นิธิ เอียวศรีวงศ์ : พม่าเมื่อชำเลืองมอง [จบเจ้าจาแสง]

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ย้อนอ่านตอน 4  3   2   1  

ในบริเวณที่เป็นราชธานีพุกาม-มัณฑะเลย์ ซึ่งผมเรียกว่าพม่าตอนกลางนี้ (แต่ฝรั่งชอบเรียกว่าพม่าตอนบน – Upper Burma มาตั้งแต่สมัยอาณานิคม) เป็นที่ตั้งของราชธานีพม่าเป็นส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ นอกจากสามเมืองที่พวกไทยใหญ่สร้างไว้แล้ว ยังมีอมรปุระ ซึ่งเป็นราชธานีที่พระเจ้าปดุงสร้างขึ้น ก่อนที่พระเจ้ามินดงจะย้ายมามัณฑะเลย์

ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูสะกายซึ่งคุณซานบอกว่าเป็นเมืองวัด เพราะกษัตริย์ชานที่ถูกกลืนเป็นพม่าแล้ว และตั้งราชธานีที่สะกายมีอำนาจอ่อนแอมาก จึงพยายามเน้นศาสนาเป็นความชอบธรรม สร้างวัด (ในความหมายถึงสังฆาวาส) ไว้จำนวนมาก

อีกแห่งหนึ่งที่อยากชมให้ละเอียดแต่ไม่มีโอกาสทั้งในการไปพม่าครั้งก่อนและครั้งนี้คืออังวะ เพราะเป็นราชธานีอยู่นานที่สุดวิธีชมอังวะให้ละเอียดหน่อยคือต้องเอารถยนต์มาให้ถึง ซึ่งคุณซานอธิบายว่าต้องอ้อมมากจนเสียเวลาหลายชั่วโมง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงใช้วิธีข้ามเรือมาถึงฝั่งตรงข้าม แล้วเที่ยวชมอังวะด้วยรถม้า โขยกเขยกกันไปรอบเมืองก็เป็นอันจบ ไม่ได้เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากกำแพงเมืองบางส่วนและหอรบที่ยังเหลืออยู่

ที่จริงมีหน่วยศิลปากรและพิพิธภัณฑ์ในอังวะด้วย ซึ่งเราหยุดไม่ได้เพราะราคารถม้าบังคับให้ต้องลุยลูกเดียว

ทําไมราชธานีพม่าจึงตั้งในบริเวณนี้เกือบตลอดประวัติศาสตร์ ยกเว้นช่วงสั้นๆ ที่ราชวงศ์ตองอูสมัยแรกไปใช้หงสาวดีเป็นราชธานี (ว่ากันว่าพระเจ้าบุเรงนองมีนโยบายอย่างเดียวกับพระเจ้าจันสิตถะ มหาราชแห่งพุกามอีกองค์หนึ่ง ซึ่งพยายามจะรวมมอญและพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยราชสำนักยอมรับวัฒนธรรมมอญอย่างออกหน้า เช่น ไว้ผมโพกผ้าแบบมอญหรือทำจารึกเป็นภาษามอญ) แต่กษัตริย์ในราชวงศ์ตองอูยุคฟื้นฟู (เอกสารไทยบางแห่งเรียกราชวงศ์นยองยาน) ก็กลับมาตั้งราชธานีอยู่อังวะ จนเสียเมืองให้แก่กบฏมอญในคริสต์ศตวรรษที่ 18 (พุทธศตวรรษที่ 23-24)

