เลือกตั้งแพ้…แต่อยากได้อำนาจ ต้องรัฐประหาร… / หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว – มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

เลือกตั้งแพ้…แต่อยากได้อำนาจ

ต้องรัฐประหาร…

 

ตํานานรัฐประหารพม่า 2 ครั้ง แต่ละครั้งขอเวลาอยู่น้าน…นาน

รัฐประหารครั้งแรก 2505 ปกครองนานถึง 26 ปี

การปกครองของพม่าตลอด 60 ปีหลัง กล่าวได้ว่าอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารเกือบตลอดเวลา มีโอกาสเป็นประชาธิปไตยแค่ 5 ปี

ปี พ.ศ 2503 อูนุชนะเลือกตั้ง แต่ 2 ปีต่อมาก็ถูกรัฐประหารโดยผู้นำเผด็จการรุ่นหนึ่ง คือนายพลเนวิน และตั้งแต่ พ.ศ.2505 ถึง พ.ศ.2531 ใช้ระบอบสังคมนิยมแบบพม่า มีพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าพรรคเดียว

จากนั้นก็ถ่ายโอนอำนาจให้กับเผด็จการรุ่นสอง คือคณะกรรมการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยแห่งรัฐ หรือ SLORC

ปี 2533 จับออง ซาน ซูจี ขังในบ้าน พรรคทหารก็ยังแพ้ยับ จึงต้องรัฐประหารครั้งที่ 2

ในปี 2533 พม่าได้จัดการเลือกตั้ง พรรค NLD (National League for Democracy) นำโดยนางออง ซาน ซูจี ชนะอย่างท่วมท้นทั้งๆ ที่ซูจีถูกกักอยู่ในบ้านและแกนนำถูกขังอยู่ในคุก อิน เส่ง กลับได้ ส.ส.ถึง 392 จาก 485 ที่นั่ง พรรคทหารพม่าที่เคยปกครองได้เพียง 10 ที่นั่ง พรรคของกลุ่มไทใหญ่ยังได้ 23 ที่นั่ง

แต่ประชาชนพม่าไม่มีโอกาสได้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแม้แต่ 1 วัน

รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้กับพรรค NLD กลับขังซูจีต่อไป นี่จึงเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 2 หลังจากนั้น SLORC ได้เสนอขั้นตอนสู่ประชาธิปไตย มีการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น แต่ต้องลงประชามติรับ พม่าได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป

ทหารพม่าไม่ได้บอกว่าขอเวลาอีกไม่นาน แต่ลากยาวไปถึง 20 ปี

พฤศจิกายน 2553

สืบทอดอำนาจ ผ่านการเลือกตั้งปลอม

แผนการแปลงกายจากเผด็จการทหารสู่ประชาธิปไตยของพม่า ใช้วิธีง่ายๆ คือให้นายทหารลงไปชุบตัวในการเลือกตั้ง 2533 บางส่วนก็ชุบตัวผ่านการแต่งตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญระบุให้ทหารมีสิทธิได้รับแต่งตั้งเข้าไปเป็นผู้แทนในสภา 25%

อดีตคณะผู้นำทหารจึงเป็นได้ตั้งแต่ประธานาธิบดี รัฐมนตรี จนถึง ส.ส.ธรรมดา

ส่วนโครงสร้างการปกครองก็กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ ให้มีสภาแห่งสหภาพ (Union Parliament) คล้ายๆ รัฐสภา มีผู้แทนฯ ได้ทั้งหมด 659 ที่นั่ง แบ่งเป็นสภาประชาชนและสภาแห่งชาติ (วุฒิสภา) อีกส่วนหนึ่งคือสภาแห่งภูมิภาคและแห่งรัฐ (Regional and State Parliament) สภานี้เป็นสภาท้องถิ่น โดยให้รัฐที่เป็นสมาชิกสหภาพทั้ง 7 รัฐ คือ รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐยะไข่ รัฐชิน รัฐคะยาห์ และรัฐคะฉิ่น มีอำนาจเทียบเท่ากับมณฑลหนึ่งของพม่าเท่านั้นเอง มีสมาชิกสภาได้ทั้งหมด 883 ที่นั่ง

พรรค NLD ไม่ได้ร่วมเลือกตั้งด้วยด้วย จะร่วมได้ยังไง ในเมื่อคนฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลทหารถูกจับไปขัง 2,000 กว่าคน

ผลการเลือกตั้ง พรรคที่ได้ผู้แทนฯ มากที่สุดคือพรรคทหารที่ชื่อ Union Solidarity and Development Party (USDP) พรรค USDP มาจากกลุ่มพลังมวลชนที่กองทัพจัดตั้งขึ้นโดยผู้นำเผด็จการรุ่นสอง พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย เตรียมการเอาไว้สืบทอดอำนาจ ในรูปพรรคการเมืองเมื่อมีการเลือกตั้ง

ต่อมาพรรคนี้นำโดย พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เมื่อรวมกับ ส.ส. และ ส.ว.แต่งตั้งจากกองทัพพม่า จะมีเสียงมากกว่า 80% ของสมาชิกสภาทั้งหมด ส่วนพรรคที่มาจากรัฐที่เป็นสมาชิกสหภาพทั้ง 7 รัฐ รวมกันกับพรรคการเมืองของพม่าอีกหลายพรรค ได้ไม่ถึง 19%

 

ผู้มีอำนาจในปี 2553 คือใคร ดูที่รัฐธรรมนูญ

พล.อ.เต็ง เส่ง อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลทหารพม่า หัวหน้าพรรค USPD (แกนนำอันดับ 4 ของกองทัพ) ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี

ตูรา ฉ่วย มาน (แกนนำอันดับ 3 ของกองทัพ) ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

พล.ท.มิน อ่อง หล่าย อดีตแม่ทัพภาคสามเหลี่ยมทองคำและผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพม่า ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพพม่า แทนที่ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย

รัฐธรรมนูญปี 2551 ระบุว่า เมื่อประเทศชาติมีภาวะวุ่นวาย สุ่มเสี่ยงต่ออธิปไตยและความมั่นคงในชาติ ประธานาธิบดีต้องถ่ายโอนอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ส่วนออง ซาน ซูจี และพรรค NLD ก็มีแค่บารมีทางการเมืองเพราะประชาชนและต่างประเทศสนับสนุน

และนั่นหมายถึงพวกเขาต้องทนอยู่ใต้อำนาจเผด็จการรอบสองนี้รวมเวลาถึง 25 ปี

 

การเลือกตั้ง 2558

ออง ซาน ซูจี ชนะเลือกตั้ง

แต่ยังไร้อำนาจ

จากการกดดันจากปัญหาเศรษฐกิจ และแรงกดดันจากต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลทหารที่แปลงกาย (จากการเลือกตั้งปลอมๆ 2553) ต้องเปลี่ยนแผน แง้มประตู เปิดประเทศ โดย ขอความร่วมมือกับออง ซาน ซูจี

ส่วนออง ซาน ซูจี ก็ตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ ก้าวออกนอกบ้านที่ถูกกักตัว แม้หนทางข้างหน้ายังยาวไกลและเต็มไปด้วยกับดักขวากหนาม ด้วยอายุ 67 ปี เธอจะเดินไปได้แค่ไหนไม่รู้ แต่เธอเปลี่ยนทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

นุ่งผ้าซิ่นเสียบดอกไม้ที่มวยผมเหมือนจะบอกว่ายังเป็นซูจีคนเดิม

แต่จะเดินหน้าเข้าเล่นเกมระบอบประชาธิปไตยแบบพม่าๆ ต้องเลือกตั้ง ต้องเข้าไปทำงานในสภากับ ส.ส.ทหารนับพัน

ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับทหาร แก้ไขปัญหาชนชาติ สร้างสัมพันธ์กับต่างประเทศ

แต่มีกองเชียร์ทั้งในประเทศและทั่วโลก (ช่วงนั้นพม่าเลือกตั้ง ส่วนไทย ทหาร… ขอเวลาอีกไม่นาน หลายคนคิดว่าพม่าจะออกวิ่งไปแบบอินโดนีเซีย)

ผลการเลือกตั้ง 2558

(1) พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้ที่นั่งในสภาประชาชน (Pyitthu Hluttaw) หรือ ส.ส. 238 ที่นั่ง ที่นั่งในสภาชนชาติ (Amyotha Hluttaw) หรือ ส.ว. 126 ที่นั่ง รวมสองสภาได้ 364 ที่นั่ง

(2) พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ได้ที่นั่ง ส.ส. 28 ที่นั่ง และ ส.ว. 12 ที่นั่ง รวมสองสภาได้ 40 ที่นั่ง

(3) พรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย หรือ SNLD ได้ที่นั่ง ส.ส. 12 ที่นั่ง และ ส.ว. 3 ที่นั่ง รวมสองสภาได้ 15 ที่นั่ง

(4) พรรคชาติยะไข่ (ANP) ได้ ส.ส. 7 ที่นั่ง และ ส.ว. 7 ที่นั่ง รวม 14 ที่นั่ง

 

ที่เหลือเป็นพรรคเล็กๆ

ชนะแต่แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้

ผลการเลือกตั้งทำให้พรรค NLD ที่นั่งเกินครึ่ง 2 สภา เพียงพอสำหรับออกกฎหมาย แต่ยังไม่พอแก้รัฐธรรมนูญ แต่มีอำนาจในการเสนอชื่อรองประธานาธิบดีทั้งจาก ส.ส. และ ส.ว. และมีเสียงเพียงพอที่จะผ่านกฎหมายในสภาทั้งระดับ ส.ส. และระดับ ส.ว.อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพรรค NLD ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่าจะต้องใช้เสียงเกิน 3 ใน 4 ของรัฐสภา หรือต้องมีเสียงเกิน 492 เสียงจากสมาชิก 657 เสียงเท่าที่มีของรัฐสภา นั่นหมายความว่าเป็นไปไม่ได้เลย หากสมาชิกรัฐสภาอีก 1 ใน 4 (166 คน) ที่มาจากการแต่งตั้งของกองทัพไม่ให้ความร่วมมือ

รัฐบาลประชาธิปไตย NLD และออง ซาน ซูจี อยู่รอดมาได้จนครบสมัย ในขณะที่ไทยอยู่กับรัฐบาลจากการรัฐประหาร

 

การเลือกตั้ง 2563

ทหารพม่าแพ้ยับ

ต้องทำรัฐประหารครั้งที่ 3

ทิศทางของการเลือกตั้งของคนส่วนใหญ่ในปี 2563 คือเลือก NLD ไว้ก่อนเพื่อไม่ให้พรรคทหารกลับมา พรรค NLD จึงได้รับเลือกอย่างท่วมท้น เข้าสู่สภาทั้ง 3 ระดับ ที่ประกอบด้วย 258 จาก 315 ที่นั่งในสภาล่าง และ 138 จาก 161 ที่นั่งในสภาสูง 501 จาก 612 ที่นั่งในสภาภูมิภาคและรัฐ และที่นั่งชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ 23 ที่นั่งจาก 29

เรียกว่ากวาดเกือบหมด

NLD ชนะในแทบทุกเขตที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพม่า ยกเว้นบางเขตในเนปิดอว์ ที่เป็นเขตอิทธิพลของกองทัพ

ส่วนพรรค USDP ที่เป็นพรรคหนุนทหารส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั้งหมด 1,089 คน และได้รับเลือกเพียง 71 คนสำหรับสภาทั้ง 3 ระดับ โดยแบ่งเป็น 26 ที่นั่งในสภาล่าง 7 ที่นั่งในสภาสูง และ 38 ที่นั่งในสภาภูมิภาคและรัฐ

ส่วนที่นั่งที่เหลือเป็นของพรรคการเมืองอื่นๆ และผู้สมัครอิสระ

ประธานาธิบดีวิน มี้น และออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ต่างชนะการเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯ ในสภาล่าง ส่วนรองประธานาธิบดีเฮนรี วัน เทียว ได้รับเลือกเป็นผู้แทนฯ ในสภาสูง

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 กำหนดให้รัฐสภาชุดใหม่เปิดการประชุมนัดแรกภายใน 90 วัน หลังเริ่มการเลือกตั้งทั่วไป (ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564) แต่ปี 2564 พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของกองทัพพม่า จะมีอายุครบ 65 ปี และคาดกันว่าเขาจะเกษียณตัวเองออกมาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว แต่ไม่รู้ว่าใครไปแนะนำมิน อ่อง หล่าย ว่า…ลงเลือกตั้งแล้วก็คงไม่ชนะ และถ้าให้ซูจีปกครองอีกสมัย NLD จะคุมทุกอย่างของการเมืองพม่าไปอีกนาน สรุป บทเรียนจากประเทศข้างๆ แล้วทำรัฐประหารดีกว่า

การรัฐประหารครั้งนี้ฝ่ายทหารรอให้ผู้นำและตัวแทนพรรคการเมืองแต่งตัวรอเข้าประชุมในวันเปิดสภา แล้วก็ทำการบุกเข้าจับกุมเป็นส่วนใหญ่เหมือนเมื่อครั้งอดีต (ซึ่งในอดีตสมัย เนวินก็เคยทำด้วยการจับกุมในสภา บางคนเสียชีวิตในที่คุมขัง)

ทหารพม่าไม่สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องการสื่อสารสิทธิมนุษยชนอะไรใดๆ ทั้งสิ้น การตัดสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณเน็ตปกติ

ทหารพม่าบอกว่าเขาไม่ได้รัฐประหาร แต่ทำตามรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า…เมื่อประเทศชาติมีภาวะวุ่นวาย สุ่มเสี่ยงต่ออธิปไตยและความมั่นคงในชาติ ประธานาธิบดีต้องถ่ายโอนอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด… ดังนั้น เมื่อประธานาธิบดีถูกจับไปขังก็คงให้รองประธานาธิบดี พล.อ.มิน ส่วย เป็นผู้ถ่ายโอนอำนาจให้

รัฐประหาร 2 ครั้งก่อน…คนทำร่ำรวย คนซวยคือประชาชน จนไป 51 ปี พอขยับจะลืมตาอ้าปากได้ แค่ 5 ปี ทำอีกแล้ว แบบนี้เดือดร้อนทั้งประเทศ และจะลามมาถึงเพื่อนบ้าน ที่ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย บอกว่าขออยู่ปีเดียว ใครจะเชื่อ

(ผลกระทบและการเมืองเปรียบเทียบ ขอต่อฉบับหน้า)