หนังใหญ่ไทยเขมร : อยู่รอด-ยาก-ดีมีอะไร? / อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

หนังใหญ่ไทยเขมร

: อยู่รอด-ยาก-ดีมีอะไร?

 

หนังใหญ่วัดขนอน เป็นศิลปะร่วมสมัยที่มีบุคลิกลึกลับและความเป็นตัวตนอันแตกต่างในชีวิตของยุคฉัน ซึ่งมันก็เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน ตอนที่ได้ยินเกี่ยวกับภาพแกะสลักหนังนับพันที่ถูกทิ้งไว้ที่วัดแห่งหนึ่งของอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

หนังใหญ่วัดขนอนที่เราต้องดั้นด้นไปทัศนาและศึกษาในฐานะนักข่าวสายศิลปวัฒนธรรมเวลานั้น ภาพจดจำภาพแกะสลักตัวละครรามเกียรติ์บนหนังสัตว์หลายร้อยภาพเรียงกันเหมือนไร้ค่า มีแต่ฝุ่นเกาะจับ ต่างจากภาพสามมิติเคลื่อนไหว เช่น ละครโขนงานศิลป์ศาสตร์เดียวกันอีกที่ฉันเคยชมชอบ

หนังใหญ่ (วัดขนอน) ตอนนั้น จึงกลายเป็นเรื่องใหม่ที่ปลุกกระแสคนทำงานสายข่าววัฒนธรรม แต่แม้ว่าต่อมา ความเป็นตัวตนของมรดกศิลปะแขนงนี้ เป็นได้แค่การรื้อหาอดีตที่ถูกนำกลับไปวางไว้บนหิ้งหอกาลเวลาและวัฒนธรรม

แต่เชื่อไหม ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านไปฉันกลับพบว่า เมื่อมรดกวัฒนธรรม-หนังใหญ่ของดีเมืองไทยที่ฉันได้สัมผัสนั้น กลับเป็นเหมือนละครย้อนยุคในกัมพูชาและกลับมารื้อฟื้นตื่นอยู่ในความคิดฉัน ทั้งช่วงหนึ่งที่อยู่เมืองไทย และช่วงใหม่ในกัมพูชาที่พบมีรอยต่ออันเชื่อมกัน

สารภาพว่า อะไรๆ ที่เห็นจากที่นั่น แรกๆ นั้น ฉันน่าอคติไม่น้อยทีเดียวล่ะ โดยเฉพาะความคิดว่าหนังใหญ่มีความด้อยกว่าของไทย

ไม่ว่าดนตรี พิณพาทย์ หรืองานแกะสลักภาพ หนังเล็ก-หนังใหญ่ (สแบกดู้จ-สแบกทม) หรือศาสตร์สาขาอื่น หรืออะไรต่อมิอะไร และโดยไม่ตั้งใจ ฉันมักคิดว่า อืมห์นะ เหมือนกับจะลอกเลียนมาจากของไทย

สแบกทม-หนังใหญ่แขฺมร์ก็อยู่ในข่ายนั้น

แต่อัญเจียแขฺมร์จ๋า ความที่ฉันเคยเห็นหนังใหญ่วัดขนอนที่กองกันเป็นทะเลอยู่หอศาลาฉันที่จวนจะผุพัง ขณะที่การแสดงนั้น เรากลับไม่เคยจะเสพมัน การชักหนังหลังผ้าหน้ากองไฟ นักดนตรีพิณพาทย์ บทร้องหลังจอและอะไรอีกมาก แต่เมื่อตัวตนคนหนังใหญ่ล้มหายตายจากและการสืบสานรุ่นต่อมาเหือดหายไปในกาลเวลา

และกราบขอโทษว่า ฉันอาจโชคไม่ดีที่ไม่มีโอกาสเสพชมการแสดงหนังใหญ่อย่างเต็มรูปแบบ คลาสสิค ไม่แห้งแล้ง ใกล้เคียงกับการแสดงพื้นบ้านดั้งเดิมมากกว่าจะได้มาแค่ชื่อนามของมรดกวัฒนธรรมหนึ่งชาติที่ได้รับการจารึกเท่านั้น

ขณะที่พนมเปญ (สหัสวรรษปี 2000) ในความไม่หลงเหลืออะไรเกือบสักอย่าง แต่แปลกมากในความไม่มีอะไรนั่น มันกลับเป็นข้อได้เปรียบทาง “วัฒนธรรม” อย่างเห็นได้ชัด

