เจาะกลยุทธ์ฝ่ายค้าน ลุยซักฟอก กู้ “ศรัทธา-ดึงเรตติ้ง” เข้าพรรค

หลัง “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” แท็กทีม ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาแล้ว

ก็ถึงคราวต้องมาเตรียมแผนการออกรบ

การเตรียมการศึกซักฟอกรอบนี้เป็นไปด้วยความรัดกุม จำกัดจำนวนคนรับรู้ข้อมูล โดยแต่ละพรรคส่งตัวแทนมาประชุมร่วม 6 พรรค ไม่เกินพรรคละไม่กี่คนเท่านั้น

ประเด็นตัวบุคคลที่จะถูกอภิปรายก่อนหน้ายื่นญัตติถูกกำชับจากที่ประชุมพรรคร่วมว่าขอให้เป็นความลับ ไม่ต้องถามถึงเนื้อหา แม้รู้ว่าจะอภิปรายประเด็นอะไรบ้าง เช่น เรื่องโควิด-19 ที่กลับมาระบาดอีกรอบเพราะความหละหลวมของรัฐบาล ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าทำให้ประชาชนยากลำบาก การบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลในหลายกรณี ไปจนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการเข้าปราบปรามม็อบนักศึกษา

แต่ใน 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านเองก็ไม่รู้เนื้อหาที่แต่ละพรรคจะนำมาเปิดแผลรัฐบาลว่าจะลงรายละเอียดอย่างไรบ้าง แต่ละพรรคต่างถือ “อาวุธ” ของตัวเองไว้ในมือ

ช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้าจะยื่นญัตติซักฟอก มีกระแสหนาหูว่าฝ่ายค้านระแวงกันเอง กลัวว่าจะมีการเอาข้อมูลการอภิปรายไปขายบ้าง

ทำให้ในการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านแต่ละครั้งเป็นไปอย่างไม่เต็ม 100 รวมข้อมูลกันยังไม่เป็นเนื้อเดียวมากนัก แม้ทั้ง “เพื่อไทย” “ก้าวไกล” และพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ จะประสานเสียงกันออกมาสยบข่าวดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง การทำงานของฝ่ายค้านยังเป็นเอกภาพ ยังรักและสามัคคีกันดี

ไปจนถึงการพยายามชี้ให้เห็นว่า ช่วงที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้างใจมักมีกระบวนการไอโอมาสร้างความขัดแย้งให้กับพรรคฝ่ายค้าน

ปั่นให้พรรคต่างๆ ระแวงกันเอง หวังให้ศึกซักฟอกเป็นไปแบบไม่ราบรื่น

แต่ถ้าเอาความเป็นจริงมาพูดกันตรงๆ แม้จะตัดเรื่องกระบวนการไอโอออก “ฝ่ายค้าน” ยังมีความระแวงกันอยู่ลึกๆ ในใจจริง

รับรู้ได้จากการเปรยออกมาของ ส.ส.หลายคนในพรรคน้องใหม่ สังเกตได้จากญัตติที่ยื่นถึงประธานสภา ที่อ่านแล้วก็รู้ได้เลยว่า “เขียนแบบคลุมๆ ไว้” เพราะข้อกล่าวหากว้างมาก

เช่น คำว่าบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรม จริยธรรม มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ขณะที่รัฐมนตรีบางคนมีข้อกล่าวหาแค่ 3-4 บรรทัดเท่านั้น เดาเอาว่า คนที่ได้รับมอบหมายจากพรรคร่วมฝ่ายค้านให้เขียนญัตติเอง คงไม่รู้ประเด็นและรายละเอียดของแต่ละพรรคในพรรคร่วมฝ่ายค้านเช่นกัน จึงเขียนคลุมไว้แบบครอบจักรวาล

เพื่อเปิดทางให้สมาชิกพรรคฝ่ายค้านสามารถอภิปรายไปได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะประเด็นใดก็ตาม

นอกจากปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพในการสู้ศึกซักฟอกของทัพฝ่ายค้านแล้ว ปัญหาเรื่องวันอภิปรายก็มีมาอยู่ตลอด ตั้งแต่ฝ่ายค้านจะขอเปิดศึกตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ แต่ฝ่ายรัฐบาลแย้งว่า ตรงกับวันประชุม ครม.