แม้ว่าบริเวณนี้หรือพม่าตอนกลางมีความแห้งแล้งมาก แต่สำคัญแก่ใครก็ตามที่จะมีอำนาจเหนือลุ่มน้ำอิระวดี (ยกเว้นเจ้าอาณานิคมอังกฤษ เมื่อฐานอำนาจทางทหาร, เศรษฐกิจ และภูมิปัญญาไปอยู่ที่ทะเล) ระบบชลประทานจอกเซ (Kyaukse) อันเป็นระบบชลประทานที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก สร้างขึ้นในสมัยที่พวกพยู (พี่ของพม่า) ยังครอบครองดินแดนแถบนี้ ก่อนที่พวกพม่าจะเคลื่อนย้ายลงมามีอำนาจ ก็ตั้งอยู่แถบนี้ ยังใช้ประโยชน์มาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้แก่พม่าก่อนที่อังกฤษจะเปิดที่นาในอิระวดีตอนล่างเป็นแหล่งผลิตข้าวมหึมา ยิ่งกว่านี้บริเวณพม่ากลางยังทำให้พม่าสามารถควบคุมรัฐชาน และชนชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่พม่าบนเขาสูงด้านเหนือได้สะดวกยิ่งขึ้น

ในประวัติศาสตร์พม่า ศัตรูที่เป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่แก่ราชวงศ์พม่า (ไม่ใช่ไทย, ยะไข่, หรือมณีปุระ) แต่เป็นน่านเจ้า, มองโกล และจีน ซึ่งหากเมื่อไรพม่าไม่สามารถควบคุมประชาชนที่ไม่ใช่พม่าบนที่สูงด้านเหนือได้ ก็อาจถึงกับต้องเสียบ้านเสียเมืองจนปั่นป่วนเป็นเวลานานๆ เช่น การที่พวกชานสามารถเข้ามามีอำนาจในพม่ากลางได้ในช่วงหนึ่ง ก็เพราะมองโกลทำให้อำนาจควบคุมของพม่าเหนือที่สูงทางตอนเหนืออ่อนลงหรือหมดไป

นี่คือเหตุผลสำคัญที่ราชวงศ์พม่ามักวางศูนย์กำลังอำนาจไว้ในบริเวณนี้ การย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ในปัจจุบัน เมื่อมองจากประวัติศาสตร์แล้ว ก็คือการกลับไปสู่แบบแผนเดิมนั่นเอง (คำว่าเนปิดอว์แปลว่าราชธานี)

นักประวัติศาสตร์ฝรั่งคนหนึ่ง (D. G. E. Hall) บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับไทย พม่าถอยออกไปจากฝั่งทะเลขึ้นไปสู่ส่วนในของแผ่นดินเสมอ ในขณะที่ไทยถอยจากส่วนในเข้าใกล้ฝั่งทะเลขึ้นตามลำดับ ดังนั้น ราชวงศ์พม่าจึงไม่สนใจการค้าทางทะเล และการค้าทางทะเลเป็นแหล่งรายได้สำคัญของราชสำนักไทย (ซึ่งทำให้ผู้ปกครองมีทัศนะปิดและเปิดต่อวัฒนธรรมภายนอกต่างกัน)

แต่ที่ตั้งของราชธานีเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอที่จะนำมาสู่ข้อสรุปเช่นนี้ได้ นักประวัติศาสตร์ฝรั่งอีกคนหนึ่ง (Victor Lieberman) ชี้ให้เห็นว่า พม่าในสมัยราชวงศ์ตองอูที่ฟื้นฟูใหม่ได้พัฒนาระบบปกครองที่ทำให้ส่วนกลางควบคุมทั้งแผ่นดินได้รัดกุม จนกระทั่งไม่ได้สูญเสียผลประโยชน์จากการค้ากับต่างประเทศในหัวเมืองชายทะเลไปเลย แม้มีพ่อค้า-โจรสลัดต่างชาติ (เป็นคนพวกเดียวกันในสมัยนั้น) จะพยายามยึดเมืองชายทะเลไปเป็นเมืองท่าอิสระของตน ก็ถูกอังวะยกกำลังไปปราบได้ราบคาบ ยิ่งกว่านี้การค้าภายในยังทำให้เกิดการรวมวัฒนธรรมของหัวเมืองเข้ากับวัฒนธรรมราชสำนักได้สนิทแน่นแฟ้นดีเสียด้วย

ผมอยากเสริมด้วยว่า ในบรรดาแม่น้ำใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ไม่มีแม่น้ำอะไรที่ช่วยแผ่อำนาจการเมืองของศูนย์กลางได้ดีไปกว่าอิระวดี เพราะสามารถเดินเรือจากปากอ่าวไปได้ไกลถึงบาโม ฉะนั้น ตราบเท่าที่กลไกการบริหารมีศูนย์อยู่ในลุ่มอิระวดี มีประสิทธิภาพเสียอย่างเดียว ก็จะควบคุมอาณาบริเวณได้กว้างใหญ่มากทีเดียว

(ที่จริงแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีบทบาททำนองเดียวกัน เพียงแต่เหนืออาณาบริเวณที่เล็กกว่าเท่านั้น)

สีป้อเป็นเมืองของรัฐชานแห่งแรกที่ผมอยากไป ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่เคยเห็นแคว้นใดของชานหรือไทยใหญ่มาก่อน อีกส่วนหนึ่งก็เพราะอยากไปเห็นฉากในหนังสือ Twilight over Burma ของ Inge Sargent (สิ้นแสงฉาน แปลโดยมนันยา) นอกจากผมแล้ว คงมีนักท่องเที่ยวอีกจำนวนหนึ่งที่เมื่อไปถึงสีป้อแล้ว ก็เลยแวะดูวัง (หอคำ) ของเจ้าจาแสงในหนังสือ (และภาพยนตร์ทีวี) เสียหน่อย แต่ที่ตั้งใจจะไปเพื่อดูวังคงไม่มี เพราะส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวไปสีป้อเพื่อเดินป่า (trekking)

ตัวอาคารที่เป็นหอคำนั้นใหญ่กว่าที่ผมนึกเอาจากภาพถ่ายในหนังสือ ก็เป็นตึกใหญ่แบบเรือนตะวันตก นี่เอง ใช้สถาปนิกและช่างที่ไหนสร้างผมไม่ทราบ แต่สร้างในสมัยที่ลุงของเจ้าจาแสงเป็น “เจ้าฟ้า” ของสีป้อ (น่าจะประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20)

หลานสะใภ้ของเจ้าจาแสงซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อยู่อาศัยและดูแลสถานที่ บรรยายว่าเจ้าฟ้าองค์นี้ถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษแต่ยังเล็ก และโปรดวิถีชีวิตแบบอังกฤษ เมื่อนิวัติกลับสีป้อ ก็โปรดให้สร้างตำหนักนี้ขึ้นที่ชานเมือง เมื่อเสด็จขึ้นเป็นเจ้าฟ้าแล้ว ก็ยังประทับอยู่ที่นี้ ทำให้เข้าใจว่าตำหนักนี้ไม่ใช่หอคำของเจ้าฟ้า ซึ่งคงอยู่ที่ไหนสักแห่งในสีป้อ ซึ่งบัดนี้เสื่อมโทรมลงจนไม่เหลือซากแล้ว (Inge Sargent เรียกตึกนี้ว่าหอตะวันออก ทำให้เข้าใจว่าหอคำเดิมน่าจะอยู่ตะวันตกของหอนี้)

ส่วนในสมัยของเจ้าจาแสงนั้น จากหนังสือซึ่ง “มหาเทวี” ของท่านเขียนไว้ ทำให้เข้าใจว่าใช้ตำหนักนี้เป็นหอคำด้วย คือเป็นทั้งที่ประทับและที่ทำการของเจ้าฟ้า

ปัจจุบันตัวตำหนักหรือหอคำทรุดโทรมลงมาก (แต่ก็ไม่มากเท่าที่ผมนึกก่อนจะได้เห็น) เจ้าที่เป็นหลานสะใภ้เจ้าจาแสงนั้น สมรสกับลูกชายของเชษฐาของเจ้าจาแสง (ชื่อเจ้าขุนหลวง – Hkun Long) เธอเปิดหอคำให้ดูห้องเดียว ไม่ได้เก็บเงินผู้เข้าชม แต่ก็รับบริจาคตามศรัทธา เธอเป็นธิดาของเจ้าฟ้าเชียงตุง อันเป็นแคว้นใหญ่สุดในรัฐชาน เธอจึงได้รับการศึกษาในอังกฤษเหมือนกัน และพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงอังกฤษตลอดการบรรยายสัก 20 นาทีของเธอ

