“ราโชมอน” วัคซีน

กรณี “ดีล 3 เส้า” ระหว่างบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด บริษัทแอสตร้าเซเนก้า และรัฐบาลไทย

กำลังกลายเป็น “ราโชมอน” ทางการเมือง

เพราะต่างคนต่างมีมุมมองแตกต่างกัน

ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน

ในมุมของรัฐบาลและบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มองคล้ายๆ กัน

รัฐบาลมองว่าแนวทางนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในเรื่องวัคซีนโควิด-19

เพราะโรงงานผลิตอยู่ที่เมืองไทย และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเจ้าของวัคซีน

รัฐแค่เอางบประมาณใส่ไป 595 ล้านบาทเอง

ส่วน “สยามไบโอไซเอนซ์” บอกว่าเป็นเรื่องการช่วยเหลือประเทศชาติ

ใช้คอนเน็กชั่นระหว่าง “เอสซีจี” กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ดึงฐานการผลิตวัคซีนมาอยู่เมืองไทย

ระดมสรรพกำลังทั้งหมดมาผลิตวัคซีน

เป็นการเสียสละ

แต่ในมุมของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” มองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

เพราะรัฐบาลเอาภาษีอากรประชาชนไปอุดหนุนบริษัทเอกชนเพียงบริษัทเดียว

และ “สยามไบโอไซเอนซ์” ไม่เคยอยู่ในแผนการจัดหาวัคซีนมาก่อนเลย

ถ้าใครติดตามข่าวเรื่องนี้มาตลอด จะพบว่ารัฐบาลให้น้ำหนักกับโรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมที่สระบุรีมาตลอด

เพราะเพิ่งลงทุนไป 1,411 ล้านบาท

แต่นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน ยืนยันว่าเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีนโควิด-19 นั้นทันสมัยมาก

มีแต่ “สยามไบโอไซเอนซ์” เท่านั้นที่รองรับได้

โรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมก็ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ

ที่สำคัญ “แอสตร้าเซเนก้า” เป็นคนเลือก ไม่ใช่รัฐบาล

แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาลเคยพาตัวแทนของ “แอสตร้าเซเนก้า” ไปดูโรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมหรือยัง

“วัคซีน” ในมุมของวงการแพทย์ คือสิ่งที่จะช่วยยุติสงครามโควิด-19

แต่ในมุมธุรกิจ นี่คือ “โอกาส” ที่ดีเยี่ยมระดับ 100 เด้ง

ไม่เช่นนั้นทาง “ซีพี” คงไม่เข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่ผลิตวัคซีนซิโนแวค

อย่าลืมว่า “สยามไบโอไซเอนซ์” จะผลิตวัคซีนให้ได้ปีละ 200 ล้านโดส

ถ้าขายโดสละ 5 เหรียญสหรัฐ หรือ 150 บาท เท่ากับที่ไทยซื้อมา

200 ล้านโดสก็ 30,000 ล้านบาท

ปี 2562 บริษัทนี้มียอดขาย 152 ล้านบาท

เพียงแค่เปลี่ยนมาผลิตวัคซีน มูลค่าธุรกิจของบริษัทจะขยับเป็นหลักหมื่นล้านบาททันที

แม้ว่า “นวลพรรณ ล่ำซำ” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ของ “สยามไบโอไซเอนซ์” จะบอกว่า

“สยามไบโอไซเอนซ์ได้ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน หรือ no profit, no loss ในช่วงที่มีการระบาดนี้ ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับของแอสตร้าเซเนก้า”

ขีดเส้นใต้คำว่า “ในช่วงระบาดนี้”

เพราะแนวทางของ “แอสตร้าเซเนก้า” ถ้าพ้นจากช่วงระบาดเมื่อไร

ราคาขยับตามกลไกตลาดแน่นอน