จ๋าจ๊ะ วรรณคดี / ญาดา อารัมภีร/ชนไก่ – ตีไก่

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี/ญาดา อารัมภีร

ชนไก่ – ตีไก่

 

‘ชนไก่’ หรือ ‘ตีไก่’ คือ จับไก่มาสู้กัน ชนกันตีกัน ไทยเรามีถ้อยคำสำนวนที่มาจากการชนไก่ เช่น บ่อนไก่ ไก่รองบ่อน สู้จนเย็บตา (สู้จนยิบตา) งงเป็นไก่ตาแตก ฯลฯ ไม่มีใครรู้ว่าการชนไก่มีขึ้นเมื่อใด

สมัยอยุธยาก็มีแล้ว ดังที่ “กฎหมายตราสามดวง” พระไอยการเบดเสรจ ระบุว่า

“๑๑๙ มาตราหนึ่ง เหล้นเบี้ยชนไก่สรรพเหล้นพะนันขันต่อกันในบ่อนแลทำหนังสือบริคลชันชียรับเอาเงินนายบ่อยชันชียจะให้เปนต่อหน้าเปนค่าง ก็ให้เอาตามบริคลชันชียกันนั้น ถ้าแลมันเอาเงินนายบ่อนแล้วมันต่อสู้นายบ่อน ให้เอาทุนตั้งไหมเปนทวีคูนเพราะมันเอาของท่านเหล้นจะเอาลาภให้มาก” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

เรื่องของการชนไก่ในสมัยอยุธยาสะท้อนผ่านงานเขียนของชาวฝรั่งเศส 2 คน ยืนยันตรงกันว่ามีอยู่จริง คนไทยนิยมกันมากเสียด้วย

ดังที่มองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ บันทึกเกี่ยวกับการชนไก่ ลักษณะของไก่ชน และการดูแลระหว่างต่อสู้ไว้ใน “จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับ สันต์ ท.โกมลบุตร แปล) ดังนี้

“…ชาวสยามชอบการชนไก่มาก ไก่ที่กล้าหาญที่สุดไม่จำเป็นต้องตัวใหญ่เสมอไป แต่ธรรมดามักเป็นตัวที่มีอาวุธประจำตัวดีที่สุด คือ มีเดือยอันคมและแข็งแรง ถ้าไก่ชนตัวหนึ่งล้มลง เขาจะให้มันดื่มน้ำเพราะเขาทราบจากความจัดเจนว่า มักจะเนื่องจากเหตุที่มันกระหายน้ำนั่นเอง และตามปกติเมื่อมันได้ดื่มน้ำเข้าไปแล้วก็จะเข้าดำเนินการชนต่อไปอีก แต่การชนไก่นี้มักลงเอยด้วยการตายของคู่ต่อสู้ตัวใดตัวหนึ่งเสมอ…”

จุดจบของไก่ชนที่ฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง บันทึกไว้ก็ไม่ต่างกัน ดังที่หนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม” (กรมศิลปากรจัดพิมพ์ ปอล ซาเวียร์ แปลจากเรื่อง ” Histoire du Royaume de Siam” มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…การชนไก่ดึงดูดให้คนมาเล่นมากเนื่องจากบ่อนไก่จะต้องเปื้อนเลือดอยู่เสมอ เพราะไก่ที่ชนกันตัวหนึ่งจะต้องตาย…”

 

บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 เล่าถึงปันหยีชวนอุณากรรณชนไก่ เมื่ออุณากรรณตอบว่า “ไก่ชนของข้าไม่มี” ปันหยีก็เอื้อเฟื้อ

 

“จึงตอบว่าข้าจะให้ไก่ดีดี               ของเรามีไม่ตรึกอย่าร้อนใจ

ว่าแล้วชวนเชิญอุณากรรณ            จรจรัลรอเรียงเคียงไหล่

หลงหนึ่งหรัดลัดเดินไปทางใน       ยังสนามเล่นไก่พร้อมกัน”

 

เมื่อปันหยีให้ประสันตานำไก่มากมายมาให้เลือก อุณากรรณก็สั่งตำมะหงงว่า “จงเลือกไก่ชนเล่นตามที” ตำมะหงงออกตัวว่า “จักษุเราซมซานพานชรา จะพึ่งแว่นตาก็งมเงา” แต่กระนั้นก็พิจารณาเปรียบเทียบลักษณะ สรรหาไก่ที่ต้องการ “ว่าพลางเปรียบจับรับมาดู ได้คู่เขียวด่างพอชนได้”

ชนไก่ครั้งนี้มีพนันขันต่อด้วย ดังที่ประสันตา คนของอิเหนา

 

“แสร้งสำรวลชวนติดเดิมพัน         ลวงล่อต่ออันอึงไป”

 

ตำมะหงงไม่ปฏิเสธคำท้าพนัน แม้สภาพไก่ที่เลือกมาดูจะเป็นรองไก่อีกข้างอย่างเห็นได้ชัด

 

“ตบเพลาเข้าพลางหัวเราะร่า         เชิงเล่นเช่นว่าพอรู้ถึง

ทั้งเสียเปรียบต่ำสั้นไม่พรั่นพรึง     นี่แน่สองเอาหนึ่งจงต่อมา”

