คุยกับทูต : “อูก ซอร์พวน” ไทย-กัมพูชา พัฒนาสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน (ตอน 1) “เพื่อนบ้านใกล้ชิด”

ประเทศไทยและกัมพูชาเป็นเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกันทำให้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดยาวนานกว่าพันปี นับตั้งแต่อาณาจักรโบราณของไทย คือสุโขทัย กับอาณาจักรขะแมร์ เมืองพระนคร ของกัมพูชา ทั้งสองรัฐมีวัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ และรูปแบบการดำรงชีวิตของประชาชนที่คล้ายคลึงกัน

แต่ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเพิ่งครบรอบ 70 ปีเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.1950

กัมพูชาได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 10 เป็นประเทศสุดท้าย เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1999

ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การติดต่อแลกเปลี่ยนกันและกันในระดับประชาชนต่อประชาชนก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นที่น่าพอใจยิ่ง

ในด้านการปกครอง ประเทศกัมพูชามีรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

สถาบันพระมหากษัตริย์กัมพูชาถือเป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในทวีปเอเชียรองจากญี่ปุ่น (จักรพรรดิญี่ปุ่น)

พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี (His Majesty King Preah Bat Samdech Preah Boromneath Norodom Sihamoni)

และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นําประเทศ คือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเตโช ฮุน เซน (Samdech Akka Moha Sena Padei Techo Hun Sen) ถือเป็นผู้นําที่ดํารงตําแหน่งนานที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปกครองราชอาณาจักรกัมพูชามาเป็นระยะเวลากว่า 36 ปีนับตั้งแต่ ค.ศ.1985

สภาพการเมืองกัมพูชาในปัจจุบันถือว่ามีเสถียรภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในปัจจุบันอยู่ในระดับดีมาก และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ

 

นายอูก ซอร์พวน (H.E. Mr. Ouk Sorphorn) เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ให้การต้อนรับเราภายในห้องทำงานอันเงียบสงบ ณ สถานทูตกัมพูชา เขตวังทองหลาง โดยเล่าถึงความเป็นมาและบทบาทหน้าที่ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

“ผมในฐานะเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ค่อนข้างมีความแตกต่างจากสมาชิกของคณะทูตประเทศอื่นๆ ที่ประจำประเทศไทย ได้แก่ การเป็นตัวแทนของพลเมืองจากประเทศบ้านเกิดมากกว่าทูตกัมพูชาคนอื่นๆ เพราะปัจจุบัน มีชาวกัมพูชาราว 1.2 ล้านคนอาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย และคาดว่ามีบางส่วนอาศัยอยู่ที่นี่อย่างผิดกฎหมาย”

“ในขณะเดียวกันสถานทูตกัมพูชาที่กรุงเทพฯ ยังมีหน้าที่ประสานงานกับคณะทูตจาก 33 ประเทศที่มีเขตอาณาความสัมพันธ์ทางการทูตครอบคลุมประเทศกัมพูชาด้วย”

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่รัฐบาลกรุงพนมเปญได้แต่งตั้งนักการทูตที่มีความสามารถที่สุดคนหนึ่งประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ท่านทูตวัย 46 ปี รู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี

 

ท่านทูตเกิดก่อนที่เขมรแดงจะเข้ามามีอำนาจเพียงหนึ่งสัปดาห์ในปี ค.ศ.1975 และยังเป็นเด็กทารกในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาซึ่งคร่าชีวิตประชากรเกือบ 25% ของกัมพูชา

แม้จะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความไม่มั่นคงของระบอบการปกครองแบบเผด็จการ แต่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากความเข้มแข็งของชาวกัมพูชาและการอุทิศชีวิตเพื่อช่วยให้เพื่อนร่วมชาติได้ตระหนักถึงอนาคตที่ดีกว่า

“สันติภาพเป็นสิ่งที่หาได้ยากในบ้านเกิดเมืองนอนของเรา แต่รัฐบาลของเราได้ให้คำมั่นที่จะรักษาสันติภาพนี้ไว้ เพื่อให้กัมพูชาบรรลุสู่ศักยภาพสูงที่สุด” ท่านทูตกล่าว

“ผมเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.1975 ในจังหวัดกัมปงจาม (Kampong Cham) ซึ่งอยู่ติดกับประเทศเวียดนาม บิดาเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ส่วนมารดาเป็นแม่บ้าน ดังนั้น ครอบครัวจึงสนับสนุนให้ผมทำการค้า แต่สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางธุรกิจทำให้ผมหันกลับมารับราชการแทนทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดฝันที่จะก้าวขึ้นมาสู่ชีวิตนักการทูตดังเช่นทุกวันนี้” ท่านทูตยิ้ม

“ก็นับว่าผมโชคดีที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลกัมพูชาและการตอบรับจากประเทศไทยให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เพราะที่นี่เป็นหนึ่งในตำแหน่งที่น่าดึงดูดในสายตาของนักการทูตกัมพูชา เพราะนอกจากมีพรมแดนที่ใกล้ชิดติดกันแล้ว เรายังเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันอีกด้วย”

 

“หลังสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาด้านการวางแผนเศรษฐกิจเฉพาะทางที่กัมพูชาแล้ว ในปี ค.ศ.1995 ผมเริ่มทำงานในกระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ (MFAIC) ของกัมพูชาเมื่ออายุ 20 ปี และไม่นานนักก็ก้าวสู่ตำแหน่งระดับหัวหน้าทั้งในประเทศและอาเซียน (ASEAN) จนกระทั่งปี ค.ศ.2001 จึงได้กลับไปเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการจัดการทั่วไปพร้อมกับการทำงานในสำนักเลขาธิการอาเซียนด้วย”

“ต่อมาในปี ค.ศ.2015 ผมเป็นอธิบดีกรมใหญ่-อาเซียน ประจำกระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา (MFAIC) ขณะมีอายุ 40 ปี และจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี ดังนั้น ตอนนี้ผมจึงมีเวลาเหลืออีก 14 ปีในการทำงานให้กับรัฐบาล เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศกัมพูชาไปทั่วโลก นับเป็นการตัดสินใจที่ดีมากของผมที่ได้มีโอกาสเข้ามารับราชการที่กระทรวงนี้”

“การเป็นทูตในปัจจุบันไม่ใช่เป็นการมาประจำครั้งแรกในประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.2008 ผมมารับตำแหน่งอุปทูต (charge d’affaires) ประจำสถานทูตกัมพูชาที่กรุงเทพฯ พร้อมกับได้ทุนให้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ โดยผมทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ทิศทางอนาคตของอาเซียน” (The Future Direction of ASEAN)”

 

 

ถามถึงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ท่านทูตเล่าอย่างสนุกสนานว่า

“วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ผมทำงานประจำที่สถานทูต ส่วนวันหยุดสุดสัปดาห์คือวันเสาร์-อาทิตย์ ผมไปเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียนเต็มวันตั้งแต่เวลา 09.00 น.-18.00 น. ได้พบเพื่อนหลายชาติหลายภาษา ทำให้ผมมีโอกาสได้ใช้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ”

“ในช่วงที่ไปเรียน อาหารมื้อกลางวันของผมมักเป็นผัดไทยที่โรงอาหารที่นั่น ผมชอบเพราะอร่อย และราคาไม่แพง แค่ 30 บาท”

“การเรียนตอนนั้น ทำให้ผมมีเพื่อนหลายคนทั้งคนไทยและต่างชาติ และเมื่อกลับมาอีกครั้งเพื่อรับหน้าที่เป็นเอกอัครราชทูตเมื่อเกือบสองปีที่แล้ว ผมจึงรู้สึกเสมือนได้กลับบ้าน”

การทำงานรับใช้สาธารณะ การศึกษาอย่างต่อเนื่อง และการรู้จักคุ้นเคยกับคนไทยและประเทศไทยเป็นอย่างดี จึงทำให้นายอูก ซอร์พวน มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งเมื่อมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.2019 ท่านทูตสรุปว่า

“บทบาทที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีศูนย์กลางอยู่ที่การเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา”

 

ประวัติ
นายอูก ซอร์พวน
เกิด : 12 เมษายน ค.ศ.1975การศึกษา :- 2008 -2011 : รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยานิพนธ์เรื่อง “ทิศทางอนาคตของอาเซียน” (The Future Direction of ASEAN)- 2001-2004 : ปริญญาตรีสาขาการจัดการทั่วไป จาก Build Bright University กรุงพนมเปญ

– 1994-1996 : อนุปริญญาด้านการวางแผนเศรษฐกิจเฉพาะทาง จาก Institute of Planning and Statistics กรุงพนมเปญ

– 2020 : รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ประสบการณ์การทำงาน

– 2019 ก.พ.-ปัจจุบัน : ที่ปรึกษากรรมการสูงสุด – สภาสงฆ์ราชอาณาจักรกัมพูชา

– 2018 พ.ย.-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาประจำราชอาณาจักรไทย

– 2018 (ก.ย.-พ.ย.) : ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา (MFAIC)

– 2015-2018 (ก.ย.) : อธิบดีกรมใหญ่-อาเซียนใน MFAIC

– 2011-2015 : รองอธิบดีกรมใหญ่-อาเซียนใน MFAIC

– 2009-2011 : อุปทูต และรักษาการผู้แทนถาวร UNESCAP ของสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย

– 2007-2009 : ที่ปรึกษา/รองผู้แทนถาวร UNESCAP สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย

– 2004-2006 : รองผู้อำนวยการกรมใหญ่-อาเซียนใน MFAIC

– 2003-2004 : หัวหน้าสำนักกรมใหญ่-อาเซียนใน MFAIC

– 2002-2003 : เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการอาเซียน จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

– 1999-2003 : รองหัวหน้าสำนักกรมใหญ่-อาเซียนใน MFAIC

– 1996-1999 : ผู้ช่วยของผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ ใน MFAIC

– 1995-1996 : เจ้าหน้าที่แผนกบริหารงานทั่วไป ใน MFAIC

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ :

– 2019 : Order of Her Majesty the Queen Preah Kossomak Nearireath, Grand Cross.

– 2018 : Royal Order of Cambodia, Officer.

– 2017 : Royal Order of Monisaraphorn, Grand Officer.

– 2013 : Royal Order of Monisaraphorn, Commander.

– 2003 : Medal of Labor, Bronze.

ภาษา : เขมร อังกฤษ ไทย

งานอดิเรก : ปิงปอง กอล์ฟ วอลเลย์บอล อ่านหนังสือ ท่องเที่ยว

ครอบครัว : สมรสกับนางจันทร มาว (Chanthan Mao) มีบุตรชายสามคน