E-DUANG : รัฐประหาร “นายพล” แห่ง เมียนมา มาพร้อมเพลง เราจะทำ ตามสัญญา

รัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ได้ก่อให้เกิดพันธมิตรในแนวร่วมทางการเมืองระหว่างเมียนมากับไทยขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

กระบวนการในการเผด็จศึกมีความใกล้เคียงกันเป็นอย่างสูง

คล้ายกับว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไทยจะศึกษาและเรียนรู้จากเมียนมา ขณะเดียวกัน รัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมียนมาก็ศึกษาและเรียนรู้จากไทย

รัฐบาลใหม่ของเมียนมาที่นำโดย พล.อ.มิน อ่อง ล่าย กับรัฐบาลของไทยที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงดำเนินไปในลักษณะอันเป็น”คู่แฝด”ในทางการเมือง

เนื่องจากมีรากฐานการได้อำนาจมาจากกระบวนการรัฐประหารเหมือนกัน และคำมั่นสัญญาที่จะปฏิรูปการเลือกตั้งภายในกำหนดเวลา 1 ปีจะดำเนินไปเช่นเดียวกันหรือไม่

เพราะหากเป็นเช่นเดียวกันเมียนมาก็จะต้องศึกษาและเรียนรู้ความจัดเจนจากไทยไปเพื่อเป็น”เครื่องมือ”อีกหลายอย่าง

โดยเฉพาะจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของไทย

 

ต้องขอบคุณการรัฐประหารของเมียนมาอันเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภา พันธ์ เนื่องจากเป็นรัฐประหารที่ทำให้คนไทยเกิดอาการ”ระลึกชาติ”ขึ้นมาได้โดยปริยาย

บางคนอาจนึกถึงบทบาทของพันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อประชาชน บางคนอาจนึกถึงบทบาทของมวลมหาประชาชนกปปส.

พลันที่คำว่า”ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”ลอยมาตามสายลม

ยิ่งกว่านั้น กังวานแห่งบทเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลา อีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงาม จะคืนกลับมา เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา

แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน”ก็ดังขึ้นใน 2 หูขึ้นอย่างอัตโนมัติ จากที่เคยได้ยินเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็หวนกลับมาอีกครั้ง

พร้อมกับใบหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เด่นชัด

ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าชาวเมียนมา ไม่ว่าชาวไทย ต่างก็ร่วมอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ภายใต้กระบวนการรัฐประหาร

 

ไม่มีใครคาดทำนายว่าบทเพลง”เราจะทำตามสัญญา”จะก้องกังวาน ขึ้นในสังคมเมียนมาหรือไม่ กระนั้น ในความเป็นจริง สังคมไทยรับรู้ในประสบการณ์นี้มาแล้วร่วม 7 ปี

เป็น 7 ปีที่เริ่มมีคำประกาศ”ออกไป ออกไป”โดยมีเป้าหมายอันเด่นชัดยิ่งว่าเป็นใคร ดำรงตำแหน่งอะไรในทางการเมือง