 

ประสันตารีบดักคอ ‘คิดว่าชนะแน่ๆ ใช่ไหมถึงกล้ามาท้ารองเช่นนี้’ และเริ่มโยกโย้ว่าจะขอเป็นฝ่ายรองเอง “แม้นติดใจก็เอาไปถือลอง จะแข็งใจรองดูสักที” ตำมะหงงโต้ว่าไฉนเจรจากลับไปกลับมาเช่นนี้

ในที่สุดตกลงกันว่าประสันตาจะเป็นฝ่ายต่อตามที่บอกไว้ตอนแรก

 

ตํามะหงงได้เป็นฝ่ายรองสมใจก็จริงอยู่ เราจะเห็นว่าประสันตาเหลี่ยมจัดอย่าบอกใคร พยายามทำทุกทางที่จะเอาเปรียบอีกฝ่าย ประสันตามองว่าถ้าตนต่อสองเอาหนึ่งตามที่ตำมะหงงเสนอนั้น ฝ่ายตนเสียเปรียบ จึงขอปรับอัตราต่อรองเป็นสามเอาสองแทน และโปะเดิมพันมากถึงหนึ่งพันเหรียญ กะจะชนะแบบถล่มทลาย ประสันตาอ้างเอาดื้อๆ ว่าที่ตำมะหงงเสนอ “จะรองสองเอาหนึ่ง” นัดหน้าค่อยว่ากันใหม่ ตำมะหงงจำยอมตามประสันตาทั้งๆ ที่ “เสียเปรียบเห็นทั่วทุกตัวคน”

ก่อนชนไก่ก็ตั้งนาฬิกากำหนดเวลาการต่อสู้ ดังที่กวีบรรยายว่า

 

“สองฝ่ายเปรียบได้แล้ววางหาง      ในกลางสังเวียนหน้าที่นั่ง

ซ้อนซ้องสองหมู่ดูประดัง             กิดาหยันเตือนตั้งนาฬิกา

พวกนักเลงเล่นเห็นไก่เกี้ยว           ลอดเลี้ยวผูกพันประจันหน้า

สำรวลสรวลซ้อมมือมา                 ถ้อยทีรับว่าได้กัน”

 

ประสันตาเห็นไก่ตัวเองเป็นต่อตั้งแต่เริ่มตี ปากคันยุบยิบเย้ยเยาะไก่ตำมะหงงว่าจะยืนระยะไหวหรือ

 

“ที่จะรอดตัวไปอย่าพึงคิด              หมายชนะสนิทไม่ผิดว่า

ไหนจะทนไปถึงครึ่งนาฬิกา           กลัวแต่จะลาไปกลางทาง”

 

ตำมะหงงข่มอารมณ์เตือนสติหนุ่มรุ่นลูกว่า อย่าดีแต่ถากถาง การแข่งขันยังไม่ยุติ แพ้ชนะยังไม่แน่

 

“อย่าประมาทชาติไก่ทำคาง           ขนข้างเหี่ยวแห้งแข้งมีพิษ

ยังไม่ถึงทีเธออย่าเพ่อหมาย           ไม่มีลายพ่ายแพ้แต่สักนิด”

 

พูดไม่ทันขาดคำ ไก่ตำมะหงงก็พลิกสถานการณ์เป็นต่อ ไล่ถลุงไก่ประสันตาเสียน่วม

 

“จิกติดโปรยประฉะแทง

ต้องเสนียดถูกสนัดหักเห              ซวนเซซ้ำตีด้วยฝีแข้ง

ตำมะหงงร้องอ๋อถูกพอแรง           ประสันตายิ้มแห้งรำคาญใจ”

 

ยกแรกของการต่อสู้ผ่านไป ต่างคนต่างรีบเข้าไปทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงไก่

 

“ถ้อยทีประทับให้หลับนอน             ปันป้อนข้าวน้ำประคบหน้า

บ้างพัดจัดปีกเป่าตา                      เลือดเลือกเกลือกหน้าด้วยผ้าบาง

สองฝ่ายให้น้ำสรรพเสร็จ                เสียเคราะห์ทำเคล็ดเด็ดหาง

ดีดมือถือไก่เข้าไปวาง                    ในกลางสังเวียนสนามพลัน”

 

ทั้งสองฝ่ายประคบประหงมไก่ของตนอย่างเต็มที่ ให้ข้าวให้น้ำ ประคบหน้า จัดปีก เป่าตา เช็ดเลือดที่โซมหน้าไก่ ทำทุกอย่างเพื่อให้ไก่พร้อมสู้ต่อ จากนั้นทำพิธีสะเดาะเคราะห์เด็ดหางเอาเคล็ด ดีดมือให้สัญญาณ แล้ววางไก่เข้าประจันหน้ากันทันที

ไก่เริ่มตีกันยกต่อไป ไม่ถึงอึดใจก็รู้ผล

 

“ไก่ข้างปันหยีก็พ่ายแพ้                ยกสร้อยวิ่งแต้ตัวสั่น

พวกข้างมิสาอุณากรรณ                ก็โห่สนั่นด้วยปรีดา”

 

หัวเราะทีหลังดังกว่าจริงๆ