ถ้าเลือกตั้งแล้วได้คนไม่ดี จะทำอย่างไร ? : คำ ผกา

คำ ผกา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอเชิญชวนประชาชนส่งความคิดเห็นจากคำถาม 4 ข้อไปยังศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด ได้แก่

1. คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

2. หากไม่ได้จะทำอย่างไร

3. การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้น ถูกต้องหรือไม่

และ 4. คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

.

ซึ่งนายกฯ มุ่งหวังให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของบ้านเมือง และนำความคิดเห็นที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินแต่ความเห็นของนักการเมือง นักวิชาการ หรือจากผลสำรวจของโพลต่างๆ ที่เก็บข้อมูลจากตัวแทนของประชาชนเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ครั้งนี้จะเป็นการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่อีกทางหนึ่ง ที่จะสะท้อนกลับมายังรัฐบาลและนักการเมืองว่าอะไรคือความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

https://www.matichon.co.th/news/568876

ต้องยอมรับว่า 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคำถามที่ตรงเป้า ตรงประเด็น เป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพภายใต้ภาษาที่กระชับชัดเจน และตรงกับคำถามในใจของคนไทยจำนวนมากที่ยังไม่มีความไว้วางใจในระบอบประชาธิปไตย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความแคลงใจต่อระบบการเลือกตั้ง

ฉันไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถตอบคำถามทั้ง 4 ผ่านสื่อได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนจะต้องตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรม แล้วทางราชการจะรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนไปให้รัฐบาล

และการตอบทั้ง 4 คำถามนี้ผ่านสื่อ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นการชี้นำ (หรือไม่?)

อย่างไรก็ตาม ฉันเชื่อว่าผู้อ่านคอลัมน์นี้ทุกท่าน มีวิจารณญาณของตนเอง และไตร่ตรองได้ว่า การตอบคำถามทั้ง 4 ข้อของฉัน ย่อมไม่ใช่คำตอบที่ผูกขาดความถูกต้อง เป็นแต่เพียงเสียงของประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น

และผู้อ่านไม่พึงเห็นด้วย โดยมิได้ใช้ความรู้และความคิดของตนเอง

1.คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

จะตอบคำถามนี้ได้ต้องนิยามคำว่า ธรรมาภิบาล เสียก่อน

ธรรมาภิบาล มาจากคำว่า Good Governance หรือ การปกครอง (การใช้อำนาจ) และการบริหารที่ดี

สำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดไว้โดยได้เสนอเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า หลักธรรมาภิบาลนั้นประกอบด้วย 6 หลักการคือ

1. หลักคุณธรรม

2. หลักนิติธรรม

3. หลักความโปร่งใส

4. หลักความมีส่วนร่วม

5. หลักความรับผิดชอบ

6. หลักความคุ้มค่า

https://medinfo.psu.ac.th/pr/WebBoard/readboard.php?id=20713

การเลือกตั้งใดๆ ในโลกนี้ไม่แคบ และไม่มีความทะเยอทะยานจะการันตีว่า การเลือกตั้งจะนำมาซึ่งคนดี นายกรัฐมนตรีที่ดี รัฐบาลที่ดี มีคุณธรรม เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจให้ตรงกันคือ การเลือกตั้งไม่รับประกัน ไม่การันตี และไม่มีความมมุ่งมาดปรารถนาในการหาคนดีมาบริหารประเทศ

อ้าว…แล้วการเลือกตั้งการันตีอะไร?

การเลือกตั้งการันตี 4 ใน 6 ข้อของหลักธรรมาภิบาล นั่นคือ หลักนิติธรรม, ความโปร่งใส, ความมีส่วนร่วม และความรับผิดชอบ

หลักนิติธรรมนั้นการันตีด้วยการถ่วงดุลกันของสามอำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เป็นอย่างน้อย

หลักความโปร่งใส การันตีด้วยระบบรัฐสภา – แน่นอนไม่มีใครเชื่อว่า พวกเขาซื่อสัตย์ โปร่งใสร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยที่สุด นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีการคานอำนาจในรัฐสภาเปิดโอกาสให้เราพัฒนาระบบการตรวจสอบและเรียกร้องความโปร่งใสได้มากขึ้นภายใต้คณิตศาสตร์ – รัฐอ่อนแอ ประชาชนจะเข้มแข็ง – เงื่อนไขที่จะทำให้รัฐอ่อนแอ และประชาชนเข้มแข็งอยู่ที่พัฒนาการของภาคประชาสังคม และสื่อที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านนอกสภา และผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดกลไกที่รัฐไม่สามารถปกปิดอะไรจากประชาชนได้อีก

เช่น การเกิดขึ้นของขบวนการ open data movement ในหลายๆ สังคมที่ทำให้ท้ายที่สุด รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างแก่ประชาชน ทุกข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐต้องเข้าถึงได้ ตรวจสอบได้

ขบวนการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเกิดได้โดยสิ้นเชิงในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

หลักการมีส่วนร่วม ยิ่งเข้าใจง่าย เพราะการได้เลือกตัวแทนของตนไปทำงานในสภาคือการมีส่วนร่วมขั้นพื้นฐาน

ยิ่งมีการเลือกตั้งในทุกระดับมากเท่าไหร่ บ่อยเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจึงการันตีหลักการมีส่วนร่วม อันเป็นหนึ่งในหลักธรรมาภิบาล

