กวีนิพนธ์ของมุฮัมมัด อิกบาล /จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

กวีนิพนธ์ของมุฮัมมัด อิกบาล (1)

 

กล่าวกันว่า การดื่มด่ำในอรรถรสแห่งกวีนิพนธ์มิใช่เรื่องง่ายนัก

ด้วยเนื้อแท้ของงานที่ได้ชื่อว่าเป็นกวีนิพนธ์นั้น คือการหล่อหลอมโลกทัศน์และความเป็นปัจเจกบุคคลของผู้รจนาให้ออกมาเป็นรูปคำภาษากวีที่ลุ่มลึก

ดังนั้น การที่เราจะซึมซับหรือเข้าให้ถึงแก่นแท้ของทุกอักขระ จึงจำเป็นต้องอาศัยการเพาะบ่มกระบวนการคิดและจินตนาการอันบรรเจิด เฉกเช่นกวีซึ่งแสวงหามาได้โดยการพินิจพิจารณาตรึกตรองอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นไปในสากลโลก

ดร.มุฮัมมัด อิกบาล ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะกวีนักปรัชญาแห่งบูรพาทิศ และถือกันว่าภาษากวีของเขานั้นเป็นภาษาคลาสสิคในวงวรรณกรรมคดีตะวันออก ซึ่งไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยจะผ่านเลยไป ผลงานของเขายังคงได้รับการกล่าวถึงเสมอ โดยเฉพาะแนวความคิดที่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์ และจักรวาล ซึ่งปรากฏอยู่ในเนื้องานของเขา

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีคำตอบต่อคำถามของการแสวงหาในด้านในของชีวิต และมีลักษณะที่เป็นสากลแก่มนุษยชาติ

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ชื่อเสียงของมุฮัมมัด อิกบาล มิเพียงแต่จะเป็นที่กล่าวขานกันในกลุ่มโลกมุสลิมเท่านั้น หากยังเป็นที่ยอมรับระบือลือไกลไปทั่วโลกอีกด้วย

“คําร้องทุกข์” และคำตอบต่อคำร้องทุกข์ ซึ่งมีชื่อในภาษาอุรดูว่าชักวา โอร ญะวาบี ชักวา มิใช่งานชิ้นแรกของมุฮัมมัด อิกบาล ที่ได้รับการถ่ายทอดในภาคภาษาไทย ก่อนหน้านี้บทกวีนิพนธ์ “รหัสย์แห่งอาตมัน” ซึ่งแปลโดยไร่น่าน อรุณรังสี ก็ได้เคยจุดประกายความประทับใจให้แก่นักอ่านบ้านเรามาแล้ว

บทกวีคำร้องทุกข์และคำตอบต่อคำร้องทุกข์ ของมุฮัมมัด อิกบาล เป็นงานที่ปลุกเร้าความรู้สึกของผู้อ่านให้ลุกโพลงเพื่อหันมาสำรวจตรวจตราอดีตและปัจจุบันของตนเอง เพราะอิกบาลได้เขียนอุทิศให้แก่ความขัดแย้งระหว่างอดีตอันเรืองโรจน์ของศาสนาอิสลามกับความแตกแยกของอาณาจักรอิสลาม และสภาพอันน่าสลดใจของมุสลิมในสมัยหลังๆ

อิกบาลได้รจนาขึ้นด้วยอารมณ์รุนแรงและประดิษฐ์ด้วยฝีไม้ลายมืออันชำนิชำนาญเป็นการใช้ถ้อยคำที่เป็นเหมือนกระดานป้ายสีของจิตรกรเพื่อสร้างภาพเขียนอันมีวิธีการ

เชื่อกันว่าคำร้องทุกข์ของอิกบาลนั้นมุ่งเน้นอยู่ที่การวอนขอให้พระผู้เป็นเจ้าปลดเปลื้องภาระของมุสลิมให้บรรเทาเบาบางลงมากกว่าที่จะเป็นการต่อว่าต่อขานพระผู้เป็นเจ้า อย่างจริงๆ จังๆ

