ฐานของความเท็จและจริง / นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ฐานของความเท็จและจริง

 

หลังการบุกรัฐสภาของพวกขวาจัดแล้ว นักข่าวอเมริกันคนหนึ่งเข้าไปสมัครร่วมกลุ่มในสื่อสังคมกับกลุ่ม QANON (กลุ่มขวาจัดที่มีความเชื่อไปทำนองโลกพระศรีอาริย์) เพื่อจะได้อ่านการสื่อสารระหว่างกันของมวลสมาชิก

เขาพบว่า คนเหล่านั้นสื่อสารกันเป็นปรกติในเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เช่น พวกเขาเชื่อว่าในวันที่ 20 มกราคม อันเป็นครึ่งวันสุดท้ายที่ทรัมป์ยังเป็นประธานาธิบดีอยู่นั้น ก่อนที่ไบเดนจะเข้าพิธีสาบานตน ทรัมป์จะประกาศภาวะฉุกเฉิน ทั้งทหาร, ตำรวจ และอาสารักษาดินแดน จะเข้าควบคุมอาคารรัฐสภาและหน่วยราชการทั้งหมด รวมทั้งวางกำลังปกป้องทำเนียบขาว จากนั้นก็จับตัวไบเดนและพรรคพวกในพรรคเดโมแครตประหารชีวิต หรือลงโทษอื่นๆ

นักข่าวหรือคนอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูทีวีเป็นประจำ ก็คงรู้ทันทีว่าเรื่องนี้ไม่มีทางจะเกิดขึ้นในสหรัฐ หลังจากได้เคารพผลการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งมากว่า 200 ปีแล้ว แม้แต่ทหารก็คงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันไม่ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมทางการเมืองของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทั้งกองทัพอเมริกันก็ไม่มี “ทุน” มหาศาลในรูปที่ดิน, วิสาหกิจ, สนามม้า, สถานีโทรทัศน์-วิทยุ, ธนาคาร, หุ้น และ ฯลฯ ไว้ให้นายพลทำมาหากินอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จึงไม่มีช่องทางทำเงินในกระเป๋าของตนให้เพิ่มขึ้นได้ด้วยการทำรัฐประหาร

แต่นักข่าวผู้นั้นพบว่า สมาชิกและผู้เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ล้วนเชื่อข้อมูลนั้นอย่างจริงใจ และหากมีสิ่งใดที่ตนอาจช่วยได้ เพื่อทำให้การเข้าสู่โลกพระศรีอาริย์เกิดขึ้นได้ตามคำทำนายแล้ว ก็พร้อมจะทำ

 

นักข่าวยังพบอีกว่า สมาชิกของ QANON ต่างเชื่อแกนนำว่า สื่อและข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาทางหนังสือพิมพ์, โทรทัศน์, วิทยุ หรือประกาศของหน่วยงานราชการ ล้วนตกอยู่ในกำมือของปีศาจร้ายที่จ้องทำลายความเป็นอเมริกันลงทั้งนั้น จึงพากันตัดขาดจากสื่อที่มีอยู่ตามประเพณีทั้งหมด ดังนั้น พวกเขาจึงพร้อมใจกันขังตนเองไว้กับกระบอกเสียงเพียงกระบอกเดียวตลอดมา

ก็ไม่แปลกอะไรใช่ไหมครับ เมื่อไรที่เราถูกขังอยู่ในข้อมูลข่าวสารทางเดียว เราก็ไม่เหลือทางเลือกมากนัก ถ้าเชื่อข่าวสารข้อมูลนั้น โลกรอบตัวก็มีความหมายอย่างหนึ่ง ชีวิตเราก็มีความหมายตามไปด้วย ถ้าไม่เชื่อนี่สิครับยุ่ง เพราะโลกรอบตัวไร้ความหมายไปโดยสิ้นเชิง แล้วชีวิตเราจะเหลือความหมายอะไรล่ะครับ

