ล้างอภิมหาโกง ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ พบสารพัดทุจริต 1,700 ล้านบาท 800 ‘ร.ร.-ร้านค้า’ – 9,000 คนเอี่ยว / โล่เงิน

โล่เงิน

 

ล้างอภิมหาโกง ‘เราเที่ยวด้วยกัน’

พบสารพัดทุจริต 1,700 ล้านบาท

800 ‘ร.ร.-ร้านค้า’ – 9,000 คนเอี่ยว

 

ปฏิบัติการกวาดล้างขบวนการทุจริตโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564

เป็นการประสานความร่วมมือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.), กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (บช.ทท.), กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง กระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย

หลังสืบทราบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำการเข้าข่ายทุจริตหลายรูปแบบ

เช่น เปิดให้มีการจองห้องพัก แต่ไม่มีการเข้าพักจริง

นำคูปองที่ได้รับหลังเช็กอินห้องพักไปสแกนใช้จ่ายกับร้านค้าแต่ไม่มีการซื้อสินค้าจริง

บางโรงแรมมีที่ตั้งจริง ลงทะเบียนถูกต้องแต่ยังไม่เปิดให้บริการ กลับมีการเปิดให้จองห้องพัก

หรือมีการตั้งราคาจองห้องพักไว้แพงเกินจริง หวังกินส่วนต่างราคาส่วนลด

 

จุดแรก ชุดปฏิบัติการ กก.3 บก.ป. โดย พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.3 บก.ป. นำกำลังเข้าค้นโรงแรมณัฐชญา รีสอร์ท จ.ชัยภูมิ เป็นรีสอร์ตขนาดเล็ก มีห้องพักเพียง 10 ห้อง นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ถึงปัจจุบัน มีผู้ใช้สิทธิโครงการจำนวน 9,263 ราย ยอดจองห้องพัก 92,028 ห้อง เฉลี่ย 1,000-3,000 ห้องต่อวัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

และยังพบว่า กว่าร้อยละ 99 ของการจองห้องพัก 1 คน จะจอง 10 ห้อง เต็มทุกครั้ง และเวลาในการเช็กอินและเช็กเอาต์ทับซ้อนไม่สัมพันธ์กัน

นอกจากนี้ ยังพบว่าคูปองที่ได้รับหลังจากเช็กอินห้องพักที่ใช้สำหรับสแกนจ่ายกับร้านค้าที่เข้าโครงการมียอดการใช้จ่ายที่สูงกว่าปกติ รวมมูลค่าความเสียหายในส่วนของโรงแรมณัฐชญา รีสอร์ท รวม 14 ล้านบาท และร้านค้าที่ร่วมกระทำผิดจำนวน 101 ร้าน ความเสียหายประมาณรวม 87 ล้านบาท

ภายหลังยังตรวจสอบพบความเสียหายเฉพาะโรงแรมณัฐชญา รีสอร์ท ประมาณ 1.7 พันล้านบาท และคาดว่ายอดความเสียหายจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกกว่าเท่าตัว

ทั้งนี้ สำหรับผู้ร่วมกระทำผิดกว่า 9,000 ราย ที่กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทางกองปราบปรามจะออกหมายเรียกมาสอบสวน

หากไม่ได้ไปใช้สิทธิที่โรงแรมจริง ถือว่าเป็นตัวการร่วมกันฉ้อโกง

 

พฤติการณ์ทุจริตมี 3 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 ประชาชนเข้าแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เช็กอินที่โรงแรมโดยไม่ต้องเข้าพักเอง และจ่ายเงิน 60 เปอร์เซ็นต์ให้กับโรงแรม โรงแรมจะได้ 40 เปอร์เซ็นต์จากภาครัฐ จากนั้นประชาชนได้วอยเชอร์ 9,000 บาท ไปใช้ในร้านค้าที่ร่วมทุจริต และแบ่งเงินกับร้านค้า ส่วนโรงแรมได้ 4,000 บาท

รูปแบบที่ 2 เมื่อมีผู้เข้าไปใช้ประโยชน์รูปแบบที่ 1 เห็นช่องทางและโอกาส จึงรวบรวมญาติพี่น้องให้สมัครรับสิทธิ มีวิธีการเดียวกับรูปแบบที่ 1 โดยได้ค่าตอบแทนรายละ 800-1,000 บาท

