ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | รัฐประหารพม่า : เส้นทางสู่อนาคตรัฐล้มเหลว

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

รัฐประหารพม่าฉีกหน้าสื่อและนักวิชาการในสังคมไทย

เพราะไม่เพียงแต่นักวิชาการจะชอบพูดถึงพม่าว่าเป็นสังคมที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย สื่อแทบทั้งหมดก็เชื่อจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นทันทีที่ผู้นำกองทัพประกาศในวันเสาร์ที่ 30 มกราคม

อย่างไรก็ดี วันเดียวกับที่ทหารพม่าออกคำประกาศลวงโลก คือวันเดียวกับที่ม็อบหนุนทหารยึดเมือง ไล่ล่าผู้สนับสนุนพรรคออง ซาน ซูจี รวมทั้งโจมตีสหประชาชาติและสถานทูตที่แถลงค้านทหารพม่าอย่ารัฐประหาร

การเมืองมวลชนแบบนี้จึงเป็นสัญญาณชัดว่าทหารพม่ารัฐประหารอย่างแน่นอน

ไม่มีใครรู้ว่าทำไมสื่อและนักวิชาการถึงเชื่อว่าทหารพม่าจะไม่รัฐประหารทันทีที่มีคำประกาศแบบนี้ปรากฏออกมา

เพราะรัฐประหารไทยก็เกิดโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยประกาศแบบนี้สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี 2556 แต่ก็ยึดอำนาจในปี 2557 จนทำให้ประเทศย่อยยับถึงปัจจุบัน

บทเรียนจากเผด็จการไทยถึงเผด็จการพม่าคือคำพูดทหารเชื่อไม่ได้ ทหารที่ต้องการรัฐประหารเพื่อตั้งตัวเองเป็นใหญ่คือทหารที่โกหกทุกอย่างเพื่อแสวงหาอำนาจมากที่สุด

และไม่มีทหารคนไหนโง่พอจะประกาศรัฐประหารก่อนที่การรัฐประหารจริงๆ จะเกิดขึ้นและสำเร็จตามแผนการ

ทหารพม่าไม่ได้แถลงว่ารัฐประหารเพื่อปกป้องอะไรชัดๆ แบบทหารไทย

แต่ผู้นำทหารพม่าโจมตีการเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายน 2563 ว่าเต็มไปด้วยการโกงทันทีที่พรรค NLD ของนางออง ซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ส่วนพรรค USDP ของเครือข่ายทหารแพ้ระดับแทบเป็นหมาหัวเน่าในสายตาประชาชน

ทหารพม่ารัฐประหารในเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ก่อนที่รัฐสภาจะเปิดประชุมนัดแรกหลังเลือกตั้ง 2563 ผลของการรัฐประหารจึงทำลายเจตจำนงของประชาชนที่เลือก ส.ส., ส.ว. และสภารัฐจากพรรค NLD ของนางซูจีถึง 920 จากจำนวนทั้งหมด 1,117 ขณะที่พรรคทหารมีประชาชนเลือกเพียง 71 ราย

แน่นอนว่าผลเลือกตั้งสะท้อนว่าประชาชนอยากให้พรรคนางออง ซาน ซูจี เป็นรัฐบาล

แต่ความหมายที่มากกว่านั้นคือ ผลชี้ว่าคนเลือกพรรคนางซูจีมากขึ้น และเลือกพรรคทหารลดลงเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2558

โดยการปฏิเสธพรรคทหารนั้นลุกลามถึงระดับสภาของแต่ละรัฐชนชาติเลยทีเดียว

ด้วยการโจมตีการเลือกตั้งว่าโกงจนถึงการรัฐประหารในเช้าตรู่ก่อนที่รัฐสภาจะเปิดประชุม ทหารพม่าใช้ยุทธวิธีปั้นข่าวเท็จทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้งเพื่อล้มเลือกตั้งไปในที่สุด

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือยุติเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกว่าไม่ต้องการให้ทหารปกครองประเทศต่อไป

ทหารพม่าประกาศจะจัดเลือกตั้งใหม่หลังจากสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านไป 1 ปี ส่วนอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ จากนี้จะตกเป็นของผู้บัญชาการทหารสูงสุดทั้งหมด พม่าจึงเป็นประเทศใต้ระบอบรัฐประหาร ต่อให้ทหารพม่าจะอ้างว่าเป็นการกระทำตามช่องทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐประหารพม่าคล้ายรัฐประหารไทย และถ้าคำนึงถึงความสัมพันธ์เชิงสถาบันที่ใกล้ชิดกันระหว่างกองทัพไทย-กองทัพพม่า รวมทั้งความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างชนชั้นนำไทย-ผู้นำกองทัพพม่าที่เป็นผู้นำประเทศตอนนี้ ก็เป็นไปได้ที่การเมืองพม่าจากนี้จะมีมิติที่คล้ายกับไทย

