‘พี่ใหญ่’ ข้า ใครอย่าแตะ ศึกใน พปชร.-ปชป. มองเกมลึก ‘บิ๊กป้อม’ ยึดใต้ ยัน กทม. กับบทบาท 2 น้องเลิฟ กห. จับตาทายาท ‘ปลัดกลาโหม’ สะเทือนวังเดิม / รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

‘พี่ใหญ่’ ข้า ใครอย่าแตะ

ศึกใน พปชร.-ปชป.

มองเกมลึก ‘บิ๊กป้อม’

ยึดใต้ ยัน กทม.

กับบทบาท 2 น้องเลิฟ กห.

จับตาทายาท ‘ปลัดกลาโหม’

สะเทือนวังเดิม

 

แม้จะเกิดกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 16-20 กุมภาพันธ์ก็ตาม แต่กระแสที่ควบคู่กันมาคือ การยุบสภา

ที่แม้ดูว่าจะไม่มีเค้าลาง แต่ทว่าอุณหภูมิการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาลกำลังเพิ่มสูงขึ้น อะไรก็ไม่แน่นอน

โดยเฉพาะเมื่อบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พี่ใหญ่ 3 ป. ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันที่จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3 แทนนายเทพไท เสนพงศ์ ของพรรคประชาธิปัตย์

จนลูกพรรคประชาธิปัตย์ออกมาสะกิดต่อมมารยาททางการเมืองของ พล.อ.ประวิตรกันยกใหญ่

ถึงขั้นที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาแขวะ พล.อ.ประวิตรด้วยตนเอง ด้วยการสำทับว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะไม่ทำแบบนี้

แต่ พล.อ.ประวิตรก็พยายามเก็บอาการ ด้วยการไม่ตอบโต้ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องมารยาททางการเมือง แต่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย พรรคไหนจะส่งก็ส่ง ใครไม่ส่งก็ไม่ต้องส่ง ถือเป็นการต่อสู้กันทางการเมือง

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรมองว่า เป็นโอกาสในการเพิ่มที่นั่ง ส.ส.พปชร.ในพื้นที่ภาคใต้ เพราะการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา ผู้สมัครของ พปชร.แพ้ไปแค่ 3 พันกว่าคะแนนเท่านั้น

ยิ่งในสถานการณ์พรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง

พล.อ.ประวิตรจึงจะสู้ และหากได้คะแนนเสียงของผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทยที่เคยเลือกตั้งครั้งก่อนมาผสมด้วย ก็จะชนะพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะถือเป็นล้างบางพื้นที่ของนายเทพไท และตระกูลเสนพงศ์

ด้วยเพราะบทบาทของ ส.ส.ปชป.บางกลุ่ม และนายเทพไทในห้วงที่ผ่านมา เคยเป็นประเด็นสนทนาของพี่น้อง 3 ป.มาตลอด

จึงไม่แปลกที่เมื่อครั้งบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่นครศรีธรรมราชเยี่ยมชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย จะหยิกแกมหยอก เหน็บแนมนายเทพไทที่มาต้อนรับ ด้วยการสะกิดต่อมการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ออกมาถล่ม พล.อ.ประวิตร ปมมารยาททางการเมือง บรรดา ส.ส.ภาคใต้ของพรรคพลังประชารัฐก็ออกมาซัดกลับพรรคประชาธิปัตย์ โดยชี้ว่า

เป็นการเลือกตั้งแทน ส.ส.ที่ว่าง เนื่องจากถูกศาลตัดสินว่าทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงมากในทางการเมือง พรรคพลังประชารัฐซึ่งได้ที่ 2 ก็สามารถจะลงสมัครชิง ส.ส.ได้ หวังจะได้ ส.ส.นครศรีธรรมราช จาก 3 คน เป็น 4 คน เท่ากับของพรรคประชาธิปัตย์

พร้อมตอกย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะส่งผู้สมัครลงแข่งอีก เพราะเกิดการทุจริต ที่ส่งผลให้บรรยากาศระหว่าง 2 พรรคใหญ่ตึงเครียดขึ้น

เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประวิตรวางยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐในการยึดภาคใต้ โดยมีผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ และรองหัวหน้าพรรค เป็นแม่ทัพลงพื้นที่อยู่เนืองๆ

