สิ่งแวดล้อม : 10 กฎเหล็กปลูกป่า / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

 

10 กฎเหล็กปลูกป่า

รัฐบาลทั่วโลกกำลังปลุกกระแสให้ผู้คนปลูกต้นไม้เยอะๆ ด้วยหวังว่า ถ้าปลูกให้ได้ 1 แสนล้านต้นแล้วจะช่วยดูดซับก๊าซพิษลดปัญหาโลกร้อน อย่างน้อยๆ 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซพิษที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ

เคยมีการทดลองตรวจจับปริมาณการดูดซึมและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ในป่าสแตฟฟอร์ดไชร์ ประเทศอังกฤษ พบว่าทุกๆ ตารางเมตร ต้นไม้จะดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,700 กรัม และปล่อยออกมา 1,200 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์

แสดงให้เห็นว่าต้นไม้ดูดซับก๊าซพิษได้มากกว่า ฉะนั้น ยิ่งปลูกต้นไม้มากขึ้น ต้นไม้ใหญ่ขึ้นจะยิ่งช่วยลดโลกร้อนได้ดีขึ้น

ต้นไม้ยังมีประโยชน์อีกมากมายหลายเหตุผล เช่น ต้นไม้แผ่กิ่งก้านสาขาทำให้ร่มรื่น ซับความร้อน รากที่ไชชอนช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับผิวดิน แหล่งแร่ธาตุ และป้องกันหน้าดินไม่ให้เสียหายเมื่อถูกกัดเซาะ ชะลอน้ำท่วม ฯลฯ

ที่อังกฤษนั้น รัฐบาลนายบอริส จอห์นสัน ประกาศว่าจะปลูกต้นไม้ให้เป็นป่าใหม่ทั่วเกาะครอบคลุมพื้นที่รวม 300 ตารางกิโลเมตรต่อปี

กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา ตั้งเป้าปลูกต้นไม้ให้เป็นเหมือนกำแพงขวางโลกยาว 8,000 กิโลเมตร พื้นที่ปลูกนั้นขนาดใหญ่พอๆ กับพื้นที่ประเทศไทย

ที่บ้านเรา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวฟื้นฟูสภาพป่าทั่วประเทศ วางเป้าภายในปี 2565 จะปลูกให้ได้ 100 ล้านต้น

ตามข่าวกรมป่าไม้ได้เตรียมเพาะชำกล้าไม้พันธุ์ต่างๆ เช่น ไม้สัก-พะยูง-มะค่าโมง-ประดู่-ยางนา-มะฮอกกานี-ตะเคียนทองแดง-กระถินลูกผสม-กฤษณา กล้าไม้ยืนต้นที่มีดอก เช่น คูน-อินทนิลน้ำ-เสลา-ชัยพฤกษ์-ทองอุไร ไว้เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนฟรีๆ รวมแล้ว 79.9 ล้านกล้า

โครงการปลูกต้นไม้ต้องใช้เวลา เพราะกว่าต้นไม้จะโตเต็มที่เป็น 10 ปีขึ้นไป แต่ใช่ว่าต้นไม้ใหญ่แล้วความอุดมสมบูรณ์ของป่าจะกลับคืนมาทันที

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ป่าที่ได้รับการฟื้นฟูแล้วระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพจะกลับคืนสู่ความเป็นธรรมชาติต้องใช้เวลานับศตวรรษ

ถึงแม้จะมีการรณรงค์ปลูกต้นไม้ฟื้นฟูสภาพป่าทั่วโลก แต่ป่าไม้ดงดิบที่มีสภาพธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ถูกโค่นทำลายปีละ 30 ล้านไร่

ด้วยเหตุนี้ เสียงเรียกร้องให้ปลูกต้นไม้ฟื้นฟูป่าจึงดังแรงขึ้นและกลายเป็นวาระสำคัญของโลกไปแล้ว

แต่เมื่อไม่นานมานี้มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ออกมาเตือนว่า การปลูกต้นไม้ที่ไม่ผ่านการวิเคราะห์ วางแผนและตรวจสอบระบบนิเวศน์อาจมีผลเสียมากกว่าผลดี

