จีนอพยพใหม่ในไทย (19) นานาอาชีวะ (ต่อ) / เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (19)

นานาอาชีวะ (ต่อ)

 

แรงงานทักษะ

ชาวจีนที่เป็นแรงงานทักษะ (Skilled labor) หรือแรงงานฝีมือนี้มิอาจวัดด้วยวุฒิการศึกษา ด้วยบางคนแม้จะมีการศึกษาไม่สูงเกินกว่าระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาก็ตาม แต่ด้วยเหตุที่ได้รับการฝึกงานเฉพาะด้านมาตั้งแต่เยาว์วัย ชาวจีนกลุ่มนี้จึงจัดเป็นแรงงานทักษะหรือแรงงานฝีมือสูง

ยิ่งเป็นผู้มีการศึกษาถึงระดับปริญญาตรีด้วยแล้วก็ยิ่งพบเห็นได้ง่ายในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า แรงงานทักษะนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับแรงงานเข้มข้นอีกด้วย กล่าวคือ มีบางคนที่ผ่านการเป็นแรงงานเข้มข้นไประยะหนึ่งแล้วก็จะผันตัวเองมาเป็นแรงงานทักษะ

ในแง่นี้หมายความว่า แม้ชาวจีนที่เป็นแรงงานเข้มข้นจะมีการศึกษาไม่สูง แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีความรู้เฉพาะด้านไปหมดทุกคน เพียงแต่แรกที่เข้ามานั้นยังไม่มีทุนมากพอที่จะลงทุนโดยใช้ความรู้ที่ตนมีมาเป็นอาชีพ

ต่อเมื่อสะสมเงินทองจากการเป็นแรงงานเข้มข้นจนถึงระดับหนึ่งแล้ว จึงได้เปลี่ยนตนเองมาเป็นแรงงานทักษะ ไม่ต่างกับชาวจีนโพ้นทะเลในอดีตที่เข้ามาแบบสื่อผืนหมอนใบ และเริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นแรงงานเข้มข้น ครั้นสะสมเงินทองได้ระดับหนึ่งก็ผันตัวเองมาเป็นแรงงานทักษะ

เช่น เปิดร้านอาหาร ตั้งแผงหรือหาบอาหารขาย ทำสวนหรือทำไร่ เปิดโรงแรมขนาดเล็ก หรือร้านกาแฟ ฯลฯ ในขณะที่บางคนประสบความสำเร็จเป็นถึงนักธุรกิจใหญ่หรือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่*

ประเด็นในที่นี้จึงคือ อะไรคือความรู้เฉพาะที่ชาวจีนเหล่านี้มีอยู่ หรืออะไรคืออาชีพที่เกิดจากแรงงานทักษะของชาวจีนเหล่านี้

 

จากการศึกษาพบว่า หากไม่นับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ชาวจีนที่จบต่ำกว่านั้นลงมาแล้วเป็นแรงงานทักษะจะมีความรู้ที่หลากหลาย เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างทาสี ช่างปูกระเบื้อง ช่างไม้หรือช่างเฟอร์นิเจอร์ (ที่สามารถทำงานตกแต่งภายในได้ในตัว) ผู้ผลิตเต้าหู้ คนครัว ฯลฯ

ความรู้เหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นความรู้ที่ไทยขาดแคลน อีกส่วนหนึ่งเป็นอาชีพที่เป็นความรู้ที่ชาวจีนมีอยู่เป็นปกติ เช่น การทำเต้าหู้ การทำเกี๊ยว หรืองานครัวอื่นๆ

ซึ่งในที่นี้จะยกตัวอย่างที่ผู้วิจัยได้พบโดยตรงมาสองกรณี

 

กรณีแรก เป็นกรณีที่พบในโครงการหมู่บ้านจัดสรรประเภทบ้านเดี่ยวแห่งหนึ่ง โดยแรกเริ่มของการก่อสร้างจะพบว่า แรงงานที่ใช้แรงงานหนัก (manual labor) ที่ขนอิฐหินปูนทรายหรือตอกเสาเข็มจะเป็นแรงงานชาวลาว เมียนมา หรือกัมพูชา

ครั้นโครงสร้างของบ้านแล้วเสร็จก็จะเป็นงานภายในที่มีตั้งแต่งานทาสี ไฟฟ้า ปูกระเบื้อง ติดตั้งสุขภัณฑ์ ตกแต่งภายใน เป็นต้น

งานภายในนี้จะเป็นแรงงานจีน!!!