พล.อ.ประวิตรจึงมอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัสแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ทั้งการพูดคุยเจรจากับแกนนำม็อบที่ไปประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และลงพื้นที่มาติดตามการแก้ปัญหา

ที่ต้องจับตามองคือ พล.อ.ประวิตรเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้ง ร.อ.ธรรมนัสเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”

งานนี้พลพรรคสายพรรคประชาธิปัตย์ออกมาติติงว่า ไม่เหมาะสม ที่ตั้ง ร.อ.ธรรมนัส และ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ที่ใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรมาตรวจสอบเรื่องนี้ โดยอ้างว่าโครงการนี้อนุมัติโดย พล.อ.ประวิตรเอง

แต่ทว่าเป้าหมายของ พล.อ.ประวิตรอยู่ที่การตรวจสอบเบื้องหลังในโครงการนี้ ที่มีข้อมูลในมือว่าเกี่ยวข้องกับนักการเมืองเบอร์ใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้

ที่สายข่าวสายพี่ใหญ่ระบุว่า เรื่องนี้จะทำให้เกิดรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน เพราะ พล.อ.ประวิตรเอาจริงในการเปิดโปงเบื้องหน้าเบื้องหลัง จึงได้เสนอนายกฯ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา

ท่าทีของ พล.อ.ประวิตรนี้พอจะสะท้อนถึงการตัดสินใจส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ ส.ส.นครศรีธรรมราช กับพรรคประชาธิปัตย์

โดยไม่สนใจปฏิกิริยาของพรรคประชาธิปัตย์ แม้แต่ท่าทีของนายจุรินทร์

“ไม่จำเป็นต้องคุย หรือเจรจาตกลงอะไรกัน” บิ๊กป้อมระบุ

แม้จะเกิดความหวาดหวั่นว่าจะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ และอาจถึงขั้นทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม

แต่ พล.อ.ประวิตรดูจะไม่ยี่หระ เพราะรู้ดีว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางเลือกมากนัก และยากที่จะยอมถอนตัว

เพราะคงไม่อาจไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านร่วมกับพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล หรือพรรคเสรีรวมไทยได้

แต่ที่ต้องจับตามองคือ การโหวตในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะโหวตอย่างไร เมื่อเกิดความระหองระแหงกันขึ้น

อาจทำให้ พล.อ.ประวิตรต้องเตรียมใช้บริการงูเห่าที่ฝากเลี้ยงไว้ในพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ หรือต้องมีการแจกกล้วยกันอีกหรือไม่

หากนายจุรินทร์คุมเสียง ส.ส.ในพรรคในการโหวตไม่ได้ ก็ย่อมกระทบความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร และก็ย่อมหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ด้วยเช่นกัน

ด้วยเพราะที่ผ่านมา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรก็สวนมติพรรคมาตลอด โดยที่นายจุรินทร์หัวหน้าพรรคก็ทำอะไรไม่ได้

จนส่งผลต่อความสัมพันธ์กับพี่น้อง 3 ป. แกนนำรัฐบาลมาแล้ว และยังส่งผลต่อพรรคภูมิใจไทยที่ร่วมรัฐบาลอีกด้วย

จากการที่ลูกพรรคประชาธิปัตย์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เสี่ยหนู นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี แต่นายจุรินทร์ก็ปล่อยผ่าน ไม่อาจไปตักเตือน ห้ามปรามใดๆ ได้

แม้จะไม่ถึงขั้นเป็นความขัดแย้ง แต่ก็ทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ไม่สู้ดีนัก

และน่าจับตามองอย่างยิ่งว่า หากพรรคภูมิใจไทยเทคะแนนที่ผู้สมัครเคยได้ให้พรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช เพราะความสัมพันธ์ระหว่างนายอนุทิน และ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ยังแนบแน่น

 

แต่ที่ไม่อาจมองข้ามคือ สนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่แม้ พล.อ.ประวิตรจะยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐจะไม่ส่งผู้สมัครก็ตาม แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าจะสนับสนุนบิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.น้องรัก ที่จะลงสมัครในนามอิสระ

แต่ทว่าปัญหาสำคัญของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ คือการแย่งคะแนนกันเองกับนางทยา ทีปสุวรรณ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และแกนนำ กปปส. ที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. ยืนยันว่า ภรรยาลงสมัครแน่นอน แม้พรรคจะไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคก็ตาม

