่างศาสนาคริสต์และอิสลามในอินเดียนั่นเอง เพราะไม่เคยเป็นธรรมเนียมเดิมของฮินดู เป็นการสร้างระบบที่ชัดเจนขึ้นมาแข่งกัน หรือความพยายามทำให้ฮินดูเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้นนั่นเอง อันนี้เป็นข้อสันนิษฐานนะครับ เช่นเดียวกับการสร้างโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในบ้านเรา

สัตสังค์จึงเป็นวัฒนธรรมเก่า-สร้างใหม่ ภายใต้บริบทบางอย่างของฮินดูอินเดีย

จึงไม่ปรากฏในศาสนาพราหมณ์แบบไทยๆ นั่นเอง