ข่าวสารข้อมูลทางเดียว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากความสมัครใจของผู้รับ หรือจากอำนาจที่บังคับมิให้ข้อมูลข่าวสารทางอื่นปรากฏแก่สาธารณะก็ตาม ย่อมนำมาซึ่งความรุนแรงและความอยุติธรรมในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะมีในโลกนี้หรือ ที่อำนาจในการควบคุมการรับรู้ของคนอื่น จะไม่ถูกใช้ไปในทางฉ้อฉลเพื่อผดุงอำนาจของตนไว้สืบไป ไม่ว่าอำนาจนั้นจะอยู่ในมือของคนคนเดียวหรือคนเป็นกลุ่มก็ตาม

การผูกขาดข้อมูลข่าวสารจึงมีอันตรายกว่าที่เรียกว่าเฟกนิวส์หลายสิบเท่า ใครที่สามารถผูกขาดข้อมูลข่าวสารได้ ย่อมผลิตเฟกนิวส์ขึ้นได้อย่างเสรี จะปั่นหัวใครให้ลุกขึ้นฆ่าใครก็ได้ การจลาจลนองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทยล้วนเกิดขึ้นจากการผูกขาดข้อมูลข่าวสารทั้งนั้น ผูกขาดแก่คนจำนวนมาก หรือคนใต้บังคับบัญชาก็ตาม

การล้อมสังหารหมู่ผู้คนอย่างบ้าระห่ำในวันที่ 6 ตุลา, พฤษภา 35, และเมษา-พฤษภา 53 ล้วนลงมือกระทำโดยคนที่มีข้อมูลข่าวสารทางเดียว ด้วยความสมัครใจของตนเอง หรือด้วยเหตุที่ถูกบังคับให้ไม่อาจรับข้อมูลข่าวสารทางอื่นได้ก็ตาม

 

ในเมืองไทยปัจจุบัน ความห่วงใยของรัฐและชนชั้นนำดูจะเพ่งเล็งไปที่ “เฟกนิวส์” ถึงขนาดมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้อำนาจรัฐในการจัดการและฟ้องคดีลงโทษต่างๆ นานาได้ แต่รัฐและชนชั้นนำไม่เคยห่วงใยเลยว่า ข้อมูลข่าวสารในสื่อสาธารณะของไทยนั้นค่อนข้างเป็นทางเดียว เพราะมีกฎหมายให้อำนาจรัฐในการกำกับควบคุมสื่อสาธารณะต่างๆ ได้อย่างรัดกุมมานานแล้ว

สื่อสังคมที่ขยายตัวกว้างขวาง จนทำให้ทุกคนต่างได้อำนาจในการสื่อสาธารณะได้ด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ทำให้การกำกับควบคุมสื่อสาธารณะของรัฐไทยด้วยกฎหมายเก่าไม่มีประโยชน์แก่รัฐอีกแล้ว ความหวาดวิตกในเรื่อง “เฟกนิวส์” จึงเกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นนำไทย เพราะอำนาจในการควบคุมสื่อสารสาธารณะกำลังหมดไป กฎหมายและกระทรวงซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมสื่อใหม่จึงเกิดขึ้น

ทั้งเป็นกฎหมายที่ออกจะคลุมเครือด้วย ผมคิดว่าไม่สู้จะชัดนักว่า “เฟกนิวส์” ในกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐนั้นหมายถึงอะไรกันแน่ ระหว่างข่าวสารที่ไม่จริง กับข่าวสารที่รัฐคิดว่ามีผลร้ายต่อสังคม

 

จริง-ไม่จริงพิสูจน์กันไม่ง่าย เพราะข่าวเท็จซึ่งรัฐเดือดร้อนนั้นมันไม่ใช่เพียงแค่นายกฯ สวมเสื้อสีแดง ทั้งๆ ที่ความจริงเขาสวมเสื้อสีเขียว แต่เป็นสารซึ่งมองจากคนละมุมกับรัฐต่างหาก เช่นเดียวกับ “ผลร้าย” หากเป็นเพียงเรื่องการโฆษณาหลอกลวงในการขายสินค้า ก็ง่ายที่จะวินิจฉัย แต่ข่าวจริงที่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจแก่สาธารณชน อาจเป็นผลร้ายในระยะสั้น ในระยะยาวแล้วกลับเป็นผลดีก็ได้

ความไม่ชัดเจนแน่นอนของกฎหมายนั่นแหละคืออำนาจที่ไร้ขอบเขต และเลือกใช้ได้ตามใจชอบ

เพราะฉะนั้น ศัตรูร้ายกาจที่สุดของ “เฟกนิวส์” คือเสรีภาพในการสื่อสารสาธารณะ “เฟกนิวส์” จะไม่เกิดอันตรายแก่ใครเลย หากถูกผู้อื่นตรวจสอบและเสนอข้อเท็จจริงจากอีกมุมมองหนึ่ง

อาเข้าจริงความสามารถของรัฐในการปกป้องใครหรืออะไรจาก “เฟกนิวส์” แทบจะไร้ประสิทธิภาพไปโดยสิ้นเชิงแล้ว คนในปัจจุบันสามารถ “ลือ” อะไรกันออนไลน์ได้ในกลุ่มที่กว้างอย่างไม่น่าเชื่อ แม้แต่ในประเทศจีนที่รัฐลงทุนสอดส่องการสื่อสารมากกว่าเราอย่างเทียบไม่ได้ ก็ยังมีข่าว “ลือ” ที่เล็ดลอดการตรวจจับของรัฐอีกมาก

แทนที่จะให้รัฐควบคุม เปิดเสรีให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลกันเอง จะไม่มีประสิทธิภาพกว่าหรือ

 

ผมควรเตือนไว้ด้วยว่า ทั้งหมดที่ผมพูดข้างบนนั้น เป็นเพียงระดับปรากฏการณ์ที่มองเห็นได้จากผิวๆ ภายนอกเท่านั้น “สาร” อะไรก็แล้วแต่ จะมีความหมายอะไรไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของ “สาร” นั้นเพียงอย่างเดียว แต่ที่สำคัญกว่าอยู่ที่ความคิดความเชื่อพื้นฐานของผู้รับสารมากกว่า

ช้างในสายตาฝรั่ง คือสัตว์ที่น่ารักเหมือนตัวการ์ตูน จึงมีบทบาทเล่นบอลในละครสัตว์ แต่คนไทยมองช้างเป็นสัตว์ที่สง่างาม มีพลังที่เหนือการควบคุม ควาญจึงต้องบริกรรมเชิญอำนาจของผีหรือเทพมาควบคุมช้าง ดังนั้นช้างจึงเป็นพาหนะของอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์

คนละเรื่องกันไปเลยนะครับ ทั้งๆ ที่เป็นสัตว์ตัวเดียวกันแท้ๆ

 

ความคิดความเชื่อที่คอยกำกับความหมายของสารทั้งหลายนั้น เรียกในภาษาวิชาการว่า “กระบวนทัศน์” ซึ่งเกิดขึ้นจากค่านิยม, วัฒนธรรมและอำนาจทางวัฒนธรรม, วิถีชีวิต ฯลฯ พูดสั้นๆ ก็คือ เงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมของ “กาละและเทศะ” หนึ่งๆ ย่อมก่อให้เกิดกระบวนทัศน์ชนิดหนึ่ง

รัฐไทย (และอีกหลายรัฐทั่วโลก) ฉลาดพอจะรู้ว่า การควบคุมการสื่อสารสาธารณะให้มีความหมายที่เกื้อกูลต่ออำนาจของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คือการสร้างและผดุง “กระบวนทัศน์” ที่ทำให้ผู้คนเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ไปในทางที่สมยอมต่ออำนาจรัฐ

ผ่านการศึกษา (ซึ่งไม่ได้หมายถึงเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมการประเมินผลไว้ด้วย นับตั้งแต่การสอบเลื่อนชั้น, การสอบแข่งขัน, มาตรฐานมารยาท, การแต่งกาย, ค่านิยม, อุดมคติ, ความสัมพันธ์ทางสังคม ฯลฯ) นอกรั้วโรงเรียน ก็ยังมีละครทีวี, ภาพยนตร์, หนังสือพิมพ์, นวนิยาย, เครื่องราชฯ, รางวัล, การยกย่อง-การประณาม ฯลฯ ที่ช่วยกล่อมเกลาให้ผู้คนยึดมั่นในกระบวนทัศน์ดังกล่าวสืบไปอย่างเหนียวแน่น