นั่นหมายถึง การแข่งกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ด้วย เพราะนางทยามั่นใจในฐานเสียง อดีต กปปส.ในกรุงเทพฯ และฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคาดกันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคเช่นกัน

งานนี้ หากพรรคประชาธิปัตย์เทคะแนนให้นางทยา ก็จะเป็นการตัดคะแนนของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ไปด้วยไม่น้อย

แม้ว่าจะมีตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร ส.ส.กทม.ของพรรค ปชป. ที่อาจจะตัดสินใจลำบาก เพราะเป็นหลานรักของ พล.อ.ประวิตร และเป็นน้องเลิฟของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ด้วยก็ตาม

ประเด็นนี้ก็ทำให้ พล.อ.ประวิตรจับตามองท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

แต่ พล.อ.ประวิตรก็มั่นใจในฐานเสียงของ พปชร. ที่มี ส.ส.กทม.จำนวนไม่น้อยที่จะช่วยสนับสนุน พล.ต.อ.จักรทิพย์ รวมทั้งเสียงของทหารและตำรวจ ที่ทำให้พอจะแข่งขันสูสีกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จากขั้วตรงข้ามได้

เพราะทั้งการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช และเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเป็นการวัดฝีมือและบารมีทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตรครั้งสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเลือกตั้งไหน พปชร.ก็คว้าชัยชนะเสมอๆ

และต้องรอดูการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี สมาชิก อบต. ในปลายเดือนมีนาคมอีกด้วย ที่จะเป็นตัววัดฐานเสียงของ พปชร.ทั่วประเทศอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่ พปชร.ก็ทำได้จนเป็นที่น่าพอใจของทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์

แต่ก็ต้องจับตา พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะสะกิดพี่ใหญ่ให้ยอมถอยให้พรรคประชาธิปัตย์ในท้ายที่สุดหรือไม่ แต่สำหรับ พล.อ.ประวิตรแล้วพร้อมชนเต็มที่ และพี่น้องเคยตกลงกันไว้แล้วว่า เรื่องพรรค เรื่องเกมการเมือง ให้ พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ตัดสินใจได้เต็มที่

ด้วยบทบาท อำนาจ และบารมีในทางการเมือง และในวงการคนมีสีด้วยนี่เอง ที่ทำให้ พล.อ.ประวิตรถูกฝ่ายค้านตั้งข้อหาผู้มีอิทธิพล เพื่อที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้

“เรื่องอภิปราย ผมเตรียมงาน เตรียมชี้แจงของผมเอง ไม่เกี่ยวกับพรรค” พล.อ.ประวิตรระบุ

ด้วยเพราะ พล.อ.ประวิตรมอบหมายให้บิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ตั้งทีมที่มีทั้งทีมงานของ พล.อ.ประวิตร และเหล่าทัพฝ่ายความมั่นคง เก็งข้อสอบ เตรียมข้อมูลในการชี้แจง รวมทั้งเรื่องกลาโหม กองทัพ ตำรวจ และ กอ.รมน. ที่คาดว่าฝ่ายค้านจะนำมาอภิปราย ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร

โดยสไตล์ของ พล.อ.ประวิตรแล้วมักจะเป็นคนชี้แจงสั้นๆ แล้วมอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญชี้แจงต่อแทน เหมือนที่มักมอบหมายให้มาตอบกระทู้ในสภาแทนตนเอง และ พล.อ.ประยุทธ์มาตลอด

เพราะปกติ พล.อ.ชัยชาญก็เป็นมือทำงานส่วนตัวของ พล.อ.ประวิตรอยู่แล้ว และยังเป็นที่ไว้วางใจของ พล.อ.ประยุทธ์ในการให้ดูแลกระทรวงกลาโหมแทน เพราะเป็นนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม ไม่ค่อยว่างเข้ากระทรวง จะเข้ามาประชุมสภากลาโหมแค่เดือนละครั้งเท่านั้น

แต่ พล.อ.ชัยชาญเข้ากลาโหมตั้งแต่เช้าตรู่ทุกวัน แม้แต่วันเสาร์-อาทิตย์ในช่วงโควิด และดูแลงานทุกอย่างเรียบร้อย

