ว่าด้วยกรณีพิเศษที่ฮานอย / บทความต่างประเทศ อินโดจีน

นางเหงียนถิกิมเงิน ประธานสภาแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมสมัยประชุมที่ 13 เมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา (Reuters)

บทความต่างประเทศ อินโดจีน

 

ว่าด้วยกรณีพิเศษที่ฮานอย

 

พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (ซีพีวี) กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแปลงผู้นำทั้งสำหรับพรรคและรัฐอีกครั้งหนึ่ง โดยจะมีการเปิดเผยชุดผู้นำชุดใหม่หลังเสร็จสิ้นการประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้

ทำให้หลายคนเข้าใจว่าสมัชชาแห่งชาติคือผู้คัดสรรผู้นำเวียดนาม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ผู้นำของเวียดนามนั้นชี้ขาดกันในที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรค ซึ่งประชุมสมัยที่ 15 ไประหว่างวันที่ 16-17 มกราคมที่ผ่านมาแล้ว

ที่ผ่านมา สภาแห่งชาติทำหน้าที่เพียง “รับรอง” รายชื่อที่เสนอมาให้ “เป็นทางการ” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม รายชื่อที่หลุดออกมาอย่าง “ไม่เป็นทางการ” ทำให้ผู้สันทัดกรณีอดประหลาดใจไม่ได้

ตําแหน่งเลขาธิการพรรคยังคงเป็นของเหงียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการพรรคที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 2 สมัย

ตำแหน่งประธานประเทศ หรือประธานาธิบดี คือ เหงียน ซวน ฟุก ที่ขยับขึ้นมาจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ว่างลงตกเป็นของฟาม มินห์ ชินห์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการกลางพรรค กำกับดูแลบุคลากรและองค์การ

ส่วนตำแหน่งสำคัญท้ายสุด คือตำแหน่งประธานสภาผู้แทนแห่งชาติ ซึ่งเดิมคือนางเหงียนถิกิมเงิน ตกเป็นของวีง ดินห์ เห่ย รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคสาขาฮานอย

เซอร์ไพรส์มากที่สุดเห็นจะเป็นกรณีของเหงียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการพรรค วัย 77 ปี เพราะไม่เพียงอายุเกินเกณฑ์ 65 ปีมาแล้ว ยังสุขภาพไม่สู้ดี แถมยังดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัยตามข้อจำกัดในธรรมนูญพรรคแล้วด้วยอีกต่างหาก

เหงียน ซวน ฟุก ที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็อายุเกินเกณฑ์แล้วเช่นเดียวกัน ธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเปิดช่องไว้ให้สามารถสรรหาบุคคลที่ขัดกับหลักเกณฑ์ได้ภายใต้ข้อยกเว้นว่าเป็น “กรณีพิเศษ”

แต่จำกัดให้ใช้ “กรณีพิเศษ” ที่ว่านี้เพียง 1 ตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วมักใช้กับตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค”

เลอ ฮอง เฮียบ นักวิชาการจากสถาบันยูซุฟ อิสฮักของสิงคโปร์ชี้ว่า เมื่อมีการใช้ “กรณีพิเศษ” นี้กับตำแหน่งประธานาธิบดีของเหงียน ซวน ฟุก ด้วย แสดงให้เห็นว่าจะมีการแก้ไขธรรมนูญพรรคเกิดขึ้นตามมาในการประชุมสภาแห่งชาติหนนี้ แม้จะไม่มีวี่แววมาก่อนก็ตาม

กรณีของฟาม มินห์ ชินห์ กับวีง ดินห์ เห่ย แม้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจมากมายเท่า กระนั้นผู้เชี่ยวชาญการเมืองเวียดนามก็ชี้ให้เห็นว่า กรณีของทั้งสองนี้ก็เป็นการ “แหวกประเพณี” ที่เคยยึดถือปฏิบัติกันมานับตั้งแต่ปี 1986 เช่นเดียวกัน

นับตั้งแต่ปี 1986 ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะถูกเก็บไว้ให้กับรองนายกรัฐมนตรี 1 ใน 3 คน เหมือนเช่นกรณีของเหงียน ซวน ฟุก ที่เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีมาก่อนหน้าที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากเหงียน เติ๊น สุง เป็นต้น

ในขณะที่การดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาผู้แทนแห่งชาติของวีง ดินห์ เห่ย ก็ทำให้ตำแหน่งกุมอำนาจสำคัญทั้ง 4 ตำแหน่ง ไม่มีนักการเมืองจากเวียดนามตอนใต้เลยแม้แต่คนเดียว แหวกออกไปจากธรรมเนียมเดิมที่สำคัญว่าด้วยการสร้างสมดุลของภูมิภาคในการคัดสรรตำแหน่งสูงสุดของประเทศ

เพื่อชดเชยกรณีดังกล่าว ว่ากันว่าจะมีนักการเมืองจากเวียดนามตอนใต้อย่างน้อย 1 คนก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งสมาชิกประจำในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกรมการเมือง หรือโปลิตบูโร ซึ่งเป็นตำแหน่งทรงอำนาจสูงสุดลำดับที่ 5 ของเวียดนาม

การแหวกขนบประเพณีทางการเมือง ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนในครั้งนี้ก่อให้เกิดคำถามขึ้นเช่นกันว่า การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 13 นี้ จะให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการเหมือนการประทับตรายางรับรองอีกหรือไม่

หรือจะมีเซอร์ไพรส์แห่งเซอร์ไพรส์กันในนาทีสุดท้ายขึ้นมา!