ส่วนหนึ่งของคำบรรยายบอกเล่าถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจของตัวเธอเอง ดูจะไม่มีรายได้จากที่ใดอีกแล้ว แน่นอนว่าสถานะทางเศรษฐกิจของเจ้าไทยใหญ่ทั้งหมดพังทลายลงสิ้นเชิง เมื่อนายพลเนวินทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลอูนุใน 1962 (2505) เพราะเนวินยกเลิกรัฐธรรมนูญของสหภาพซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ได้รับเอกราช สถานะของเจ้าในฐานะผู้ปกครองแคว้นจึงสิ้นสุดลงด้วย

ประวัติศาสตร์ไทยใหญ่เล่มหนึ่งที่ Sai Aung Tun แต่ง (History of the Shan State) เล่าว่า ในช่างประมาณ 1960 (2503) แรงกดดันของสามัญชนชาวไทยใหญ่ที่ได้รับการศึกษา (จากสถาบันการศึกษาในพม่า) และความผันผวนทางการเมืองที่รัฐชานยอมร่วมในสหภาพ เจ้าฟ้าไทยใหญ่ทั้งหมดได้ประชุมปรึกษากัน ตกลงใจที่จะยอมสละอภิสิทธิ์เกือบทั้งหมดที่มีมาแต่โบราณ คืนให้แก่ประชาชนผ่านสภารัฐชานและคณะกรรมการบริหารรัฐชาน (เช่น เจ้าฟ้าแบ่งส่วนของภาษีที่เก็บในแคว้นตนเองไปเป็นสมบัติส่วนตัวถึง 70%) โดยมีข้อแม้ว่า แต่ละเจ้าฟ้าจะได้รับค่าทำขวัญเป็นเงินก้อนใหญ่จากหลายแสนจ๊าดไปถึงหลายล้านจ๊าด (แล้วแต่เป็นแคว้นใหญ่หรือเล็ก) และยังรักษาสมบัติอื่นๆ ของตระกูล (ราชวงศ์) ไว้สืบไปได้ด้วย

ยังไม่ทันที่ข้อตกลงนี้จะบรรลุผลสำเร็จ ทหารก็ยึดอำนาจ “สังคมนิยมตามวิถีพม่า” ไม่มีที่ยืนให้เจ้าไทยใหญ่ และว่าที่จริงแล้ว สภาชานและกรรมการบริหารรัฐชานจะหาเงินที่ไหนมาจ่าย แม้แต่ให้รัฐบาลของสหภาพช่วยจ่าย พม่าในช่วงนั้นก็คงไม่มีเงินจะจ่ายได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่เจ้าไทยใหญ่ที่ยังอยู่ในพม่าปัจจุบัน ไม่ได้มีฐานะดีกว่าชาวบ้านทั่วไปมากนัก

(ดีกว่าเพราะอย่างน้อยก็มี “วัง” อยู่ และมีสมบัติเก่าจะขายกินได้มากกว่า)

เมื่ออังกฤษได้พม่าตอนบนไปใน ค.ศ.1885 (2429) อังกฤษยังต้องใช้เวลาอีก 3-4 ปีในการ “นำความสงบ” (pacify) มาสู่รัฐชานและรัฐของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ทางตอนเหนือ วิธีการก็คือส่วนที่ยังแข็งข้อก็ปราบด้วยกำลังทหาร ส่วนอื่นก็ใช้การเจรจากับเจ้าฟ้าพร้อมกำลังทหารนอกเมือง จนเจ้าฟ้ายอมอยู่ในอารักขาอังกฤษ แต่อังกฤษไม่ได้รวมรัฐชานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมพม่า ยังปล่อยให้เจ้าฟ้าปกครองแคว้นของตนเองต่อไป โดยมีที่ปรึกษาชาวอังกฤษคอยกำกับอยู่ห่างๆ

เจ้าฟ้าไทยใหญ่จึงปกครองแคว้นของตนต่อไปตามวิถีทางที่นักประวัติศาสตร์ไทยใหญ่บางคนเรียกว่า “ศักดินา” อาจส่งลูกหลานบางคนไปเรียนเมืองนอกเมืองนาบ้าง เพราะเป็นเกียรติยศที่จะพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ก็ไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองอะไรมากนัก นอกจากสร้างหอคำใหม่ให้เป็นตึกใหญ่โต (ตามที่ Andrew Marshall เล่าไว้ใน The Trouser People, Burma in the Shadows of the Empire กรณีหอคำที่เชียงตุง) หรือซื้อเครื่องแบบทหารซีป่ายมาให้องครักษ์แต่ง แต่ไม่ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจทุนนิยม ที่นับวันมีแต่จะเข้มแข็งขึ้น

ฉะนั้น จะว่าเจ้าจนเพราะทหารยึดอำนาจและทรัพย์สมบัติก็ได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือไม่ได้แปลงทุนทางเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคมที่เจ้ามีอยู่ มาใช้เป็นทุนในแบบทุนนิยม

บทบาทของเจ้าจาแสงตามที่มหาเทวีเล่าไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคิดทำเหมือง, สวนส้ม หรือไร่สับปะรด หากทำจริงก็ดูไม่น่าจะไปรอด เพราะสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมของรัฐชานเวลานั้น หาได้สงบราบคาบด้วยความจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อผู้ปกครองอย่างที่เล่าไว้ในหนังสือของคุณ Sargent แต่เป็นสังคมที่ปั่นป่วนวุ่นวาย

การถอยหนีของกองทัพก๊กมินตั๋งเข้าสู่พม่า กระทบรัฐและสังคมชานโดยตรง (คิดดูเถิดว่า ทหารจีนที่หลบหนีลงมาไม่ถึง 2 พันคน สามารถเพิ่มกำลังจากการเกณฑ์และปลุกระดมชาวพื้นเมืองมาร่วมได้กว่าหมื่น ก่อนจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทย) มีกลุ่มชานที่เป็นกบฏต่อพม่า ซึ่งรัฐบาลพม่ายังปราบไม่ได้ แต่ก็ระแวงสงสัยว่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง พรรคการเมืองชานที่เจ้าไม่ได้หนุนหลังต่างมีจุดมุ่งหมายตรงกันคือ ยกเลิกอภิสิทธิ์ของชนชั้นเจ้าลงโดยสิ้นเชิง ความปั่นป่วนทางการเมืองและการระบาดของอาวุธเถื่อน (ญี่ปุ่นยึดครองและการค้าอาวุธเถื่อนตามนโยบายช่วยเหลือกองทหารก๊กมินตั๋งของสหรัฐ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากไทย) ทำให้เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม โดยเฉพาะปล้นสะดมตามถนนหนทางการค้าทางไกลเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของรายได้ชาวไทยใหญ่มาแต่โบราณ – แต่ในทางตรงกันข้าม ความปั่นป่วนวุ่นวายเหล่านี้ก็นำสำนึกทางการเมืองใหม่ๆ เข้ามาสู่ชาวชานด้วย นับวันมีแต่จะเห็นชาวชานตื่นตัวมากขึ้น… อย่าลืมว่าชาตินิยม (ที่แท้จริง) ย่อมหมายถึงความเท่าเทียมของประชาชนทุกคนด้วย