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตรยังมีการระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะรู้ว่าตกเป็นเป้าโจมตี จึงมีการกลั่นกรองในการอนุญาตให้คนเข้าพบ ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดฯ เพราะมักมีคนแอบอ้างชื่อจนเสียหาย โดยเฉพาะในแวดวงตำรวจ

ด้วยเพราะโดยตำแหน่งหน้าที่แล้ว พล.อ.ประวิตรไม่ได้คุมตำรวจ แต่ พล.อ.ประยุทธ์คุมเองหมด แต่ก็ยังมีบารมีในวงการสีกากี เพราะความเป็นพี่ใหญ่

แม้แต่นักการเมือง หากจะเข้าพบ พล.อ.ประวิตรมักจะนัดแนะผ่าน อ.แหม่ม นฤมล เหรัญญิกพรรค และผู้กองธรรมนัส รวมทั้งนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล

แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะฝ่ายค้านจ้องโจมตี ว่ามีการใช้มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ในเรื่องการเมือง

แม้ว่าในด้านกฎหมาย ที่ตั้งมูลนิธิจะแยกส่วนออกไปจาก ร.1 รอ. แล้ว เพราะ พล.อ.ประวิตรเช่าที่จากที่ราชพัสดุ แต่ทางเข้า-ออกก็ยังต้องผ่านบริเวณบ้านพักทหารของ ร.1 รอ.อยู่ดี จึงอาจถูกโจมตีได้

พล.อ.ประวิตรจึงสั่งการให้มีการจัดระบบการดูแลบ้านป่ารอยต่อฯ โดยให้ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ลูกเลิฟ ที่เป็นเสมือนเลขานุการส่วนตัวเป็นคนดูแล

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ณัฐเคยสกรีนบุคคลที่จะใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรใหม่มาแล้วครั้งหนึ่ง ตั้งแต่การทำบัตรเข้ามูลนิธิใหม่ และติดตั้งระบบการรักษาความปลอดภัย ใช้ระบบบัตรสแกน

และมีการมาปรับอีกครั้งในช่วงสถานการณ์โควิด เพราะต้องดูแลสุขภาพ พล.อ.ประวิตร ที่อายุ 75 แล้ว ถือป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องสกรีนคนที่จะเข้าพบ

พล.อ.ณัฐจึงเป็นคนสำคัญที่ทำหน้าที่เสมือนพ่อบ้านของ พล.อ.ประวิตร ทั้งบ้านป่ารอยต่อฯ และบ้านปิยมิตร บ้านส่วนตัวย่านสุวินทวงศ์

จับตามองกันว่า หลังเกษียณราชการกันยายน 2564 หลังจากเป็นปลัดกลาโหมมา 3 ปีแล้ว พล.อ.ณัฐจะลงสู่แวดวงการเมืองหรือไม่

เพราะมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนา จ.กาญจนบุรีมาต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่เป็น ผบ.พล.ร.9 และมีบ้านพักที่กาญจนบุรีด้วย

แต่ที่แน่ๆ จะต้องช่วยงาน พล.อ.ประวิตรแบบใกล้ชิดต่อไป แบบที่ต้องมีตำแหน่งรองรับ

แต่การเกษียณของ พล.อ.ณัฐ ก็ถือเป็นย่างก้าวสำคัญของพี่น้อง 3 ป. ที่นายทหารที่ใกล้ชิดสนิทสนมไว้วางใจได้ทยอยเกษียณราชการกันหมด

พล.อ.ณัฐเป็นเตรียมทหารรุ่น 20 คนท้ายๆ ที่เกษียณทีหลังเพื่อน เพราะทั้งบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ก็เกษียณไปก่อนแล้ว คงเหลือแต่บิ๊กปั๊ด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ที่เกษียณกันยายน 2565

ขณะที่ ผบ.เหล่าทัพชุดนี้ ทั้งบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด (ตท.21) บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. (ตท.22) ที่จะนั่งในตำแหน่งนาน 3 ปี เกษียณกันยายน 2566 ก็ไม่ใช่นายทหารที่ใกล้ชิดของทั้ง 3 ป. การเกษียณของ พล.อ.ณัฐ จึงทำให้ขาดตัวเชื่อม

