รัฐบาล-ฝ่ายค้าน งัดกลยุทธ์ ใน-นอกสภา สู้ศึกซักฟอก / บทความพิเศษในประเทศ

บทความพิเศษในประเทศ

 

รัฐบาล-ฝ่ายค้าน งัดกลยุทธ์

ใน-นอกสภา สู้ศึกซักฟอก

 

‘ไม่ตื่นตระหนก’ คือคำอธิบายปฏิกิริยาของรัฐบาลที่มีต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์

ทั้งที่มีรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกถึง 10 คน อีกทั้งผลงานรัฐบาลก็ประจักษ์ชัดว่าล้มเหลวแทบทุกด้าน ทั้งการรับมือโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ การทุจริตลักลอบเข้าเมือง การเปิดบ่อนแบบโจ๋งครึ่ม และการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน

ก็ไม่รู้ว่าที่เบาใจได้ทุกวันนี้มาจากเสียงของรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรยังนำโด่งอยู่หรือไม่ เพราะครั้งที่แล้วก็ยกมือพร้อมเพรียงอย่างท่วมท้น

เมื่อมีสิทธิ์ได้ปีละครั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ฝ่ายค้านจึงทุบโต๊ะ ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล มี ส.ส.ร่วมลงชื่อ 208 คน อาศัยตีเหล็กตอนยังร้อน ลงมือร่างญัตติ หรือกรอบข้อสอบให้รัฐมนตรี เรียง 1-10 จับมัดรวม ‘3 ป.’ ประยุทธ์-บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก

พร้อมกระจายความเสี่ยงให้พรรคร่วมอื่น ทั้งพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ก่อนศึกซักฟอกจะเริ่มขึ้น แนวร่วมของทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็เปิดศึกใส่กันตั้งแต่ข้อกล่าวหาในญัตติที่โยงถึงเรื่องสถาบันว่าไม่มีความเหมาะสม พร้อมกับขู่ว่าจะประท้วงตั้งแต่นาทีแรกหากฝ่ายค้านไม่ยอมปรับแก้ไขญัตติ

แต่ฝ่ายค้านก็ยังยืนยันหนักแน่นในญัตติของตัวเอง พร้อมกับยืนยันว่าจะไม่แก้ไขญัตติแม้แต่สักคำเดียว โดย ส.ส.สามารถอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับสถาบันได้ ภายใต้ข้อบังคับการประชุมสภาและการควบคุมการประชุมของประธานสภาผู้แทนราษฎร

“ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงทำอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากบรรจุญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน เพื่อรอเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามข้อตกลงของวิปทั้ง 3 ฝ่าย

ทั้งนี้ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคและประธานวิปพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยืนยันว่า การอภิปรายครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและรัฐมนตรี รัฐบาลมีหน้าที่ตอบชี้แจง และไม่รู้ว่าจะตีความญัตติเกินขอบเขตทำไม

 

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจบรรยากาศคุกรุ่น ตั้งแต่เริ่มต้นร่างญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้วยความไม่ไว้วางใจระหว่างกันของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค เหตุกลัวถูกล้วงลูกเอาไปปล่อยให้ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค ก.ก.ที่ระแวดระวังข้อสอบรั่ว ชักชื่อรัฐมนตรีและประเด็นเข้าๆ ออกๆ สับขาหลอกไม่ไว้ใจใครเลย ทั้งยังเน้นย้ำเรื่องการแบ่งเวลาของแต่ละพรรค ไม่อยากเจ็บใจโดนเผาเวลาจนต้องออกไปอภิปรายนอกสภาอีก

ศึกภายในพรรคก็ดราม่าไม่แพ้กัน เมื่อล่าสุดงูเห่าสีส้มก็โผล่หาง อยู่ๆ ก็ทำตัวมีจุดยืนแบบงงๆ ประกาศไม่ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททั้งหมด รวมถึงมาตรา 112 ที่พรรคกำลังขึ้นรูป ทั้งนายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี

คาดว่าไม่ได้มีแค่นี้แน่นอน แว่วๆ อาจจะมีถึง 10 คน ที่กำลังเจริญเติบโตรอแผ่แม่เบี้ยในอนาคต โดยแกนนำพรรคก็รับรู้มาตลอด

ส.ส.เหล่านี้จึงต้องอยู่แบบแอบๆ มองหน้าเพื่อนไม่สนิทใจ เวลามีประชุมลับเรื่องสำคัญก็จะโดนแยกออกมาอีกวง ป้องกันข้อมูลรั่ว

ครั้งนี้จึงต้องจับตาดูตอนยกมือโหวตรัฐมนตรีเอาว่า ‘แกรนด์โอเพนนิ่ง’ กันเลยไหม และจะไปอยู่ไหนบ้าง

อย่าว่ากระนั้นเลย ในพรรคเพื่อไทย (พท.) ก็พยายามป้องกันข้อครหา ‘ดีลลับ’ หรือการขายข้อมูลจากพรรคร่วมเช่นกัน การทำงานจึงค่อนข้างเคร่งครัด และระวังตัวพอสมควร

 

เมื่อพื้นที่สภามันดูแออัดไม่พอสำหรับการโต้ข้อมูลหลักฐานกัน จึงต้องมี ‘วอร์รูม’ ไว้แสดงบทองครักษ์เป็นแบ๊กให้รัฐมนตรี

