เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์/ คนของแผ่นดิน กลางใจแผ่นดิน

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

คนของแผ่นดิน

กลางใจแผ่นดิน

 

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 มีรายงานข่าวจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่าชาวบ้านบางกลอยล่างกลุ่มหนึ่ง ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน ได้พากันเดินทางเท้ากลับขึ้นไปยังหมู่บ้านบางกลอยบนที่อยู่ในป่าใหญ่ใจแผ่นดินฯ”

นี่คือรายงานเบื้องต้น รายละเอียดต่อไปคือ

“ภายหลังจากชาวบ้านบางกลอยทั้งหมู่บ้านถูกอพยพลงมาตั้งแต่ปี 2539 แต่อยู่ไม่ได้เพราะไม่มีที่ทำกิน และหนีกลับขึ้นไปอยู่บ้านเดิม จนกระทั่งอุทยานฯ ได้ใช้ยุทธการตะนาวศรี เผากระท่อมและยุ้งข้าวของชาวบ้านเมื่อปี 2554 และกดดันให้ชาวบ้านย้ายลงมาอยู่หมู่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึก”

ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยงชื่อปู่คออี้ เพิ่งเสียชีวิตอายุ 107 ปี ถูกบังคับให้อพยพลงมาในครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 นี้ด้วย

หลานสาวปู่คออี้ชื่อเมย์ เธอเล่าว่า

“มันอยู่ไม่ได้หรอกที่นั่น (โป่งลึก) น้ำก็ไม่มี ที่ดินก็ไม่มี ที่ดินนิดหน่อยที่เขาแบ่งให้ปลูกอะไรก็ไม่งาม ปลูกข้าวไม่พอกิน ไม่เหมือนข้างบนที่เราเคยอยู่มาตั้งแต่เกิด ที่นั่น (บางกลอยบน) ปลูกอะไรก็งาม ปลูกข้าวก็พอกิน”

ความฝันและความหวังอันสูงสุดของเมย์ รวมทั้งชาวบ้านบางกลอยคือ

“ถ้าเขาให้หนูกลับไปอยู่บ้านเดิมที่บางกลอยบนก็จะมีความสุขมาก เพราะอยู่ที่ไหนก็ไม่เหมือนที่นั่น ทุกวันนี้ทุกคนต่างเครียดเพราะไม่มีจะกินจึงต้องดิ้นรนไปวันๆ”

 

นี้คือปัญหาของชนชาติส่วนน้อย หรือกลุ่ม “ชาติพันธุ์” ซึ่งมีทั้งชาวดอย ชาวเล และชนชายแดน ฯลฯ ที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย บางทีอาจอยู่กันมาก่อนจะมีประเทศไทยด้วยซ้ำ

ผู้รู้กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้คือ “คนของแผ่นดิน” อยู่ติดถิ่นติดที่มาแต่เดิม ก่อนที่เราจะไปกำหนดชื่อเรียกจำแนกเผ่าพันธุ์เป็นนั่นนี่

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง มีมาตรการรองรับระยะสั้น ระยะยาว ให้มีการพิสูจน์สิทธิชุมชนที่อยู่มาก่อน ให้มีการจัดทำโฉนดชุมชนเพื่อจัดเขตวัฒนธรรมพิเศษ ให้มีการแก้ปัญหาเรื่องสัญชาติกับกลุ่มชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน ให้มีศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์และอื่นๆ

ถึงกับบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าในหมวด 5 แนวนโยบายแห่งรัฐ

“มาตรา 70 รัฐพึงส่งและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐหรือสุขภาพอนามัย”

และยังมีกฎหมายสิทธิชุมชนและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร กำลังดำเนินการอยู่

ประโยคในรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ที่ว่า “ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิม…”

ความข้อนี้สำคัญนัก ด้วยวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวกะเหรี่ยงคือการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องและสมดุลกับระบบนิเวศธรรมชาติ ดังคำอธิบายตามข้อเรียกร้องร่วมของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ตอนหนึ่งว่า

“…เห็นได้จากชุมชนอยู่ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยปี แต่สภาพป่าแก่งกระจานที่ยังสมบูรณ์จนกรมอุทยานแห่งชาติเสนอให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ย่อมพิสูจน์ว่า สิทธิในวิถีประเพณีของชุมชนไม่ได้ขัดแย้งกับเป้าหมายการอนุรักษ์ป่า แต่ยังช่วยทำให้ป่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้น การละเมิดชุมชนด้วยกฎหมายอนุรักษ์ ไม่เพียงแต่จะทำลายวิถีประเพณีชุมชน แต่ยังทำลายการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการป่าด้วย”

 

เสภาขุนช้างขุนแผนตอนทำขวัญพลายงามซึ่งท่านสุนทรภู่แต่ง มีบททำขวัญว่า

 

พ่อเมื้อเมืองดง           เอาพงเป็นเหย้า

อึดปลาอึดข้าว            ขวัญเจ้าตกหาย

ขวัญอ่อนร่อนเร่         ว้าเหว่สู่กาย

อยู่ปลายยางยูง           ท้องทุ่งท้องนา

ขวัญเผือเมื้อเมิน         ขอเชิญขวัญพ่อ

ฟังซอเสียงอ้อ            ขวัญพ่อเจ้าจ๋า

ข้าวเหนียวเต็มพ้อม      ข้าวป้อมเต็มป่า

ขวัญเจ้าจงมา             สู่กายพลายเอยฯ

 

วรรคที่ว่า “ข้าวเหนียวเต็มพ้อม ข้าวป้อมเต็มป่า” ตรงนี้สำคัญนัก ชะรอยคำว่า “ข้าวป้อม” นี้จะหมายถึง “ข้าวไร่ ข้าวดอย” ที่มีเมล็ดสั้นป้อมกินดีไม่แพ้ข้าวพันธุ์ใด

ศักยภาพในการผลิตข้าวของไทยนั้นนอกจากชาวนาในที่ลุ่มที่ราบแล้ว ก็มีชาวดอยหลากหลายเผ่าชาติพันธุ์นี่แหละร่วมเป็น “พลังการผลิต” อยู่เป็นหลัก

โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

เมืองไทยเราจะเป็นเมืองหลวงของการผลิตข้าวเลี้ยงชาวโลกได้จริงเพราะมีข้าวดีมีคุณภาพหลากหลายพันธุ์จาก “พลังการผลิต” ของชุมชนทั้งนาลุ่มและนาดอนนาดอย

โดยเฉพาะพลังจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

การ “ขอคืนถิ่น” ของกะเหรี่ยง บ้านบางกลอยสู่ถิ่นเดิม “ใจแผ่นดิน” ครั้งนี้ เป็นการเตือนให้รัฐพึงตระหนักถึงการ “คืนพลังการผลิต” ให้กับกลุ่มชนผู้มีศักยภาพการผลิตแท้จริง

อย่าทอดทิ้งและปล่อยให้พวกเขาต้องมาใช้แรงงานรับจ้างในเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้เลย

ช่วยกัน “คืนสู่ขวัญ” สมคำทำขวัญที่ว่า

“ข้าวเหนียวเต็มพ้อม ข้าวป้อมเต็มป่า”

และสมภาษิตกะเหรี่ยงที่ถ่ายทอดกันมาว่า

คนกินน้ำ ไม่เห็นต้นน้ำ

คนกินข้าว ไม่เห็นต้นข้าว

ถึงมีเงินเต็มกระเป๋า

ข้าวก็ไม่เต็มกระบุง ฯ

 

ใจแผ่นดิน

 

ต้นน้ำเพชรต้นแหล่งแก่งกระจาน

ถิ่นขุนน้ำตำนานบุราณสมัย

มีหลักแหล่งแห่งหนคนภูไพร

ชื่อว่าใจแผ่นดิน ปิ่นนัครา

 

ข้าวสาวข้าวสวยเข้ม อยู่เต็มพ้อม

ทั้งข้าวป้อมข้าวปู่ อยู่เต็มป่า

ดินอุดมร่มเย็นเป็นไร่นา

ร่วมทำมาหากินอยู่ชินชาญ

 

คือวิถี คนสู้ และคนสร้าง

กลางฟ้ากว้าง ภูสูง ปรุงประสาน

อันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมบันดาล

สร้างวิญญาณชาติพันธุ์แห่งเผ่าพงศ์

 

คือคนของแผ่นดินติดถิ่นที่

คือวิถีธรรมดา ไม่ราหลง

คือผู้สร้าง ผู้ทำ ร่วมธำรง

คือคนผู้ทระนง ณ ธรณี

 

ใจของคนที่ตระหนักรักแผ่นดิน

รักทำมาหากินในถิ่นที่

คือใจแม่โพสพ จบธาตรี

ใจนี้มีค่าแม้น ใจแผ่นดิน!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์