โครงการผลิตอาชญากร / กาแฟโบราณ มนัส สัตยารักษ์

กาแฟโบราณ

มนัส สัตยารักษ์

[email protected]

 

โครงการผลิตอาชญากร

 

โครงการ “คนละครึ่ง” กับ “เราเที่ยวด้วยกัน” เป็นโครงการของรัฐที่สืบเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคนา 2019 (โควิด-19)

นอกจากนี้ ยังมีคำว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” มีแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ปรากฏอยู่ในโครงการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” และ “ชิมช้อปใช้” “เราชนะ” ฯลฯ

บรรดาคำแปลกใหม่ที่อยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศข้างต้นนี้ ล้วนสร้างความสับสนให้แก่คนโบราณและประชาชนส่วนที่ไม่ค่อยสนใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงปรากฏว่าในเฟสถัดมาของแต่ละโครงการล้วนมีเงื่อนไขและรายละเอียดในการปรับปรุง ตั้งแต่วิธีการลงทะเบียน วิธีการใช้สิทธิ์ในโครงการ รวมทั้งมีแอพพลิเคชั่นชื่อเก๋ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกตามมาอีกเป็นลำดับ

โครงการทำนองนี้ทำให้นึกถึงวิธี “ปั่นเงินให้เคลื่อนไหวในตลาด” ของลีกวนยู เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว อันยังผลให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่มีคนจน จึงไม่ค่อยมีคนต่อต้านคัดค้านเท่าใดนัก มีท้วงติงบ้างก็ในส่วนที่ว่า “เน้นช่วยธุรกิจท่องเที่ยว” มากกว่าช่วยคนจน

ตรงกับคติที่ว่า การโกงทำให้การกระจายทรัพยากรไม่เป็นธรรมและไม่ทั่วถึง

ในยุคสมัยที่ผ่านมาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เราพบว่ารัฐบาลใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีวินัยการคลังท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่อยู่ในชั้นวิกฤต รวมทั้งท่าทีที่ไม่แยแสต่อ “ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น” (Corruption Perception Index) ที่ทั่วโลกรับรู้

ก็ทำให้เรากังวลถึง “การโกง” ทุกครั้งที่รัฐเปิดโครงการใหม่

แล้วที่เรากังวลก็เป็นความจริง เมื่อตำรวจกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ตำรวจท่องเที่ยว (บช.ทท.) ได้กระจายกำลังกันเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 55 จุด กวาดล้างขบวนการทุจริตโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จับกุมผู้ต้องหา 50 ราย เป็นผู้ประกอบกิจการโรงแรม ร้านค้าต่างๆ ในจังหวัดชัยภูมิและภูเก็ต

และกำลังขยายผลถึงผู้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีผู้ประกอบการโรงแรมกว่า 400 แห่ง ร้านอาหารและร้านค้ากว่า 400 แห่ง รวมทั้งประชาชนผู้ใช้สิทธิ์ที่รู้เห็นเป็นใจอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องดำเนินคดีทั้งหมด

ที่มีประชาชนร่วมกระทำความผิดเป็นจำนวนมาก มาจากขบวนการดังกล่าวนื้ออนไลน์เชื่อมต่อกับประชาชนทั่วไปจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเริ่มจากการโพสต์วิธีการโกง การสวมสิทธิ์ สมัครแอพพลิเคชั่น การส่งสำเนาบัตรประชาชน ฯลฯ โดยผู้ทำหน้าที่รวบรวมสิทธิ์เสมือนพ่อค้าคนกลาง นำไปขายต่อให้แก่ผู้ประกอบการอีกทอดหนึ่ง

จากการแถลงข่าวหลังไมค์ของนายตำรวจท่านหนึ่งในทีมนี้ เล่าว่า คนกลางที่ว่านั้น เหมือน “ติวเตอร์” ในห้องกวดวิชา บางทีก็ถึงขั้นซื้อบัตรประจำตัวประชาชนไว้เลย เป็นการตัดปัญหาความยุ่งยากและที่ชาวบ้านไม่เข้าใจในวิธีโกง

 

จากการตรวจสอบและประเมินค่าความเสียหายรอบแรก 2 จังหวัด ชัยภูมิและภูเก็ต น่าจะกว่า 87 ล้านบาท และมีผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกว่า 1 หมื่นคน

แม้รัฐจะเสียหายเป็นจำนวนเงินไม่มาก แต่เท่ากับรัฐผลิต “คนโกง” รวดเดียวเป็นหมื่นคน หรือเท่ากับเพิ่มอาชญากรทุจริตไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรของตำรวจทีเดียวกว่าหมื่นคน ตรงจุดนี้นับว่าประเทศไทยเสียหายสุดคณานับ!