รูปแบบที่ 3 เป็นรูปแบบที่สร้างความเสียหายกับรัฐเป็นอย่างมาก จะเป็นกลุ่มคนกลางที่มองเห็นช่องทางการทุจริต เป็น “ผู้รวบรวมสิทธิ” จากประชาชนที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เอาข้อมูลบัตรประชาชน ซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์ให้มาใช้สิทธิลงทะเบียนที่ร้านค้า โรงแรม โดยไม่ได้เข้าพักโรงแรม และใช้จ่ายซื้อสินค้าจริง โดยชาวบ้านได้ค่าขายสิทธิ 600-800 บาท

จากนั้นนายหน้าจะนำสิทธิไปขายให้โรงแรมรายละ 800-1,000 บาท

 

จุดที่ 2 ชุดปฏิบัติการของ กก.5 บก.ป. โดย พ.ต.อ.วิระชาญ ขุนไชยแก้ว ผกก.5 บก.ป. นำกำลังเข้าค้นโรงแรมธาราป่าตอง จ.ภูเก็ต มีพฤติกรรมการทุจริตแตกต่างกันออกไป

โดยโรงแรมได้ปรับราคาห้องพักจาก 1,000-1,200 บาท เป็น 7,500 บาท และร่วมมือกับผู้จัดทัวร์มีการเชิญชวนว่า หากประชาชนจองห้องพักเต็มสิทธิ 10 วัน จะให้เข้าร่วมกิจกรรมทัวร์เป็นจำนวน 3 วัน 2 คืน และ 4 วัน 3 คืน โดยไม่มีการเข้าพักโรงแรมจริง

นอกจากนี้ ผู้จัดทัวร์กิจกรรมยังให้ประชาชนชำระค่าบริการในการทำกิจกรรม โดยให้สแกนคูปองที่ได้รับหลังจากการเช็กอินห้องพัก มาสแกนใช้จ่ายกับร้านค้าที่ตนเองควบคุมไว้ พบมีผู้ร่วมกระทำผิดกว่า 800 ราย รัฐเสียหายจากโรงแรม 18 ล้านบาท และร้านค้าที่ร่วมกระทำผิดจำนวน 2 ร้านค้า ความเสียหาย 3.9 ล้านบาท

ด้าน พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. หนึ่งในทีมคลี่คลายคดีโกงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน อธิบายถึงแผนประทุษกรรมการทุจริตมีองค์ประกอบด้วยกัน 4 ส่วน คือ โรงแรม ร้านค้า ประชาชนผู้ใช้สิทธิ และตัวกลางผู้รวบรวมสิทธิ

พ.ต.อ.เอนกเผยอีกว่า ทีมสอบสวนกองปราบปรามยังได้รับข้อมูลจากธนาคารกรุงไทย ว่า พบพิรุธของโรงแรมอีกกว่า 400 แห่ง และร้านค้าอีกกว่า 400 แห่ง มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต

ทำให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. สั่งการ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เรียกรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) ที่รับผิดชอบงานสอบสวนทั่วประเทศมาร่วมประชุมรับฟังแนวทางการสอบสวนดำเนินคดีเกี่ยวกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันในวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต

เพราะโรงแรมและร้านค้าที่ตรวจสอบล่าสุดว่าส่อทุจริตรวม 800 แห่ง กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

โดยการประชุมติวเข้มดังกล่าวจะมีกองปราบปรามเป็นวิทยากรบรรยายให้แนวทางการทำสำนวนคดี

 

หากย้อนไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2563 “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับกระทรวงการคลังออกแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศให้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศคลี่คลาย ทำให้คนได้ไปเที่ยวในราคาที่ถูกลง

แต่กลับมีคนกลุ่มหนึ่งอาศัยช่องโหว่ทุจริต จนรัฐเกิดความเสียหาย ทำให้รัฐต้องวางมาตรการเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบไปถึงผู้ใช้สิทธิโดยสุจริต

ดังนั้น ตำรวจและภาครัฐต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้ถึงที่สุด เพราะถือเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจากเงินกู้ที่คนไทยทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้อยู่รอด