เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ขนส่งมวลชนกับผังเมือง

AFP PHOTO/ Nicolas ASFOURI

จบการบรรยายของ อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เวลาอาหารกลางวัน จากนั้นช่วงบ่ายไปดูงานและรับฟังการบรรยายระบบขนส่งมวลชนที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ณ ที่ทำการถนนพระราม 9

เรื่องระบบการขนส่งมวลชนเคยเขียนถึงสองสามครั้งแล้ว จากการเข้าอบรมในสองหลักสูตรที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลักสูตรหลังคือหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารงานพัฒนาเมือง (มหานคร รุ่นที่ 4) มีทั้งไปดูงานระบบการขนส่งมวลชน และการจัดทำระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ระบบการขนส่งมวลชนวันนี้เดินหน้าไปได้ไกลแล้ว มีรถไฟฟ้าสายสีม่วงบางใหญ่-บางซื่อ เกิดขึ้น ขณะที่รางรถไฟฟ้าสายสีอื่น เช่น สีแดง ก้าวหน้าไปมาก ทั้งยังมีโครงการรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงที่มีงบประมาณจะจัดสร้างไว้แล้ว อาทิ สายหัวหิน

เชื่อว่าภายในปีหน้า 2560 ชาวมหานครกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีโอกาสโดยสารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเดินทางไปไหนมาไหน โดยเฉพาะการเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครช่วงเช้าและกลับบ้านละแวกปริมณฑลช่วงเย็น กับการเดินทางไปไหนมาไหนในช่วงกลางวันได้เร็วขึ้น

เช่นเดียวกันชาวมหานครอื่น

วันศุกร์สัปดาห์ต่อมามีชั่วโมงเรียนที่ห้องประชุมการุณยสภา คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นการบรรยายเรื่อง “ระบบโครงสร้างพื้นฐานการบริการสาธารณะของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับการเชื่อมโยงการพัฒนากรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับเมืองหลักที่สำคัญในอาเซียน”

วิทยากรผู้บรรยายหัวข้อนี้คือ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นนักศึกษามหานครรุ่น 4 ที่เพิ่งสำเร็จมาหมาดๆ มีโอกาสรับใช้กรุงเทพมหานครและมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เจ้าของสองหลักสูตรด้วยการมาถ่ายทอดความรู้เต็มอกให้เพื่อนฟังอีกครั้ง

ผู้บรรยายร่วมคือ นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร กระทรวงคมนาคม

ปิดท้ายช่วงเช้าหัวข้อ “การจัดการผังเมือง” เดิมผู้บรรยายคือ นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นักศึกษาในหลักสูตรนี้ แต่เนื่องจากอธิบดีป่วยกะทันหันจึงมอบหมายให้ผู้แทนมาแทน

การบรรยายของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเท่าคุณพี่มนูญ วิวรรณ คัดย่อระหว่างการบรรยายให้เพื่อนได้รับรู้ในขณะนั้น คือ ปัญหาของประเทศไทย เป็นมุมมองของข้าราชการกับเอกชนไม่ค่อยไปด้วยกัน การกำหนดนโยบายกับการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เหมือนต่างคนต่างทำ การก่อสร้างระบบคมนาคม รัฐกับเอกชนคิดต่างในด้านมูลค่าของสินค้า

อุปสรรคอีกประเด็นคือความไม่ชัดเจนของแผนแม่บท แผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบขนส่งของรัฐ ทำให้เอกชนไม่มั่นใจที่จะร่วมลงทุน แต่เริ่มมีเค้าที่จะดีขึ้น ต้องมียุทธศาสตร์ชาติเรื่องระบบขนส่งที่ชัดเจน

ส่วน คุณวิจิตต์ นิมิตรวานิช บรรยายถึงภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน มีทางหลวง 66,000 กิโลเมตร ทางหลวงชนบท 44,000 กิโลเมตร และทางอื่นๆ อีกกว่าแสนกิโลเมตร รถไฟฟ้าจะมีเพิ่มขึ้น 10 สาย เป็นโครงการขนาดใหญ่ เมื่อสร้างเสร็จคือความคุ้มทุนในอนาคต

คุณวิจิตต์มีความเห็นว่า สังคมไทยเป็นสังคมการโตในทางราบ จะทำอย่างไรให้คนมาใช้รถไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า การขาดทุนไม่ใช่ปัญหา หากตอบสนองความต้องการของสังคมได้