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. กล่าวว่า ผู้ต้องหาจะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และข้อหาร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

ทั้งนี้ พฤติกรรมการกระทำความผิดในคดีนี้มีลักษณะของการฉ้อโกงอันเป็นปกติปกติธุระ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งตำรวจจะได้ประสานไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินดคีในความผิดฐานฟอกเงินต่อไป

เป็นเรื่องใหญ่ครับ

 

มองอย่างเถรตรง แม้จะเห็นว่าขบวนการทุจริตครั้งนี้ไม่น่านับเป็น “ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของรัฐ” ตามสเป๊กขององค์กรโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐสร้างสารพัดโครงการขึ้นมาโดยกำหนดเงื่อนไขและวิธีการอันสับสน

เท่ากับเปิดช่องจูงใจให้ผู้ประกอบการและประชาชนบางส่วนกระทำการทุจริต

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยถูกลดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง เริ่มแต่ปี 2559 ไทยเราอยู่ในอันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศ ถูกลดคะแนนลงตามลำดับจนในการประเมินครั้งล่าสุด 2564 คะแนนอยู่ที่ 36 (จากเต็ม 100) ไทยหล่นลงไปอยู่อันดับที่ 104 จาก 180 ประเทศ

ผู้ที่ให้ข่าวในพารากราฟข้างต้นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว คือ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล ม.ธรรมศาสตร์

อาจารย์หริรักษ์คอมเมนต์การสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียดและทบทวนการปฏิบัติงานใหม่ โดยสิ่งใดที่เป็นข้อแนะนำของ Transparency International เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานตรวจสอบ จะต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีกต่อไป

อาจารย์หริรักษ์ไม่เข้าใจคำสั่งของนายกรัฐมนตรี จึงคอมเมนต์

“หากใช้วิธีการสั่งแบบนี้อย่างเดียว ก็เชื่อได้เลยว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นจะยังคงเหมือนเดิม”

อาจารย์หริรักษ์แนะนำว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องลงไปคลุกกับปัญหาด้วยตัวเอง ต้องทำแบบเดียวกับการจัดการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

ข้อแนะนำตรงจุดนี้ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรนัก เพราะผมย้ำมา 2 หรือ 3 ครั้งแล้วว่าท่านนายกรัฐมนตรีไม่รู้ว่าทุจริตคอร์รัปชั่นคืออะไร หรือไม่รู้ว่าอะไรคือทุจริตคอร์รัปชั่น

ส่วนผลสำเร็จของการแก้ปัญหาโควิด-19 นั้น มาจากบรรดาแพทย์กับบุคลากรสาธารณสุข ร่วมมือกันลงไปคลุกต่างหาก

เป็นปัญหาสาธารณสุข ไม่ใช่ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

 

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “การผลักดันยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สู่ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต”

ความตอนหนึ่งว่า การจะให้ได้ค่า CPI (ดัชนีชี้วัดความโปร่งใส) อยู่ที่ 50 คะแนนในปี 2564 เป็นเรื่องท้าทายมาก หากไม่เป็นไปตามเป้า ตนอาจต้องรับผิดชอบ

ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเพิ่มระดับค่า CPI ให้ได้มากกว่าร้อยละ 50 ในปี 2564 โดยผลักดันด้วย 6 ยุทธศาสตร์

เราผ่านปี 2564 มากว่าหนึ่งเดือนแล้ว จึงขอแสดงความเสียใจต่อประธาน ป.ป.ช.ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ไทยยังดีกว่าเมียนมาตรงที่ยังมีคำว่า “ทุจริตคอร์รัปชั่น” ไว้สำหรับอ้างในการรัฐประประหารได้ ในขณะที่เมียนมาต้องหันไปอ้าง “การเลือกตั้ง”