ทั้งหมดนี้ย่อมทำลายทุนทางการเมืองและสังคมของชนชั้นเจ้าลง (เช่น เกณฑ์แรงงานราษฎรไม่สะดวกอีกแล้ว) จะต้องจ่ายค่าแรงในวิสาหกิจตามความฝันของเจ้าจาแสงทุกอย่าง ยังไม่พูดถึงอำนาจเหนือที่ดินของเจ้าฟ้าทั่วแคว้น นับวันก็จะหลุดจากมือเจ้าฟ้าไปเพราะ “ความทันสมัย” ซึ่งเริ่มไหลบ่าเข้าสู่รัฐชานหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งจากพม่าและจากต่างชาติ (จีน, สหรัฐ และไทย)

ผมไม่ได้หมายความว่าเจ้าจาแสงหรือคุณ Inge Sargent กล่าวเท็จ ทั้งคู่อาจเชื่อและพูดสิ่งที่ตัวคิดในใจจริงก็ได้ แต่คิดและพูดจากประสบการณ์ในชีวิตของตน ซึ่งอยู่ในหอคำทรงอังกฤษหลังงามนั้น (หรือในวังฤดูร้อนที่ชื่อ Sakandar) จะให้รู้หรือสำนึกในความเคลื่อนไหวที่แท้จริงของสังคมชานได้อย่างไร

หอคำทรงอังกฤษที่เราได้เยี่ยมชม แท้จริงแล้วก็เป็นคุกอีกชนิดหนึ่ง สร้างขึ้นเพื่อกักขังชนชั้นสูงให้อยู่ห่างจากประชาชนและความเป็นจริงในสังคมอย่างลิบลับ

คนที่อ่านสิ้นแสงฉานแล้วคงทราบว่า ขณะที่เนวินทำรัฐประหาร เจ้าจาแสงอยู่ในระหว่างเดินทางไปประชุมที่ย่างกุ้ง แต่ก็ถูกอุ้มหายไปจนป่านนี้ยังไร้วี่แวว มีหลักฐานว่าท่านได้ลอบส่งบันทึกลับถึงมหาเทวีว่าถูกฝ่ายทหารจับกุม จึงเชื่อกันว่าท่านคงถูกฝ่ายทหารฆ่าทิ้ง

ส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ฝ่ายทหารทำรัฐประหารในครั้งนั้น (จะเชื่อจริงหรือใช้เป็นข้ออ้างเพื่อความชอบธรรมผมไม่ทราบ) ก็คือ สหภาพกำลังจะสลายตัวลง เพราะรัฐของชนกลุ่มน้อยเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดให้ชัดเจนลงไปว่าสถานะของรัฐสหภาพพม่าเป็นสหพันธรัฐ (คือแต่ละรัฐมีสิทธิในการปกครองตนเองเต็มที่ โดยรัฐบาลสหภาพจะแทรกแซงไม่ได้ ยกเว้นแต่กิจการซึ่งได้ตกลงกันไว้แล้วว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลสหภาพ เช่น การต่างประเทศ, การคมนาคม ฯลฯ เป็นต้น)

สถานะเช่นนี้เสี่ยงต่อการที่รัฐเหล่านี้อาจขอแยกตัวออกจากสหภาพได้ เพราะข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญนี้ก็ยังรักษาข้อตกลงที่ปางโหลงไว้ว่า แต่ละรัฐมีสิทธิที่จะขอแยกตัวจากสหภาพหลังจากอยู่ร่วมกันครบ 10 ปีแล้ว (ซึ่งก็คือหลัง 1958 เป็นต้นไป)

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ (ก็เหมือนครั้งที่ร่วมกับพม่าในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ) มีรัฐชานเป็นผู้นำ รัฐชนกลุ่มน้อยอื่นๆ แสดงความพอใจกับข้อเสนอ ซึ่งที่ประชุมของรัฐชานเป็นผู้ร่างขึ้น ดังนั้น รัฐบาลสหภาพจึงระแวงสงสัยเจ้าฟ้ารัฐชาน แม้แต่อูนุเมื่อตอนเป็นนายกฯ เอง ก็อ้างว่าได้หนังสือลับมาจากสิงคโปร์ที่แสดงว่า รัฐชานกำลังจะขอแยกตัวจากสหภาพ ฝ่ายทหารถึงกับส่งฝ่ายข่าวกรองมาทำงานอยู่ในรัฐชานหลายปีก่อนยึดอำนาจ เอกสารของฝ่ายข่าวกรองซึ่งเผยแพร่ภายหลัง รายงานอย่างตรงไปตรงมาว่า เจ้าฟ้าบางแคว้นเป็นผู้สนับสนุนกบฏไทยใหญ่ มีจุดมุ่งหมายจะแยกรัฐชานออกจากสหภาพด้วยกำลังอาวุธ เพราะไม่อาจทำตามวิถีประชาธิปไตยได้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าคือเจ้าฟ้าอะไรบ้าง