หลักความรับผิดชอบ หรือ accountability คือสิ่งที่มาพร้อมกับการถูกตรวจสอบ และความโปร่งใสของข้อมูล อีกทั้งมาพร้อมกับหลักการที่อำนาจถูกยึดโยงกับประชาชน หลักการปกครองด้วยระบบรัฐสภาที่สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดมาจากการเลือก ไม่ได้การันตีว่าเราจะไม่ได้คนชั่วเข้าสภา

แต่อย่างน้อยที่สุด มันการันตีกว่า คนชั่วนั้นต้องคุย และต่อรองกับเจ้าของอำนาจคือประชาชน

การตรวจสอบเรื่องคอร์รัปชั่น และอื่นๆ ล้วนอยู่บนตรรกะว่า ต้องเป็นธรรม เปิดเผย วิจารณ์ได้

และกลุ่มคนที่ตรวจสอบ ต้องเป็นคนที่มาจากประชาชนด้วยเช่นกัน ก่อนจะไปสิ้นสุดการตัดสินที่ศาล

สรุป : การเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่มีอะไรการันตีว่าเราจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล

แต่การเลือกตั้งด้วยตัวของมันเองจะการันตีว่า หลักการธรรมาภิบาลจะถูกนำมาใช้ หลักการธรรมาภิบาลจะทำงาน

การเลือกตั้งไม่เคยการันตีว่าเราจะได้อยู่กับผู้นำที่แสนดี และบ้านเมืองจะมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุข ดูอย่างทรัมป์

ดูอย่างดูแตร์เตนั่นปะไร

แต่การเลือกตั้งการันตีว่า ทุกๆ 4 ปี อำนาจแห่งการเลือกรัฐบาลจะกลับมาที่ประชาชน และเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของประชาชนต่อรัฐบาลที่พวกเขาเลือก

ประชาธิปไตยคือกระบวนการ และเป็นกระบวนการปลายเปิดเสมอ เพราะชีวิตมนุษย์คือการเรียนรู้ การขบคิด การใคร่ครวญ การสรุปบทเรียน

การเลือกครั้งแล้วครั้งเล่า และแม้จะแต่การเลือกที่ผิด ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและการเรียนรู้

2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร

มีสองทางเลือกคือ

ก. รอให้รัฐบาลครบวาระ 4 ปี ระหว่างนั้น วิจารณ์รัฐบาลให้หนัก เปิดโปงทุกความชั่วของรัฐบาล เรียกร้องความโปร่งใสในทุกมิติ

ข. สนับสนุนการทำงานของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะแพ้โหวตในสภา แต่ทุกครั้งที่มีการอภิปรายคือการเปิดโปงความชั่วของรัฐบาลและนักการเมือง

ค. ปชช. ออกมาประท้วงรัฐบาล จนรัฐบาลต้องยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่

เหมือนเมื่อครั้งมวลชน กปปส. เดินขบวนต่อต้านรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนยิ่งลักษณ์ต้องยุบสภา และคืนอำนาจให้กับประชาชน

3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้น ถูกต้องหรือไม่

การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย – ถูกต้อง

การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคต ยุทธศาสตร์ชาติ และการบริหารประเทศ ถูกต้องหรือไม่?

คำตอบคือ การเลือกตั้งไม่เคยมี “อย่างเดียว” การเลือกตั้ง หมายถึงการเลือกตัวแทนของผู้เลือกไปบริหารประเทศ และผู้เลือกเลือกผู้แทนของตนเองอย่างไร?

– เลือกจากนโยบาย

– เลือกจากวิสัยทัศน์

– เลือกจากสายสัมพันธ์ส่วนตัว

– เลือกเพราะเขาแจกเงิน (ผิดกฎหมาย)

– เลือกเพราะเขาชูการสืบทอดยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ

– ฯลฯ

หัวใจของการเลือกตั้งคือ ไม่มีถูกหรือผิด มีแต่เสียงข้างน้อยกับเสียงข้างมาก – อะไรที่เป็นเสียงข้างมาก ย่อมมีความชอบธรรม

ดังนั้น เราจึงตอบไม่ได้ว่า การคำนึงถึงยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ จะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เพราะการเลือกไม่ได้วัดความถูกต้อง แต่วัดเสียงข้างมาก อย่างที่กล่าวไปข้างต้น

4.คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

กฎหมายการเลือกตั้ง ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงเลือกตั้ง ลักษณะต้องห้ามของผู้ลงเลือกตั้ง กำหนดไว้เป็นข้อกฎหมายชัดเจนแล้ว เช่น

2. ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 102)

2.1 ติดยาเสพติดให้โทษ

2.2 เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

2.3 เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 100(1) (2) หรือ (4)

2.4 ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

2.5 เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

2.6 เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

2.7 เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

2.8 เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง

2.9 เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

2.10 เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงแล้วยังไม่เกินสองปี

2.11 เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

2.12 เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

2.13 อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 263

2.14 เคยถูกวุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=10867&filename=index

ดังนั้น ใครก็ตามที่ไม่เข้าข่ายต้องห้ามทางกฎหมาย ย่อมถือว่ามีพฤติกรรมที่ “เหมาะสม” เราจึงตัดปัญหาว่า “ถ้ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม” จะทำอย่างไร – ออกไปได้

หากความไม่เหมาะสมปรากฏมาภายหลัง เราก็มีกฎหมายที่เอาไว้จัดการในประเด็นนี้อยู่นั่นเอง จึงไม่น่าเป็นข้อควรกังวลแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นคำตอบของผู้เขียนคอลัมน์นี้เท่านั้น ผู้อ่านโปรดไตร่ตรอง และใช้วิจารณญาณของตนเองในการตอบคำถาม