เราจะทำตามสัญญา…ที่พม่า / ชกคาดเชือก

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

เราจะทำตามสัญญา…ที่พม่า

 

นิทานอีสปเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ ยังทันสมัยเข้ากับสถานการณ์ความจริงอีกครั้ง ในเหตุการณ์กองทัพพม่าเข้ายึดอำนาจการปกครองล้มรัฐบาลพลเรือน จับกุมนางอองซาน ซูจี พร้อมด้วยแกนนำพรรคเอ็นแอลดี ไปจนถึงผู้นำนักศึกษา

โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ อับอายที่พ่ายแพ้เลือกตั้ง แล้วก็อ้างว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีการโกง ลงเอยก็คือการรัฐประหาร

เป็นเหตุผลของหมาป่า ที่อ้างเหตุว่าทำน้ำขุ่น อ้างนั่นอ้างนี่ ก่อนกระโจนเข้างับลูกแกะ

ขณะที่คนไทยเรามีอารมณ์ร่วมกับประชาชนชาวพม่าในวิกฤตครั้งนี้อย่างมากมาย เพราะซาบซึ้งดีถึงพิษร้ายแห่งการรัฐประหาร

อีกทั้งเหตุผลบางอย่างในการรัฐประหารของไทยเราก็คล้ายคลึงกันก็คือ ผลการเลือกตั้งที่พรรคฝ่ายทักษิณชนะท่วมท้น พรรคที่มียิ่งลักษณ์เป็นผู้นำชนะถล่มทลาย จนได้เป็นนายกฯ

แล้วก็อ้างเรื่องทุจริตโกงกินตามสูตรเดิมๆ ก่อนจะเข้างับคอลูกแกะ

ทักษิณเกิดคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายบ้าง ยิ่งลักษณ์เกิดทุจริตจำนำข้าวบ้าง ทั้งที่การแก้ทุจริตมีช่องทางมากมาย และไม่เข้าใจว่ากองทัพฝึกฝนมาในด้านการแก้ปัญหาทุจริตหรืออย่างไร

พร้อมทั้งมีการเปรียบเทียบความคล้ายกันระหว่างปัญหาการเมืองพม่าและไทยอีกประการ

โดยรัฐประหารในพม่าก็คือชิงอำนาจจากผู้นำหญิงซูจี ขณะที่เมื่อปี 2557 ของเราก็คือชิงอำนาจจากนายกฯ หญิงเช่นกัน!

กล่าวสำหรับชนวนเหตุของวิกฤตในพม่าหนนี้ มาจากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคยูเอสดีพีที่กองทัพสนับสนุน พ่ายแพ้ต่อพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซูจี อย่างยับเยิน โดยพรรคเอ็นแอลดีได้คะแนนเสียงมากกว่า 80%

จากนั้นพรรคยูเอสดีพีและฝ่ายทหารเริ่มออกมาสร้างกระแส กล่าวหาว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.พม่าล้มเหลว อ้างว่าพบความผิดปกติของบัญชีรายชื่อผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวนมาก

ขณะที่บรรดาองค์กรนานาชาติต่างยืนยันว่า เป็นเพียงข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย

ปลายเดือนมกราคม กลิ่นรัฐประหารในพม่าเริ่มโชย มีการนำรถถังออกมาวิ่งอ้างว่าวอร์มเครื่องยนต์ ขณะที่ พล.อ.มิน อ่อง ลาย ผู้นำกองทัพแสดงท่าทีแบบคุ้นๆ คือปฏิเสธว่าเป็นข่าวลือ

จนกระทั่งเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นางซูจีและผู้นำพรรคเอ็นแอลดีถูกจับกุม พร้อมกับการยึดอำนาจการปกครอง

ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินควบคุมประเทศ 1 ปี แล้วจะเปิดการเลือกตั้งใหม่ที่บริสุทธิ์ยุติธรรม

คนไทยเราอ่านข่าวแล้วก็แว่วเสียงเพลง เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน!!

 

เกิดกระแสในสังคมไทยตามมา โดยเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้แสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์การเมืองในพม่า ซึ่งแน่นอนว่า นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าคงยากที่ผู้นำการเมืองไทยจะพูดอะไรได้ เพราะจะกลายเป็นเรื่องเข้าตัว โยงไปถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ขณะเดียวกันในโซเชียลของไทยเรา ก็มีการขุดประวัติ พล.อ.มิน อ่อง ลาย ว่ามีความใกล้ชิดกับผู้นำกองทัพไทยเช่นไร กระทั่งนับถือเป็นลูกบุญธรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเอาเพลง เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน ของรัฐบาล คสช.มาเน้นย้ำ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็อยู่ยาวนานถึง 5 ปี แถมยังอยู่ต่อหลังเลือกตั้ง 2562 ที่มีเสียง 250 ส.ว.อยู่เหนือเสียงประชาชนหลายล้านที่ไปเลือกตั้ง

พร้อมกับการคาดเดาว่า คำสัญญาจะเลือกตั้งใน 1 ปี จากประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปีของกองทัพพม่านั้น จะเป็นการเดินตามรอย คสช.ของไทยเราหรือไม่!?