เพราะบิ๊กอุ้ยผบ.ทร. เพื่อน ตท.20 ก็เกษียณกันยายนนี้ พร้อม พล.อ.ณัฐด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ปลัดกลาโหมคนใหม่จะต้องเป็นคนที่ พล.อ.ณัฐไว้วางใจ และประสานงานในการช่วยดูแลได้

พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน

 

ในเวลานี้ มีเพื่อน ตท.20 เหลือ 2 คน ที่มีโอกาสชิงเก้าอี้ปลัดกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ

คนหนึ่งคือ บิ๊กหน่อย พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ เสนาธิการทหารบก ที่มีข่าวมายาวนานว่าจะข้ามมาเป็นปลัดกลาโหมแทน พล.อ.ณัฐ เพราะในอดีต 5 เสือ ทบ.หลายคนก็เคยข้ามมาเป็นปลัดกลาโหม

ตั้งแต่บิ๊กเล็ก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ที่ข้ามจาก ผช.ผบ.ทบ. มาเป็นปลัดกลาโหม ทลายกฎที่ว่า ปลัดกลาโหมต้องมาจากพลเอก อัตราจอมพล ที่ปัจจุบันเรียกใหม่ว่าพลเอกพิเศษ แต่กลายเป็นพลเอกเฉยๆ ก็ข้ามมาเสียบได้

ส่วนใหญ่จะมาจาก 5 เสือ ทบ. และเป็นการแก้ปัญหาโยกย้ายที่ไม่ลงตัวใน ทบ.ก็ต้องส่งออกมาเป็นปลัดกลาโหม

ทั้ง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล น้องรักบิ๊กป้อม และบิ๊กติ๊ก พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผช.ผบ.ทบ. น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ และบิ๊กเข้ พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ผช.ผบ.ทบ. น้องรักสายทหารเสือราชินี ของ 3 ป. ที่พลาดเก้าอี้ ผบ.ทบ.

ดังนั้น โอกาสที่ปลัดกลาโหมจะเป็นเหล่าทัพอื่นจึงมีน้อยมาก เพราะเหล่า ทบ.ที่มาจากกองทัพบก มักข้ามมาเสียบ สลับกับรองปลัดกลาโหม เหล่า ทบ.ที่ขึ้นได้บ้าง

แต่หากมองไปที่รองปลัดกลาโหม ในเวลานี้ยังคงมีเตรียมทหาร 20 และอาวุโสสุดอย่างบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย อยู่ เพราะเกษียณกันยายน 2565

ความจริง พล.ร.อ.สมประสงค์สามารถขึ้นเป็นปลัดกลาโหมได้ เพราะอาวุโสทั้งรุ่นและการครองยศ และความรู้ความสามารถ

แต่ด้วยเหตุผลข้างต้น ทำให้ พล.อ.ณัฐน่าจะสนับสนุน พล.อ.วรเกียรติ เพื่อน ทบ. เป็นปลัดกลาโหมมากกว่าเพื่อนเหล่าทหารเรือ แม้ว่าโดยส่วนตัวจะสนิทสนมกับ พล.ร.อ.สมประสงค์ก็ตาม

พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์

ดังนั้น จึงเป็นที่จับตามองว่า พล.อ.ณัฐจะพยายามดัน พล.ร.อ.สมประสงค์ ข้ามกลับมากองทัพเรือ เพื่อชิงเก้าอี้ ผบ.ทร.หรือไม่

หลังจากที่เคยพยายามส่งกลับ ทร.ในยุคที่บิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เป็น ผบ.ทร. แต่ทาง ทร.ไม่มีตำแหน่งรองรับ จึงต้องนั่งเป็นรองปลัดกลาโหมเป็นปีที่ 2

แต่คราวนี้ ถ้าส่งกลับ คือต้องไปชิง ผบ.ทร. เพราะถือว่าอาวุโสที่สุด เพราะเป็นพลเรือเอกพิเศษมา 2 ปี

อีกทั้ง พล.อ.ณัฐ พล.ร.อ.สมประสงค์ และ พล.ร.อ.ชาติชาย ล้วนเป็นเพื่อนสนิท ตท.20 ด้วยกัน

งานนี้ พล.ร.อ.ชาติชายคงลำบากใจไม่น้อย เพราะ พล.ร.อ.สมประสงค์ก็เป็นเพื่อนสนิท

แต่ทว่าก็ต้องคำนึงถึงแคนดิเดต ผบ.ทร. ที่เป็นคนในกองทัพเรือ ที่มีถึง 3 คน ที่กำลังทำงานแข่งกันอย่างเต็มที่ แม้จะเป็นเตรียมทหารรุ่นน้องๆ ก็ตาม

ทั้งเสธ.โต้ง พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ (ตท.21) เสนาธิการทหารเรือ และบิ๊กโต๊ะ พล.ร.อ.ทรงวุฒิ บุญอินทร์ (ตท.22) ผช.ผบ.ทร. และบิ๊กปู พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ (ตท.22) ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.)