แต่ก่อนที่ใครจะทันรู้สึกตัว กระบวนทัศน์ดังกล่าวก็อาจกลายเป็นจุดอ่อนที่หมดพลังจะรักษาไว้ได้ต่อไป ดังจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวเพื่อประท้วงรัฐบาลในระยะปีกว่าที่ผ่านมา

 

สิ่งที่น่าสนใจในการประท้วงคือ ไม่ได้ยุติที่การประท้วงทางการเมือง แต่ที่มองเห็นได้ประจักษ์ไม่แพ้กันคือการประท้วงทางวัฒนธรรม เมื่อมองการลุยไฟของนางสีดาจากกระบวนทัศน์ของสิทธิสตรี แทนที่จะเป็นกระบวนทัศน์เก่าด้านความจงรักภักดีสุดจิตสุดใจของภรรยาที่ควรมีต่อสามี การลุยไฟคือการกดขี่ทางเพศอย่างยากจะปฏิเสธได้

หากมองการเล่นสเก๊ตบนถนนจากกระบวนทัศน์ของสิทธิเสรีภาพพลเมือง อำนาจที่จะกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะย่อมเป็นของคนหลากหลายฝ่าย ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงผู้ปกครองตามวิธีคิดของกระบวนทัศน์เก่า กระบวนทัศน์ใหม่มีผลต่อความคิดที่มีต่อ “ระเบียบทางสังคม” – ไม่แต่เฉพาะถนน, ป่าไม้, ภูเขา ฯลฯ เท่านั้น – แต่รวมถึงรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งหมดอีกด้วย การตั้งคำถามกับ ม.112 กับการปิดถนนเพื่อเล่นสเก๊ตกันนั้น ผมคิดว่าเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่

เมื่อนักเรียนเลวเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่เพื่อเสริมพลังทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างที่เรียกร้องกันตลอดมา แต่เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการถ่ายทอดความรู้และวัฒนธรรมในสังคมต่างหาก นักการศึกษาและนักการเมืองได้แต่ถามถึง “วิธีการ” ว่าจะให้ทำอย่างไร จึงดูเหมือนการพูดกันคนละเรื่องตลอดมา

ภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ บทบาทของรัฐที่จะคอยกำกับควบคุมมิให้เกิดเฟกนิวส์กลายเป็นเรื่องตลกในตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ มาทำให้ตลกเพิ่มขึ้นไปอีก ก็รัฐเองไม่ใช่หรือที่เป็นผู้ผลิตเฟกนิวส์มากกว่าใครหน้าไหนทั้งสิ้น

 

เหตุใดกระบวนทัศน์ทางสังคมหรือทางวัฒนธรรมจึงไร้พลังลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ แม้ได้ดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นในสังคมไทยมานานแล้ว ผมไม่คิดว่าเกิดขึ้นเพราะความเคลื่อนไหวของคนหนุ่มคนสาวในช่วงนี้ แต่ได้เกิดมาก่อนเป็นเวลาหลายปีแล้ว ซ้ำยังถูกเสริมให้อ่อนแอลงอีกด้วยการยึดอำนาจของ คสช.และการผลัดแผ่นดิน คนหนุ่ม-สาวที่ร่วมกันเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นผลผลิตของความอ่อนแอและกำลังจะสิ้นสลายไปของกระบวนทัศน์ไทยเก่าต่างหาก แต่เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องที่พูดถึงอยู่นี้โดยตรง

แต่การสูญเสียกระบวนทัศน์ชี้ให้เห็นว่า เมืองไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว และไม่มีทางที่ใครจะหันเหหรือบีบบังคับให้เมืองไทยกลับไปเหมือนเดิมได้อีก ไม่ว่าเรื่องจะลงเอยอย่างไร