โอมากาเสะกับการพูดถึงตำแหน่งแห่งที่ของ ‘หนุ่มเมืองจันท์’

ตำแหน่งที่ยืน

วันก่อนคุยกับ “กร” ผู้บริหารเวิร์คพอยท์

เขาเพิ่งไปรับประทานอาหารร้านหนึ่ง ที่เจ้าของเป็นคนที่อยู่ในแวดวงบันเทิง

เป็นร้านแบบ “โอมากาเสะ”

ร้านแบบนี้พิธีการจะเยอะหน่อย

เป็นร้านที่เชฟเป็นคนเลือกเมนู คนกินไม่มีสิทธิ์เลือก

ไม่มี “ประชาธิปไตย” ในร้าน “โอมากาเสะ”

ก่อนกิน เชฟหรือผู้ช่วยเชฟจะมายืนเล่าว่าเชฟมีแรงบันดาลใจอะไรจึงเลือกเมนูนี้

วัตถุดิบมาจากไหน มีอะไรบ้าง

รสชาติเป็นอย่างไร

วิธีการ กินต้องกินทั้งคำ หรือกินแบบไหน

ผมเคยไปกินร้านหนึ่งที่ประทับใจมาก

เชฟให้เรากินด้วยการเลียอาหารจากจาน

เขาให้เหตุผลอะไรก็ไม่รู้

แต่ลูกค้าทุกคนก็ต้องเลีย

เรื่องราวของแต่ละเมนูถือเป็นกลยุทธ์การสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับสินค้า

ราคาของ “โอมากาเสะ” จึงสูงมาก

หลักพันต่อหัว

ส่วนใหญ่จะหลายพัน

เชฟดังบางคนก็เป็นหมื่น

แต่เชื่อไหมครับ แพงแค่ไหน ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ไม่หวั่น

ร้านดังๆ บางร้านต้องจองคิวนานเป็นเดือน

โควิด-19 ไม่สะเทือนคนบนยอดพีระมิด

“กร” บอกว่า แต่เดิมเจ้าของเขาทำร้านอาหารธรรมดา แต่เชฟที่ร้านฝีมือดีมาก

พอเจอโควิด-19 เขาให้เชฟไปเรียนการทำ “โอมากาเสะ”

ลองสร้างสรรค์เมนูขึ้นมา

ปรากฏว่าอร่อยมาก

เขาเลยเปลี่ยนร้านใหม่เป็นร้านแบบ “โอมากาเสะ”

จับกลุ่มเป้าหมาย “คนรวย”

ตามปกติร้านอาหารทั่วไป ต้องการลูกค้าจำนวนมากจึงจะรอดและทำกำไร

เจอโควิด-19 เข้าไป ร้านอาหารแบบนี้เรียบร้อย

อย่างดีก็แค่ประคองตัว

แต่โมเดลธุรกิจร้านอาหารแบบ “โอมากาเสะ” เขาต้องการลูกค้าแค่ 10-20 คนต่อรอบ

เป็นลูกค้าฐานะดี มีกำลังซื้อ

ซึ่งโควิด-19 ทำอะไรคนกลุ่มนี้ไม่ได้

คนรวยก็ยังรวยอยู่

ถ้าราคาหัวละ 4,000 บาท

20 คนก็ 80,000 บาท

เขาเปิด 3 รอบ เที่ยง เย็น และค่ำ

วันละ 240,000

ใช้พนักงานก็น้อยกว่า ดูแลง่ายกว่า

ตอนนี้จะมากินที่ร้าน ต้องจองล่วงหน้า 2 สัปดาห์

ครับ ทำธุรกิจร้านอาหารเหมือนกัน

แต่ผลลัพธ์แตกต่างกัน

 

เรื่องการเลือกตำแหน่งให้ถูกที่-ถูกเวลา เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

มีน้องบางคนเคยมาปรึกษาเรื่องการเขียนหนังสือ

คุยกันแบบทำเป็น “อาชีพ”

ไม่ใช่ “งานอดิเรก”