โดยกล่าวว่า 3 ทศวรรษผ่านไปของหนังใหญ่วัดขนอน ที่มีฐานะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไปแล้วนั้น ด้านหนึ่ง-สแบกทมกัมพูชากลับได้ใช้วาระเดียวกันจากความช่วยเหลือด้านทุนขององค์ระหว่างประเทศ ยูเนสโก เดินหน้าตามหามรดกวัฒนธรรมของตนราวกับคนที่เพิ่งฟื้นไข้

แต่เชื่อไหม พวกเขากลับสร้างบางอย่างที่น่ามหัศจรรย์ ตรงนี้แหละที่ฉันจะบอกให้ว่า มันจึงต่างกันมาก สำหรับฉันที่เคยเขียนหนังใหญ่วัดขนอนของไทยอย่างเป็นตุเป็นตะ มะโนไปตามเอกสารที่รับมาจากฝ่ายวัฒนธรรม อันได้แก่กระดาษแห้งๆ 2-3 แผ่น

ขณะที่ชาวเขมรซึ่งยังไม่ฟื้นตัวเองขึ้นมาจากฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ และเจ้าหน้าที่ทางวัฒนธรรมที่พอจะรู้เรื่องพวกนี้บ้างนอกจากจะน้อยนิดแล้ว ยังแก่ชราภาพ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็ไม่ต่างจากพระคุณเจ้าวัดขนอนที่พยายามให้ข้อมูลย้อนหลัง เท่าที่ท่านจะพอทราบ

และเท่าที่นักข่าวยุคนั้นจะทำได้

แต่ความที่สแบกทม-หนังใหญ่กัมพูชาได้ท่านเพชร ตุมกรอวิล อดีตครูละครเก่าและนักเขียนซีไรท์กัมพูชาคนแรก ทำหน้าที่วิจัยอัตลักษณ์หนังใหญ่กัมปูเจีย ที่พบหลักฐานก่อนยุคเมืองพระนคร (บายน)

ขณะที่องค์วัฒนธรรมบางแห่งนั้น ใช้พื้นฐานรื้อฟื้นตัวตนการแสดงของหนังใหญ่โดยอาศัยเด็กๆ และหนุ่ม-สาวที่ตื่นตัวแสวงหาการเรียนรู้แปลกๆ ที่ต่างสังคมปิดยุคพ่อแม่ที่เป็นคอมมิวนิสต์

อย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวศิลปวัฒนธรรมเขมรในศาสตร์อื่น

2 ทศวรรษผ่านไป กัมพูชายังยากไร้ ผู้คนในแวดวงการละครอย่าว่าแต่หนังใหญ่ แทบจะไม่เหลือตัวตนแล้ว และจำต้องฝึกฝนผู้คนขึ้นมาใหม่

และคนกลุ่มนี้ที่เติบโต-ฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีองค์กรระหว่างประเทศหนุนหลัง อีกยังตีคุณค่าอัตลักษณ์เฉพาะตนสำหรับการฟื้นฟูที่เกิดจากชุมชนคนพื้นบ้านและฐานอันแข็งแรงที่สุดของการมีอยู่ทางศิลปะและวัฒนธรรมของเขมรว่าสูงล้ำ-มหิฤทรา และเป็นไปตามนั้น

จาก 3 ทศวรรษยุคสงครามกลางเมืองที่ถูกลืม สู่การรื้อฟื้นต่อมาเพียง 20 ปี พยัพแดดวัฒนธรรมกัมพูชาก็กลับมาชัดเจนบนเวทีอารยธรรมทั้งแบบจารีตและพื้นบ้าน

จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมและทำไม ละครโขน (โขล) ละครราชสำนักและระบำอัปสรา รามเกียรติ์-เรียมเกร์เขมร โดยไม่ว่าจะเป็นลักษณะเก่าหรือไหม่ แต่นี่คือการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ที่เกิดจากต้นทุนวัฒนธรรมที่อาศัยศิลปินพื้นบ้าน ตลอดจนคนรุ่นใหม่และคนวงกว้างที่ร่วมสืบสานและดำเนินไปด้วยกัน

เท่ากับว่า กัมพูชาได้สร้างตัวตนขึ้นมาด้วยเลือดใหม่ทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะสแบกทม/สแบกดู้จ คือใช้ผู้คนร่วมกัน-ต่อสู้กับภาวะที่กระแสธารของโลกยุคใหม่ที่พร้อมกลืนกินวัฒนธรรมแนวจารีตอย่างไม่อาจจะยั้งได้ และมันคือความวิบัติที่มากับกาลเวลา