จากที่ได้สนทนาทำให้รู้ว่า แรงงานจีนที่มีทักษะหรือฝีมือเหล่านี้ (สี่คน) เข้ามาในไทยหลายปีแล้ว และอยู่โดยมีสถานภาพที่ผิดกฎหมาย ทั้งยังให้ข้อมูลด้วยว่า นอกจากเขาสี่คนแล้วก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่กระจายตัวทำงานเดียวกันนี้ที่บ้านหลังอื่น

ทั้งหมดนี้ทำงานของตนด้วยความชำนาญ แต่ด้วยเหตุที่มีสถานภาพผิดกฎหมาย แรงงานเหล่านี้จึงได้รับค่าแรงที่ถูกกว่าปกติเล็กน้อย แต่สูงกว่าแรงงานไร้ทักษะ

 

กรณีที่สอง เป็นช่างไม้ในปัจจุบัน ช่างไม้ผู้นี้มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่มณฑลไห่หนัน (ไหหลำ) และเข้ามายังไทยในขณะเป็นวัยรุ่นโดยมีเครือญาติที่อยู่ในไทย (ชาวจีนโพ้นทะเล) เป็นผู้ดูแล

ความรู้เรื่องในงานช่างไม้เป็นความรู้ที่มีมาจากเมืองจีน แต่มาฝึกฝนความชำนาญกับเครือญาติที่อยู่ในไทยซึ่งมีอาชีพนี้อยู่แล้ว จนย่างเข้าสู่วัยหนุ่มจึงได้แยกตัวออกมาเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์เป็นของตัวเอง และมีชาวไทยเป็นแรงงานรายวัน

ต่อมาช่างไม้ผู้นี้ได้อยู่กินกับหญิงไทยที่เป็นลูกจ้างของตนจนมีลูกด้วยกันหนึ่งคน เด็กคนนี้จึงใช้สิทธิ์ต่างๆ ผ่านผู้เป็นแม่ที่มีสัญชาติไทย** เช่น การศึกษา ปัจจุบันฐานะของช่างไม้ผู้นี้จัดอยู่ในระดับต่ำกว่าปานกลาง

แรงงานทักษะข้างต้นนี้เป็นกรณีของชาวจีนที่มีฐานะไม่สู้ดีและการศึกษาไม่สูง แต่ได้รับการฝึกงานมาอย่างดี แรงงานกลุ่มนี้เข้ามายังไทยค่อนข้างมากนับแต่ทศวรรษ 1980 เรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 1990

แต่หลังจากทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา การศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งของไทยและจีน โครงการครูอาสาสมัครสอนภาษาจีนในไทย หรือโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนไทยกับจีน เป็นต้น ได้ทำให้แรงงานทักษะจีนมีความแตกต่างไปจากที่กล่าวมาข้างต้น

แรงงานเหล่านี้ส่วนหนึ่งเข้ามายังไทยเพื่อทำงาน บางคนสำเร็จการศึกษาในไทยก็มีงานทำในไทย การเปลี่ยนแปลงของลักษณะอาชีพเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า แรงงานทักษะจีนในไทยจะมีทักษะที่สูงขึ้น และลักษณะอาชีพก็แตกต่างไปจากก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกันก็สะท้อนด้วยว่า เฉพาะแรงงานทักษะที่ใช้ภาษาจีนไม่เพียงเป็นที่ต้องการเท่านั้น หากยังเท่ากับว่า ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางด้านภาษาจีนอาจมีคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องการ ปัญหานี้นับเป็นประเด็นที่พึงศึกษาเป็นการต่างหาก

เพราะเป็นประเด็นที่กระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง***

 

ผู้ประกอบการ

ชาวจีนที่เข้ามาเป็นผู้ประกอบการในไทยเริ่มปรากฏขึ้นในทศวรรษ 2000 การเข้ามาในช่วงนี้มีปฏิสัมพันธ์กับการก้าวย่างทางเศรษฐกิจของจีนอย่างน้อยก็ในสองประการด้วยกัน

ประการแรก เป็นช่วงที่จีนได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกใน ค.ศ.2001 ไปแล้ว

ประการที่สอง เป็นช่วงที่จีนมุ่งสู่การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศ โดยหลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกแล้ว จีนได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยใน ค.ศ.2003 ซึ่งเวลานั้นเป็นข้อตกลงที่มุ่งไปที่สินค้าเกษตรเป็นหลัก

โดยหลังจากนั้นต่อมาจึงได้ขยายไปสู่มิติเศรษฐกิจการค้าอื่นๆ ที่ครอบคลุมทั่วด้านตามข้อตกลง

ปฏิสัมพันธ์ทั้งสองประการนี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของชาวจีน และมีผลทำให้ชาวจีนส่วนหนึ่งมุ่งมาทำการค้าการลงทุนในไทย (โดยชาวจีนที่มาเป็นแรงงานก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม)

นับแต่นั้นมาการเข้ามาเพื่อทำการค้าการลงทุนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยมาตลอดทศวรรษ 2010 และชาวจีนที่เข้ามาในไทยเหล่านี้ส่วนหนึ่งตั้งใจปักถิ่นฐานถาวร ซึ่งก็คือเป็นชาวจีนอพยพใหม่ที่มีฐานะเป็นผู้ประกอบการ

การเป็นผู้ประกอบการของชาวจีนอพยพเหล่านี้มิใช่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ แต่เป็นขนาดเล็กโดยส่วนใหญ่ ที่ใหญ่กว่าขนาดเล็กจะต่ำกว่าขนาดกลางและยังมีไม่มาก

ส่วนกิจการหรือธุรกิจที่ชาวจีนเหล่านี้ลงทุนมีตั้งแต่โรงแรม หอพัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟและเครื่องดื่ม การท่องเที่ยว ร้านขายสินค้าทั่วไป (เช่น เครื่องนอน อะไหล่ ผ้าม่าน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงงานขนาดเล็ก (ที่มีคนงานไม่ถึง 20-30 คน) โรงเรียนสอนภาษา เป็นต้น

กิจการเหล่านี้มีการว่าจ้างแรงงานหรือพนักงาน ซึ่งมีทั้งที่เป็นชาวไทยล้วนและชาวจีนกับชาวไทย ในกรณีหลังจะมีสัดส่วนของชาวไทยกับชาวจีนอย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการหรือธุรกิจ

เช่น หากเป็นธุรกิจภาคบริการซึ่งมีชาวจีนเป็นลูกค้าหลักอย่างการท่องเที่ยว ร้านอาหารหรือภัตตาคาร จะมีพนักงานชาวจีนอยู่จำนวนหนึ่งเพื่อปฏิบัติงานที่ต้องใช้ภาษาจีน ส่วนชาวไทยจะเป็นพนักงานบริการทั่วไปที่ไม่ต้องใช้ภาษาจีน เป็นต้น

พนักงานชาวจีน (และชาวไทย) เหล่าย่อมจัดเป็นแรงงานเข้มข้น

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

*ไทยเรามีคำเรียกขานชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มนี้ว่า เจ้าสัว คำคำนี้ฟังดูแล้วอาจเข้าใจว่าเป็นคำจีน ด้วยมีตัวเขียนจีนคือคำว่า จั้วซาน แต่ผู้รู้อธิบายว่า คำจีนดังกล่าวเพี้ยนมาจากคำไทยที่เรียกชาวจีนกลุ่มนี้ว่า เจ้าขรัว หรือ เจ๊ขรัว และมีตัวเขียนโดยให้มีความหมายที่สอดคล้องกับความหมายในภาษาไทยที่หมายถึง ผู้มั่งมีชาวจีน

**ผู้วิจัยพบและรู้จักช่างไม้ผู้นี้มาตั้งแต่ ค.ศ.2006 จนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อ ค.ศ.2017 ช่างไม้ผู้นี้เล่าว่า คืนวันหนึ่งเขาจับได้ว่าภรรยาได้ลักลอบมีชู้กับลูกจ้างชาวไทยในร้าน เขาจึงขับภรรยาออกจากบ้านพร้อมชายชู้ แล้วเป็นผู้เลี้ยงดูชายด้วยตนเอง โดยที่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้ภรรยาใหม่ที่เป็นชาวจีนจากไห่หนันเช่นเดียวกับเขาโดยการแนะนำของเครือญาติ ภรรยาใหม่ของเขาจึงเป็นชาวจีนอพยพใหม่โดยปริยาย

***โครงการครูอาสาสมัครสอนภาษาจีนเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โครงการนี้เริ่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2549 และมีมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ไม่นับความร่วมมือในระดับกระทรวงศึกษาธิการกับทางการจีนที่มีมาก่อนหน้านั้น เช่น โครงการครูอาสาสมัครสอนภาษาจีนในโรงเรียนเอกชนที่เริ่มเมื่อ พ.ศ.2546 เป็นต้น