บทเรียนที่ “ฝ่ายค้าน” ต้องจดจำจากอภิปรายครั้งก่อน : ซักฟอก 3 ป. ปังเว้ยเฮ้ยย!?

ในประเทศ

ซักฟอก 3 ป. ปังเว้ยเฮ้ยย!?

ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 มกราคม

จำนวน 10 คน ประกอบด้วย

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

4. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

5. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

6. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

7. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

8. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

9. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

10. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

แน่นอน สังคมย่อมโฟกัสไปยัง 3 ป.เป็นสำคัญ

เพราะหากป้อมค่าย 3 พี่น้องบูรพาพยัคฆ์แตก ย่อมส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลอย่างหนัก

นี่เองจึงทำให้ฝ่ายค้านบรรยายเหตุผลในญัตติไม่ไว้วางใจอย่างรุนแรง

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ระบุบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้จิตสำนึกและความรับผิดชอบ

มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ท่ามกลางภาวะที่ประชาชนดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก และมีการระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว

ทั้งหมดเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดของตนเอง

มีการใช้อำนาจแลกผลประโยชน์ทำให้การทุจริตแพร่กระจายไม่ต่างจากโรคระบาด

จนได้ชื่อว่าเป็นยุคที่การทุจริตเฟื่องฟู เบ่งบานมากที่สุด

ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง ไม่มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ มุ่งประโยชน์แต่การสร้างความนิยมชมชอบให้กับตนเอง โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ สร้างความแตกแยกในสังคม

ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และทำลายผู้เห็นต่าง

ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน

ปล่อยปละละเลยให้มีบ่อนการพนันกระจายไปทั่ว

ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน

นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน

แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง

ละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ทำลายระบบคุณธรรมในระบบราชการ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ญัตติฝ่ายค้านระบุว่า

ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล

ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเอง

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและพวกพ้อง

ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ญัตติฝ่ายค้านระบุว่า บริหารราชการแผ่นดินโดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม แต่กลับใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง

ใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อวางแผนในการทุจริตอย่างเป็นระบบและแยบยล ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง

ใช้อำนาจด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เสียสละ ไม่เปิดเผย แต่กลับปกปิดการกระทำความผิดของตนและบุคคลแวดล้อม

ไม่ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่องอย่างร้ายแรง

ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

จะเห็นว่า ถ้อยคำในญัตติซักฟอก 3 ป.นี้ฝ่ายค้านหวังให้ “ปัง” อย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะมีการกล่าวหาอย่างรุนแรง

แต่จะดังเฉพาะ “เสียง” หรือไม่ คงจะเป็นบทพิสูจน์ฝ่ายค้านว่าจะแปร “นามธรรม” ที่กล่าวหา ออกมาให้เห็นอย่างเป็น “รูปธรรม” อย่างไร

ซึ่งแน่นอนอีกฟากคือ พล.อ.ประยุทธ์ ก็พยายามลดเสียง “ปัง” ลง ด้วยการบอกว่า

“เรื่องการอภิปราย ผมเห็นเสนอข่าวกันโครมครามก็ว่ากันไปในสภา เพราะผมยอมรับในหลักการรัฐสภาอยู่แล้ว อำนาจเขามีก็ทำไป ผมก็มีหน้าที่ชี้แจง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ปฏิบัติก็ชี้แจงไปเท่านั้นเอง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

และว่า ได้เตรียมหลักฐานและคำชี้แจงไว้ทั้งหมดแล้ว

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตรพยายามทำให้เรื่องเบาลงเช่นกัน

โดยเฉพาะที่กล่าวหาว่า พล.อ.ประวิตรทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตัวเอง ว่า “ฉันจะเดินไม่ไหวอยู่แล้ว ยังจะไปมีอะไร”

ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ก็ใช้สไตล์ที่ถนัด นั่นก็คือ ใช้ความสงบสยบการเคลื่อนไหว

ไม่พยายามตอบโต้ หรือเข้าไปขยายประเด็น

อย่างไรก็ตาม แม้ทั้ง 3 ป.พยายามจะแสดงท่าทีไม่สนใจ หรือไม่ให้น้ำหนักกับญัตติซักฟอกมากนัก

แต่กระนั้น หากจับท่าทีและน้ำเสียงคนในฝ่ายรัฐบาล ก็ดูจะเตรียมการรับมือและตอบโต้เอาไว้อยู่ไม่น้อย

อย่างนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขู่ไปยังฝ่ายค้านว่าหากพูดนอกประเด็น หรือกล่าวหากันโดยไม่มีเหตุผล ต้องมีการประท้วงเป็นเรื่องปกติ ฝ่ายค้านต้องทำการบ้านให้ดี เพราะบางอย่างคนพูดอาจจะถูกแฉเองก็ได้

ถือเป็นยุทธการ เกลือจิ้มเกลือ เมื่อแฉมาก็จะแฉกลับ

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประวิตรที่ตกเป็นเป้าสำคัญของฝ่ายค้านนั้น นายสุชาติมองว่า ฝ่ายค้านทราบดีอยู่แล้วว่าหัวหน้าพรรค พปชร. คือศูนย์รวมของ ส.ส.ในพรรคทั้งหมด เป็นปกติที่จะต้องตีกล่องดวงใจ

