ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 กุมภาพันธ์ 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand
ณัฐพล ใจจริง
ว่าด้วยอนาคตของสยาม
: พระบรมราชวิจารณ์ของพระมงกุฎเกล้าฯ ต่อคณะ ร.ศ.130
ตามพงศาวดาร การเปลี่ยนการปกครองในอดีตของสยามเป็นเพียงการเปลี่ยนจากผู้สิ้นบุญวาสนาเก่ามายังบุคคลผู้เปี่ยมบุญญาธิการใหม่เท่านั้น หาเป็นการเปลี่ยนแปลงมูลฐานของความเชื่อหรือระบอบอันเป็นรากฐานการปกครองชนิดใหม่แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของความชอบธรรมแห่งอำนาจการปกครอง
จวบกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเปลี่ยนคติการปกครองดั้งเดิมของสยามจากการปกครองแบบราชาธิราช อันมีผู้ครองแคว้นในดินแดนหลายคน หลากหลายบุญญาบารมีตามคติทางศาสนา ที่ต่างแย่งชิงความเป็นเจ้าจักรพรรดิราช มาสู่แบบสมัยใหม่ที่มีผู้ปกครองมีอำนาจสมบูรณ์สูงสุดทางโลกแต่เพียงผู้เดียวในรัฐหรือที่เรียกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อกว่า 100 ปี อันเป็นคติการปกครองสมัยใหม่ที่สยามรับจากโลกสากล
พลันเมื่อพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงรวมอำนาจที่กระจัดกระจายไปยังขุนนางให้รวบมายังศูนย์กลางอันเป็นจุดเริ่มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามสำเร็จเป็นครั้งแรก แต่เพียง 2 ปีหลังสิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญหน้ากับจินตภาพแห่งอนาคตใหม่สยามอีกชุดที่วางอยู่บนความชอบธรรมแห่งการปกครองที่มาจากประชาชนของคณะปฏิวัติ ร.ศ.130 (2455) อันปรากฏใน “ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ” นั้น
พระองค์ทรงมีพระบรมราชวิจารณ์ถึงอนาคตใหม่ของสยามไว้อย่างไร

“จดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทรศก 130 เล่ม 2 วันที่ 13 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม” (2456) ในจดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น
พระองค์ทรงมีพระบรมราชวิจารณ์จินตภาพของเหล่านักปฏิวัติเป็นพวกมี “ความคิดฤศยาหยุมหยิม” ความว่า “…คนยังมีความคิดฤศยาหยุมหยิมอยู่ฉนี้ฤๅจะเป็นผู้ที่จัดการปกครองบ้านเมืองอย่างรีปับลิกได้ อย่าว่าแต่รีปับลิกเลย ถึงแม้จะปกครองอย่างลักษณเจ้าแผ่นดินมีคอนสติตูชั่นก็ไม่น่าจะทำไปได้…”
อีกทั้งพระองค์ทรงมีพระบรมราชวิจารณ์ถึงการนำเข้าความคิดทางการเมืองจากต่างประเทศไว้ในลัทธิเอาอย่าง ความว่า
“ลัทธิเอาอย่างมีอยู่แพร่หลายในสยามประเทศเรา มีรากเง่าฝังอยู่มาช้านาน…เมื่อข้าพเจ้าได้กล่าวมาถึงเพียงนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอสารภาพเสียต่อท่านโดยตรงว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งซึ่งรู้สึกว่าเบื่อหน่ายในลัทธิเอาอย่างนี้มานานแล้ว…”
สุดท้ายแล้ว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยบุคคลที่เอาอย่างว่า ผู้ใดที่เอาอย่างฝรั่งนั้น ทรงเห็นว่า ผู้นั้นเป็นเสมือน “ลูกหมา” ให้ฝรั่งเขาตบหัวเอ็นดู