ผมขอสรุปให้เข้าใจสั้นๆ โดยไม่เข้าไปสู่รายละเอียดว่า สงครามเย็นมีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดความระแวงสงสัยทั้งหมดนี้

อย่างไรก็ตาม เจ้าฟ้าเกือบทั้ง 33 แคว้นของรัฐชาน ต่างถูกฝ่ายทหารจับกุมตั้งแต่ในคืนแรกที่ประกาศยึดอำนาจ ที่ไม่ได้อยู่ในย่างกุ้งก็ถูกจับในวันรุ่งขึ้น (ดังเจ้าจาแสง) แต่เกือบทั้งหมดก็ได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง กรณีที่ถูกคุมขังในระยะยาวหรือถูกสังหารก็มีรายชื่อชัดเจน ยกเว้นก็แต่เจ้าจาแสงแห่งสีป้อรายเดียว ที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อถูกทหารจับตัวไป

ผมพยายามตรวจค้นเอกสารเท่าที่พอจะสอบได้ ก็พบด้วยความประหลาดใจว่า เจ้าฟ้าแห่งสีป้อแทบไม่มีบทบาททางการเมืองในความเคลื่อนไหวของรัฐชานแต่อย่างไรเลย ตลอดเวลาตั้งแต่ท่านกลับจากเมืองนอกพร้อมภรรยาแหม่มของท่าน ยกเว้นครั้งเดียว เมื่อเจ้าฟ้าและชนชั้นนำชานตกลงจะเสนอขอแก้รัฐธรรมนูญไปแล้ว ซึ่งเจ้าฟ้าจาแสงก็ไม่ได้ร่วมในการประชุมด้วย แต่ที่ประชุมตั้งกรรมาธิการขับเคลื่อนเพื่อควบคุมเนื้อหาข้อเสนออีกทีหนึ่ง (steering committee) มีชื่อของเจ้าจาแสงอยู่ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนด้วย ร่วมกับรายชื่อเจ้าฟ้าและนักการเมืองไทยใหญ่อื่นๆ อีกมาก และมักประชุมกันที่ตองยีซึ่งเป็นคล้ายเมืองหลวงของรัฐชานมาตั้งแต่สมัยอังกฤษแล้ว

ผมจึงไม่เข้าใจว่าฝ่ายทหารต้องการ “เก็บ” เจ้าจาแสงทำไม ดูแล้ว เจ้าจาแสงไม่น่าเป็นเป้าหมายสำคัญ ยกเว้นแต่ว่าท่านคือหนึ่งในเจ้าฟ้าที่ร่วมสนับสนุนกบฏไทยใหญ่ที่ฝ่ายข่าวกรองกล่าวถึง หากไม่ใช่ ผมก็อยากเดาว่า ท่านคงถูกจับกุมเหมือนเจ้าฟ้าไทยใหญ่คนอื่น แต่ทหารที่จับกุมคุมขังไม่ได้รับการติดต่อจากศูนย์บัญชาการรัฐประหารที่ย่างกุ้งว่าให้ทำอะไรกับเจ้าฟ้าสีป้อ จึงสังหารท่านเสีย หลังจากนั้นฝ่ายทหารก็ปิดบังการสังหารที่ผิดพลาดนี้ เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ว่าเจ้าจาแสงหายไปไหน

(จบเสียที)