โควิด-19 กับขวดน้ำดื่ม /พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook: @PITSANUOFFICIAL

 

โควิด-19 กับขวดน้ำดื่ม

 

ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา สถานออกกำลังกายหรือยิมได้รับการผ่อนปรนให้เปิดบริการได้

แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

คนรักการออกกำลังกายที่ยิมก็ดูแลเรื่องสุขอนามัยเต็มที่เพราะกลัวติดเชื้อโควิด-19 จากการใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายร่วมกัน

สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวอะไรที่สามารถนำติดตัวไปใช้เวลาเข้ายิมออกกำลังโดยไม่จำเป็นต้องใช้ร่วมกับผู้อื่นก็นำไปเอง ถือเป็นการป้องกันตัวเองอีกทาง

สิ่งที่เป็นอุปกรณ์คู่กายชิ้นหนึ่งของคนชอบเข้ายิมออกกำลังก็คือขวดใส่น้ำดื่ม หรือโปรตีนเชค ซึ่งนิยมพกกันมาเองจากที่บ้าน ไม่ต้องใช้แก้วน้ำร่วมกับคนอื่น นับเป็นเรื่องดี ช่วยลดปริมาณการใช้ขวดน้ำพลาสติกที่ซื้อจากร้านด้วย

แต่การใช้ขวดน้ำดื่มส่วนตัวที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ ก็มีสิ่งสำคัญที่เราควรตระหนัก คือเรื่องสุขอนามัย

เพราะหลายคนคิดว่าขวดน้ำนี้เราใช้อยู่คนเดียวไม่ได้แบ่งใครอยู่แล้ว เราจึงละเลยเรื่องการทำความสะอาดขวดน้ำด้วยความพิถีพิถัน

มีการศึกษาจากประเทศบราซิลบอกว่า ขวดน้ำที่เรานำกลับมาใช้ซ้ำได้นั้นสกปรกมากกว่าที่หลายคนคิด

จิลมาร์ เวเบอร์ เซนน่า (Gilmar Weber Senna) ศาสตราจารย์จากสหพันธ์มหาวิทยาลัยแห่งริโอ เดอ จาเนโร (Universidade Federal do Estado do Rio de Janeiro) บอกว่า เขาศึกษาโดยการสุ่มเลือกขวดน้ำส่วนตัวของสมาชิกที่กำลังออกกำลังกายในยิมแห่งหนึ่งจำนวน 30 คน เพื่อมาตรวจสอบเชื้อโรคที่อยู่บนขวดน้ำ และนำไปเปรียบเทียบกับขวดน้ำที่ยังไม่เคยใช้งาน พบว่ามีปริมาณแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่บนขวดน้ำที่ใช้แล้วมากถึง 83%

เชื้อแบคทีเรียที่พบบนขวดน้ำมากที่สุดคือสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) มีการปนเปื้อนเป็นจำนวน 27%

แบคทีเรียชนิดนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง อาหารเป็นพิษ ข้ออักเสบ ติดเชื้อ และการติดเชื้อในกระแสเลือด

ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่พบบนขวดน้ำดื่มมากเป็นอันดับสองจำนวน 17% คือ เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรือเรียกสั้นๆ คืออีโคไล (E. Coli) ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อในลำไส้ และอาหารเป็นพิษ

พอได้ทราบผลการวิจัยแล้วหลายคนก็อาจรู้สึกกลัวขวดน้ำดื่มของตัวเองไปเลย

แต่ฟิลิป เทียร์โน่ (Philip Tierno) อาจารย์ด้านจุลชีววิทยาและพยาธิวิทยาของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กบอกว่า จากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention) แบคทีเรียสแตฟ (Staph) สามารถพบได้ประมาณ 30% ในจมูกของคนทั่วไป และมักไม่เป็นอันตราย

เช่นเดียวกับแบคทีเรียอีโคไลซึ่งสามารถพบในร่างกายของคนที่มีทางเดินอาหารสุขภาพดี แต่ก็มีเชื้อบางชนิดที่สามารถทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้

เมื่อถามฟิลิปว่ามีโอกาสมากน้อยขนาดไหนที่เชื้อแบคทีเรียบนขวดน้ำจะสามารถทำให้เราเกิดอาการป่วยได้

ฟิลิปบอกว่า ขึ้นอยู่กับปริมาณแบคทีเรียที่ปนเปื้อนบนขวดน้ำ และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของแต่ละคน

โดยแบคทีเรียเหล่านี้มักจะเกิดการปนเปื้อนเวลาที่เราหยิบจับขวดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นตอนหยิบขึ้นมาดื่มหรือหยิบไปเติมน้ำ

ถ้าหากเราไม่ได้ล้างมือให้สะอาดหลังจากเข้าห้องน้ำหรือหลังจากมีการสัมผัสใบหน้าตัวเอง แบคทีเรียเหล่านี้ก็จะสามารถส่งผ่านไปยังขวดน้ำได้

เรื่องไม่น่าเชื่อก็คือ ขวดน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีแบคทีเรียและมีเชื้อโรคมากกว่าที่นั่งโถชักโครก

เหตุผลเพราะที่นั่งชักโครกนั้นแค่สัมผัสกับบั้นท้าย และก่อนนั่งชักโครกเราก็เช็ดให้แห้งเสียก่อน นอกจากนั้น บั้นท้ายของคนมักจะแห้งซึ่งแบคทีเรียเติบโตได้ไม่ดี

แต่ขวดน้ำนั้นเปียกตลอดเวลา เวลาดื่มเราก็ใช้ปากดื่มจากขวด ซึ่งปากก็มีน้ำลาย มีความชื้น ขวดน้ำก็มีความชื้น เมื่อความชื้นกับความชื้นมาเจอกันก็ทำให้แบคทีเรียเติบโตได้รวดเร็ว

ทำให้ขวดน้ำที่ไม่สะอาดนั้นมีแบคทีเรียและเชื้อโรคมากกว่าที่นั่งชักโครก

จะเป็นเรื่องดีที่สุดหากเราล้างขวดน้ำหลังจากการใช้งานแต่ละครั้งเพื่อลดโอกาสติดเชื้อแบคทีเรีย และล้างมือให้สะอาดก่อนที่จะหยิบขวดน้ำมาใส่เครื่องดื่ม

ฟิลิปแนะนำว่า หากเป็นไปได้ควรใช้ขวดน้ำที่ทำด้วยเหล็ก โลหะ หรือแก้ว เพราะแบคทีเรียไม่สามารถยึดเกาะบนพื้นผิวเหล่านี้ได้ดีเท่ากับพลาสติกและพื้นผิวอื่นๆ ที่มีความขรุขระ

พื้นผิวที่เรียบลื่นของเหล็ก โลหะ และแก้ว สามารถทำความสะอาดได้ง่ายกว่าและป้องกันการรวมตัวของแบคทีเรียต่างๆ ที่เรียกว่าไบโอฟิล์ม (Biofilm) ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรียให้เจริญเติบโต

สิ่งสำคัญที่สุดคือหลีกเลี่ยงการใช้ขวดน้ำดื่มร่วมกับผู้อื่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเราเองและเพื่อนไม่ให้เกิดโรคติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง…และหลายๆ คน