จากนั้นเป็นการบรรยายเรื่อง “การจัดผังเมือง” ผู้บรรยายเป็นวิศวกรจากกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบายเป็นหัวข้อ คือ

1. ผังนโยบาย ประกอบด้วยผังภาค กับผังภูมิภาค

2. ผังที่บังคับใช้เป็นกฎหมาย ประกอบด้วย ผังเมืองรวม 33 จังหวัดที่ใช้แล้ว กับผังเมืองระดับเมืองและชุมชน ประกาศใช้เป็นกฎกระทรวงแล้ว 200 ผัง จากกว่า 300 ผัง และผังเมืองเฉพาะ ซึ่งต้องประกาศเป็นพระราชบัญญัติ แต่ยังไม่มีประกาศใช้

3. ผังเสนอแนะ เป็นลักษณะผังของชุมชนขนาดเล็ก

วิศวกรจากกรมโยธาธิการและผังเมืองอธิบายถึงกระบวนการทำผังเมืองที่เป็นกฎกระทรวง มีดังนี้

1. กระบวนการทำผังเมืองเชิงพื้นที่ มีประมาณ 10 ขั้นตอน เช่น ประชุมประชาคม รับฟังความคิดเห็น

2. กระบวนการจัดทำเป็นกฎกระทรวง

ผังเมืองรวมฉบับแรกคือผังเมืองรวมของจังหวัดระยอง ปี 2528 ความคืบหน้าคือ ผังเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ มี 10 พื้นที่

1. ออกแบบวางแผนเสร็จแล้วเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2558 จำนวน 10 ผัง

2. ร่างกฎกระทรวงเป็นมาตรการบังคับใช้

3. ออกมาตรการการพัฒนาในพื้นที่ผังเมืองรวม

วิศวกรกรมโยธาธิการและผังเมืองอธิบายต่อไปว่า ขณะกำลังทำผังเมืองรวมเพื่อให้มีผลบังคับใช้ กรมโยธาธิการและผังเมืองจะออกประกาศตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารใช้ไปพลางก่อน

สำหรับการจัดรูปที่ดิน ปี 2535 เริ่มนำมาใช้พัฒนาการจัดการปันส่วนที่ดินให้ผู้อาศัยอยู่ในที่ดินเดิมโดยไม่ต้องย้ายถิ่นตามออกไปเป็นการจัดรูปที่ดินให้เป็นไปตามผังเมืองที่ประกาศใช้แล้ว

นอกจากนั้นยังว่าถึงการจัดการภูทับเบิกที่มีการบุกรุกก่อนหน้านี้ เริ่มมีการตรวจสอบการก่อสร้าง ด้วยการแนะนำให้แบ่งเป็น “โซน” ซึ่งจะบรรจุไว้ในผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบูรณ์ก่อนส่งต่อให้องค์กรปกครองท้องถิ่นนำเสนอสภาท้องถิ่นออกเป็นข้อบัญญัติขององค์กรปกครองท้องถิ่น

เพื่อนายกเทศมนตรีลงนามประกาศใช้ในท้องถิ่นต่อไป

การบรรยาย 3 เรื่องภายใน 3 ชั่วโมง เป็นการสรุปเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมนำไปหาความรู้และแนวทางเพิ่มเติม ทั้งนี้ พื้นที่ของแต่ละภูมิภาคของการปกครองท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดองค์การบริหารส่วนตำบล โดยเฉพาะเทศบาลทั้งนคร เมือง และตำบลย่อมมีลักษณะที่ดินไม่เหมือนกัน

ดังนั้น หากผู้เข้ารับการอบรมที่เป็นผู้นำท้องถิ่นจะนำแนวทางความคิดซึ่งได้รับฟังในวันนี้ไปต่อยอดในท้องถิ่นตัวเอง น่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคตอย่างยิ่ง

ครึ่งวันหลัง เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก คือการศึกษาดูงานบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แบ่งผู้ไปศึกษาดูงานเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มไปดูงานโครงการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร และกลุ่มที่ไปดูงานที่กรมชลประทานและประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

น่าสนใจทั้งสองเรื่อง โดยเฉพาะที่คลองลัดโพธิ์ซึ่งเกิดจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว