เฟซบุ๊กลดเนื้อหาการเมือง ลดความเกลียดชัง-แบ่งขั้วได้หรือ? / รายงานพิเศษ

Facebook CEO Mark Zuckerberg is seen on stage during a town hall at Facebook's headquarters in Menlo Park, California September 27, 2015. REUTERS/Stephen Lam/File Photo

รายงานพิเศษ

 

เฟซบุ๊กลดเนื้อหาการเมือง

ลดความเกลียดชัง-แบ่งขั้วได้หรือ?

 

ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจประกาศลดปริมาณเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองลงในนิวส์ฟีด และลดการแนะนำเพจกลุ่มการเมืองต่างๆ ลง

ซึ่งเฟซบุ๊กทำลงไปก็เพื่อลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ถูกมองเป็นผู้ส่งเสริมจนนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะมวลชนฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีสหรัฐถาโถมบุกรัฐสภาเพื่อขัดขวางไม่ให้รับรองโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

แม้ผลสุดท้าย จะไม่สามารถขัดขวางการรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีลงได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นบาดแผลใหญ่ที่สำแดงอาการถึงภาวะแบ่งขั้วทางการเมืองที่สหรัฐต้องใช้เวลาโดยเฉพาะอคติทางการเมืองที่ฝังรากลึกมานานกับระบบการเมืองของตัวเอง

นอกจากนายทรัมป์ที่สังคมอเมริกันมองเป็นผู้กระตุ้นไปสู่เหตุการณ์น่าตกใจนี้ โซเชียลมีเดียก็พลอยติดร่างแห ตกเป็นจำเลยสังคมไปด้วย แม้ทั้งเฟซบุ๊กรวมทวิตเตอร์จะแสดงท่าทีระงับบัญชีใช้งานไม่เพียงแค่นายทรัมป์ แต่อีกหลายคนที่ประเมินว่ามีส่วนผลิตเนื้อหาปลุกระดมใช้ความรุนแรง

การตัดสินใจครั้งนี้ของเฟซบุ๊ก จะดึงชนักนี้ออกจากหลังได้ หรือกลับกลายเป็นว่าแก้ไขไม่ถูกจุด?

 

ก่อนที่เฟซบุ๊กจะตัดสินใจใช้วิธี คงต้องเข้าใจลักษณะการทำงานทั้งแง่ระบบและธุรกิจของเฟซบุ๊ก (อาจรวมถึงโซเชียลมีเดียอีกหลายตัว) ก่อน การสร้างและเผยแพร่เนื้อหาทุกเรื่อง หากต้องการให้คนเข้ามาดูและติดตาม เจ้าของแพลตฟอร์มก็สามารถช่วยเพิ่มยอดผู้ชมนี้ได้ ผ่านข้อตกลงในการซื้อพื้นที่เพื่อเพิ่มจำนวน ยิ่งจ่ายมาก ยิ่งเพิ่มคนเห็นและความถี่ที่ขึ้นบนนิวส์ฟีดเราทุกวันแม้เราจะไม่เคยกดไลท์และกดติดตามเพจนั้นก็ตาม

หรือความสามารถอันน่าทึ่งของอัลกอริธึ่มของเฟซบุ๊ก ขอเพียงมีคีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญที่ปรากฏบนโพสต์ข้อความเรา ระบบจะทำค้นหาในขึ้นแทรกบนหน้านิวส์ฟีดให้เราทันทีโดยทีเราไม่ได้ขอหรือพยายามค้นหา

ระบบจึงสรรหาอะไรให้เราตามความชอบ ตั้งแต่รองเท้ากีฬา เพลง กิจกรรมสันทนาการ ไปจนถึงเพจนักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่เสนอเนื้อหาถูกจริตความเชื่อของเรา พอเราชอบใจอะไร ระบบจะจดจำกิจกรรมหรือเนื้อหาที่คุณสนใจเป็นประจำ และคัดกรองพร้อมเสิร์ฟให้เราทุกวัน

พอมีเนื้อหาที่เราชอบ ก็นำไปสู่การพบผู้คนที่มีแนวคิดเดียวกัน คุยเรื่องเดียวกัน ผลิตซ้ำชุดความคิดที่ชอบใจกัน

จนนานวันเข้า เราก็เลือกได้ยินแต่เสียงที่สนองต่อความรู้สึก ความคิดเรา

ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า Echo Chamber (ห้องเสียงสะท้อน) บ่งบอกถึงภาวะที่การรับรู้ของตัวเรา ถูกกำหนดให้รับรู้พึงพอใจแค่สิ่งที่ตัวเองชอบ โลกของตัวเอง

แต่เมื่อผู้ที่ติดกับดัก Echo Chamber นานๆ เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่แตกต่างจากการรับรู้อย่างสิ้นเชิง คนที่คิดต่าง คนที่มาตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เราเชื่อและยึดมั่น ผลลัพธ์ส่วนใหญ่มักออกไปทางแย่จนถึงขั้นเลวร้าย

