นัยของ ‘อันดับ 4’ ของไทย ในการรับมือโควิด / เทศมองไทย

เทศมองไทย

นัยของ ‘อันดับ 4’ ของไทย

ในการรับมือโควิด

 

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สถาบันโลวี สถาบันวิชาการอิสระเพื่อการวิจัยเชิงนโยบาย, เศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผลการวิเคราะห์เพื่อจัดอันดับประสิทธิภาพในการรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ใน 98 ประเทศทั่วโลก

การจัดอันดับดังกล่าวอาศัยดัชนีชี้วัด 6 ประการ คือ จำนวนผู้ป่วยยืนยัน, จำนวนผู้เสียชีวิตยืนยัน, จำนวนผู้ป่วยยืนยันต่อ 1 ล้านประชากร, จำนวนผู้เสียชีวิตต่อ 1 ล้านประชากร, จำนวนผู้ป่วยยืนยันคิดเป็นสัดส่วนกับจำนวนการตรวจสอบหาเชื้อ และสุดท้ายคือ สัดส่วนการตรวจหาเชื้อต่อประชากร 1,000 คน

สถาบันโลวีบอกเอาไว้ว่า เมื่อรวมเอาคะแนนจากตัวชี้วัดเหล่านี้เข้าด้วยกัน ก็จะสามารถบอกได้ว่า ประเทศนั้นๆ บริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีหรือแย่มากน้อยแค่ไหน คะแนนที่แต่ละประเทศได้คือค่าเฉลี่ยของคะแนน ณ วันใดวันหนึ่งของระยะเวลา 36 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ประเทศนั้นๆ มียอดติดเชื้อสะสมครบ 100 คนขึ้นไป โดยมีคะแนนตั้งแต่ 0 (แย่ที่สุด) ไปจนถึง 100 (ดีที่สุด)

โดยจำกัดข้อมูลไว้ ณ วันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา

 

หลายคนพุ่งความสนใจไปที่อันดับของประเทศที่รับมือได้ดีที่สุด โดย 5 อันดับแรกเรียงตามลำดับดังนี้คือ นิวซีแลนด์ (94.4 คะแนน), เวียดนาม (90.8), ไต้หวัน (86.4), ไทย (84.2) และไซปรัส (83.3)

แต่บทวิเคราะห์ดัชนีที่ได้มาของโลวี อินสติติวต์ ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะมีการนำเอาอันดับที่ได้มาพิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ตั้งแต่ภูมิภาคของประเทศนั้น, ขนาดประชากร และระบบการเมืองที่ประเทศนั้นใช้อยู่ว่ามีผลต่อการรับมือดีหรือแย่อย่างไรบ้าง

การเปรียบเทียบในแง่ของภูมิภาคนั้น เอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับการระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้มากที่สุด อเมริกาแย่ที่สุด

ในแง่ของจำนวนประชากร ทีมวิจัยพบว่ามีนัยสำคัญที่ส่งผลต่อความแตกต่างของประสิทธิภาพในการรับมือกับการแพร่ระบาดมากที่สุด

ประเทศที่มีขนาดเล็ก ประชากรน้อยที่มีประชากรไม่ถึง 10 ล้านทำได้ดีกว่าประเทศที่มีประชากรมากกว่าได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 ที่ผ่านมา

สาเหตุสำคัญมาจากการควบคุมพรมแดนภายในประเทศ ทำได้ยากกว่าการปิดพรมแดนระหว่างประเทศนั่นเอง

 

ในแง่ของพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ ผลการวิเคราะห์พบข้อมูลน่าทึ่งที่ว่า ประเทศที่มีรายได้ประชากรต่อคนต่อปีสูงซึ่งส่งผลให้มีทรัพยากรสำหรับต่อสู้กับการแพร่ระบาดมากกว่า กลับถูกประเทศกำลังพัฒนาแซงหน้าไปในการรับมือกับโควิด-19

ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ เมื่อมีวัคซีนป้องกันโควิด ประเทศที่พัฒนาแล้วย่อมมีแต้มต่อเหนือกว่าประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนมากมายนักในแง่ของการฟื้นตัวจากวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด

การเปรียบเทียบที่น่าสนใจที่สุดเป็นการเปรียบเทียบทางการเมือง ทีมวิจัยให้ภาพรวมเอาไว้ว่า “ไม่มีรูปแบบของประเทศชนิดใดชนิดหนึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นผู้ชนะในช่วงระยะเวลาของการตรวจสอบนี้ ความหลากหลายระหว่างประเทศต่อประเทศกลายเป็นสารัตถะสำคัญมากกว่ากลุ่มประเทศกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ไม่มีประเทศหนึ่งๆ สามารถอธิบายที่มาของความต่างที่เกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ได้ มีเพียงความแตกต่างของมาตรการทางสาธารณสุขบางประการเท่านั้นที่พิสูจน์ได้ว่ามีประสิทธิภาพมากกว่ามาตรการอื่น”

ผลก็คือ แม้จะมีบางประเทศทำได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ตัวอย่างเช่นไทย (อันดับ 4) ทำได้ดีกว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา (อันดับ 94) หรืออังกฤษ (อันดับ 66) ชัดเจน “แต่สำหรับประเทศส่วนใหญ่แล้ว ล้วนแต่แข่งกันตรงที่ว่าใครทำได้แย่น้อยกว่าใครเท่านั้นเอง”

ในขณะเดียวกันรูปแบบของรัฐก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อประสิทธิภาพในการรับมือกับโควิด ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่ 5 อันดับแรกที่ทำได้ดีที่สุด มีระบอบการเมืองหลากหลายมาก ตั้งแต่ระบอบประชาธิปไตยของนิวซีแลนด์ ไปจนถึงระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ และระบอบคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม เป็นต้น

ทีมวิจัยระบุด้วยว่า “โดยรวมๆ แล้ว ประเทศที่มีประชากรน้อยกว่า, มีสังคมที่สามัคคีสมานฉันท์ และมีสถาบันต่างๆ ซึ่งมีศักยภาพสูงจะได้เปรียบเหนือกว่าในการรับมือกับวิกฤตในระดับโลกอย่างเช่นการระบาดใหญ่ของโควิด-19”

แต่ “นโยบายที่เลือกใช้และสภาวการณ์ทางการเมืองที่แวดล้อมอยู่ ณ เวลานั้นๆ ดูเหมือนจะมีนัยสำคัญต่อการก่อรูปการตอบสนองระดับชาติต่อการแพร่ระบาดอย่างมีนัยสำคัญไม่แพ้กัน”

 

งานวิจัยของสถาบันโลวียังอ้างอิงคำกล่าวของฟรานซิส ฟูกูยามา นักรัฐศาสตร์อเมริกัน ที่นำเสนอเอาไว้ว่า ประสิทธิภาพในการรับมือกับโควิด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการปกครอง

“แต่อยู่ตรงที่ว่าพลเมืองของประเทศไว้วางใจผู้นำของพวกตนมากแค่ไหน และบรรดาผู้นำเหล่านั้นปกครองประเทศที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพมากแค่ไหนมากกว่า”

นั่นหมายความว่า ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปกครองหรือผู้นำจะเป็นในรูปแบบใด ประชาชนต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จหรือล้มเหลวในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตในระดับนี้นั่นเอง