รัฐประหาร “เมียนมา” ธุรกิจไทยกุมขมับ ปรับแผนลงทุนอุตลุด ค้าชายแดนชะงัก หวั่นถูกปิดกิจการ

ถือว่าประสบวิกฤตซ้อนในวิกฤต สำหรับ “เมียนมา” ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน หลังจากที่เกิดปัญหาการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 จนเป็นเหตุให้ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์หลายรัฐ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา

ล่าสุดยังเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง จากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมตั้งประธานาธิบดีขึ้นบริหารประเทศชั่วคราวแทนรัฐบาลพลเรือนเป็นเวลา 1 ปี

โดยอ้างเหตุการทุจริตการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของนางออง ซาน ซูจี ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ครองเก้าอี้ 396 ที่นั่ง จากจำนวนเก้าอี้ทั้งหมดในรัฐสภา 476 ที่นั่ง ส่งผลให้พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ฝั่งของกองทัพได้เสียงเพียง 26 ที่นั่ง นำมาสู่การเข้ายึดอำนาจและจับกุมตัวนางออง ซาน ซูจี กับพวก

แน่นอนว่าแรงสั่นเทือนดังกล่าวย่อมส่งผลต่อ “ไทย” ในฐานะคู่ค้า และคู่ลงทุนสำคัญในเมียนมา

ในด้านการค้าชายแดน ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ ได้ประกาศปิดด่านชายแดนท่าขี้เหล็ก แต่ยังถือว่าเป็นโชคดีที่ปิดเพียงแค่ 4 ชั่วโมง การขนส่งสินค้าสะดุดกระทบมูลค่าการค้าประมาณ 30-50 ล้านบาท แต่ยังไม่ถึงกับขยายผลไปยังด่านอื่นอีก 20 ด่าน จึงไม่กระทบต่อการค้าชายแดนมากนัก

ตามตัวเลขกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ปี 2563 ไทยกับเมียนมามีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 6,593.23 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.95 แสนล้านบาท ลดลง 13.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยไทยส่งออกไปเมียนมา 3,797.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.95%

สินค้าสำคัญ อาทิ เครื่องดื่ม น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

และไทยนำเข้าสินค้าจากเมียนมามูลค่า 2,795.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.88%

สินค้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค สัตว์น้ำสด เป็นต้น

ที่น่าห่วงคือ “ด้านการลงทุน” ซึ่งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การลงทุนโดยตรง (FDI) ของไทยไปเมียนมาช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มูลค่า 1,555.42 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.66 หมื่นล้านบาท) ลดลงจากสิ้นปี 2562 ยอดเงินลงทุนอยู่ที่ 4,994.13 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.49 แสนล้านบาท)

ผลจากวิกฤตโควิด-19

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุรัฐประหารครั้งนี้ นักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาที่มีทั้งรายเล็กและรายใหญ่อย่างซีพีกรุ๊ป บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) ฯลฯ ต่างจับตามอง “นโยบายเศรษฐกิจ” หลังการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด

เพราะไม่ว่าทิศทางการเมืองไปทางใดก็ย่อมมีผลเชื่อมโยงต่อแผนการดำเนินธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะหากเมียนมาถูก “คว่ำบาตร” จากชาติตะวันตกทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป ย่อมส่งผลต่อธุรกิจที่เข้าไปลงทุนและใช้วัตถุดิบจากเมียนมาผลิตเพื่อการส่งออก

นอกจากนี้ ยังกระทบระบบการเงินการธนาคาร อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินจ๊าตที่ผันผวนหนัก รวมทั้งเศรษฐกิจภาพรวม และกำลังซื้อ

นายกริช อึ้งวิฑูรย์สถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา (TMBC) ยอมรับว่าสิ่งที่น่าห่วงและต้องติดตามอย่างมากจากสถานการณ์นี้คือ ชาติตะวันตกจะมีการแซงก์ชั่นเมียนมาหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เมียนมาย้อนกลับไปยังปี 1988 คือมีการปิดประเทศ

ที่แม้การค้าระหว่างไทย-เมียนมายังทำได้ แต่เชื่อว่ามูลค่าการค้า การส่งออกจะลดลงจากกำลังซื้อจากเศรษฐกิจที่หายไป ภาคเอกชนกังวลว่ารัฐบาลรักษาการจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข กฎระเบียบด้านการค้า การส่งออก หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ กังวลประเด็นขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์จะกลับมาอีก

ในสายตานักลงทุนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าต้อง “ชะลอการลงทุนไว้ก่อนชั่วคราว” จนกว่าสถานการณ์ชัดเจน อย่าง “ธนาคารกสิกรไทย” ที่เดิมเตรียมเข้าร่วมทุนในธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลล็อปเมนต์แบงก์ (Ayeyarwaddy Farmers Development Bank : A bank) ธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นของเมียนมาในสัดส่วน 35% หลังจากได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางเมียนมาเมื่อเดือนเมษายน 2563 และอยู่ระหว่างการเตรียมใส่เม็ดเงินลงทุนใน A Bank อาจต้อง “ชะลอไปอีก 1 ปี” เพื่อรอดูความชัดเจนของสถานการณ์ และข้อกฎระเบียบ มาตรการต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ (UN)

ขณะที่ “กลุ่มอมตะ” นักลงทุนนิคมอุตสาหกรรม ได้ประกาศชะลอการลงทุนในโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง หรือ Yangon Amata Smart & Eco City (YASEC) บนพื้นที่ 5,000 ไร่ ไม่มีกำหนด

พร้อมแสดงความกังวลว่าอาจจะมีการคว่ำบาตรจากต่างชาติ ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนในอมตะ ที่เตรียมลงทุนในย่างกุ้งกว่า 20 ราย และหากสถานการณ์การเมืองรุนแรงขึ้น ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงคัดค้านการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ “ถูกฟรีซ” หมด ช่วงนี้ “อมตะ” จึงต้องประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน

เช่นเดียวกับที่ “พันธ์ พะเนียงเวทย์” ผู้จัดการสำนักกรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA หนึ่งในผู้ลงทุนผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่กรุงย่างกุ้ง ระบุว่า เดิมมีแผนจะย้ายโรงงานจากย่างกุ้งไปที่มัณฑะเลย์

แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร คงต้องรอดูสถานการณ์ก่อน โดยสิ่งแรกต้องมุ่งดูแลพนักงานที่ประจำเมียนมาก่อน แต่ยังไม่มีอะไรน่าห่วง

ส่วนแหล่งข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เข้าไปลงทุนตั้งบริษัท ซีพี เมียนมา จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตอาหารสด เช่น ทำฟาร์มไก่และโรงเชือดขายเป็นไก่สด อาหารสำเร็จรูป เช่น ไส้กรอก รวมถึงร้านค้าปลีกอย่างซีพีเฟรชมาร์ท และร้านไก่ย่างห้าดาว ชี้ว่าประเด็นสำคัญต้องขอทางการเมียนมาให้สามารถกระจายสินค้าได้ตามปกติก่อน เพื่อให้ประชาชนเมียนมามีปริมาณอาหารเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค เพราะแน่นอนว่าสถานการณ์นี้อาจจะทำให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องการลงทุนนั้น ทางซีพีมองว่านักลงทุนทุกประเภทกิจการต่างต้อง “ชะลอ” เพื่อรอดูทิศทางความชัดเจนของนโยบาย อย่างน้อยนักลงทุนต้องรู้ว่าหลังจาก 1 ปี แล้วจะทำอย่างไรต่อไปจึงจะตัดสินใจลงทุน

แต่อีกมุมหนึ่ง มีนักธุรกิจส่วนหนึ่งที่มองว่า มีโอกาส “น้อย” ที่จะเกิดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากมหาอำนาจ เพราะ

1) มูลค่าการค้าทางตรงระหว่างเมียนมากับมหาอำนาจจากสหรัฐทางตรงมีไม่มากนัก

และ 2) สถานการณ์ภายในเมียนมาเปลี่ยนแปลงไปมาก ภายหลังจากเปิดประเทศ นักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนต้องร่วมทุนกับ “รัฐบาลทหาร” ด้วย เพราะได้มีนโยบายเปิดกว้างด้านการลงทุนมากขึ้น

นั่นอาจเป็นปัจจัยทำให้สถานการณ์การเมืองคลี่คลายโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจที่เข้าไปลงทุน ร่วมทุน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยบางกลุ่มอาจเข้าไปลงทุนในเมียนมาในลักษณะใช้เงินต่อเงินขยายการลงทุนไปเรื่อยๆ เพื่อ “ยืนระยะ” รอดูสถานการณ์โดยไม่ดึงเงินกลับทันทีก็อาจไม่หวั่นไหวกับเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้มากนัก