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่แสดงความเห็นย้อนแย้งดังกล่าวบอกอีกว่า แทนที่ทั่วโลกจะทุ่มเงินเพื่อเพาะต้นไม้เป็นแสนล้านต้น ควรเอาเงินเหล่านี้มาสนับสนุนบรรดาชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนที่อยู่กับป่าใหญ่ให้ช่วยดูแลอนุรักษ์จะเป็นประโยชน์มากกว่า

คำเตือนของนักวิทยาศาสตร์เห็นด้วยกับการปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน เพียงแค่เตือนให้ระวังเอาไว้เท่านั้น พร้อมกับให้คำแนะนำ 10 ข้อดังนี้

1. ปกป้องป่าไม้ที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์มากที่สุด ต้นไม้โตๆ อายุมากๆ นั่นแหละจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีที่สุด ช่วยป้องกันไฟป่า ซับแรงพายุและป้องกันภัยแล้ง

การป้องกันไม่ให้ผู้คนบุกรุกเข้าไปโค่นต้นไม้ถือเป็นมาตรการสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะยิ่งป้องกันได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งช่วยให้ป่าสมบูรณ์และยังประโยชน์ได้มากขึ้นเป็นลำดับ

2. แสวงหาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐบาล ชุมชนและภาคเอกชนเพื่อดูแลอนุรักษ์ให้มีความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ต้องทำ การปลุกสำนึกให้ผู้คนในท้องถิ่นรักต้นไม้รักป่า ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

เมื่อชุมชนดูแลป่าได้ดี ภาครัฐก็ต้องให้ชุมชนได้ใช้สอยประโยชน์จากป่าด้วย นี่เป็นจุดเกื้อกูลพึ่งพาอาศัยระหว่างป่ากับคน

3. การฟื้นฟูป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ จะช่วยให้บรรลุในหลากหลายเป้าหมาย ทั้งช่วยลดภาวะโลกร้อนและให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมท้องถิ่น

4. การเลือกเฟ้นพื้นที่ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม ต้องศึกษาระบบนิเวศน์ของพื้นที่นั้นๆ ในอดีต การปลูกต้นไม้ต้องให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาในอนาคต เช่น ต้นไม้ที่ปลูกดึงฝูงแมลงร้าย หนอนด้วงเข้ามาด้วย

5. วิธีอนุรักษ์ป่าที่ถูกโค่นทำลายให้กลับสู่ความเป็นป่าสมบูรณ์ ปล่อยให้ต้นไม้โตขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นวิธีที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและได้ประสิทธิภาพมากที่สุด

6. เลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมสามารถสร้างความหลากหลายทางชีวภาพได้สูงสุด นักวิทยาศาสตร์แนะนำให้เลือกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและพันธุ์ไม้ที่ให้คุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ต้องพิจารณาเมล็ดพันธุ์กล้าไม้ที่อาจทำลายระบบนิเวศน์ในอนาคตข้างหน้า

7. เลือกพันธุ์ไม้ที่สามารถปรับตัวกับสภาวะโลกร้อนได้อย่างดี เนื่องจากปัจจุบันอุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้น พันธุ์กล้าไม้ที่จะปลูกใหม่ต้องทนทานต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังต้องอยู่รอดภายใต้ภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรคหรือแมลงร้าย เช่น ฝูงตั๊กแตน ด้วงหนอน หรือเชื้อรา

8. เมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้า จะต้องมีปริมาณเพียงพอและรองรับกับความต้องการในอนาคต

9. การศึกษาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมและการเตรียมพื้นที่เพาะพันธุ์เป็นเรื่องต้องวางแผนอย่างรอบคอบก่อนนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ ความสำเร็จนั้นจะมาจากต้นไม้เติบโตงอกงาม ระบบนิเวศน์ฟื้นฟูมีสัตว์ป่า นกหรือแมลง ผีเสื้อกลับมาอยู่อาศัย

10. โครงการปลูกป่าที่สร้างความยั่งยืนได้นั้น จะเห็นผลจากผู้คนรอบล้อมป่าได้ประโยชน์จากผลพวงของป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งอากาศที่สดชื่น เขียวชอุ่ม สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยออกซิเจนได้อย่างสมดุล

ในป่ามีผลผลิตที่เป็นธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นอย่างงอกงามต่อเนื่องเก็บเกี่ยวได้ไม่สิ้นสุด อีกทั้งยังเป็นแหล่งพักผ่อน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อีกด้วย