คำพิพากษาคดี ‘พล.อ.ร่มเกล้า’ ศาลสั่งยกฟ้อง 3 นปช. ชี้พยานโจทก์มีพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือ-ไร้น้ำหนัก / บทความพิเศษในประเทศ

บทความพิเศษในประเทศ

 

คำพิพากษาคดี ‘พล.อ.ร่มเกล้า’

ศาลสั่งยกฟ้อง 3 นปช.

ชี้พยานโจทก์มีพิรุธ

ไม่น่าเชื่อถือ-ไร้น้ำหนัก

 

จากเหตุการณ์ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 เพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

นำมาสู่การเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมกับกำลังทหารที่ตั้งแนวพร้อมเข้าสลายการชุมนุม กระชับวงล้อมขอคืนพื้นที่

เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 บริเวณถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา คนร้ายใช้ระเบิดสังหารปาใส่แนวทหาร ส่งผลให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม (ยศในขณะนั้น) รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รอ. เสียชีวิต พร้อมทหารรวม 5 นาย และมีทหารบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่แกะรอยตามจับกุมผู้ต้องสงสัย 3 ราย ที่เชื่อว่าเป็นมือปาระเบิด

พร้อมสอบสวนหาหลักฐาน ส่งฟ้องศาล โดยผู้ต้องสงสัยทั้ง 3 รายให้การปฏิเสธ ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดดังกล่าว

เวลาผ่านมา 10 ปี กระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาคดี

ซึ่งมีพนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุขเสก หรือเสก พลตื้อ, นางพรกมล บัวฉัตรขาว หรือนางกนกพร ศิริพรรณาภิรัตน์ อดีตผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดต และนายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ แนวร่วม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-3

ในความผิดฐานร่วมกันฆ่า และสนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่น กับ พ.ร.บ.อาวุธปืน

โจทก์ระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 – 20 พฤษภาคม 2553 กลุ่ม นปช.ร่วมกันชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ จนวันที่ 7 เมษายน 2553 นายอภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่แยกคอกวัวมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

กระทั่งวันที่ 10 เมษายน 2553 จำเลยที่ 1 และ 3 กับพวก ร่วมกันมีระเบิดขว้างชนิดสังหาร M67 คนละ 3 ลูก ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินและจัดหาระเบิด

โดยพวกจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้อื่นด้วยการขว้างระเบิดสังหาร 2 ลูกใส่ทหารขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เป็นเหตุให้ พล.อ.ร่มเกล้ากับนายทหารรวม 5 นายเสียชีวิต จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

 

คดีนี้ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรก ผู้เสียหายและผู้ตายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอาวุธชนิดใด

แพทย์พยานโจทก์เบิกความเกี่ยวกับการชันสูตรบาดแผลที่มีเศษชิ้นส่วนโลหะ ผลตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าเป็นเศษชิ้นส่วนที่เกิดจากการแตกตัวของลูกระเบิดชนิดสังหาร M67 ตรงกับผลตรวจพิสูจน์ชิ้นส่วนโลหะจากหลุมระเบิดในที่เกิดเหตุ

ปัญหาวินิจฉัยประการต่อมา คนร้ายใช้สถานที่ใดเป็นที่ขว้างหรือปาระเบิด จากคำเบิกความพยานโจทก์ ประกอบกับจุดที่เป็นหลุมระเบิดทั้งสองจุด น่าเชื่อว่าจุดเหมาะสมที่สุดในการปาระเบิดคือบ้านเลขที่ 149 ไม่ใช่โรงเรียนสตรีวิทยา

ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน มีความชุลมุนวุ่นวาย ทหารที่ยืนอยู่บนรถลำเลียงพลอาจมองไม่เห็น หรือไม่ทันสังเกตคนร้ายที่เข้ามาในบ้านเลขที่ 149 จึงน่าเชื่อว่าคนร้ายใช้วิธีโยนระเบิดมาจากบ้านเลขที่ 149 ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา

ส่วนปัญหาวินิจฉัยที่ว่าจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนร้าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนหรือไม่

พบคำเบิกความพยานโจทก์มีข้อพิรุธหลายประการ

เริ่มจากพยานโจทก์เบิกความได้รับชักชวนจากอาสาทหารพรานค่ายปักธงชัยให้มาเป็นการ์ด นปช. และมีผู้แนะนำให้รู้จักจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ติดตาม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง โดยจำเลยที่ 3 ตั้งฉายาให้พยานว่า หวังเฉา

แต่พยานกลับไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 3 จึงผิดปกติวิสัยของผู้ติดตามหรือลูกน้องคนสนิท ที่ต้องมีเบอร์โทรศัพท์ของเจ้านายหรือผู้ที่ตนติดตามอยู่ อีกทั้งยังเบิกความว่าไม่สนิทสนมและไม่เคยพูดคุยกัน

ที่สำคัญพยานโจทก์ระบุมาที่ชุมนุมทุกวัน แต่ไม่ทราบจุดประสงค์การชุมนุมของ นปช. ไม่รู้จักแกนนำ ไม่สนใจฟังปราศรัย จึงไม่น่าเชื่อว่าพยานเข้าร่วมการชุมนุมและเป็นการ์ด นปช.ดังที่เบิกความ

รวมทั้งเบิกความว่าชื่นชอบ พล.ต.ขัตติยะ แต่ไม่ทราบว่า พล.ต.ขัตติยะเสียชีวิตเมื่อไหร่และที่ไหน แสดงให้เห็นว่าพยานโจทก์หาได้มีความสนใจหรือแรงจูงใจทางการเมือง

จึงไม่น่าเชื่อว่าพยานโจทก์จะเป็นผู้ติดตามหรือลูกน้องคนสนิทของจำเลยที่ 3

โดยไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 3 จะต้องพาพยานไปยังบ้านเลขที่ 149 เพื่อปาระเบิด

 

ประกอบกับพยานโจทก์ให้การต่อพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อปี 2560

ภายหลังพยานเข้าโครงการคุ้มครองพยานอันเป็นเวลาหลังเกิดเหตุถึง 7 ปี โดยไม่ปรากฏว่าก่อนหน้านี้พยานเคยให้ข้อเท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ใดว่าจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นคนร้ายปาระเบิด

จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ให้การทั้งที่มิได้อยู่ในเหตุการณ์หรือรู้เห็น เนื่องจากได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าอยู่ในโครงการคุ้มครองพยาน

ทำให้ประจักษ์พยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้

พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และ 3 กระทำผิดตามฟ้อง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากนี้อีก

นอกจากนี้ ศาลพิจารณากรณีคำฟ้องต่อจำเลยในคดีนี้ เปรียบเทียบกับในคดี นปช.ที่ถูกฟ้องข้อหาก่อการร้าย โดยศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งมีจำเลยเป็นบุคคลเดียวกัน มูลเหตุช่วงเวลาเดียวกัน

ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อน พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1-3

แต่จำเลยที่ 1 และ 3 ถูกดำเนินคดีอื่นอีก 2 คดี ทำให้ต้องถูกคุมขังไว้ก่อน

ภายหลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยคดีนี้ นางนิชา ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า

“ขอบคุณทุกท่านที่ส่งกำลังใจมาให้ในวันอ่านคำพิพากษาคดี พล.อ.ร่มเกล้า แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษายกฟ้อง

แต่จากคำพิพากษาก็เป็นที่ประจักษ์ว่า มีกลุ่มคนที่กระทำต่อเจ้าหน้าที่ทหารจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยใช้อาวุธสงครามร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่จริง มีการโยนระเบิด M67 จากบ้านไม้ถนนดินสอมายังกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหาร

จึงไม่ใช่การชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธตามที่กล่าวอ้างมาตลอด”

 

จากคำพิพากษาศาลที่ออกมาในคดีการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า สะท้อนถึงข้อพิรุธอันชวนสงสัยหลายประการของพยานฝ่ายโจทก์ต่อความจริงที่เกิดขึ้นในปี 2553

ซึ่งอาจขยายวงกว้างไปถึงการเสียชีวิตของกลุ่ม นปช.ในคดีอื่นที่ยังเฝ้ารอความยุติธรรมแม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง 10 ปีแล้วก็ตาม

แต่สุดท้ายเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริง

เพื่อเดินหน้าดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและผู้สั่งการ จนนำมาสู่การเสียชีวิตจากการชุมนุมในปี 2553

มากถึง 99 ศพ บาดเจ็บ-พิการอีกเกือบ 2,000 คน