เมื่อฝ่ายตรงข้ามมุ่งตีกล่องดวงใจ ก็เป็นธรรมดาที่คนในพรรคพลังประชารัฐจะปกป้องกล่องดวงใจ

ซึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว ก็โชว์ปาฏิหาริย์ให้เห็นแล้ว เมื่อฝ่ายค้านไม่อาจบริหารเวลาได้ ทำให้ พล.อ.ประวิตรลอยตัวไปได้อย่างสบายๆ

และในครั้งนี้ ก็มีข่าวแปลกๆ มาตลอด เช่น ชื่อของ พล.อ.ประวิตรหลุดจากบัญชีถูกซักฟอก เพราะไม่มีประเด็น

ทำให้ถูกมองว่า เครือข่ายของ พล.อ.ประวิตรที่ว่ากันว่ามีทั้งในฝ่ายรัฐบาลและในฝ่ายค้าน พยายามล็อบบี้อย่างเต็มที่ ที่จะกัน พล.อ.ประวิตรออกไป

ซึ่งตอนแรกก็มีทีท่าจะเป็นเช่นนั้น ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก

หากฝ่ายค้านปล่อยให้เป็นอย่างที่เป็นข่าว ย่อมทำให้กระบวนการตรวจเสียขบวนอย่างแน่นอน จึงต้องยืนยันให้ พล.อ.ประวิตรอยู่ในโผ

ส่วนอยู่แล้วจะหลุดแปลกๆ เหมือนครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ คงต้องมีการออกแรงกันหนักเหมือนกัน

เพราะดูฝ่ายค้านคงจะไม่ยอมเสียเครดิตซ้ำรอยเช่นกัน

นี่จึงเป็นปมที่ต้องติดตาม

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ที่ถูกมองว่าจะเป็นศูนย์รวมการถูกถล่มในศึกซักฟอกครั้งนี้

นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ที่บอกว่าก็ได้เตรียมตัวชี้แจงอย่างเต็มที่แล้ว

นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรค พปชร. ตัวจี๊ดของฝ่ายรัฐบาล ก็ได้ออกมาขู่ถึงฝ่ายค้าน ว่า ที่ฝ่ายค้านบอกว่านายกฯ ไม่ยึดมั่นและศรัทธาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำสถาบันมาเป็นข้ออ้างแบ่งแยกประชาชนนั้น

“ประวัติศาสตร์การอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีการเอาเรื่องสถาบันมายื่นญัตติแบบนี้ …หากฝ่ายค้านยังคงยืนยันที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสถาบัน ผมขอประกาศไว้ตรงนี้เลยว่า ฝ่ายค้านจะเจอการประท้วงจนไม่ได้อภิปรายเลยทั้ง 4 วัน เพราะฉะนั้น บรรดาหัวหงอก หัวดำของพรรคฝ่ายค้านที่ยังพอมีสติ ช่วยคิดกันให้ดี ช่วยคิดถึงคำปฏิญาณตนตอนเข้ารับตำแหน่งด้วยว่าเคยพูดอะไรกันไว้กลางที่ประชุมสภา” นายสิระกล่าว

ซึ่งก็ถือเป็นการขู่ที่จะใช้แท็กติกการประท้วงมาสกัดฝ่ายค้านในกรณีที่จะนำเรื่องสถาบันมาซักฟอก

สอดคล้องกับคำแถลงของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล แสดงความกังวลถึงการใช้ถ้อยคำในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ใช้คำว่าโดยพฤติการณ์ เรื่องอภิปราย ที่ระบุว่าฝ่ายค้านไม่ควรนำสถาบันมาเกี่ยวข้องในญัตติ

จึงอยากให้นำญัตติด่วนนี้กลับไปแก้ไข

ลบคำที่เกี่ยวข้องกับสถาบันออกทั้งหมด เพราะหากไม่แก้ ก็จะเป็นปัญหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าคงจะมีการใช้ประเด็น “สถาบัน” ย้อนศรกลับไปยังฝ่ายค้าน

ฝ่ายค้านก็คงต้องหาทางแก้ เพราะอาจจะถูก “ปิดปาก” ได้ง่ายๆ

เช่นเดียวกับระยะเวลาอภิปรายที่ประธานวิปรัฐบาลประกาศว่า ยอมให้ได้เพียง 52 ช.ม. ซึ่งสำหรับ 10 รัฐมนตรีต้องถือว่าจำกัดมากๆ

หากฝ่ายค้านบริหารเวลาไม่ดี ก็อาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำกับซักฟอกครั้งที่แล้ว ที่ “รัฐมนตรีบางคน” ลอยตัวไปได้สบายๆ

เหล่านี้คงเป็นเรื่องร้อนที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น และทำให้การซักฟอกไม่ราบรื่น ซึ่งก็ย่อมจะเข้าทางฝ่ายรัฐบาล

ตรงกันข้าม หากฝ่ายค้านสามารถพิสูจน์ข้อกล่าวหาในญัตติซักฟอก โดยเฉพาะ 3 ป.ว่า เป็นจริง มีหลักฐานชัดเจน

ทำให้ประชาชนเชื่อ และคล้อยตาม ว่าปังเว้ยเฮ้ยย

นั่นย่อมทำให้ “กล่องดวงใจ” สั่นสะเทือนอย่างรุนแรงแน่นอน!