ทำไมบางคนล้มเลิกง่าย | นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

ทำไมบางคนล้มเลิกง่าย

 

เพื่อนบางคนของเราเป็นคนหนักเอาเบาสู้ ขณะที่บางคนถูกขนานนามว่าเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทั้งเพื่อนในชีวิตประวันจำและเพื่อนร่วมงาน เหล่านี้อาจชวนหงุดหงิดใจกับความล้มเลิกง่าย ไม่พยายาม รวมถึงการไม่กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ของเพื่อนจำพวกหลัง

เรื่องนี้อาจอธิบายได้หลายแง่มุม

แต่มีหนึ่งมุมที่พยายามอธิบายความแตกต่างของผู้คนในเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ

แครอล เอส. ดเวก นักวิจัยชั้นนำด้านบุคลิกภาพ จิตวิทยาสังคม และจิตวิทยาด้านพัฒนาการ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ Mindset อันลือลั่น พยายามอธิบายเรื่องที่ว่านี้ว่าเป็นความแตกต่างของคนสองประเภท

คือคนที่มีกรอบคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) กับคนที่มีกรอบคิดแบบพัฒนา (Growth Mindset)

ผู้ที่มีกรอบคิดตายตัวจะเชื่อว่า คุณสมบัติของฉันไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ และฉันจะเป็นคนตัดสินมันเอง

ส่วนคนที่มีกรอบคิดแบบพัฒนาจะเชื่อว่า ฉันกำลังพัฒนาตัวเองอยู่ และสนใจพัฒนาการของคนอื่นด้วยเช่นกัน

วิธีสังเกตว่าเราเป็นคนแบบไหนอาจลองเช็กลิสต์ตามคุณสมบัติต่อไป

เชื่อในพรสวรรค์มากกว่าความพยายาม

ไม่อยากเรียนรู้สิ่งใหม่

ชอบทำในสิ่งที่ถนัดและอยากเป็นคนเก่งเสมอ

ไม่ชอบความท้าทายหรือการเริ่มต้นใหม่ที่เสี่ยงล้มเหลว

ความล้มเหลวทำให้เสียศูนย์

อ่อนไหวต่อคำวิจารณ์

เวลาเห็นคนอื่นทำได้ดีจะรู้สึกไม่พอใจ และคิดว่าเขาเกิดมามีพรสวรรค์อยู่แล้ว ส่วนฉันไม่มี

หากมีคุณสมบัติตามที่ว่ามาเสียเป็นส่วนใหญ่ก็เป็นไปได้ว่า เราจะมีกรอบคิดแบบ Fixed Mindset

ส่วน Growth Mindset นั้นตรงกันข้าม คือจะเป็นคนที่เชื่อในความพยายามมากกว่าพรสวรรค์

ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่

กล้าทำในสิ่งท้าทายที่ไม่ถนัดโดยไม่ห่วงว่าจะล้มเหลว

คิดว่าความล้มเหลวคือการเรียนรู้

เมื่อล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาสู้ต่อ

นำคำวิจารณ์มาปรับแก้จุดที่บกพร่อง

เวลาเห็นคนอื่นทำได้ดีจะชื่นชม เรียนรู้ และนำแบบอย่างที่ดีมาทำตาม

เราอาจจะพอหลับตานึกภาพผู้คนในชีวิตเช่นนี้ออกว่าใครมีกรอบคิดแบบไหนบ้าง

รวมถึงตัวเราเองด้วย

 

คําถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วอะไรทำให้เราและพวกเขากลายมาเป็นแบบที่เป็นอยู่?

กรอบคิดมาจากไหน?

คำตอบจากคุณแครอลบอกว่า ส่วนหนึ่งของกรอบคิดที่เรามีนั่นมาจากผู้ที่มีอิทธิพลต่อเราในวัยเด็ก พ่อ-แม่ ครู และโค้ช

ที่น่าสนใจคือ มันเกิดจากความตั้งใจดีแบบเข้าใจผิดของพ่อ-แม่ ทำให้ลูกเติบโตขึ้นกลายเป็นคนที่มีกรอบคิดแบบตายตัวซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตัวเอง

พ่อ-แม่จำนวนไม่น้อยชอบเอ่ยปากชื่นชมลูกทำนองนี้

“หนูเรียนรู้ได้เร็วมาก ฉลาดมากเลยลูก”

“โอ้โห หนูวาดรูปสวยมาก ที่โตขึ้นเป็นแวนโก๊ะห์แน่ๆ”

“ลูกแม่ฉลาดจริงๆ สอบได้เอทั้งที่แทบไม่ได้อ่านหนังสือเลย”

ฟังเผินๆ เหล่านี้เป็นคำชมที่ดี แต่แครอลบอกว่าสารที่เด็กๆ ได้รับนั้นแตกต่างจากที่ผู้ใหญ่ตั้งใจจะบอกกับพวกเขา ในหัวสมองของเขาตีความแบบนี้แทน

ถ้าฉันไม่เรียนรู้เร็ว แปลว่าฉันโง่สินะ

ฉันไม่วาดรูปยากๆ ดีกว่า เดี๋ยวพ่อจะรู้ว่าฉันไม่เก่งเหมือนแวนโก๊ะห์นี่นา

ฉันควรเลิกอ่านหนังสือ เพราะถ้าอ่านเยอะเดี๋ยวแม่จะไม่เห็นว่าฉันฉลาด

ลองอ่านความคิดของเด็กๆ ในตัวเอนเหล่านี้ซ้ำอีกครั้งช้าๆ จะเห็นว่าการตีความของเขานั้นนำมาซึ่งความหวาดกลัวที่จะผิดพลาด ถ้าไม่เรียนรู้เร็วแปลว่าโง่ ถ้าวาดรูปไม่สวยจะไม่ได้รับคำชม ถ้าอ่านหนังสือเยอะก็เท่ากับไม่เก่ง สิ่งเหล่านี้เองที่ค่อยหล่อหลอมกรอบคิดของเขาขึ้นมาให้กลายเป็นคนที่เชื่อในพรสวรรค์มากกว่าความพยายาม, เป็นคนที่ไม่กล้าทดลองสิ่งใหม่ และคิดว่าต้องทำได้ดีที่สุดเท่านั้นจึงได้รับคำชม

แครอลบอกว่า การชื่นชมสติปัญญาของเด็กเป็นอันตรายต่อแรงจูงใจและผลงานของพวกเขา

แล้วถ้าไม่ชื่นชม ‘สติปัญญา’ จะชื่นชมอะไรเล่า?

 

คําตอบของเธอคือ ให้ชื่นชม ‘ความพยายาม’

ถ้าลูกสอบได้คะแนนดี ให้ชวนลูกให้ลองคิดถึงความพยายามที่ทุ่มเทให้การอ่านหนังสือเตรียมสอบ แทนที่จะบอกว่า โอ้โห นี่ขนาดแทบไม่ได้อ่านเลย เพื่อหล่อหลอมกรอบคิดให้เขาเห็นว่า ความสำเร็จของเขาไม่ได้เกิดจากคุณสมบัติที่มีติดตัว หากเกิดจากความพยายามและทุ่มเทอย่างมาก สิ่งนี้จะเป็นผลดีในระยะยาว

ลองพิจารณาตัวอย่างคำชมเหล่านี้ดูครับ

“สอบครั้งนี้หนักหนาจริงๆ คะแนนที่ได้มานี่ทำให้เห็นเลยว่า ลูกต้องพยายามอย่างหนักแน่ๆ นี่เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นจากความทุ่มเทของลูกเลยจริงๆ แม่ชื่นชมหนูมากๆ”

“ภาพวาดนี้สีสันเยอะแยะเลย ลูกวาดได้สวยขนาดนี้ต้องใช้เวลานานแน่ๆ กว่าจะทำได้ แปลว่าลูกมีสมาธิกับงานนี้มากๆ พ่อภูมิใจในตัวลูกนะ”

จะเห็นว่าสิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ย่อมต่างจากคำชมชุดแรกอย่างสิ้นเชิง

เด็กจะค่อยๆ รักความพยายาม และเชื่อในความทุ่มเท รวมถึงกล้ารับโจทย์ที่ยากและท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะรู้ว่าเขาพยายามมากขึ้นได้เพื่อผลสำเร็จที่ดีขึ้นไปอีก

 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ พ่อ-แม่มักปกป้องลูกจากความผิดหวัง เช่น ถ้าลูกลงแข่งหรือประกวดอะไรสักอย่างแล้วพลาดรางวัลไป รางวัลตกเป็นของคู่แข่งซึ่งทำผลงานได้ดีกว่า (สมมุติเป็นการแข่งยิมนาสติก) แครอลลองยกตัวอย่างคำพูดที่พ่อแม่จะบอกกับลูกว่าอาจจะเป็นอะไรทำนองนี้

1. บอกลูกว่า สำหรับคุณ เธอเก่งที่สุด

2. บอกลูกว่า เธอถูกปล้นรางวัลที่ควรเป็นของเธอ

3. ย้ำให้เธอมั่นใจว่า ความสามารถเรื่องนี้ไม่สำคัญกับชีวิตหรอก

4. บอกลูกว่า เธอเก่งพอและคราวหน้าเธอจะชนะแน่นอน

5. บอกลูกว่า เธอไม่สมควรจะชนะอยู่แล้ว

สี่ข้อแรกเป็นวิธีปกป้องลูกจากความผิดหวัง บางข้อก็ออกจะเข้าข้างลูกเสียหน่อย ส่วนข้อสุดท้ายก็

เหมือนกระหน่ำซ้ำลงไปอีก ออกจะโหดไปสักหน่อย

แครอลบอกว่า พ่อ-แม่ที่มีกรอบคิดแบบพัฒนาจะบอกลูกว่า “พ่อรู้ว่าลูกรู้สึกยังไง ลูกคงผิดหวังมากเพราะตั้งความหวังไว้สูงและทำเต็มที่แล้วแต่กลับไม่ชนะ แต่ลูกรู้ไหม ลูกยังไม่เหมาะกับรางวัลนี้หรอก มีเด็กผู้หญิงอีกหลายคนที่เล่นยิมนาสติกมานานกว่าและฝึกหนักกว่าลูกเยอะ ถ้านี่เป็นสิ่งที่ลูกอยากทำจริงๆ ต่อจากนี้ลูกก็ต้องฝึกฝนอย่างจริงจัง”

อะไรจะเป็นพ่อที่มีเหตุผล นุ่มนวล และกระตุ้นลูกอย่างจริงใจได้เพียงนี้!

เห็นความตั้งใจของลูก ร่วมรับรู้ความทุกข์จากความผิดหวัง แต่ขณะเดียวกันก็จริงใจพอที่จะบอกว่า คนที่ชนะก็เก่งกว่าจริงๆ แต่ก็สะกิดให้เห็นความหวังว่า ถ้าเราพยายามขึ้นอีก เราก็อาจจะทำได้แบบเขาเหมือนกัน

 

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า คำพูดและวิธีคิดของพ่อแม่ที่ค่อยๆ ตอกย้ำลงไปในสมองของเราทุกวันๆ หล่อหลอมให้เราแต่ละคนเติบโตมาเป็นคนที่กรอบคิดในแบบที่แตกต่างกันได้อย่างไร

ไม่แปลกเลยที่บางคนชอบความท้าทาย กล้าหาญ ไม่กลัวล้มเหลว ชอบทดลอง รักในความพยายาม และรู้จักชื่นชมคนอื่น ในขณะที่อีกคนจะท้อใจง่าย ไม่ชอบเสี่ยง หลีกเลี่ยงงานที่ไม่ถนัด เชื่อในพรสวรรค์ และไม่นิยมคนที่เก่งกว่าตัวเอง

สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ แต่ใช้เวลา

วิธีคือให้ลองย้อนกลับไปสำรวจให้พบว่าใครเป็นคนก่อร่างกรอบคิดของเราขึ้นมา และมองเห็นวิธีคิดแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ของเรา รู้เท่าทันมัน และค่อยๆ ฝึกตัวเองให้มีค่านิยมแบบใหม่ ไม่เหมือนที่ถูกหล่อหลอมมาในตอนเด็ก ค่อยๆ บอกตัวเองว่า เราผิดพลาดได้ เราไม่ได้เกิดมาเก่งเลย ถ้าพยายามก็จะพัฒนาขึ้นเอง การล้มเหลวคือการเรียนรู้ เราศึกษาจากคนที่เก่งกว่าได้ เหล่านี้คือวิธีการค่อยๆ เปลี่ยนกรอบคิด

ซึ่งอาจใช้เวลาไม่น้อยไปกว่าเวลาทั้งหมดที่เราได้สร้างกรอบคิดในแบบที่เป็นอยู่ขึ้นมา

ใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป แต่คุ้มค่า

เพราะถ้าเราเปลี่ยนกรอบคิดได้ เราจะเป็นคนที่สนุกกับการเรียนรู้ ทดลอง ล้มเหลว และได้พบสิ่งใหม่ คนใหม่ บทเรียนใหม่เสมอ

การรับรู้เรื่อง Mindset หรือกรอบคิด รวมถึงที่มาของมันทำให้เราใจกว้างมากขึ้น เมื่อพบเจอกับผู้คนที่มีกรอบคิดไม่ตรงตามความคาดหวังของเรา เพราะสิ่งที่เห็นอยู่นั้นอาจมีรากความเป็นมายาวนาน มันอาจเกิดขึ้นจากคำชมในวันหนึ่งที่เขาได้รับตอนเด็ก หรือเกิดจากคำดุว่ารุนแรงในวัยเด็ก หรือเกิดจากความพยายามปกป้องลูกจากความผิดหวัง ล้วนเป็นไปได้ทั้งนั้น

Mindset ของเรามีความเป็นมายาวนาน

คนตรงหน้าเราทุกคนก็มีความเป็นยาวนาน, เช่นกัน