รัฐประหารพม่าปี 2564 เกิดขึ้นโดยไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญที่ทหารเขียนตั้งแต่ปี 2551

และถ้าคำนึงถึงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้สมาชิกรัฐสภา 1 ใน 4 มาจากกองทัพ รัฐธรรมนูญนี้ก็เอื้อทหารมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในระบบที่มีการเลือกตั้งแล้ว หรือไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องมีเลือกตั้งไปเลย

ถ้ารัฐบาลทหารพม่าไม่ฉีกรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่างเองและใช้มาแล้ว 13 ปี การเมืองพม่าหลังจากนี้น่าจะเป็นเรื่องของการกวาดล้างและไล่ล่าสมาชิกพรรค NLD ของนางออง ซาน ซูจี ทั้งที่เป็นสมาชิกรัฐสภาระดับต่างๆ และไม่ได้เป็น

เพื่อให้พรรค NLD อ่อนแอจนถึงจุดที่แพ้เลือกตั้งครั้งหน้าไปเลย

ฟังอย่างผิวเผินแล้ว เผด็จการทหารพม่าน่าจะทำแบบเผด็จการประยุทธ์ตั้งพรรคพลังประชารัฐดูด ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นในการเลือกตั้งปี 2562 แต่ปัญหาคือคุณประยุทธ์ทำแบบนี้ได้เพราะหยุดประเทศไทยไม่ให้มีเลือกตั้งถึงห้าปีหลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งเป็นเวลาที่นานพอสมควร

เพื่อประโยชน์ในการตามประเด็น พรรค NLD ของนางออง ซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งจนมีสมาชิกสภาทุกระดับ 85% ซึ่งใกล้เคียงกับสมัยพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งปี 2548 โดยได้ ส.ส. 377 จากทั้งหมด 500 คน แต่ต่อให้ผ่านรัฐประหาร 2549 มา 13 ปี ทหารไทยยังไม่สามารถเอาชนะพรรคฝ่ายนี้ได้เลย

ถ้าทหารพม่าเลือกใช้รัฐธรรมนูญเดิมแล้วทำให้พรรค NLD อ่อนแอจนพรรคทหารชนะเลือกตั้งครั้งใหม่ ระยะเวลาที่ทหารพม่าต้องเตะถ่วงเลือกตั้งอาจต้องนานกว่า 1 ปี เพื่อสร้างโอกาสในการทำลายพรรคและความนิยมของประชาชนต่อพรรค NLD ที่มีมากจนเลือกคนของพรรคนี้เข้าสภา 85%

ด้วยความนิยมของประชาชนต่อนางออง ซาน ซูจี และพรรค NLD ที่สูงจนชนะเลือกตั้งต่อเนื่องทั้งที่กองทัพพม่าผูกขาดอำนาจมากว่า 3 ทศวรรษ กองทัพพม่ามีทางเลือกทางการเมืองหลังรัฐประหารไม่มากนัก หากโจทย์ของกองทัพพม่าอยู่ที่การทำให้ พล.อ.มิน อ่อง ลาย มีอำนาจต่อไป

การครอบครองอำนาจสูงสุดในประเทศให้นานที่สุดคือเป้าหมายในฝันของเผด็จการทหารพม่าและไทย แต่ในกรณีพม่า การจรรโลงอำนาจเผด็จการแลกมาด้วยนานาชาติปิดล้อมจนพม่าแทบไม่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัญหาของกองทัพพม่ารอบนี้จึงอยู่ที่จะรื้อฟื้นเผด็จการอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจพัง

ถ้าเผด็จการทหารพม่าเลือกปิดประเทศนานเพื่อทำลายรากฐานของพรรค NLD ให้สิ้นซาก พม่าอาจถูกนานาชาติต่อต้านจนเศรษฐกิจกลับไปเป็นผีตายซากอีก แต่ถ้าปิดประเทศไม่นาน พรรคนางออง ซาน ซูจี อาจกลับมาชนะเลือกตั้งจนเกิดสถานการณ์ “รัฐประหารเสียของ” แบบทหารไทยยุค คมช.

ทางที่ง่ายกว่าในการจรรโลงอำนาจทหารพม่าคือแก้รัฐธรรมนูญที่ทหารร่างเอง และเมื่อคำนึงว่าการกำหนดให้ทหารเป็นสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 4 ยังไม่มากพอต่อการตั้งรัฐบาลที่ทหารต้องการ การเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาที่มาจากกองทัพเป็น 1 ใน 3 อาจเป็นทางเลือกที่เผด็จการทหารพม่าทำด้วยซ้ำไป

เผด็จการทหารพม่าและไทยมีความสัมพันธ์แนบแน่นทั้งระดับสถาบันและตัวบุคคล และวิธีตั้งสมาชิกสภา 1 ใน 3 ไปเลือกตัวเองเป็นนายกฯ ก็เป็นวิธีที่เผด็จการประยุทธ์ทำในการเลือกตั้ง 2562 จนได้เป็นนายกฯ แทนพรรคเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้งมาแล้ว จึงไม่แปลกที่เผด็จการพม่าจะทำแบบเดียวกัน

เผด็จการพม่าเหมือนเผด็จการไทยในแง่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจการเมือง พูดอีกอย่างคือ เผด็จการทหารทั้งสองประเทศหน้าด้านพอจะใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทางการปกครองโดยไม่คำนึงถึง “ระบอบรัฐธรรมนูญ” จนเป็นไปได้ที่ทหารพม่าจะสร้างกติกาบางอย่างแบบไทย

ปัญหาของทหารพม่าในการใช้ยุทธวิธีนี้คือคนพม่าเลือกพรรคออง ซาน ซูจี มากจนหนึ่งปีสั้นไปในการทำลายพรรค

เผด็จการพม่าจึงไม่มีทางจัดเลือกตั้งหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหนึ่งปีอย่างที่พูด

ซ้ำรัฐธรรมนูญที่ทหารเขียนก็เปิดโอกาสให้เผด็จการต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งละ 6 เดือน

รัฐประหารพม่าครั้งนี้จะนำพม่าเข้าสู่ช่วงยาวของระบอบเผด็จการ และถ้าจะมีอะไรคล้ายคลึงกันอีกระหว่างเผด็จการพม่ากับเผด็จการไทย หนึ่งในนั้นย่อมได้แก่ความกะล่อน, ไร้ยางอาย และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจแบบศรีธนญชัยมากกว่าหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม

ขณะที่เผด็จการไทยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยเพราะเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ เผด็จการพม่าอ้างว่ารัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่รัฐประหาร แต่คือการยกอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

สองประเทศใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือราวกับพม่ามีคนแบบวิษณุเหมือนไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเผด็จการสองประเทศมีอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญแบบกะล่อนที่เขียนเองเออเองเพื่อให้มีอำนาจเอง และต้นเหตุของความกะล่อนคือความต้องการลดแรงกดดันจากประชาคมโลกกลุ่มซึ่งต่อต้านเผด็จการเพื่อสร้างภาพมากกว่าต่อต้านเผด็จการอย่างหัวเด็ดตีนขาดจริงๆ

ด้วยการอ้างว่ารัฐธรรมนูญเปิดทางให้ยกอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ ให้ผู้บัญชาการสูงสุดเพียงคนเดียว รัฐบาลจีนก็สามารถสนับสนุนพม่าโดยอ้างแบบคนบ้องตื้นว่าทหารพม่าแค่เปลี่ยนรัฐมนตรีตามวิธีรัฐธรรมนูญบัญญัติ และสักพักลิ่วล้อจีนประเทศอื่นคงหนุนพม่าด้วยข้ออ้างเดียวกัน

รัฐประหารคือการปล้นอำนาจประชาชนด้วยกระบอกปืน แต่มูลเหตุของการปล้นมีมากกว่าความต้องการรวบอำนาจจากประชาชนทั้งหมด

เพราะเหตุที่แท้จริงคืออำนาจเป็นบ่อเกิดของผลประโยชน์ รัฐประหารจึงมีเนื้อแท้ที่การกอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ตัวเองและพวกพ้องเท่านั้นเอง

ประเทศไทยใต้ระบอบรัฐประหารทำให้เครือข่ายผู้มีอำนาจได้ประโยชน์จากงบประมาณและเรื่องอื่นฉันใด พม่าใต้ระบอบรัฐประหารก็ทำให้ทหารกอบโกยผลประโยชน์มหาศาลฉันนั้น

มิน อ่อง ลาย ในพม่าจึงไม่เพียงแต่เป็นผู้บัญชาการทหารพม่า แต่ยังเป็นประธานบริษัทยักษ์ใหญ่อีกมากพร้อมกัน

นักวิชาการไทยเคยอธิบายเศรษฐกิจทหารยุคเผด็จการว่าเป็น “ทุนนิยมขุนนาง” และไม่ว่าจะเป็นในไทยหรือพม่า ร่องรอยของการใช้อำนาจและอิทธิพลเพื่อทำมาหากินของเผด็จการก็มีให้เห็นเยอะไปหมด คณะรัฐประหารจึงไม่มีวันคืนอำนาจให้ประชาชน เพราะหมายถึงการหมดโอกาสทำมาหากิน

พม่ากำลังกลับสู่หลุมดำของวงจรอุบาทว์ที่เผด็จการยึดประเทศจนประเทศหายนะคล้ายไทย ความไร้ประสิทธิภาพของผู้นำเผด็จการที่แย่พอกันทั้งไทย-พม่า จะทำให้สองประเทศแข่งกันถอยหลังลงคลองด้วยอัตราเร่งที่สูงมากจนเกาะกลุ่มเป็นประเทศครึ่งล่างของอาเซียนด้วยกัน