และให้สงสัยว่า การจุดกระแสวัฒนธรรมแนวจารีตที่ผ่านมาแบบรัฐคิดที่สนองนโยบายขายฝันแบบรัฐอำนาจจากปลายยอดพีระมิดแบบไทย กับการรื้อฟื้นโดยชุมชนประชาราษฎร์จากฐานล่างขึ้นไปเช่นที่เกิดในกัมพูชานี้

อะไรคือคือจุดแข็งและสร้างความภาคภูมิใจมากกว่ากัน?

สารภาพตามตรง ด้วยความที่ฉันได้เรียนรู้การแสดงสแบกทมที่เขมรในเบื้องต้นห้วงปีนั้น และได้คำตอบว่า ตัวจักรสำคัญในการปลุกสร้างชีวิตและวัฒนธรรมอยู่ที่แกนกลางนั่นคือ “ทรัพยากรมนุษย์” ที่จะตอบโจทย์พหุวัฒนธรรมแห่งความต่างของสังคมยุคใหม่ ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งอัตลักษณ์เดิมไว้ให้ถูกลืม

สำหรับช่วงเวลาที่ดำเนินไปและพบถึงความต่างของ 2 ทศวรรษแห่งการลองผิดลองถูกและทำไปที่กัมพูชา จนกลายเป็นวิถีหนึ่งของวัฒนธรรมที่ตอบต่อคำถาม “การสร้างสังคมร่วมกัน”

หือ หรือว่า เราจะลองไปหันใช้ระบบเดียวกับเขาบ้าง?

พลวัตอิสระและจริงใจ คือจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนและรื้อฟื้นวัฒนธรรมอย่างที่พบในเขมร และนี่อาจจะเป็นครรลองที่สอดคล้องกับยุคสมัย เฉกฉันเองที่ก็เป็นส่วนประกอบนั้น แม้ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน?

กรณีสแบกทมกัมูชา และหรือสิ่งที่ผ่านมา ตามมุมมองของฉัน นี่อาจเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ไม่ว่ากัมพูชาหรือไทย แบบปัจเจกหรือองค์รวม ทั้งหมดนี้ กระแสวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นจากต้นทุนทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมสมัย

ดังเช่นกระแสหลักของไทยเวลานี้ ที่ศักดานุพลของวัฒนธรรมป๊อปดูจะขับเคลื่อนและแซงหน้ากัมพูชาไปเล็กน้อย และนี่คือ มิติวัฒนธรรม ลางเนื้อชอบลางยา ไม่มีจารีตแน่ชัดหรือจริตกระแสหลักกระแสรองของวิถีวัฒนธรรม ทุกอย่างล้วนมีขนบเป็นของตน แบบเดียวกับ 2 ทศวรรษก่อน ที่กัมพูชาขับเคลื่อนวิธีวัฒนธรรมอย่างอหังการ์และน่าทึ่ง

ผลก็คือความเข้มแข็งแนวจารีตนิยมในเขมรที่ผ่านมา ทำให้เขาว่าเหตุใด รามเกียรติ์-เรียมเกร์, โขนไทย-โขลแขฺมร์ และอื่นๆ อื่นที่ผ่านมา กัมพูชาได้เปรียบกว่าบนเวทีทีนานาชาติ โดยเฉพาะถ้อยคำที่ติดมาคำว่า “วัฒนธรรมแห่งความมีชีวิตชีวา”

เอาเถอะ กลางพยัพแดดพร่ามัวที่ผ่านมา หากการพิทักษ์ไว้ในวัฒนธรรมจารีต ชาวเขมรรุ่นใหม่อาจแข็งกว่าไทยบ้าง แต่ใช่ว่าพิมพ์เขียวฉบับนี้จะถูกตีตราและครอบครองตลอดไป

โดยเฉพาะการฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรูปกระแสใหม่ มันได้ถือกำเนิดแล้วอย่างดุดัน ก้าวหน้าในแบบของเจนไทย จนให้พรั่นพรึงว่า

พิมพ์เขียวฉบับ “วัฒนธรรมใหม่” แห่ง “ความมีชีวิตชีวา” ได้ถือกำเนิดแล้ว

ณ ขันธสีมาแห่งประเทศไทย