ซึ่งอิกบาลหวังเอาไว้ว่า หากจะมีใครมาสดับฟังเสียงของเขาบ้างก็คงจะดี

รอฟีก ซะการียา นักคิดคนสำคัญของอินเดียมุสลิมกล่าวถึงอิกบาลว่า งานของอิกบาลท้าทายการแปล บทกวีของเขาไม่ว่าจะเป็นภาษาอุรดูหรือเปอร์เซีย มีแนวโน้มทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณ การแสดงออกของเขามีลักษณะแบบเรื่องเก่าๆ ของอิสลาม

เกือบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจงานที่อิกบาลเขียนโดยไม่มีความรู้ในเรื่องมรดกของมุสลิมอย่างเหมาะสม นั่นจึงเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของบทกวีของเขา

จุดอ่อนอยู่ที่บทกวีของเขาจะจำกัดขอบเขตอยู่แต่เฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น จุดดีก็อยู่ที่มนตราที่มันสะกดจิตใจของคนมุสลิมทั้งหลาย

ได้มีผู้พยายามแปลบทกวีของอิกบาลเป็นภาษาอังกฤษมาหลายคนแล้ว แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบทแปลของนิโคลสัน (Nicolson) ซึ่งแปลจากเรื่องอัซรอเน คูดี (Secrets of the Self – ความลับแห่งอาตมัน) นั้นเป็นความพยายามที่น่ากล่าวถึง โดยนิโคลสันสามารถจะจับความหมายของบทกวีของอิกบาลได้เพราะว่าเขามิได้เป็นเพียงแต่นักวิชาการในเรื่องเกี่ยวกับเปอร์เซียเท่านั้น แต่ยังเป็นครูของอิกบาลอีกด้วย

นอกจากนั้น ก็ยังมีคนอื่นๆ เช่น วิกเตอร์ เคียร์มาน (Victor Kierman) และ เอ.เจ. อาร์เบอร์รี่ (A.J. Arberry) ซึ่งบทแปลกวีของอิกบาลภาษาเปอร์เซียของเขาอยู่ในระดับสูงชักวา และในขณะที่เคียร์มานพยายามจะนำเอาความงามของบทกวีภาษาอุรดูบทต้นๆ ของอิกบาลมาแสดงให้เห็นนั้น

บทแปลกวีภาษาอุรดู ชื่อชักวา ญะวาบี ชักวา (Shikwa and Jawabi shikwa) ของอาร์เบอร์รี่นั้นยังไม่ดี อาร์เบอร์รี่ไม่รู้ภาษาอุรดูเลยสักคำเดียว เขาแปลบทกวีเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษโดยอาศัยเอาจากเพื่อนที่รู้ภาษาอุรดู

จึงนับได้ว่าไม่มีงานแปลบทกวีเหล่านี้ซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และรสชาติของศาสนาอิสลามที่กระทำโดยนักวิชาการ บทใดเลยจะให้ความอยุติธรรมมากไปกว่านี้

รอฟีก ซะการียา กล่าวต่อไปว่า ข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งในการแปลบทกวีเหล่านี้ของอาร์เบอร์รี่ จนต้องขอร้องซาร์ดาร์ คุชวันท์ สิงห์ (Sardar Khushwant Singh) ให้แก้ไขความผิดพลาดที่อาร์เบอร์รี่ได้กระทำไว้โดยไม่รู้ตัวและด้วยความตั้งใจดีที่สุด

ความคิดนี้คุณสิงห์ก็เห็นด้วย เขาเคยอ่านบทกวีเหล่านี้มาหลายครั้งแล้ว และได้รู้สึกถึงความคิดที่แฝงอยู่ในบทกวีเหล่านี้สำหรับชาวมุสลิม เนื่องจากว่าเขาเคยเป็นเอกอยู่ในการนำเรื่องราวของชาวมุสลิมลงในหนังสือพิมพ์ The IIIustrated Weekly of India มาอย่างกล้าหาญและตรงไปตรงมา

