ธงทอง จันทรางศุ : ปล่อยพระบาท

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

สํานวนภาษาพูดภาษาเขียนไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรก็แล้วแต่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ ทุกภาษาย่อมมีวิวัฒนาการหรือความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ ถ้าให้เด็กนักเรียนสมัยนี้นั่งอ่านพระราชนิพนธ์ในหลวงรัชกาลที่ห้า เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นความเรียงร้อยแก้วดีเด่น จะมีเด็กสักกี่คนอ่านได้เข้าใจรู้เรื่องซึมทราบ

ผู้คนยุคสมัยนี้อ่านอะไรยืดยาวแล้วเวียนหัวครับ เพราะเขาคุ้นเคยแต่อ่านอะไรไม่เกินแปดบรรทัด

“หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” ของผมนี่ก็อยู่ในเกณฑ์อ่านแล้วปวดหัวเหมือนกัน ฮา!

ยิ่งถ้าเป็นภาษาพูดด้วยแล้วยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าภาษาเขียนเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้อยคำสำนวนที่เราเรียกทับศัพท์ภาษาฝรั่งว่า สแลง (Slang) ซึ่งโบราณท่านเรียกว่า คำแผลง ถ้อยคำเหล่านี้มักใช้อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วก็จืดจางสูญหายไปเมื่อหมดคนที่รู้ความหมาย มีเพียงบางคำเท่านั้นที่เหลือรอดผ่านยุคสมัยมาได้ จนบางคนในชั้นหลังนึกว่าเป็นถ้อยคำภาษาสามัญตามปกติไปไม่ใช่สแลง

ถ้าผมจำไม่ผิด เราลองมาพูดถึงคำว่า “โก้” กันไหมครับ

ทุกวันนี้ถ้าบอกว่าใครคนหนึ่งแต่งตัวโก้เหลือเกิน ทุกคนย่อมเข้าใจตรงกันว่า คุณคนนั้นแต่งตัวภูมิฐานหรูหรา แม้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็แปลความหมายของคำว่าโก้ ไปในทำนองนี้ คำดังกล่าวจึงถูกใช้ในฐานะที่เป็นคำสามัญ ทุกคนเข้าใจตรงกันโดยไม่ต้องอธิบายขยายความ

แต่ใครจะนึกว่า คำว่าโก้นี้ขึ้นต้นด้วยการเป็นคำสแลงในสมัยรัชกาลที่ห้า ยังมีหลักฐานอยู่ในเชิงอรรถท้ายหนังสือพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่พระราชทานมายังสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปคราวแรก พุทธศักราช 2440

ซึ่งผมเก็บความโดยย่อได้ว่า

 

การไปยุโรปยุคนั้นเป็นของยาก ใครที่ไปถึงเมืองยุโรปแล้วย่อมได้รับความนิยมนับถือ เสมือนหนึ่งอิสลามศาสนิกที่ได้ไปแสวงบุญเมืองเมกกะ ถ้าใครได้ไปแสวงบุญดังว่า กลับมาเมืองไทยแล้วก็ได้รับยกย่องเป็นโต๊ะต่วน หะยี เวลาพูดจาอะไรมักอ้างถึงคัมภีร์กุรอ่าน ซึ่งออกสำเนียงไทยตามความนิยมยุคเก่าว่า คัมภีร์โก้หร่าน อยู่เสมอ คนไทยที่ไปถึงยุโรปกลับมาถึงเมืองไทยแล้วก็เช่นกัน เวลาพูดจาอะไรมักอ้างอิงถึงธรรมเนียมยุโรปแบบฝรั่งเสมอ คำว่า โก้หร่าน จึงเป็นคำแผลงในสมัยรัชกาลที่ห้า หมายความว่า เป็นธรรมเนียมอย่างฝรั่ง โดยเทียบเคียงกับผู้ที่ได้ไปแสวงบุญเมืองเมกกะแล้วชอบพูดถึงคัมภีร์ของเขานั่นเอง

เวลานี้คำว่า “โก้หร่าน” เกือบไม่มีใครจำได้แล้ว แต่คำว่า “โก้” ยังติดปากติดหูของเราอยู่ จนคนส่วนใหญ่ลืมต้นเรื่องไปแล้ว

เมื่อประมาณสัปดาห์หนึ่งที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกใจคิดถึงสำนวนว่า “ปล่อยพระพุทธบาท” ขึ้นมา แน่ใจว่าเคยอ่านพบเรื่องนี้ในหนังสือเล่มไหนสักเล่มหนึ่ง พร้อมกับแน่ใจว่าเป็นสำนวนหรือเป็นสแลงที่ไม่ติดปากติดหูคนแล้ว แต่ปัญหาคือความรู้เรื่องนี้อยู่ในหนังสือเล่มไหนล่ะ

