ความเหมือนและความต่าง ระหว่างธนาธรกับปิยบุตร /มนัส สัตยารักษ์

กาแฟโบราณ

มนัส สัตยารักษ์

[email protected]

 

ความเหมือนและความต่าง

ระหว่างธนาธรกับปิยบุตร

 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับปิยบุตร แสงกนกกุล คู่หูการเมือง มีทั้งความเหมือนและความต่างเมื่อเกี่ยวโยงกับสถาบันกษัตริย์ และ ม.112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

เมื่อประกาศตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคอนาคตใหม่” วันที่ถูกถล่มด้วยคำถามมากมายเกี่ยวกับ “จุดยืน” ต่อสถาบันกษัตริย์ ที่จะทำให้เกิดอุปสรรคต่อการทำงานทางการเมืองในหลายพื้นที่ ทั้งคู่ยังมีความเหมือนโดยไม่มีความแตกต่างแม้แต่น้อย พวกเขามีความฝันตรงกันเกี่ยวกับสถาบันและมาตรา 112

“พูดกันตรงไปตรงมา วันนั้นกลืนเลือด” ปิยบุตรเฉลยเหมือนรับสารภาพ

“เพราะผมรู้อยู่แล้วว่าไม่จำเป็นต้องออกมาพูดหรอกว่าเราจะไม่ผลักดันเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 นะ ท้ายที่สุดมันก็จะไปรู้กันเองในตอนท้ายว่ามีหริอไม่มี…ผมจำเป็นต้องประกาศในที่สาธารณะ เพราะไม่อย่างนั้นพรรคจะไปต่อไม่ได้”

เมื่อพรรคอนาคตใหม่พบความสำเร็จในระดับสูงกว่าที่ใครๆ คาดไว้ (จากเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562) แต่มีโอกาสได้ใช้เวลาสร้างบทบาททำงานการเมืองอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรเพียง 10 เดือนกับ 28 วัน (21 กุมภาพันธ์ 2563) เท่านั้นก็ถูกยุบพรรค

ธนาธรกับปิยบุตรเปลี่ยนสถานะมาเป็นประธานและเลขาธิการ “คณะก้าวหน้า” ที่ดูเหมือนบทบาทและอุดมการณ์ยังคงเดิม กล่าวคือ เพื่อประชาธิปไตยที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเผด็จการทหาร ทั้งสองคนก็ยังคงความเหมือน เลิกกลืนเลือด เปิดเผย “จุดยืน” ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์

แต่ความต่างของคู่หูการเมืองคู่นี้ ต่างกันตรงผลลัพธ์ที่ถูกดำเนินคดี

ธนาธรโดนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แจ้งความเอาผิด ตาม ม.112 ในขณะที่ปิยบุตรยังไม่มีวี่แววว่าจะโดนทางการเอาเรื่อง

 

เมื่อครั้งที่ “อนาคตใหม่” ถูกคำสั่งยุบพรรค สมาชิกพรรคส่วนหนึ่งโกรธแค้นปิยบุตร กล่าวโทษว่า เป็นถึงอาจารย์กฎหมายระดับปริญญาเอกจากต่างประเทศเสียเปล่า แต่ปล่อยให้ธนาธรทำผิดกฎหมายจดทะเบียนพรรคจนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคแบบตายน้ำตื้น

บางคนก็กล่าวหาว่าธนาธรถูกปิยบุตรครอบงำ

ได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของปิยบุตรในประเด็นนี้ เขาบอกว่าธนาธรเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบอยู่แล้ว พอมาเจอกฎหมายพรรคการเมืองแบบนี้เข้าก็ดูเหมือนธนาธรจะไปไม่เป็น ถ้าธนาธรเอาเงินมาให้พรรคแบบลับๆ เหมือนที่คนอื่นเขาทำกันก็ไม่มีใครรู้

แต่พรรคอนาคตใหม่อยากโปร่งใส จึงตกเป็นเหยื่อของกฎหมายเลือกตั้ง

 

เมื่อผู้สัมภาษณ์เกริ่นว่า การเรียกร้องนอกสภาไปไกลว่า ที่ “อนาคตใหม่” คิด รู้สึกว่าสุดท้ายแล้วเขาคิดว่าว่าถูกโดดเดี่ยวหรือเปล่า?

ปิยบุตรตอบว่า เขาถูกเตะออกมาจากสภา ถูกตัดสิทธิ์ อยากจะเข้าไปทำงานการเมืองก็ไม่ได้ทำ อยากจะไปผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญก็ถูกปิดประตู จะไปร่วมชุมนุมก็จะถูกทำร้าย ฯลฯ

“ตอนนี้ขบวนการก็ไปได้ด้วยตัวเองเรียบร้อยแล้ว เขาเกิดขึ้นมาเอง มีความคิดของเขาเอง รณรงค์ของเขาเอง และเขาไปไกลมากกว่าที่เรานำเสนอด้วยซ้ำ…”

“ผมไม่ได้บอกว่าการชุมนุมผิดหรือถูกนะ ผมเป็นคนที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกทุกอย่างอยู่แล้ว จะหยาบคาย รุนแรง มีสิทธิ์ทุกอย่าง”

 

กรณีเยาวชนกลุ่มหนึ่งชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสาตร์ เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 แล้วมีข้อเสนอเพื่อ “ปฏิรูปสถาบัน” 10 ข้อนั้น ปิยบุตรและธนาธรถูกสื่อโซเชียลประณามว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง สื่อบางเจ้าระบุชัดเจนว่า “แอบอยู่ใต้กระโปรงเด็ก”

ผู้สัมภาษณ์ถามปิยบุตรว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับรูปแบบและเนื้อหาของการชุมนุม