เท่ากับว่าประชาชนคนไทยที่เชื่อในหลักประชาธิปไตย ต่างพากันร่วมต่อต้านการรัฐประหารในพม่า และพร้อมกับแสดงออกว่า วิกฤตการเมืองของไทยเราก็มีสภาพใกล้เคียงกัน

ไปจนถึงเหตุผลของการยึดอำนาจของกองทัพพม่าและเหตุการณ์ในไทยนั้น ปมจริงๆ ก็ใกล้กัน

คือ ไม่ยอมให้นักการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมท่วมท้น มีอำนาจในทางการเมืองอย่างยาวนาน เพราะอาจจะยิ่งสร้างความนิยมจนยากจะโค่นล้มได้

ผลการเลือกตั้งในพม่าที่พรรคของซูจีชนะเหนือพรรคพลังกองทัพถึงกว่า 80% ทำให้กองทัพไม่อาจทนเฉยอยู่ได้ ไม่ต่างจากยุคที่ทักษิณชนะมากมาย ยุคยิ่งลักษณ์ชนะท่วมท้น

จริงอยู่ยุคทักษิณมีข้อครหาด้านผลประโยชน์จริง ยุคยิ่งลักษณ์ก็มีปัญหาด้านรูรั่ว แต่จะเห็นได้ว่าการมุ่งกล่าวหาไปยังโครงการจำนำราคาข้าว มีเป้าหมายลึกทางการเมือง คือไม่อาจปล่อยให้โครงการนี้กวาดคะแนนนิยมจากชาวนาทั่วประเทศได้

ถึงที่สุดแล้ว คอร์รัปชั่นในยุคทักษิณและยุคยิ่งลักษณ์ต้องแก้ด้วยวิธีการตามระบบที่มีอยู่

เหนืออื่นใดคือการตีแผ่ข้อมูลให้ประชาชนมองเห็น แล้วไปลงโทษทักษิณและยิ่งลักษณ์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

การใช้วิธีสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงบ้าง ให้ม็อบชัตดาวน์จนบ้านเมืองเข้าสู่ทางตันบ้าง ก็เพื่อปูทางให้กองทัพออกมายึดอำนาจ

นั่นคือการโกงอำนาจ ซึ่งน่าสงสัยว่าโกงอันไหนที่เลวร้ายกว่ากัน!

 

นอกจากการรัฐประหารจะไม่ใช่การแก้ปัญหาการเมืองที่ถูกต้อง ทำให้ประชาธิปไตยล้มคว่ำ แล้วมานับหนึ่งใหม่ ทำให้ไม่เติบโตแข็งแรง รวมทั้งยังเป็นการฉุดประเทศชาติให้ถอยหลังไปอย่างมากโข เศรษฐกิจจะทรุด กระทบกิจการค้าขาย ไปจนถึงปากท้องประชาชน

ลึกๆ แล้วการรัฐประหารไม่เพียงเป็นวิธีการที่ผิดพลาดในการแก้ปัญหา

แต่จริงๆ แล้วการก่อรัฐประหารก็ไม่ได้มีเจตนาเพื่อจะมาแก้ปัญหา แต่เป้าหมายคือการชิงอำนาจของกลุ่มขุนศึกขุนนางจากฝ่ายนักการเมืองนั่นเอง!!

บทเรียนที่เห็นมาแล้วทั่วโลก ก็คือ หากการเมืองประเทศไหนยังเปิดช่องให้กองทัพเข้าแทรกแซงการเมืองได้ ยังมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ประเทศนั้นไม่มีทางเจริญก้าวหน้าได้เลย

มีการยกตัวอย่างเกาหลีใต้ ซึ่งสมัยก่อนมีความใกล้เคียงกับบ้านเรา จนกระทั่งเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์นองเลือดกวางจู กองทัพปราบปรามประชาชน-นักศึกษา

แต่ผ่านพ้นเหตุการณ์ครั้งนั้น มีการสอบสวนเอาผิดคนสั่งฆ่า มีการจัดการการเมืองไปสู่ประชาธิปไตย กองทัพไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก

ผ่านมา 40 ปี วันนี้เกาหลีใต้เป็นผู้นำในโลกอุตสาหกรรม โลกวัฒนธรรม แม้แต่ทีมฟุตบอล จากคู่ชิงถ้วยคิงส์คัพของไทย วันนี้เกาหลีใต้ไปบอลโลกทุกสมัย

ทุกวันนี้เกาหลีใต้ก็ยังมีคดีคอร์รัปชั่น แต่ก็แก้ด้วยกระบวนการยุติธรรม ถ้าหากกองทัพเกาหลีใต้อ้างเรื่องโกงกินแล้วออกมายึดอำนาจอีกเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเกาหลีใต้ก็คงถอยหลังกลับไป 40 ปีแน่นอน

ดังนั้น ชะตากรรมของชาวพม่าที่เพิ่งเกิดรัฐประหาร ก็คงใกล้เคียงกับชะตากรรมของคนไทยที่เพิ่งผ่านรัฐประหารมาไม่นาน แล้วยังคงมีผลเสื่อมทรุดจนถึงวันนี้

กล่าวกันว่า ตอนยึดอำนาจเมื่อปี 2557 นั้น มีเป้าหมายเพื่อจัดการกับอำนาจในมือนักการเมือง จากนั้นก็ยังติดพันต่อมา ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับสร้างความเหลื่อมล้ำการเมือง ทำให้ยังอยู่ในอำนาจต่อไป โดยมีพรรคการเมืองเข้ามาเป็นตัวประกอบ

โดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าในปี 2563-2564 จะเกิดโควิด ฉุดเศรษฐกิจลงเหว

เพราะตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 การเมืองไทยก็กลายเป็นยุคผูกขาดอำนาจโดยกลุ่มนายพล ไม่ใช่การเมืองเปิดกว้าง

ถ้าไม่มีรัฐประหารหนนั้น การเมืองเดินไปตามปกติ

ในวิกฤตโควิดวันนี้ เราอาจเห็นคนรุ่นใหม่ๆ ความคิดเฉียบแหลม มีมือเศรษฐกิจที่ก้าวทันโลก เข้ามากอบกู้สถานการณ์เลวร้ายได้อย่างมีความหวังมากกว่านี้!