 

การเมืองสหรัฐยุคโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเรียกเป็นช่วงที่สร้างความสับสนต่อวิธีคิดและการสื่อสารที่ปฏิเสธข้อเท็จจริงด้วยความจริงที่ตัวเองพึงพอใจ เกิดศัพท์แสงที่ได้ยินตอนนั้นไม่ว่าเป็น Alternative Truth (ความจริงทางเลือก) หรือข่าวปลอม (Fake News) และสิ่งเหล่านี้ถูกเผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดีย ที่มีผู้ใช้งานที่รับสารพร้อมกับผลิตสารนี้ด้วยไปในตัว ช่วยกระจายต่อไปอีก

ประเด็นเรื่องที่ครั้งหนึ่งเคยถูกทำให้พูดกันในมุมเล็กๆ ก็ออกมาอย่างเปิดเผย เมื่อผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ตัวเองสนับสนุนแสดงความเห็นเชิงอคติออกมาโดยไม่สนใจผลที่ตามมา ได้เป็นการปลดปล่อยคนอีกมากที่อยากแสดงความคิดของตัวเองซึ่งเป็นอคติและมิจฉาทิฐิออกสู่สังคม

จนความคิดแบบนี้ขยายตัวต่อเนื่อง ก็ก่อให้เกิดการรวมตัวของคนที่เคยทำอะไรแบบนี้อยู่เงียบๆ ก็ออกมาแสดงออกอย่างภาคภูมิใจทั้ง การพูดจาเหยียดสีผิว เหยียดเพศ เชิดชูชาตินิยมสุดโต่ง ยกย่องคนขาวบริสุทธิ์กันมากมาย

เมื่อเป็นแบบนี้ คนที่รู้สึกไม่ดีกับเรื่องนี้ ก็ต้องคนรับผิดชอบ โซเชียลมีเดียจึงตกเป็นจำเลยของสังคมไปให้ ต้องถูกฟ้องร้อง จี้กดดันให้ลบเนื้อหาหรือปิดกั้นการเข้าถึง จนกระทั่งเฟซบุ๊กเองต้องตัดสินใจทำระบบเพื่อลดเนื้อหาพวกนี้ลง

แต่คำถามที่ยังไม่ได้ตอบกันคือ ตกลงวิธีนี้เป็นทางที่ถูกแล้วหรือ?

 

บางที สิ่งที่คิดว่าถูกแล้ว อาจเป็นเพียงปลายเหตุ ต้องเข้าใจว่าโซเชียลมีเดียเป็นเพียงเครื่องมือ ที่ทำให้เกิดผลทั้งดีและร้าย แทบจะพร้อมกัน บางทีสิ่งที่ควรสืบหา ไม่ใช่ข้อผิดพลาดของเครื่องมือสื่อสาร หรือตัวบุคคลที่แสดงออกอะไรสุดกู่แบบนี้

แต่อาจหมายถึงมองไปยัง “ระบบการเมือง” ที่ก่อรูป วิวัฒน์ตัวเอง สร้างสิ่งที่ทำให้เรามีอัตลักษณ์ มีความคิดเช่นนี้

เอซล่า ไคล์น ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ Vox และเป็นผู้เขียนหนังสือ Why We’re Polarized ได้ตั้งประเด็นที่เป็นส่วนนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ว่า สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจภาวะแบ่งขั้วทางการเมืองของผู้คน อาจไม่ได้มองที่ตัวบุคคล แต่เป็นระบบการเมืองที่เราร่วมออกแบบขึ้นมา ที่สร้างตัวเราและคนจำนวนมากมีความคิด มีทัศนคติแบบนี้ขึ้น

รัฐย่อมผลิตชุดความคิดและค่านิยมให้กับประชาชนในแบบที่รัฐอยากให้เป็น นี่คือสิ่งที่ทำให้ประเทศดำเนินไปให้ประชาชนสร้างเรื่องราวที่เป็นได้ทั้งความยิ่งใหญ่เกรียงไกร ไปจนถึงโศกนาฏกรรมอันโหดร้ายป่าเถื่อน

การผลิตซ้ำความเกลียดชังโรฮิงญา การตอกย้ำปกป้องสถาบันหลักของชาติจนทำให้ไม่ยอมรับความคิดต่างที่ทำให้เกิดการล่าแม่มดและกลไกรัฐเข้าปราบปราม การไม่ยอมรับแนวคิดที่เป็นภัยต่ออุดมการณ์พรรคของจีน สิ่งเหล่านี้คือผลผลิต จากระบบที่สร้างอัตลักษณ์การเมืองแบบนี้ครอบชีวิตประชาชน

โซเชียลมีเดียจึงไม่ใช่จำเลยอย่างที่เราถูกทำให้เชื่อ แต่เป็นแพะบูชายัญต่างหาก