ที่มีข่าวว่า พล.ร.อ.ธีรกุล และ พล.ร.อ.สุทธินันท์ ที่เกษียณกันยายน 2566 ชิงกันอยู่ และจะเป็นการชิงกันระหว่าง ตท.21 และ ตท.22

ที่ทำให้พลังรุ่นถูกจับตามอง เพราะ ตท.21เป็นรุ่นของ พล.อ.เฉลิมพล ผบ.ทหารสูงสุด ส่วน ตท.22 รุ่นของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ. แต่งานนี้ สายทหารบกอาจจะไม่ยุ่ง ปล่อยให้ ทร.ตกลงกันเอง

อีกทั้ง พล.ร.อ.สมประสงค์นั้นห่างกองทัพเรือไป 2 ปี และไม่เคยเป็น 5 ฉลามทัพเรือ เคยเป็นรอง เสธ.ทร. และย้ายออกจาก ทร.ไปตอนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. เพราะ ผบ.ทร.มักจะต้องมาจาก 5 ฉลามทัพเรือ

จึงน่าจับตามองว่า พล.อ.ณัฐจะถึงขั้นช่วยเจรจากับ พล.ร.อ.ชาติชาย หรืออาจกดดันด้วยการให้ พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.ประยุทธ์ เอ่ยปากหรือไม่

แต่ทว่าก็ต้องถามความเห็น ความยินยอมจาก พล.ร.อ.ชาติชายก่อนด้วย แม้จะเป็นเพื่อน ก็ใช่ว่าจะหนุนเพื่อนได้ เพราะต้องปกครองคนหมู่มาก หากดึงเพื่อนข้ามมาอาจจะถูกโจมตีได้

อีกทั้งส่วนใหญ่ในอดีต ผบ.ทร.มักจะไม่ค่อยซ้ำรุ่น เคยมีนายเรือ 01 ในยุค พล.ร.อ.วิเชษฐ์ การุณยวนิช และ พล.ร.อ.ประเจตน์ ศิริเดช

และข้ามมาในยุค ตท.13 คือบิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ บิ๊กเข้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย และบิ๊กต้อม พล.ร.อ.ไกรสรณ์ จันทร์สุวานิชย์ เท่านั้น

พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย

โอกาสที่ พล.ร.อ.สมประสงค์จะข้ามกลับมา ทร.จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะหากยึดตามหลักอาวุโส ในกลาโหม พล.ร.อ.สมประสงค์ก็มีความชอบธรรมที่จะขึ้นเป็นปลัดกลาโหม

แต่ทว่าเก้าอี้นี้ได้ถูกผูกขาดโดยเหล่าทหารบกไปเสียแล้ว แถมทั้งต้องเป็นคนที่จะดีลกับฝ่ายการเมืองได้ด้วย

แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะ พล.อ.ณัฐส่ง พล.ร.อ.สมประสงค์มาเป็นตัวแทน ร่วมเป็นคณะกรรมการปราบปรามแรงงานเถื่อน เปิดโอกาสให้ได้สร้างผลงาน และประสานงานกับทำเนียบรัฐบาลด้วย

หากเตรียมทหาร 20 ที่มีแกนนำรุ่นอย่าง พล.อ.อภิรัชต์ พล.ต.อ.จักรทิพย์ พล.อ.ณัฐ ผนึกกำลังในการยึดเก้าอี้ปลัดกลาโหม และ ผบ.ทร.ด้วย ก็เป็นภาวะที่ พล.ร.อ.ชาติชายยิ่งลำบากใจไม่น้อย

แต่ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับชะตาฟ้าลิขิต ไม่ว่าจะปลัดกลาโหม ผบ.ทร. และรวมถึงพี่น้อง 3 ป.ด้วยเช่นกัน