วิรัตน์ แสงทองคำ/เครือข่าย ปตท.เข้าตลาดหุ้น (อีกแล้ว)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

เครือข่าย ปตท.เข้าตลาดหุ้น (อีกแล้ว)

 

เหตุเกิดเกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นอีกกรณีมีความคึกคักพอสมควร

นั่นคือความเคลื่อนไหวการจองซื้อหุ้น (IPO -Initial Public Offering) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่จะมีการซื้อ-ขายวันแรกราวๆ 2 สัปดาห์ข้างหน้า (11 กุมภาพันธ์ 2564)

ผู้บริหาร OR กล่าวไว้บางตอน “…เพื่อก้าวสู่ความเป็นแบรนด์ไทยชั้นนำระดับโลกอย่างแท้จริงกับแนวคิดธุรกิจ ‘Retailing Beyond Fuel’ วันนี้เราพร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาร่วมเป็นเจ้าของและต่อยอดสู่การเติบโตที่ไกลกว่าเดิม…” ขณะประกาศแผนเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 2,610,000,000 หุ้น สัดส่วนเพียงไม่เกินร้อยละ 22.5 ของหุ้นทั้งหมด

ที่มาที่ไป เชื่อว่าเชื่อมโยงบางส่วนกับบางกระแสซึ่งดูอ่อนแรงแล้ว จากขบวนการพวก “ทวงคืนพลังงาน” อย่างไรก็ตามผู้บริหาร OR ได้ให้ความกระจ่างบางเรื่องที่สำคัญไว้

ว่าด้วยการปรับโครงสร้าง ปตท. (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วยการแยกธุรกิจออกมาเป็นบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ เป็นการโอนธุรกิจที่ไม่มีสาธารณสมบัติของรัฐ ด้วยการซื้อ-ขายตามราคามูลค่าตลาด (Fair Market Value) เป็นไปเสร็จสิ้นมากว่า 2 ปีแล้ว (วันที่ 1 กรกฎาคม 2561)

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์กับ ปตท.คงอยู่และเป็นไปอย่างเหนียวแน่น ฐานะ OR เป็นหนึ่งในบริษัทซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ข้างมาก (ถือหุ้นใน OR 75%) เคียงคู่กับอีกแห่ง- บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.ถือหุ้น 63.79%)

ที่สำคัญ ทั้ง PTTEP และ PTT ถือเป็นแม่แบบและบทเรียนการเข้าตลาดหุ้นซึ่งประสบความสำเร็จ

 

PTTEP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2536 ในจังหวะและสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ แม้มีเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องในปี 2539 สัญญาณวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญส่อเค้าอย่างชัดเจนแล้ว แต่ road- show เพื่อขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างประเทศในช่วงนั้น กลับปรากฏว่า PTTEP ได้รับความสนใจอย่างมาก

กลายเป็นดีลใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในภาวะเผชิญวิกฤตการณ์

เรื่องราวดูคล้ายๆ กับกรณี ปตท. ในปีที่เข้าตลาดหุ้น (2544) เป็นช่วงสถานการณ์ไม่เอื้อเอาเสียเลย หลังจากการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐ (วันที่ 11 กันยายน 2544) และเป็นอีกครั้งในรอบ 30 ปี เศรษฐกิจโลกมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่า 2.5% ต่อปี ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อยู่ระดับที่ต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี

แต่สถานการณ์ได้พลิกผัน อีก 3 ปีต่อมา ปี 2547 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อพอสมควร การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบสองทศวรรษ ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น

ส่งผล ปตท.ขยายตัวครั้งใหญ่ จากสินทรัพย์ระดับ 3 แสนล้านบาทในปี 2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี 2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาท ในปี 2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000 ล้านบาทในปี 2548-2549 ขณะเดียวกันราคาหุ้นจากไม่ถึง 50 บาทในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545 เพิ่มขึ้นทะลุ 400 บาทในปี 2547

ตามด้วยบทสรุปสำคัญ การเข้าตลาดหุ้น ทั้ง PPEP และ PTT ถือเป็นจุดเปลี่ยน ปตท.สู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เป็นกรณีประวัติศาสตร์สังคมธุรกิจไทยก็ว่าได้

 

สําหรับ OR แล้ว ที่สำคัญอย่างมากคือได้รับมรดกตกทอดมาจาก ปตท. มีคุณค่าอาจมากกว่าสินทรัพย์ที่ตีราคาได้

ว่าด้วยประสบการณ์การพัฒนาราวๆ 4 ทศวรรษ เริ่มตั้งต้นปี 2521 (29 ธันวาคม) เมื่อมีการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) รัฐวิสาหกิจใหม่ ด้วยการควบรวมกิจการรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือองค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์อันยุ่งยากอย่างต่อเนื่อง ไทยเผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันถึงสองครั้งในช่วงไม่ถึง 10 ปี

โมเดล “กิจการพลังงานแห่งชาติ” กำลังผุดขึ้นในภูมิภาคอย่างน่าสนใจ ที่ตื่นเต้นเป็นพิเศษคือความพยายามก้าวเป็นผู้นำค้าปลีกน้ำมัน โดย ปตท.ใช้เวลาเพียงประมาณทศวรรษเดียว สามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญ

ภายใต้ความพยายามทีมผู้บริหารยุคแรก ยุคทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ (ผู้ว่าการ 2522-2530) ทีมที่หลายๆ คนมีประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจากบริษัทต่างชาติ พวกเขามองธุรกิจสถานีบริการเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจสำคัญ โดยดำเนินตามแผนการที่น่าสนใจ (ผมเคยนำเสนอไว้ในข้อเขียนซีรีส์เกี่ยวกับ ปตท. กว่า 10 ตอนในมติชนสุดสัปดาห์ช่วงปี 2553-2554) ควรกล่าวถึง 3 ขั้นตอน

หนึ่ง-สร้างแบรนด์ใหม่ กรณีคลาสสิคทางการตลาด ในความพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์จาก “สามทหาร” – สถานีบริการขององค์การเชื้อเพลิงภายใต้การดูแลของทหาร แบรนด์เก่า ล้าสมัย และสะท้อนภาพความล้มเหลวทางธุรกิจ สู่สัญลักษณ์ ปตท.ใหม่ ซึ่งยังใช้ในปัจจุบัน

สอง-ยุทธการ “หัวเมืองล้อมเมือง” ปัจจัยความสามารถในการแข่งขันมาจากระบบโลจิสติกส์ของกิจการน้ำมันแห่งชาติ ปตท.ได้สร้างคลังน้ำมันในต่างจังหวัด เพื่อตอบสนองนโยบายความมั่นคงของรัฐและมุ่งกระจายน้ำมันให้ทั่วถึง จึงมีเครือข่ายมากกว่าคู่แข่ง ไม่ว่า Shell Esso และ Caltex

สาม-พัฒนาผลิตภัณฑ์ ถือเป็นความภาคภูมิใจของผู้บริหาร ปตท. ในการแข่งขันกับเครือข่ายธุรกิจน้ำมันระดับโลก อันที่จริงแยกไม่ออกจากบทบาท ปตท.ในฐานะผู้นำในธุรกิจต้นทาง-โรงกลั่นน้ำมัน

ตั้งต้นจากผู้นำในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน จากเครือข่ายสถานีบริการ ปตท.ได้ขยายจินตนาการไปสู่สถานีบริการโมเดลใหม่ มองออกไปสู่ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน หรือที่เรียกว่า Non-Oil (โปรดพิจารณา “ลำดับเหตุการณ์” ประกอบ) ด้วยดีลสำคัญๆ ไม่เพียงขยายเครือข่ายอย่างก้าวกระโดด หากพัฒนาโมเดลธุรกิจค้าปลีกน้ำมันอย่างแตกต่าง

“OR ดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) อย่างผสมผสานกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วยการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ ธุรกิจร้านกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารจัดการพื้นที่เช่า มีแบรนด์ซึ่งเป็นที่นิยมและได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง” ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจปัจจุบัน

โดยให้ความสำคัญว่าด้วยแบรนด์ (Brand) – “PTT Station” ในฐานะแบรนด์สถานีบริการน้ำมัน (มีสาขา 1,968 แห่งในประเทศไทย และ 329 แห่งในต่างประเทศ) และ “Caf? Amazon” แบรนด์ร้านกาแฟ (มีจำนวน 3,168 ร้านในประเทศไทย และ 272 ร้านในต่างประเทศ) และว่าด้วยเครือข่ายค้าปลีกอีกโมเดลธุรกิจหนึ่งที่แตกต่าง

ว่าไปแล้ว OR อยู่ในกระแส “ขาใหญ่” เข้าตลาดหุ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ไม่เป็นใจ ขณะ OR เชื่อว่าจะสามารถเดินตามรอยกรณี PTTEP (2536) และ PTT (2544)

 

ลำดับเหตุการณ์

ปตท.กับธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน

 

2523

ออกแบบแบรนด์ใหม่ – ปตท. ขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าในปี 2524

2533

จำหน่ายน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำรายแรก

2534

จำหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วเป็นรายแรก

2536

ก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง และวางตลาดน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วที่มีค่าออกเทนสูง

2538

ยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซินมีสารตะกั่ว และวางตลาดน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว

2540

ปตท.ร่วมทุนกับบริษัทเอเอ็มพีเอ็ม (ประเทศไทย) และทิพยประกันภัย ตั้งบริษัทร่วมทุน บริหารร้านค้าสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ภายใต้ชื่อ AMPM โดย ปตท.ถือหุ้น 25%

2545

ปรับโฉมร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการ ยุติ AMPM หันมาร่วมมือกับ 7-Eleven

เปิดธุรกิจร้านกาแฟ Caf? Amazon

2546

เปิดสถานีบริการน้ำมันรูปแบบใหม่ PTT Life Station

2550

ก่อตั้งบริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก (PTTRM) เข้าซื้อกิจการสถานีบริการน้ำมัน JET และร้านสะดวกซื้อ Jiffy ในประเทศไทย ของ ConocoPhillips