ธงทอง จันทรางศุ | พระทัยกว้าง

ธงทอง จันทรางศุ

“พระทัยกว้าง”

สําหรับคนที่มีความใส่ใจอยู่ในเรื่องโบร่ำโบราณเช่นผมนั้น ย่อมคุ้นเคยกับพระนามของเจ้านายสองพระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์หนึ่ง กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อีกพระองค์หนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของทั้งสองพระองค์ที่ทรงมีลายพระหัตถ์โต้ตอบกัน จนภายหลังมีการรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือชุดใหญ่ขึ้นมาใช้ชื่อว่า สาส์นสมเด็จ อยู่เป็นอย่างดีแล้ว

กล่าวเฉพาะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ทรงมีหนังสือโต้ตอบกับผู้อื่นหรือพระมหาเถระบางรูปที่ผมได้เคยอ่านผ่านตามาแล้วมีหลายเล่ม

เช่น หนังสือเรื่องสามสมเด็จ ที่ทรงมีไปมากับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจริญ ญาณวรเถระ วัดเทพศิรินทราวาส และสมเด็จพระวันรัต เฮง เขมจารี วัดมหาธาตุ หรือหนังสือเรื่อง ให้หญิงใหญ่ ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ที่ทรงเขียนถึงหม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดาองค์ใหญ่ เป็นต้น

แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่ามีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่หลงหูหลงตาผมไปได้เป็นเวลาถึงกว่าหกสิบปี เพิ่งจะมาพบเห็นในเพจที่ขายหนังสือมือสองอยู่ในเฟซบุ๊ก แจ้งว่าเป็นหนังสือรวบรวมลายพระหัตถ์ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานไปยังศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ผู้ที่ทรงถือว่าเป็นลูกศิษย์ และได้ทรงถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านโบราณคดีตลอดถึงการพิพิธภัณฑ์ประทานไว้เป็นอันมาก

พอเห็นมีคนมาบอกขายเข้าอย่างนี้ก็ต้องรีบตะครุบสิครับ

บัดนี้ความโง่ของข้าพเจ้าได้บรรเทาลงแล้ว ฮา!

สองวันที่ผ่านมานี้ได้รับหนังสือเล่มที่ว่าซึ่งจัดส่งมาทางไปรษณีย์เรียบร้อยแล้ว ค่อยๆ ละเลียดอ่านวันละเล็กวันละน้อย เหมือนเด็กได้ขนมแล้วไม่รีบกิน ค่อยๆ และเล็มไปทีละนิดทีละหน่อย กลัวขนมหมดเร็วครับ

ถึงยังอ่านไม่จบเล่มแต่ก็พอมีเรื่องมาเล่าขยายความกันในที่นี้ได้บ้างพอสมควร

แน่นอนว่าหนังสือเล่มที่ว่านั้นเนื้อความส่วนมากเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองไทย ตลอดถึงเพื่อนบ้านใกล้เคียง

เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสด็จไปเมืองพม่า ได้ทรงพบเห็นสิ่งใดที่เป็นความรู้ แปลกใหม่หรือน่าสนใจก็ทรงเล่าประทานให้คุณหลวงบริบาลฯ ซึ่งมิได้ตามเสด็จไปด้วยได้พลอยรับความรู้เป็นวิทยาทาน

เนื้อหาส่วนนั้นผมจะละไว้เสีย เพราะถ้าคุยฟุ้งให้ยืดยาวในที่นี้ก็เห็นจะไม่มีใครสนใจมากนัก

แต่เรื่องที่จะเล่าสู่กันฟังโดยเก็บความจากหนังสือเล่มข้างต้นต่อไปนี้จะเป็นเรื่องการสั่งสอนแนะนำหรือวางพระองค์อย่างเป็นครูและศิษย์กับหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์

ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจและน่าจับใจเป็นพิเศษ

มูลเหตุที่หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์จะเป็นที่ทรงรู้จักคุ้นเคยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น เริ่มมาจากในรัชกาลที่เจ็ด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้โอนกิจการพิพิธภัณฑสถานซึ่งเดิมสังกัดอยู่กระทรวงวัง ย้ายมาอยู่ในความรับผิดชอบของราชบัณฑิตสภาที่ทรงจัดตั้งขึ้นใหม่ และมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นสภานายก

คราวนั้นเองที่ทรงได้ย้ายหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์จากตำแหน่งหน้าที่เดิมในหอสมุดสำหรับพระนครมาอยู่ประจำทำการที่พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร

ทรงระดมข้าวของจากหลายแหล่งรวมทั้งข้าวของที่ขอจากเอกชนเลยก็มี ทั้งชนิดขอเลยและขอยืม รวมทั้งของส่วนพระองค์เองด้วย มาจัดเข้าเป็นพิพิธภัณฑ์

ใช้เวลาจะอยู่เพียงแค่หกเดือนเศษเท่านั้นก็จัดพิธีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ได้สำเร็จ

ระหว่างเวลาดังกล่าวและสืบต่อมาภายหลัง หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้รับประทานพระเมตตาสั่งสอนความรู้เรื่องการจัดพิพิธภัณฑ์ วิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย บางยุคสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว สมเด็จฯ เสด็จไปประทับอยู่ที่หัวหินและเสด็จไปประทับอยู่ที่ปีนังตามลำดับ

เพราะเหตุที่ระยะทางห่างไกลกัน สมเด็จฯ ได้มีลายพระหัตถ์ประทานมาที่หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์เป็นจำนวนเกินกว่าร้อยฉบับ

ที่ผมได้มีโอกาสวาสนาได้อ่านในหนังสือเล่มข้างต้นเป็นลายพระหัตถ์ที่คัดมาพิมพ์เพียงแค่ 35 ฉบับเท่านั้น

จากลายพระหัตถ์ที่ผมมีโอกาสได้อ่าน เห็นได้ชัดทีเดียวว่าสมเด็จฯ ทรงวางพระองค์เป็นครูของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ในปีพุทธศักราช 2475 ช่วงกลางปี สมเด็จฯ เสด็จออกไปอยู่หัวหินแล้ว ทรงได้ข่าวว่าคุณหลวงขึ้นบ้านใหม่และมีลูกผู้ชายคนใหม่อีกหนึ่งคน จึงมีลายพระหัตถ์มาประทานพรว่า

“ที่หลวงบริบาลฯ มีบ้านเรือนอยู่เป็นหลักแหล่ง และได้ลูกผู้ชายอีกคน 1 นั้น ฉันยินดีด้วยเป็นอย่างยิ่ง ขออำนวยพรทั้งครัวเรือน ให้มีความสุขความเจริญ อายุยืนด้วยกันทุกๆ คน”

ที่เด็ดดวงกว่านั้นคือทรงเขียนต่อไปว่า

“ฉันรักหลวงบริบาลฯ เท่าไร หลวงบริบาลฯ ทราบอยู่แล้ว ถ้ารักฉันตอบ ขอให้พยายามบำรุงรักษาพิพิธภัณฑสถานซึ่งเป็นของรักของฉันให้ถาวรต่อไป ดีกว่าสนองคุณด้วยประการอย่างอื่น ถึงคนอื่นๆ ที่มีตำแหน่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานก็เช่นเดียวกัน ขอให้ช่วยบอกให้รู้ด้วย”

ในลายพระหัตถ์ฉบับเดียวกันยังทรงปรารภถึงเรื่องสิ่งของโบราณวัตถุที่ประทานยืมเพื่อจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครว่า

“…สำหรับตัวฉัน บรรดาของๆ ฉันที่ให้ยืมไปตั้งในพิพิธภัณฑสถานนั้น ถ้าหากพิพิธภัณฑ์ยังรักษาไว้เรียบร้อยอยู่อย่างเดิมอยู่ตราบใด ตราบนั้นก็จะยังให้ยืมไว้ไม่ถอนคืน เพราะถือว่าทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ถ้าหากเกิดเหตุซึ่งฉันเห็นว่าเป็นจลาจลในพิพิธภัณฑสถานเมื่อใดนั้นแล จึงจะเรียกของคืน ถึงเอาคืนมาก็จะเอามาใส่ห่อใส่หีบไว้ เตรียมให้ยืมไปตั้งอีกเมื่อพิพิธภัณฑสถานเรียบร้อย หรือว่าโดยย่อ การที่จะรับของเขาให้ยืมไปตั้งในพิพิธภัณฑสถานเป็นส่วนหนึ่งเพื่อจะรักษาความมั่นคงของพิพิธภัณฑสถาน ฉันได้ประกาศรู้กันอยู่แพร่หลาย ฉันยังไม่เปลี่ยนความคิดในข้อนั้น และยังไม่จนถึงกับจะต้องเอาของเหล่านั้นมาขายเลี้ยงชีพ…การที่เรียกของคืนโดยไม่มีเหตุ มันกลายเป็นเห็นแก่ตัว น่าละอายใจอยู่บ้าง…”

ข้อความย่อหน้าข้างต้นนี้ ทำให้ผมรู้จักและเข้าใจสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยก็อีกมุมหนึ่ง

เป็นมุมที่เคารพกราบไหว้ได้โดยสนิทใจ เพราะทรงคิดอ่านสิ่งใดก็เป็นไปด้วยความรอบคอบ คิดไปข้างหน้าข้างหลังด้วยพระวิจารณญาณถี่ถ้วน และทรงแถลงวิธีคิดของพระองค์เองให้ผู้เป็นลูกศิษย์ได้ทราบไว้

พระอัธยาศัยอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจ คือการเปิดพระทัยกว้างที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นในทางวิชาความรู้ เมื่อทรงเล่าความเห็นหรือความรู้เรื่องใดประทานหลวงบริบาลฯ มักจะทรงลงท้ายในทำนองที่ว่า

“…เรื่องนี้เป็นด้วยไม่มีผู้ใดจดลงพงศาวดารหรือจดหมายเหตุไว้ให้ปรากฏแต่เมื่อรัชกาลที่หนึ่ง จึงไม่มีใครใครจะรู้ ต่อมาคิดค้นเนื่องจากเรื่องสืบสวนโบราณคดี จึงมาแลเห็นเป็นแน่นอน แต่ก็เป็นการสันนิษฐาน ผู้อ่านไม่จำจะต้องเชื่อ เว้นแต่เห็นชอบด้วย…”

เกี่ยวกับประเด็นนี้ เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาผมนั่งคุยกับเพื่อนฝูงที่คุ้นเคย สมาชิกในวงสนทนาคนหนึ่งตั้งคำถามว่า ในแวดวงคนที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ สังเกตเห็นว่ามักมีคนเสนอความคิดที่ท้าทายหรือหักล้างแนวทางหรือเรื่องราวในประวัติศาสตร์ตามพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอยู่เนืองๆ เหตุใดถึงเป็นอย่างนั้น

เพื่อนอีกคนหนึ่งอธิบายว่า น่าจะเป็นเพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงใช้เป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือนั้น ต่อมามีการพบหลักฐานใหม่หรือมีหลักฐานอื่นเพิ่มเติมขึ้น ย่อมทำให้แนวทางความคิดที่เข้าใจกันมาแต่เดิมนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไป

ชะดีชะร้ายถ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพบเห็นหรือทรงทราบหลักฐานใหม่อย่างนี้ เนื้อหาในพระนิพนธ์ก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปตามหลักฐานใหม่เป็นธรรมดา

เพราะทรงบอกไว้แล้ว หลายอย่างที่ทรงพระนิพนธ์หรือทรงให้ความเห็นไว้ ก็เป็นแต่เพียงการสันนิษฐานเท่านั้น

ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเชื่อเสมอไป

เมื่อหลักฐานและการค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีลึกซึ้งกว้างขวางขึ้น ชุดของข้อมูลก็เปลี่ยนไป ทำให้เราต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงความเคลื่อนไหวทางวิชาการอยู่เสมอ มิเช่นนั้นก็จะติดอยู่กับข้อมูลชุดเดิม และทำให้ความเข้าใจ “ตกหล่ม” อยู่อย่างนั้น ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน

สิ่งที่เราเคยเรียนรู้ในวิชาประวัติศาสตร์เมื่อตอนเราเป็นเด็กนักเรียน ครั้นเวลาผ่านไป 50 ปี ความรู้ชุดเดิมอาจไม่เป็นจริงอีกต่อไปเสียแล้ว

ตัวอย่างเช่นทุกวันนี้ คนจำนวนหนึ่งยังคงเชื่อว่าคนไทยเดินมาจากเทือกเขาอัลไตโน่น ทั้งๆ ที่ข้อมูลใหม่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว

ถ้าทราบว่า คนที่ว่านี้มีใครบ้าง

ไม่ต้องมาบอกผมนะครับ

เดี๋ยวหัวใจอ่อนๆ ของผมจะรับไม่ได้ รับไม่ไหวขึ้นมาจะหัวใจวายตายเสียเปล่าๆ

สงสารผมเถิด นะ นะ