นับเป็นเวลาสิบๆ ปีที่คุณสิงห์คุ้นเคยกับความใฝ่ฝันของคนมุสลิม ในไม่ช้าเขาก็รู้ว่าในขณะที่บทกวีของอิกบาลฟังเพราะหูเหมือนเสียงดนตรีนั้น ความหมายของมันมักจะยุ่งยากเสมอจนเข้าใจไม่ได้ง่ายๆ

การที่แปลมันออกมาเป็นภาษาอังกฤษนั้น ต้องใช้ความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง คุณสิงห์เป็นผู้คู่ควรกับงานนี้ ทุกท่านที่รักงานของอิกบาลจะต้องรู้สึกขอบคุณในความสามารถของเขา ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงที่เป็นที่รู้กันมากขึ้นว่าอิกบาลนั้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทั้งในฐานะที่เป็นกวีและนักปรัชญาก็ตาม

บทกวีส่วนมากของเขาก็ยังหาไม่ได้ในประเทศตะวันตก

นั่นเป็นเรื่องโชคร้ายเพราะว่าบทกวีของอิกบาลนั้นได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากเท่าๆ กับศาสนาอิสลาม ดังที่ตัวเขาเองได้ยอมรับว่า “ชีวิตส่วนมากของข้าพเจ้าได้ใช้ไปในการศึกษาปรัชญายุโรปและทัศนะของยุโรปจึงได้กลายเป็นธรรมชาติอันที่สองของข้าพเจ้า จะโดยสำนึกตัวหรือไม่สำนึกตัวก็ตาม ข้าพเจ้าได้ศึกษาถึงความเป็นจริงและความจริงต่างๆ ของอิสลามมาจากแง่คิดเดียวกันนี้ ข้าพเจ้าได้กระทำเช่นนี้หลายครั้งหลายหน ในขณะที่พูดภาษาอุรดู ข้าพเจ้าไม่สามารถแสดงความคิดทั้งหมดออกมาได้ในภาษานั้น”

เช่นเดียวกันเนห์รูผู้อยู่ในสมัยเดียวกับอิกบาล ซึ่งเมาลานา อะซาด ได้กล่าวไว้ว่าเนห์รูพูดภาษาอังกฤษ แม้กระทั่งในความฝัน อิกบาลก็มีความสามารถในการแสดงความคิดทางปรัชญาออกมาในภาษาอังกฤษมากกว่าในภาษาอุรดู

จะแลเห็นได้ชัดถ้าเราได้อ่านบทบรรยายภาษาอังกฤษที่จัดพิมพ์ภายใต้ชื่อเรื่อง The Reconstruction of Islamic Thought in Islam ซึ่งแสดงให้เห็นทัศนะของอิกบาลทางศาสนามากกว่าในบทกวีส่วนใหญ่ของเขาเอง

แต่ทั้งๆ ที่มีความสัมพันธ์กับตะวันตกเช่นนี้ อิกบาลก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าไปหาตะวันตกได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไม่เหมือนกับกวีผู้ยิ่งใหญ่ร่วมสมัยของเขาอีกผู้หนึ่ง คือรพินทรนาถ ฐากูร ซึ่งบทกวีของเขาชื่อ คีตาญชลีได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม

แม้กระทั่งทุกวันนี้การที่ชาวตะวันตกไม่รู้จักอิกบาลก็ได้แสดงออกมา แม้แต่นักเขียนนวนิยายคนสำคัญเป็นภาษาอังกฤษ E.M. Foster

เป็นสิ่งที่น่าพิศวงในการกระจายเสียงของ B.B.C. ในปี 1946 ฟอร์สเตอร์ได้กล่าวถึงอิกบาลว่าเป็น “มุสลิมเคร่งศาสนาอย่างไม่ลืมหูลืมตา” และ “มีทัศนคติต่อต้านมนุษยธรรม” รอฟีก ซะการียา จึงได้เขียนจดหมายไปถึงฟอร์สเตอร์อธิบายว่าเขาประเมินค่ากวีผู้นี้ผิดทั้งสองประการ

