แพทย์ พิจิตร : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประเพณีการปกครองของอังกฤษ (18)

ประเพณีการปกครองในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในอังกฤษเริ่มมีความชัดเจนในศตวรรษที่ยี่สิบ

เริ่มต้นจากปี ค.ศ.1911 ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ห้าจะทรงเสด็จเยือนอินเดีย พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์จะมิทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร

และจากกรณีการแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในปี ค.ศ.1911 นี้เองจึงเป็นที่มาของแบบแผนปฏิบัติในเวลาต่อมา

นั่นคือ ในปี ค.ศ.1925 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ห้าทรงมีความจำเป็นด้านสุขภาพที่จะต้องเสด็จล่องเรือไปในทะเลเมดิเตอเรเนียนตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยดีขึ้น

และในการที่มิได้ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรนี้ พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์

และต่อมาในกรณีที่ทรงประชวรในปี ค.ศ.1928 และ 1936 อังกฤษก็เริ่มมีความชัดเจนในแบบแผนประเพณีการแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนองค์พระมหากษัตริย์

ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่จะมิทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือทรงประชวร พระมหากษัตริย์อังกฤษจะทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ได้

ดังจะเห็นได้จากกรณีทั้งสี่ที่กล่าวไปนี้ นั่นคือ ค.ศ.1911 (มิได้ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร) ค.ศ.1925 (มิได้ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร) ค.ศ.1928 (ทรงประชวร) และ ค.ศ.1936 (ทรงประชวร)

 

นักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญของอังกฤษชี้ว่า แบบแผนที่เริ่มต้นในปี ค.ศ.1911 นี้ถือเป็นสิ่งใหม่ และได้กลายเป็นแบบแผนประเพณีการปกครองในเวลาต่อมา

คำถามคือ ไม่มีผู้ใดในอังกฤษขณะนั้นตั้งแง่เกี่ยวกับความถูกต้องชอบธรรมในแง่กฎหมายต่อนวัตกรรมของประเพณีการปกครองที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ยี่สิบนี้เลยหรือ?

คำตอบก็คือ ไม่มีการคัดค้านหรือตั้งข้อกังขาใดๆ เกี่ยวกับความถูกต้องทางกฎหมายของประเพณีในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ยี่สิบ

นอกจากกรณีที่องค์พระมหากษัตริย์มิได้ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือทรงประชวรแล้ว ยังมีประเด็นเกี่ยวกับทรงพระเยาว์อีกด้วย

ซึ่งในประเพณีการปกครองเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่เกิดขึ้นใหม่ของอังกฤษที่เพิ่งกล่าวไปข้างต้นยังมิได้ครอบคลุมรวมถึงกรณีที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ ยามเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตหรือสละราชสมบัติ จะต้องมีการสืบราชสันตติวงศ์ทันที หรือมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นทันที

ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการที่ว่า “the King never dies”

เพราะสถานะขององค์พระมหากษัตริย์คือองค์อธิปัตย์ (sovereign) และประมุขของรัฐย่อมจะต้องดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง

การดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องดังกล่าวนี้สืบทอดจากความคิดทางการเมืองในยุคกลางของตะวันตก ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องแนวคิด Body Politic

นั่นคือการมองสังคมการเมืองประดุจร่างกายที่มีชีวิต

และแนวคิด Body Politic นี้ได้ตกทอดลงมาถึงกลุ่มนักคิดสัญญาประชาคมในศตวรรษที่สิบเจ็ดและสิบแปดด้วย

โดยเปลี่ยนผ่านจากการให้น้ำหนักที่เอกบุคคลไปสู่มหาชน

หรือดำรงอยู่ในลักษณะที่สัมพันธ์กัน แนวคิด Body Politic นี้มีความสำคัญในปัจจุบันในฐานะที่เป็นฐานคิดสำคัญในการทำความเข้าใจรัฐ

เพราะแนวคิดเรื่องรัฐล้มเหลว (failed state or state failure) หรือรัฐผุเสื่อม (state decay) หรือรัฐอ่อนแอ (weak state) หรือรัฐล่มสลาย (collapsed state) จะดำรงอยู่ไม่ได้ หรือยากที่จะเข้าใจ หากไม่อิงอยู่กับแนวคิด Body Politic

ตามแนวคิดนี้ องค์พระมหากษัตริย์ทรง “มีร่างกายอยู่ 2 ร่าง นั่นคือ ที่ตายได้ และไม่มีวันตาย” (เพราะอยู่ในรูปของการสืบครองรัฐและราชย์)