สําหรับการปกครองแบบ “ลิมิตเต็ด มอนากี” ในสายตาของเหล่านักปฏิวัติ ร.ศ.130 อันหมายถึงการปกครองที่ผู้ปกครองต้องอยู่ใต้กฎหมายนั้น
พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงมีพระบรมราชวิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ของสยามที่จะเป็น “ลิมิตเต็ด มอนากี” สรุปได้ว่า
สยามไม่สามารถปกครองแบบที่มี “คอนสติตูชั่น” ที่จำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ เนื่องจากประชาชนไม่มีความรู้ และหากให้ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองแล้ว ประชาชนจะใช้อำนาจไปในทางที่ผิด ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ประชาชนไม่มีความสามารถที่จะถืออำนาจและใช้อำนาจได้ทุกคน หากมีการเลือกตั้งผู้แทนฯ จะทำให้เกิดการเกลี้ยกล่อม “ฬ่อใจ” ประชาชนด้วยถ้อยคำ การเลี้ยงดู จัดยานพาหนะให้ และติดสินบนประชาชน
ทรงมีพระราชวินิจฉัยต่ออีกว่า ภายใต้การปกครองดังกล่าวจะเกิดพวก “ปอลิติเชียน” มาทำมาหากินในทางการเมือง อีกทั้งการปกครองดังกล่าวจะนำไปสู่ความแตกแยก เช่น การมี “ปาร์ตี สิสเต็ม” ทำให้การปกครองไม่มั่นคง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง “เคาเวอร์เมนต์” เสมอ ทำให้บ้านเมืองยิ่งชอกช้ำมากขึ้น

ส่วนการปกครองแบบ “รีปับลิก” ซึ่งเป็นแบบสุดท้ายที่เหล่าคณะปฏิวัตินำเสนอการปกครองตามอุดมคติให้สยามนั้น
พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเห็นว่า ความเสมอภาคไม่มีอยู่จริง แม้จะมี “…การเลิกเจ้าแผ่นดิน เลิกเจ้าและเลิกขุนนางเสียให้หมด เปลี่ยนลักษณการปกครองเปนประชาธิปไตย (ริปับลิค) อันตามตำราว่าเปนลักษณการปกครองซึ่งให้โอกาสให้พลเมืองได้รับความเสมอหน้ากันมากที่สุด เพราะใครๆ ก็มีโอกาสจะได้เปนถึงประธานาธิบดี ข้อนี้ดีอยู่ (ตามตำรา) แต่พิจารณาดูความจริงก็จะแลเห็นได้ว่า ไม่มีพลเมืองแห่งใดในโลกนี้ที่จะเท่ากันหมดจริงๆ เพราะทุกคนไม่ได้มีความรู้ปัญญาเสมอกัน… เช่น จีนที่ได้เปนขบถต่อเจ้าวงษ์เม่งจูจนสำเร็จตั้งเปนริปับลิคขึ้นได้แล้ว ในชั้นต้นก็ได้เลือกซุนยัดเซนเปนประธานาธิบดี แต่ตัวซุนยัดเซนเองเปนคนที่ฉลาดพอที่จะรู้สึกตนว่าไม่มีความสามารถพอที่จะทำการในน่าที่ผู้ปกครองต่อไปได้จึ่งต้องมอบอำนาจให้ยวนซีไก๋เปนประธานาธิบดีต่อไป นี่เปนพยานอยู่อย่าง ๑ แล้วว่าคนไม่เท่ากัน…”
นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเพิ่มเติมอีกว่า ไม่มีทางสร้างความเสมอภาคให้บังเกิดขึ้น ณ ที่แห่งใดในโลกได้ หากไม่แก้ไขความอิจฉาภายในตัวมนุษย์เสียก่อนความว่า
“การที่จะแก้ไขความไม่เสมอหน้ากันและแก้ความไม่พอใจอันบังเกิดขึ้นแต่ความไม่เสมอหน้ากันนั้น ก็เห็นจะมียาอยู่ขนานเดียวที่จะแก้ได้ คือ การจัดลักษณการปกครองเปนอย่างประชาธิปไตย แต่ยาขนานนี้ก็ได้มีชาติต่างๆ ลองใช้กันมาหลายรายแล้ว มีจีนเปนที่สุด ก็ยังไม่เห็นว่าเปนผลได้จริง ไม่บำบัด ‘โรคอิจฉา’ และ ‘โรคมักใหญ่มักมาก’ แห่งพลเมือง จึ่งเปนที่จนใจอยู่…”
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงโต้แย้งข้อกล่าวหาการบริหารราชการภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นเหตุให้เกิดคนยากจนมากมายในโคลนติดล้อ ว่า ไม่มีหลักฐานใดชี้ว่า พสกนิกรอดตาย