ปิยบุตรตอบอย่างฉลาดล้ำ

“ผมปาดเหงื่อเลย กลัวมากว่าเขาจะโดนคดี ลงจากเวทีแล้วเขาจะเจอการคุกคามทั้งในรูปแบบของกฎหมายและนอกกฎหมาย ก็เลยตัดสินใจรีบออกมาแถลงข่าวเพื่ออธิบายว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจความคิดของเยาวชนและนักศึกษา”

ปิยบุตรยอมรับว่า นับถือรุ้ง ไมค์ เพนกวิน และอานนท์ ที่ขึ้นไปนำการพูดครั้งนั้น ยอมรับว่าตัวเขาเองไม่กล้า หรือถึงแม้จะกล้าก็คงไม่สามารถปราศรัยในลักษณะ “ปลุกเร้า” ได้ดีเท่า

 

ประมวลคำตอบสัมภาษณ์ของปิยบุตรในทุกกรณีจะเห็นได้ว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ได้สืบเนื่องมาจากการกระทำของปิยบุตรเลยแม้แต่น้อย

เคสแรกที่พรรคกู้เงินมาใช้ในการเลือกตั้ง เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี สาเหตุหลักมาจากธนาธรหัวหน้าพรรคเป็นคนคิดนอกกรอบ และพรรคต้องการความโปร่งใส จึงตกเป็นเหยื่อของกฎหมายเลือกตั้งอันหยุมหยิม

ถัดมา กรณีมีการเรียกร้องนอกสภาไปไกลกว่าที่คนอนาคตใหม่คิดนั้น สาเหตุมาจากพวกเขาไม่มีสิทธิ์เข้าไปทำงานการเมืองในสภา ขบวนการนอกสภาก็ไปได้ด้วยตัวเอง เกิดขึ้นมาเอง เป็นความคิดของเขาเอง รณรงค์ของเขาเอง และเขาไปไกลมากกว่าที่อนาคตใหม่นำเสนอ

ปิยบุตรอ้างว่า ตัวเขาสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกทุกอย่างอยู่แล้ว ดังนั้น ความหยาบคาย รุนแรง ในการชุมนุมถือว่ามีสิทธิ์เกิดขึ้นได้ทุกอย่าง

ในกรณีที่เยาวชน นักศึกษา และราษฎร 63 ชุมนุมหลายครั้งในรูปแบบใหม่ ไม่มีแกนนำ ป่วนไปหลายพื้นที่ ข้อเรียกร้องบานปลาย จนทะลุเพดานไปจนให้แก้ไข ม.112 ลดอัตราโทษ หรือเลิกบังคับใช้นั้น จะเห็นได้ว่าปิยบุตรตอบคำถามนี้อย่างฉลาดล้ำ ปัดความผิดไปที่แกนนำคนดังอย่างแนบเนียน ด้วยการปฏิเสธว่าตัวเองไม่กล้าทำ ถึงกล้าก็ทำได้ไม่มีดีเท่า!

ปิยบุตรตอบคำถามราวกับเดาออกล่วงหน้าว่าตำรวจจะใช้มาตรา 112 กับแกนนำ

 

ในช่วงเวลาที่เรื่องของมาตรา 112 กำลังเขม็งเกลียว ธนาธรไปไลฟ์สดเปิดประเด็น “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย?” ทำให้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ส่งตัวแทนไปแจ้งความเอาผิดธนาธร ตามมาตรา 112

ผู้แจ้งความกล่าวว่า เนื้อหาที่ธนาธรไลฟ์อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องและมีความเชื่อมโยงกับเรื่องของวัคซีน ไม่ว่าจะเรื่องของความล่าช้า คุณภาพและประสิทธิภาพก็ตาม

จะผิดหรือไม่ผิด อย่างไร แค่ไหน ก็รอตำรวจ อัยการและศาลพิจารณาวินิจฉัยก็แล้วกัน ศาลอาจจะมองธนาธรว่าอยู่ในฐานะเดียวกับเยาวชนแกนนำผู้ชุมนุมที่ศาลไม่ควรควบคุมตัวก็ได้

เปรียบเทียบปิยบุตรกับธนาธร ปิยบุตรมีความได้เปรียบธนาธรคู่หูของเขามาก นั่นคือ เขามีความเป็น “นักวิชาการ” มีความสามารถในการนำเสนอเรื่องยากๆ ให้คนเข้าใจได้ ที่เห็นๆ เขาสามารถเลือกแสดงบทที่ดูหมือนไม่ใช่นักการเมืองก็ได้!

ต่างกับธนาธรที่ชอบเปิดหน้าสู้ ผลิตวาทกรรมที่ปลุกเร้าคนรุ่นใหม่ได้ทุกสถานการณ์ แม้หลายครั้งจะเข้าทำนอง “เท่แต่กินไม่ได้”

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ความที่ผลีผลามมุ่งจะพุ่งเข้าสู่เป้า (หรือเจ้า) จนเกินไป จึงลืมสำรวจตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่าบริษัทผลิตวัคซีนที่ชื่อ “สยามไบโอไซเอนซ์” อยู่ในฐานะที่ถูกเลือกจากเจ้าของสูตรวัคซีน

ธนาธรจึงกลายเป็นคนที่กระทรวงดิจิทัลฯ เห็นว่าดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

ก่อนหน้านี้เขาและครอบครัวก็ถูกมะรุมมะตุ้มด้วยสารพัดข้อหา ในขณะที่ปิยบุตรไม่โดน

อนึ่ง การกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ครั้งนี้ ไม่มีชื่อปิยบุตรคู่หูถูกกล่าวหาด้วยแต่อย่างใด นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่ง IO ที่ดีสำหรับหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลก็ได้ (ฮา)