คราวที่แล้วรัฐบาลผู้ตอบคำถามเป็นฝ่ายเดียวที่ตั้งวอร์รูม แต่เมื่อมี ส.ส.รัฐบาลจ้องตีรวนลุกประท้วง ฝ่ายค้านก็ตั้งบ้าง เหมือนที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก.ระบุว่า หากเกิดการประท้วง ก็จะประท้วงกลับ เพื่อให้การอภิปรายเดินหน้าต่อได้ เป็นการเดินเกมตาต่อตา ฟันต่อฟัน

ด้าน ‘แรมโบ้’ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ปวารณาตัวเองพิทักษ์นายกฯ นำทีมประกาศตั้งวอร์รูมที่สำนักงาน ก.พ. (เดิม) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ดึงผู้ช่วยรัฐมนตรีและข้าราชการประจำกระทรวงทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลให้กับนายกฯ และรัฐมนตรีทุกคน

โดยมอบหมายให้นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงพลังงาน) และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายช่วยกันเตรียมข้อมูลทางกฎหมาย เผื่อไว้กรณีมีการอภิปรายพาดพิงสถาบันในทางเสียหายก้าวล่วง ก็จะแจ้งความมาตรา 112 ‘ทันที’

ให้เหตุผลว่าถ้าไม่รีบเบรกไว้ คนอภิปรายถัดไปก็จะอภิปรายอย่างไม่หยุดยั้ง

ทั้งยังฝากถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า อย่าอภิปรายย้อนอดีตหรือย้อนไปในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะเป็นการเล่นการเมืองสกปรก และพี่น้องประชาชนไม่อยากเห็นการอภิปรายซ้ำซาก

ทั้งยังย้ำว่า การทำงานของผู้ช่วยรัฐมนตรีจะร่วมมือบูรณาการการทำงานกันอย่างไม่แบ่งพรรคการเมือง

 

แต่สถานการณ์จริงกลับเข้าหลัก ‘เวลาเปลี่ยน ใจคนก็เปลี่ยน’ เพราะดูเหมือนว่าพรรคร่วมรัฐบาลเองมีประเด็นรอยร้าวและไม่ลงรอยกันหลายเรื่อง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างพรรค ภท. และกระทรวงมหาดไทย การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3 ระหว่างพรรค พปชร. และพรรค ปชป. ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ถึงกับออกมาสั่งสอนว่า ตามมารยาททางการเมืองแล้ว ต้องหลีกทางให้เจ้าของพื้นที่เดิม

แต่ด้วยความที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย จึงหาได้สนใจ ประกาศส่ง “อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” ที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 3 ได้อันดับ 2 แพ้นายเทพไท เสนพงศ์ ไปไม่กี่คะแนนมาลงแข่งอีกรอบ หวังแก้มือกู้คืนศักดิ์ศรี

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่แต่ละพรรคกำลังเฟ้นตัวคนเหมาะสม

ความขัดแย้งเรื่องนี้ลงไปลึกถึงระดับพรรค พปชร. เพราะมีกระแสว่า พล.อ.ประวิตรจะส่งอดีต ผบ.ตร. อย่าง ‘บิ๊กแป๊ะ’ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ซึ่งเริ่มนำร่องโปรโมตตัวเองไปก่อนเพื่อนแล้ว

แต่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ แกนนำพรรคซีก กปปส. กลับอยากส่งนางทยา จึงวิ่งเต้นเข้าหาบิ๊กป้อม บิ๊กตู่ ให้ส่งเมียตัวเองลงในนามพรรคแทน

ความแซบไม่ได้มีแค่นั้น จริงเท็จแค่ไหนไม่แน่ใจ แต่แอบรู้มาว่ามีพรรคการเมืองหนึ่งแอบส่งมีดให้ฝ่ายค้านเอาไว้แทงเพื่อนร่วมรัฐบาล กรณีนี้ก็ให้ไปวัดกันในช่วงยกมือโหวตลงมติว่า พรรคร่วมแต่ละพรรคจะยกมือให้พรรคร่วมอื่นเท่าไหร่บ้าง

พปชร.ยกให้ ปชป.เท่าไหร่ ปชป.ยกให้ ภท.เท่าไหร่

 

ฉายภาพไล่มาทีละเฟรมช้าๆ สรุปแล้วนอกจากจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้ว ยังเห็นว่าระหว่างพรรคฝ่ายค้าน ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แม้กระทั่งพรรคเดียวกันเอง ก็มีแต่ ‘ความไม่ไว้วางใจ’ มัวแต่เสียเวลาเล่นเกมการเมือง สาดสีสาดโคลน มูฟออนเป็นวงกลม

สุดท้ายประชาชนที่อยู่นอกสังเวียนก็ได้แต่มองดูตาปริบๆ

หลายคนเริ่มหมดความหวังเพราะที่เผชิญอยู่ตอนนี้ก็กระอักเลือดบอบช้ำทั้งจากโควิด-19 และพิษเศรษฐกิจ แล้วยังต้องมาเจอการเมืองสภาพนี้อีก

ลืมไปหมดแล้วสัญญาตอนยกมือไหว้หาเสียงว่า “ขอโอกาสทำเพื่อประชาชน”