ฟื้นชีพ / การเมืองหน้า 8

การเมืองหน้า 8

 

ฟื้นชีพ

 

หลังถูก “ดองเค็ม” มานาน

สำหรับญัตติขอให้รัฐสภามีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว.

เพราะรัฐบาลเสียงแตก

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่เอาด้วย

ญัตติดังกล่าวจึงถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ

 

แต่ตอนนี้ ญัตตินี้ “ฟื้นชีพ” เริ่มขยับไต่ออกมาจาก “ไห”

เมื่อจู่ๆ มีการบรรจุในวาระแจ้งเพื่อทราบของสภาผู้แทนราษฎร

เป็นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะหน่วยงานด้านกฎหมายของรัฐบาล

หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับรายงานของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาและทำบันทึกข้อสังเกต

ซึ่งตอนนี้เสร็จแล้ว ส่งกลับ ครม. และ ครม.ก็ส่งมารายงานสภา

ดูเป็นขั้นตอนปฏิบัติปกติ

 

แต่ที่ไม่ปกติ คือความเห็นของกฤษฎีกาไปอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ

คือ คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556

ที่มีสาระสำคัญ ชี้ว่าการแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญควรทำเป็นรายมาตรา

ถ้าจะแก้ไขยกร่างใหม่ทั้งฉบับนั้น ควรทำประชามติก่อน

และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

ควรคำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้วางบรรทัดฐานไว้แล้ว

 

ผลการวินิจฉัยของกฤษฎีกา สอดคล้องกับญัตติของนายไพบูลย์และนายสมชายเป๊ะ

ทำให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เด้งรับทันที

โดยผลักดันในการประชุมวิป 3 ฝ่าย และการประชุมร่วมรัฐสภา ว่า พรรคพลังประชารัฐจะสนับสนุนญัตติของนายไพบูลย์ และนายสมชายเพื่อส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

โดยเชื่อว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนสนับสนุน

ส่วนพรรคอื่นๆ อยู่ที่แต่ละพรรคจะฟรีโหวต

เหมือนไม่ผูกมัด แต่ก็เป็นดังไฟเขียวจะให้มีการตีความ

ซึ่งนายวิรัชแง้มไต๋แล้ว

“ถ้าท้ายที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขัดต่อกฎหมาย การแก้ไขจะหยุดทันที”

 

ต้องไม่ลืมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ และจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาในวาระที่ 3 ช่วงเดือนมีนาคมนี้

เวลากระชั้นเข้ามา

ฝ่ายรัฐบาลซึ่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแต่แรก และตอนนี้ชักจะรู้สึกคุมทิศทางการแก้ไขไม่อยู่

จึงอยู่เฉยๆ ไม่ได้

มีช่องไหนจะสกัด ต้องสกัด ยื้อได้ ก็ต้องยื้อ

คำชี้แนะของกฤษฎีกา ที่สภาจะฟังหรือไม่ฟังก็ได้ ยังถูกส่งเข้ามากรุยทาง

ทั้งนี้ ก็คงเพื่อให้การผลักดันเรื่องนี้ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม

และกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลควรเห็นชอบ