คุยเหมือนทำธุรกิจ

ไม่ใช่เรื่องแรงบันดาลใจ

เมื่อจะทำเป็นอาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง

เรื่องผลตอบแทนเป็นสิ่งที่ต้องคิด

คิดดูสิครับ เขียนหนังสือเหมือนกัน

ใช้ตัวอักษรภาษาไทยเท่ากัน

วรรณยุกต์เท่ากัน

เอาภาษามาเล่นเหมือนกัน

แต่ “รายได้” ไม่เท่ากัน

อยู่ที่เราเลือกว่าจะเขียนอะไร

สมัยก่อน ผมจะบอกน้องๆ ว่า ถ้าเขียนคอลัมน์ลงนิตยสาร ค่าเรื่องเท่านี้

แต่ถ้าเขียนนวนิยาย ได้ลงนิตยสาร จะได้ค่าเรื่องเท่านี้

เมื่อเทียบคอลัมนิสต์ดังๆ กับนักเขียนนวนิยายดังๆ

คนเขียนนิยายได้ค่าเรื่องมากกว่า

และกินหลายต่อด้วย

เพราะพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กก็ได้ค่าเรื่อง

เอาไปทำละครโทรทัศน์ก็ได้ค่าลิขสิทธิ์

หนังสือพิมพ์เอาเรื่องย่อละครไปลงก็ต้องจ่ายค่าเรื่อง

ถ้าละครดังๆ อีก 2-3 ปี ก็มาทำใหม่

คนเขียนได้ค่าลิขสิทธิ์อีก

หนังสือก็พิมพ์ซ้ำ

เรื่องเดียวกินหลายรอบ

แต่ถ้าเราเปลี่ยนตำแหน่งการยืนไปอยู่บริษัทโฆษณา

เป็นก๊อบปี้ไรเตอร์

สมัยก่อน คนกลุ่มนี้ค่าตัวแพงมาก

ใช้ตัวอักษรน้อยกว่านักเขียนคอลัมน์หรือนิยายอีก

แต่รายได้ดีกว่า

 

วันนี้ สถานการณ์เปลี่ยน คนเขียนหนังสือที่รายได้ดีน่าจะเป็นคนเขียนบทละครโทรทัศน์ หรือบทภาพยนตร์

เพราะตลาดต้องการสูงมาก

หรือถ้าจะเขียนนิยายก็ต้องไปเขียนแพลตฟอร์มดิจิตอล

ธัญวลัย หรือจอยลดา

เชื่อไหมครับ นักเขียนขายดีใน 2 แพลตฟอร์มนี้มีรายได้หลายแสนบาทต่อเดือน

“ธัญวลัย” ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอีโรติก

ส่วน “จอยลดา” เป็นนิยายแชต

รูปแบบการเขียนจะไม่เหมือนนิยายทั่วไป

เรื่องส่วนใหญ่จะเป็นนิยายวาย ชายรักชาย หรือแฟนฟลิก เอาตัวละครจากไอดอลเกาหลีมาสร้างเรื่องราว

โมเดลธุรกิจของ “จอยลดา” มาจาก “ค่าโฆษณา” และ “ค่าซื้อความรำคาญ”

เนื้อหาทั้งหมดให้อ่านฟรี

แต่ละระหว่างการอ่านจะมีโฆษณาแทรกขึ้นมา

นักเขียนจะได้ส่วนแบ่งจากโฆษณานี้

แต่ถ้าคนอ่านรำคาญโฆษณา

เขาก็ให้สิทธิ์ผู้อ่านกำจัดความรำคาญ

ด้วยการจ่ายเงิน

แค่ 1 บาทใน 1 ชั่วโมง

หรือ 3 บาทต่อ 1 วัน

หรือ 35 บาทต่อ 1 เดือน

คล้ายๆ “ยูทูบ พรีเมียม” ที่มีโฆษณาให้เรารำคาญ

ถ้าไม่อยากเห็นโฆษณาก็จ่ายเงินมา

หรืออีกรูปแบบหนึ่ง คือการซื้อเหรียญให้นักเขียน

ชอบใครก็จ่ายให้พิเศษ

นักเขียน “จอยลดา” เรื่องที่ทำรายได้สูงสุดเมื่อปีที่แล้วคือ 470,000 บาท

ส่วน “ธัญวลัย” 940,000 บาท

ครับ เขียนหนังสือเหมือนกัน

แต่ตำแหน่งที่ยืนต่างกัน

รายได้ก็แตกต่างกัน

อย่าแปลกใจ ถ้าอีกสักพักหนึ่ง เข้าไปอ่าน “ธัญวลัย” และ “จอยลดา” แล้วเจอนามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์”

ผมจะใช้กลยุทธ์ใหม่

เขียนนิยายให้เด็กรำคาญ

เมื่อไรจะเลิกเขียนสักที

ต้องจ่ายเหรียญให้หยุดเขียน

ซื้อความรำคาญ