นี่ผมเดินเป็นหนูติดจั่นมาสามวันแล้ว เพราะหนังสือในบ้านผมเป็นหนังสือหายากทุกเล่ม กว่าจะหาเจอก็ต้องเดินวนหลายรอบเชียวครับ แต่อย่างโบราณท่านว่าไว้ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น

เช้าวันนี้หาพบแล้วครับว่าความรู้เกี่ยวกับสำนวน “ปล่อยพระพุทธบาท” นี้ เป็นเชิงอรรถอยู่ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 23 มิถุนายน พุทธศักราช 2440

มีอธิบายว่าอย่างนี้ครับ

“คําว่า ปล่อยพระพุทธบาท นี้ เป็นคำแผลง หมายความว่าเอาของที่ใช้ไม่ได้แล้วไปทำบุญ มาแต่ในเรื่องพงศาวดาร ครั้งพระเจ้าบรมโกษฐ ให้ปล่อยช้างต้นบรมจักพาฬซึ่งไส้งาทลุเกรงจะล้ม ถวายเป็นพุทธบูชาที่พระพุทธบาท”

สำนวนนี้ใช้กันมาช้านานมาก แต่ขาดความนิยมไปในช่วงหลังจนเกือบจะลืมกันไปหมดแล้ว

อันว่าพระพุทธบาทนี้เป็นบุณยสถานสำคัญของบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว เรียกว่าเป็นที่แสวงบุญและที่ท่องเที่ยวท็อปฮิตติดอันดับของอยุธยาและรัตนโกสินทร์ของเราก็ว่าได้

อย่าลืมครับว่าในสมัยก่อนโน้นการเดินทางท่องเที่ยวออกไปนอกเมืองหลวง ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย อันตรายจากโจรปล้นตีชิงวิ่งราวก็มีอยู่มิใช่น้อย

จะมีก็แต่เฉพาะเส้นทางไปพระบาทนี่แหละครับที่ผู้คนครึกครื้นหนาตาอยู่เสมอ

เดินทางด้วยเรือเป็นพาหนะออกจากอยุธยาไปตามแม่น้ำป่าสัก แล้วไปขึ้นบกเดินทางต่ออีกหน่อยหนึ่งก็ถึงปลายทาง

ระหว่างเส้นทางก็มีพระราชวังหรือพระตำหนักที่สร้างขึ้นในรัชกาลต่างๆ เรียงรายเป็นระยะ ที่ยังปรากฏหลักฐานชัดเจนก็เห็นจะได้แก่ปราสาทนครหลวง ในเขตอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน

 

การเดินทางไปไหว้พระพุทธบาทจึงเป็นความฝันของผู้คนยุคเก่าแทบทุกคน

ยิ่งมีคำกล่าวว่าใครได้ไปไหว้พระบาทถึงเจ็ดครั้งในชีวิต จะได้ขึ้นสวรรค์อย่างแน่นอน ความกระหายอยากไปไหว้พระพุทธบาทก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะหญิงสาวทั้งหลายที่ใฝ่ฝันว่าอยากจะไปพระบาทสักครั้งหนึ่งในชีวิตให้จงได้ เพราะได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือมาช้านานแล้ว

ครั้นจะเดินทางไปเองก็เป็นเรื่องประหลาดเต็มที่สำหรับยุคสมัย ด้วยในครั้งนั้นผู้หญิงไปไหนมาไหนเองโดยลำพังไม่ได้ ต้องอยู่ในปกครองหรือมีผู้ชายพาไป

ในราวเจ้าคุณพ่อ หรือคุณหลวงผู้เป็นสามีพาไปอะไรทำนองนั้น

วิธีเอาใจคุณผู้หญิงหรือเจ้าสาวในวันส่งตัวเข้าหอ ที่บ่าวสาวไม่เคยได้พูดจาใกล้ชิดสนิทสนมกันมาแต่ก่อน เจ้าบ่าวเมื่อเก้อเขินเต็มที มักนิยมยกประเด็นเรื่องชวนไปเที่ยวพระบาทขึ้นมาเป็นหัวข้อพูดคุย เรื่องจะได้ต่อติดง่ายหน่อย

วิธีการนี้คุณเปรมสามีแม่พลอยในเรื่องสี่แผ่นดินได้เคยใช้และประสบผลสำเร็จมาแล้ว

ผมอ่านสี่แผ่นดินครั้งแรกเมื่ออยู่ชั้นมัธยม เมื่ออ่านถึงตอนที่คุณเปรมเข้าไปใกล้ตัวแม่พลอยแล้วพูดน้ำเสียงเบาแทบเป็นกระซิบกับพลอยว่า

“แม่พลอยจ๋า แม่พลอยเคยขึ้นพระบาทหรือยัง?”