พระองค์ทรงเห็นว่า พสกนิกรไม่ยากจนดังข้อกล่าวหานั้น พระองค์ทรงยกตัวอย่างว่า ณ เวลานั้น รถไฟของสยามยังบรรทุกคนหัวเมืองหรือ “ชาวบ้านนอก” เข้ามายังกรุงเทพฯ ตลอดเวลา คนเหล่านั้นเข้าเมืองมาเพื่อเล่นการพนันและหวย
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยต่อไปอีกว่า หากพสกนิกรที่หัวเมืองยากจนจริง พวกเขาจะไม่สามารถเดินทางเข้ามาเล่นการพนันในเมืองได้
อีกทั้งพระองค์ทรงยืนยันว่า “ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า เขาไม่จนเลย” เนื่องจากพสกนิกรมีที่ดิน มีอาหารบริบูรณ์ สำหรับพระองค์แล้ว เงินไม่มีความสำคัญกับพวกเขา ในสายพระเนตรของพระองค์นั้น เงินมีประโยชน์สำหรับราษฎรเหล่านี้มีเพียงแค่ 2 ประการเท่านั้น คือ “(๑) เสียภาษี และ (๒) เล่นการพนัน”
พระองค์ตอบโต้ข้อกล่าวหาจากคณะปฏิวัติต่อไปในจดหมายเหตุรายวันฯ อีกว่า “ชาติไทยเรามีความเน่าเปื่อย มีโรคร้ายเข้ามาแทรกอยู่ คือ โรคฤศยาซึ่งกันและกันในการส่วนตัวและพวกพ้อง แม้อ้ายพวกฟุ้งสร้านซึ่งคิดการกำเริบนั้น ก็มีฤศยาส่วนตัวนั้นเปนพื้น และเปนแม่เหล็กเครื่องฬ่อให้คนนิยมในความคิดของมันมาก… ”
อีกทั้งพระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในอุตตรกุรุ ว่า พวกนักปฏิวัติมักชอบอ้างว่าเป็นผู้รักมนุษยชาติหรือเป็นผู้หยั่งรู้หนทางการฟื้นฟูชาติ ทรงมีพระราชวิจารณ์คนเหล่านี้ว่า พวกเขาเป็นเพียงนักปลุกระดมมวลชน (demagogues) เท่านั้น
แม้การพยายามสร้างความอารยะตามสากลนิยมให้กับสยามด้วยการปฏิวัติทางการเมืองของ “คณะ ร.ศ.130” เมื่อครั้งนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ สมาชิกของคณะถูกตัดสินลงโทษและหลายคนเสียชีวิตในคุก แต่การจองจำอิสรภาพของพวกเขามิได้ทำให้พวกเขาอับจนความใฝ่ฝันแต่อย่างใด
ดุจดังเจตจำนงของคณะ ร.ศ.130 ที่เปี่ยมสำนึกของข้าราชการสมัยใหม่อันปรากฏในเอกสาร “ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ” ถึงสิ่งที่ข้าราชการ ผู้มีสำนึกใหม่ควรปฏิบัติว่า
“การที่ทำให้คนๆ เดียวมีความศุข ความสบายจนเหลือล้นนั้น หาได้เป็นประโยชน์ต่อชาตแลบ้านเมืองไม่ แต่ถ้าทำให้ชาตแลบ้านเมืองมีความเจริญ ฝูงคนทั้งหมดที่เป็นชาตเดียวกันก็จะได้รับความศุขสบายทั่วทุกคน เพราะฉนั้น ผู้ที่มีความกะตัญญูต่อชาตจึงคิดหลีกเลี่ยงไม่หาความดีในการประจบประแจงต่อเจ้านาย คิดอยู่อย่างเดียว แต่จะทำการให้เปนคุณเปนประโยชน์ต่อบ้านเมืองก็พอแล้ว”
กระนั้นก็ดี ตลอดรัชสมัยของพระมงกุฎเกล้าฯ แม้พระองค์จะทรงรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สืบต่อไปได้ แต่ไม่นานภายหลังการสิ้นรัชสมัยของพระองค์ (2468) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาของพระองค์ก็ได้เผชิญกับพลังของความคิดจากคนรุ่นใหม่ที่ต้องการผลักดันสยามไปสู่อนาคตใหม่อีกครั้งใน “การปฏิวัติ 2475”
ใต้ภาพ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ
คณะ ร.ศ.130 ขณะอยู่ในคุก