แต่ถ้าปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่างกายขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะส่วนหัวขององคาพยพของรัฐก็สูญสิ้นได้ แต่กระนั้น ก็มีประมุขของรัฐหรือองค์อธิปัตย์ในรูปแบบอื่นมาทดแทนอยู่ดี

แต่ถ้าไม่มี ก็หมายถึงสภาวะสงครามกลางเมืองหรือการล่มสลายของรัฐ

 

ในกรณีที่องค์พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต ผู้ที่อยู่ในลำดับแรกของสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ จะเสด็จขึ้นครองราชย์และทรงมีพระราชอำนาจทุกอย่างตามประเพณีการปกครองและรัฐธรรมนูญ

ซึ่งแม้ว่าในปี ค.ศ.1936 อังกฤษจะเกิดประเพณีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ

แต่ก็อยู่ภายใต้สองเงื่อนไข นั่นคือ ไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือทรงพระประชวร ยังไม่ได้รวมในกรณีทรงพระเยาว์

และตามหลักกฎหมายของอังกฤษขณะนั้น ยังมิได้กำหนดว่า การทรงพระเยาว์จะอยู่ในเงื่อนไขที่ทำให้องค์พระมหากษัตริย์ไม่ทรงบริหารพระราชภารกิจได้ (royal incapacity)

และถ้าพิจาณาหลักการ “the King can do no wrong” อย่างยืดหยุ่น หลักการนี้ก็จะสามารถครอบคลุมสถานะของ “พระมหากษัตริย์” ไม่ว่าจะทรงพระเยาว์ก็ตาม แต่นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษได้แสดงความคิดเห็นว่า ถ้าจะว่ากันตามสามัญสำนึก (common sense) เราไม่สามารถคาดหวังว่าพระองค์ที่ยังทรงพระเยาว์อยู่จะทรงสามารถบริหารพระราชภารกิจในฐานะองค์พระมหากษัตริย์ได้

อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษ ก็เคยเกิดกรณีที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ นั่นคือ ในสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หก (Edward VI : ครองราชย์ ค.ศ.1547-1553)

 

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หกทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดและพระนางเจน ซีมอร์ ในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ.1547 พระเจ้าเฮนรี่ที่แปดทรงเสด็จสวรรคต ผู้ที่อยู่ในวงในใกล้ชิดราชบัลลังก์ในขณะนั้นคือ เอ็ดเวิรด์ ซีมอร์ (Edward Seymour : พระเชษฐาองค์โตของพระนางเจน ซีมอร์) และ วิลเลียม แพเจต (William Paget : ดำรงตำแหน่งใน Privy Council) ได้เห็นพ้องต้องกันที่ชะลอการประกาศการสวรรคตของพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดออกไปจนกว่าทุกอย่างจะพร้อมเพื่อให้การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปอย่างราบรื่น

เมื่อทุกอย่างพร้อม จึงได้ประกาศการสวรรคตของพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดในวันที่ 31 มกราคม นั่นคือ สามวันหลังจากที่พระองค์ได้สวรรคตแล้ว

และมีการประกาศว่าเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 10 พรรษาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม พระเจ้าเฮนรี่ที่แปดได้ทรงทำพินัยกรรมไว้ด้วย โดยระบุชื่อคณะบุคคลไว้ 16 คนที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจนกว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะทรงมีพระชนมายุ 18 พรรษา และคณะบุคคลทั้ง 16 คนนี้จะมีผู้ทำหน้าที่สนับสนุนอีก 12 คน

แม้จะมีพินัยกรรมระบุพระราชประสงค์ไว้ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้นตามมาจากการบริหารพระราชภารกิจขององค์พระมหากษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์ แต่ในปี ค.ศ.2002 เดวิด สตาร์คีย์ (David Starkey : ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่)

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญอังกฤษที่สอนที่ LSE จนถึงปี ค.ศ.1998 ได้สืบค้นข้อมูลและมีข้อสังเกตว่า น่าจะมีบุคคลใกล้ชิดพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดที่ทำการแก้ไขพินัยกรรมหรือไม่ก็หว่านล้อมพระองค์ให้ทำพินัยกรรมระบุรายชื่อดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง!!

คำถามคือ จะมีการวางมาตรการทางกฎหมายไว้ล่วงหน้าที่จะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีข้อสงสัยเช่นว่านี้ได้หรือไม่?