ผมนึกเลยพระบาทไปถึงไหนต่อไหนเชียวล่ะ เพิ่งจะมาได้สติตอนโตนี่เอง ฮา!

 

มาถึงยุคสมัยของพวกเรา ผมได้ไปพระบาทครั้งแรกน่าจะอายุประมาณ 10 กว่าขวบเท่านั้นเอง น้าจิ๋วซึ่งเป็นน้องคนเล็กของแม่ลงทุนเช่าเหมารถแท็กซี่พาคุณยายและหลานสองสามคนเดินทางจากพระนครไปพระพุทธบาทแบบไปเช้า-เย็นกลับ เพียงแค่นั้นก็สนุกสนานตื่นเต้นมากแล้ว เพราะเคยอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบาทมาหลายครั้งหลายเรื่อง มาได้เห็นกับตาตัวเองเสียที

หลังจากนั้นมาผมได้ไปพระพุทธบาทอีกหลายครั้ง ไปทัศนศึกษากับโรงเรียนสาธิตปทุมวันตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่สามเมื่อพุทธศักราช 2514 บ้าง ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ บ้าง จนตอนหลังกำเริบทำทัวร์พาคนไปเที่ยวพระพุทธบาทก็มี นับแล้วเห็นจะเกินเจ็ดครั้งแน่

สำหรับผมตอนนี้นรกจึงเป็นเพียงแค่ชื่อของน้ำพริกเท่านั้น เพราะผมต้องได้ขึ้นสวรรค์แบบชัวร์ๆ

 

ล่าสุดผมไปพระพุทธบาทมาเมื่อราวสามสี่เดือนที่แล้ว นอกจากไปไหว้พระบาทเป็นบุญกิริยาแล้ว บริเวณทั่วไปของพระพุทธบาทเอง ไม่ว่าจะเป็นมณฑปก็ดี การประดับตกแต่งทั้งหลายก็ดี เรื่อยไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดแสดงของควรชมก็ดีจำนวนมาก ทำให้การไปไหว้พระบาทนำความเอิบอิ่มมาสู่หัวใจ และเจริญศรัทธาได้มาก ไม่แตกต่างจากความรู้สึกตอนตัวเองอายุสิบกว่าขวบเลย

หรืออาจจะลึกซึ้งขึ้นมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ เพราะพออายุมากขึ้นก็คิดอ่านอะไรต่อมิอะไรได้ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม

ไปไหว้พระบาทครั้งสุดท้ายนี้ ผมลืมนึกถึงสำนวน “ปล่อยพระพุทธบาท” ไปสนิทเลย เพราะไม่มีใครใช้สำนวนนี้มานานแล้ว สิ่งที่พบเห็นด้วยตาของผมเองที่พระบาทก็มีแต่ของสวยของงามทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่จะมีท่าทางเป็นของปล่อยพระบาทเลย

แต่สองสามวันมานี้ เกิดมีคนเอื้อเฟื้อส่งรูปการตั้งแต่งบริเวณรอบมณฑปพระพุทธบาทยุคปัจจุบันนี้มาให้ผมได้ดู ดูแล้วก็อึ้งไปสิครับ

ผมไม่ทราบว่าใครเกิดมีศรัทธาหรือมีความคิดอย่างไรที่นำรูปเคารพต่างๆ สารพัด ไปเรียงรายไว้หน้ามณฑป มีแม้กระทั่งรูปไอ้ไข่ใส่แว่นยืนเปลือย พระพุทธรูปที่มีคนเอาร่มแบบเมืองเหนือไปกางถวายแบบผิดฝาผิดตัว เจ้าพ่อเจ้าแม่ เทวดาทั้งปวงองค์เล็กองค์น้อย รูปเซียนหรืออะไรก็ไม่รู้ของจีน ฯลฯ ดูแล้วทั้งประหลาดตาและประหลาดใจ ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องคิดอะไรกันบ้างหรือไม่ อย่างไร

หรือไม่ได้คิด

ถ้าคนยุคพระเจ้าบรมโกษฐ์มาเห็นเข้า คงร้องถามเป็นเสียงเดียวกันว่า

นี่ใครเอามา “ปล่อยพระพุทธบาท” ฮึ?

แล้วจะตอบท่านว่าอะไร