สมควรจะยกเอาคำตอบของฟอร์สเตอร์ขึ้นมาดู

คุณซะการียา ที่รัก

ขอบคุณมากในจดหมายที่น่าสนใจที่สุดของคุณ ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่คุณได้เขียนมา เพราะว่าผมไม่มีความปรารถนาที่จะมีความอยุติธรรมต่ออิกบาล เพียงแต่ต้องการให้เกียรติเขาเท่านั้น และโอกาสอันดีที่สุดของผมที่จะแก้ไขความผิดพลาดที่มีอยู่เกี่ยวกับอิกบาลก็คือด้วยการวิจารณ์แบบมิตรของผู้คนอย่างคุณเท่านั้น คำพูดของผมจะถูกตีพิมพ์ในวารสาร Listener มันจะอยู่ที่นั่นอย่างสมบูรณ์มากกว่าที่เคยออกอากาศ

ตัวอย่างเช่น ผมจะเขียนว่าอิกบาลเป็น “ชาวมุสลิมที่เคร่งศาสนา แต่ไม่ใช่หัวเก่า” ซึ่งทำให้ความคิดของผมใกล้เคียงกับของคุณ ผมยังเขียนด้วยว่า “ในความหมายของการต่อต้านมนุษยธรรม” ในจุดนี้เราอาจจะได้เห็นพ้องต้องกันมากกว่าที่คุณจะคิดในตอนแรกคือลัทธิมนุษยธรรมนิยมนั้นมีอยู่สองแง่ 1. การพัฒนาพลังของมนุษย์ 2. ความเมตตาสงสารและรับผิดชอบที่ผู้แข็งแรงรู้สึกต่อความล้มเหลวของผู้อ่อนแอ อิกบาลนั้น (เท่าที่ผมสามารถจะรวบรวมมาจากหนังสือของวาฮิด และนั่นเป็นเพียงแหล่งความรู้เดียวที่มีอยู่) เป็นผู้ที่นิยมมนุษยธรรมตามความหมายข้อที่หนึ่งแต่ไม่ใช่ข้อที่สอง ที่ผมออกอากาศไปนั้นพูดสำหรับชาวอังกฤษซึ่งรู้เรื่องอิกบาลน้อยกว่าที่ผมรู้เสียอีก และผมไม่คิดว่ามันจะเหมาะสมสำหรับชาวอินเดียที่มีความรู้มากกว่า…เชื่อผมเถิด

EM.Foster

ด้วยความปรารถนาดี

ขอแสดงความนับถือ

ในบทกวีคำตอบต่อคำร้องทุกข์อิกบาลได้ชี้ให้เห็นความแตกแยกในหมู่มุสลิม คำสอนทางศาสนาถูกละทิ้ง ขนบธรรมเนียงของบรรพบุรุษถูกละเลย ยึดเอาสุสานและเจว็ดเป็นที่สักการะ แทนที่จะยึดวิถีชีวิตแบบมุสลิมเอาไว้ อิกบาลได้พูดถึงมุสลิมสมัยแรกเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบันเอาไว้ว่า

“เจ้าวิวาทบาดหมางกันเองเสมอ พวกเขาสิเมตตาและเข้าใจ

เจ้าทำชั่วร้ายกาจ หาความผิดในผู้อื่น พวกเขาสิปกปิดบาปของผู้อื่นและให้อภัย”

“พวกเจ้าโน้มน้าวไปในทางทำลาย พวกเขามีชื่ออยู่ในเกียรติประวัติและความนับถือตน

ภราดรภาพเป็นสิ่งแปลกสำหรับเจ้า แต่พวกเขาพลีชีวิตเพื่อผองพี่น้อง เจ้าได้แต่พูดและพูด พวกเขาเป็นผู้กระทำจริง มีทั้งการกระทำและพลังอำนาจ”