อีกเส้นทางชีวิตของ “มิน อ่อง ลาย” นายพลเบื้องหลังรัฐประหารเมียนมา

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา เคยได้รับเสียงชื่นชมในฐานะนายทหารที่นำเมียนมา เปลี่ยนผ่านจากการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร ไปสู่การเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

แต่ล่าสุด พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ที่มีกำหนดจะต้องเกษียณอายุราชการในปีนี้ กลับสั่งจับกุมตัวนางออง ซาน ซูจี ยึดอำนาจบริหารประเทศมาเป็นของตนเองทั้งหมด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยอ้างว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ยังคงไม่ชัดเจนว่าเหตุผลที่แท้จริงของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ในการยึดอำนาจคืนมา และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี คืออะไร บ้างก็ว่าเป็นเรื่องความพ่ายแพ้ของพรรคสหยูเอสดีพีในการเลือกตั้ง บ้างก็ว่าเป็นเรื่องคดีความฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ที่กองทัพเมียนมาอยู่เบื้องหลัง

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูท่าทีของกองทัพกันต่อไป

 

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย นายทหารรูปร่างเล็ก วัย 65 ปี สวมใส่แว่นไร้ขอบ มีภาพลักษณ์เหมือนข้าราชการที่ทำงานในสำนักงานมากกว่าการเป็นผู้บัญชาการทหารในกองทัพ

มิน อ่อง ลาย มีความพยายามสร้างภาพลักษณ์แบบรัฐบุรุษ ด้วยการสมัครเฟซบุ๊กเป็นของตัวเอง และโปรโมตตัวเองด้วยการบริจาคเงินทำบุญให้กับวัดหลายแห่ง แบบเดียวกับนักการเมืองเมียนมา

เกิดในปี ค.ศ.1956 ในเมืองทวายตอนใต้ของเมียนมา มิน อ่อง ลาย จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ในช่วงทศวรรษที่ 70 และเวลานั้นก็ไม่ได้สนใจยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กำลังเป็นที่สนใจของนักศึกษาเมียนมาแต่อย่างใด

“เขาเป็นชายที่พูดน้อยและไม่ชอบทำตัวเป็นจุดสนใจ” เพื่อนร่วมชั้นเรียนระบุกับสำนักข่าวรอยเตอร์สเอาไว้เมื่อปี 2016

ในช่วงเวลาที่นักศึกษาเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยออกไปร่วมเดินขบวนประท้วงกัน มิน อ่อง ลาย ตัดสินใจสมัครเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร (ดีเอสเอ) และประสบความสำเร็จในการสมัครในครั้งที่ 3 ในปี 1974

เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารระบุว่า มิน อ่อง ลาย เป็นนักเรียนนายร้อยที่ไม่ได้โดดเด่น และได้รับการเลื่อนยศไปตามขั้นตอนอย่างสม่ำเสมอ

มิน อ่อง ลาย ก้าวสู่การเป็นนายทหารระดับสูงในปี 2008 หลังได้รับแต่งตั้งให้บัญชาการกวาดล้าง “การปฏิวัติชายจีวร” การประท้วงของกลุ่มพระสงฆ์ที่ออกมาต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมัน ในเมืองทางตะวันตกของเมียนมา

หนึ่งปีต่อมา มิน อ่อง ลาย รับหน้าที่ปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มกบฏทางตะวันออกของเมียนมา โดยไม่สนใจข้อตกลงหยุดยิงที่มีมานาน 20 ปี ส่งผลให้มีผู้อพยพลี้ภัยสงครามไปยังประเทศจีนมากถึง 37,000 คน

ความสำเร็จในปฏิบัติการครั้งนั้นส่งผลให้มิน อ่อง ลาย ได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปี 2011 ปีที่เมียนมาเริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย นำไปสู่การเลือกตั้งที่นางออง ซาน ซูจี ได้รับชัยชนะไปอย่างถล่มทลายในปี 2015 ก่อนที่ซูจีเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐในปี 2016

มิน อ่อง ลาย มีความเชื่อมโยงกับประเทศไทยด้วยในฐานะบุตรบุญธรรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้ล่วงลับ

มิน อ่อง ลาย เคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาลงนามแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ พล.อ.เปรม ที่ทำเนียบองคมนตรีด้วย

“เมื่อได้เป็น ผบ.ทสส. แล้วจึงได้เข้าพบ พล.อ.เปรม และได้นั่งเคียงข้างกัน ได้จับมือกัน ถ้ามีเรื่องอะไรที่สำคัญก็จะจับมือคุยกันเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นทุกครั้งที่ได้พูดคุยกัน ผมจึงเปรียบ พล.อ.เปรมเหมือนบิดา” มิน อ่อง ลาย ระบุ

ในเวทีโลก มิน อ่อง ลาย ตกเป็นเป้าโจมตีในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการกวาดล้างชาวโรฮิงญา โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศ เหตุการณ์ซึ่งองค์การสหประชาชาติระบุว่า เป็นการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นคดีความในศาลระดับนานาชาติหลายแห่ง ขณะที่สหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตร พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย และผู้นำทหารเมียนมาอีก 3 คนไม่ให้เข้าประเทศ