งานนี้ฝ่ายค้านใจแข็ง บอกว่าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ คือไทม์มิ่งที่เหมาะสมแล้ว เนื่องจากหากนับว่ารัฐบาลต้องตอบรับภายใน 15 วัน หลังจากยื่นญัตติ จะอยู่ที่ประมาณวันดังกล่าวพอดี รัฐบาลต้องเป็นผู้จัดสรรวันเวลาให้ลงตัว เบื้องต้นวางทางออกคร่าวๆ ไว้ให้ว่าจะเริ่มให้มีการอภิปรายตั้งแต่ช่วงเวลา 13.30 น. หรือ 14.00 น. เป็นต้นไปก็ได้ โดยรอให้การประชุม ครม.เสร็จก่อน แล้วค่อยมาเปิดอภิปราย ส่วนจำนวนวันที่จะใช้ซักฟอกนั้น จนถึงตอนนี้ยังไม่ค่อยลงตัว เนื่องจากฝ่ายค้านจะขอ 5 วัน รวมลงมติเป็น 6 วัน

แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม บอกให้ได้สุดๆ แค่ 4 วัน รวมลงมติเป็น 5 วันเท่านั้น

แว่วว่าเรื่องจำนวนวันฝ่ายค้านก็จะ “แข็ง” อีก เพราะเอาเข้าจริงๆ ถ้าเริ่มการอภิปรายได้ในเวลา 14.00 น. ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์จริง จะเท่ากับว่าได้เวลาจริงคือ 4 วันครึ่งเท่านั้น

เรื่องนี้หลังจากประธานสภาบรรจุวาระแล้ว จึงเรียกวิป 3 ฝ่ายมาประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อตกลงกำหนดเวลาที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

“นายสมคิด เชื้อคง” ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) บอกว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ ถ้าฝ่ายค้านได้เวลาในการอภิปราย 5 วันจริงตามขอ ฝ่ายค้านควรจะได้เวลาในการอภิปรายประมาณ 40 ชั่วโมงขึ้นไป เพราะการอภิปรายครั้งนี้รัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายมีจำนวนมากขึ้น และการอภิปรายครั้งนี้ไม่แบ่งเวลาตามโควต้าพรรคแบบที่ผ่านๆ มา แต่จะแบ่งเวลากันตามความจำเป็น เนื้อหาจะสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกันด้วย ไม่ใช่อภิปรายรัฐมนตรีคนนี้จบแล้วจบเลย แต่จะอภิปรายร้อยประเด็น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารงาน 1 ปัญหา เกี่ยวเนื่องกันหลายกระทรวง

แต่พอถามว่า ใครอภิปรายเรื่องใด ได้เนื้อหามาแล้วหรือไม่ “เดอะคิด” ตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ผู้ที่จะอภิปรายแต่ละพรรคกำหนดไว้คร่าวๆ แล้ว

แต่ประเด็นเนื้อหายังคงเป็นความลับ ผู้อภิปรายจะได้เรื่องที่จะพูดและข้อมูลเนื้อหาที่จะใช้ในการอภิปรายล่วงหน้าประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าที่จะมีการอภิปราย

เพื่อป้องกันปัญหาหรืออุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นระหว่างการอภิปรายเหมือนครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายค้านเตรียมตั้งวอร์รูมทำงานร่วมกันที่สภาเพื่อจัดสรรขุนศึกลงสนามรบ พร้อมกับปรับเนื้อหาร่วมกันแบบนาทีต่อนาที เรียกว่าเอาให้มีความเห็นและรับรู้ร่วมกันในทุกเรื่อง ทุกช่วงเวลากันไปเลย

ดังนั้น การแจ้งคิว หรือแจ้งตัวผู้อภิปรายจะแจ้งแบบวันต่อวัน หรืออาจละเอียดลงไปถึงชั่วโมงต่อชั่วโมงเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายครั้งนี้มีสีสันเล็กน้อยตรงที่ พรรคที่เคยอยู่ร่วมฝ่ายค้านแล้วจากไปอย่าง “พรรคเศรษฐกิจใหม่” และพรรคจิ๋วน้องใหม่ที่เคยอยู่ร่วมรัฐบาลมานานหลายปีอย่าง “ไทยศรีวิไลย์” ครั้งนี้จะจดชื่อฝ่ายรัฐบาลขึ้นกระดานเชือดด้วย

ดังนั้น เวลาส่วนหนึ่งต้องถูกจัดแบ่งให้ผู้ร่วมทีมที่มาใหม่นี้ด้วย และต้องกำกับเนื้อหาของสมาชิกใหม่ที่มาขอร่วมทัพนี้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เพราะการอภิปรายของ “ฝ่ายค้าน” ครั้งนี้ เป็นการอภิปรายหวังผล ถึงขนาดที่มีคนลั่นวาจาเอาไว้ว่า ศึกซักฟอกครั้งนี้ไม่ใช่เวทีฝึกอภิปราย ดังนั้น ต้องส่งตัวจริงลงสนามเท่านั้น

เพราะผลที่ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่เคยพลาดคาดหวังไม่ใช่การชนะด้วยเสียงสนับสนุนในสภา แต่หวังเขย่าเสถียรภาพของรัฐบาลให้สั่นคลอน พร้อมเรียกศรัทธาจากประชาชนให้กลับมาอยู่ “ฝ่ายค้าน” ที่ช่วงหลังการทำงานฟอร์มตกไปจนประชาชนถามถึง

ถึงเวลาที่ “ฝ่ายค้าน” จะพิสูจน์ตัวเองผ่านการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว