วิกฤต ‘โควิด-19’ สงครามที่ยังไม่จบของ ‘จีน-สหรัฐ’ / บทความต่างประเทศ

เครดิตภาพ-รอยเตอร์ส

บทความต่างประเทศ

 

วิกฤต ‘โควิด-19’

สงครามที่ยังไม่จบของ ‘จีน-สหรัฐ’

 

ขณะที่ทั่วโลกกำลังต่อสู้กับ “โควิด-19” ที่กำลังระบาดอย่างหนัก จนตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกทะลุเกิน 100 ล้านรายไปแล้ว

การต่อสู้ในเรื่องวัคซีนก็ไม่ได้น้อยหน้ากว่ากันเลย เพราะในขณะที่ทั่วโลกหวังพึ่งพาวัคซีน ว่าจะช่วยนำพาโลกเราให้รอดพ้นจากโควิด-19 ไปได้ ก็มีข่าวเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนต่างๆ ออกมาให้ใจหาย ทั้งการเสียชีวิตหลังการฉีด หรือประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละเจ้า

เช่นเดียวกับวัคซีนโควิด-19 “โคโรนาแวค” ที่พัฒนาโดย “ซิโนแวค ไบโอเทค” ของจีน ที่มีผลทดลองออกมาว่ามีประสิทธิภาพไม่เต็มที่อย่างที่เคยบอกเอาไว้

โดยผลที่ดูแย่ที่สุด คือผลการทดลองทางคลินิกในบราซิล ที่ระบุว่าโคโรนาแวคมีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อเพียง 50.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนผลการทดลองที่อินโดนีเซีย พบว่าได้ 65 เปอร์เซ็นต์ และที่ตุรกี ได้ผลออกมาดีที่สุด คือสูงถึง 91.25 เปอร์เซ็นต์

แต่ทั้งที่อินโดนีเซียและตุรกี ต่างพบปัญหาเดียวกัน คือกลุ่มทดลองที่น้อยเกินไป เกินกว่าที่จะได้ข้อสรุปที่น่าเชื่อถือ

แน่นอนว่าเรื่องนี้จีนไม่ได้นิ่งเฉย โดยสื่อของทางการจีนได้ออกมารายงานเกี่ยวกับความห่วงกังวลเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ บริษัทยาสัญชาติอเมริกัน ที่ร่วมกันกับบริษัทไบออนเทคของเยอรมนีผลิตวัคซีนขึ้นมา ว่าอาจจะไม่ปลอดภัยอย่างที่คาดคิด แม้ว่าจะมีผลการทดลองอย่างเป็นทางการออกมาแล้วว่า “ปลอดภัย”

ก่อนหน้านี้ จีนกับสหรัฐอเมริกาต่างก็สาดสีใส่กันว่าอีกฝ่ายเป็น “จุดเริ่มต้น” ของเชื้อโควิด-19 ที่เริ่มระบาดมาตั้งแต่ปลายปี 2019 จากเดิมที่เป็นข่าวว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกๆ ที่เมืองอู่ฮั่นของจีน และเริ่มมีรายงานข่าวว่า ไวรัสร้ายนี้ออกมาจากห้องปฏิบัติการของจีน

ก่อนที่จะมีการตอบกลับจากจีนว่า ไวรัสร้ายนี้จริงๆ แล้วมาจากห้องปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกาต่างหาก

สํานักข่าวเอพีรายงานว่า ขณะที่วัคซีนเริ่มทยอยนำออกฉีดให้คนทั่วโลก และเริ่มมีเจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลก (ฮู) เมืองอู่ฮั่น เพื่อสอบสวนหาต้นตอของโควิด-19 สื่อของทางการจีนและเจ้าหน้าที่ของทางการจีน ต่างพากันกระพือความสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนจากชาติตะวันตกและต้นตอที่แท้จริงของไวรัสร้าย

หนึ่งในทฤษฎีที่จีนสร้างขึ้นเพื่อบอกกับประชาชน คือความพยายามในการปั่นเรื่องเกี่ยวกับฟอร์ต เดทริก ของสหรัฐอเมริกา สถานที่ตั้งห้องปฏิบัติการด้านอาวุธชีวภาพในรัฐแมรี่แลนด์ ของกลุ่มสหพันธ์เยาวชนคอมมิวนิสต์ ที่มีผู้เข้าไปดูแล้วกว่า 1.4 พันล้านครั้ง หลังจากที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนได้ออกมาเรียกร้องให้ฮูเข้าไปตรวจสอบห้องปฏิบัติการดังกล่าวของสหรัฐ เพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐ เหมือนที่ทำกับจีนบ้าง

อย่างไรก็ตาม ฟาง ซื่อ หมิน นักเขียนชาวจีนที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหรัฐ ผู้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องหลอกลวงต่างๆ ของทางการจีน บอกว่า การกระทำดังกล่าวของทางการจีน เพื่อต้องการโยนความผิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการเรื่องโรคระบาดของรัฐบาลจีนไปอยู่ที่เรื่องสมคบคิดของสหรัฐ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากมีการพูดถึงกันอย่างเป็นวงกว้างในกลุ่มต่อต้านอเมริกันในประเทศจีน

หยวน เจิ้ง ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสื่อจีนแห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ในอังกฤษบอกว่า เรื่องราวของรัฐบาลจีนได้แพร่ออกไปเป็นวงกว้าง แม้แต่เพื่อนชาวจีนของตนซึ่งเป็นผู้มีความรู้ดียังถามว่า

“เป็นเรื่องจริงได้หรือไม่”

อย่างไรก็ตาม หยวน เจิ้ง บอกว่า การสร้างความสงสัยและการแพร่กระจายทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสาธารณสุขขึ้นในประเทศจีน เพราะเหมือนกับรัฐบาลพยายามที่จะสร้างความไม่สบายใจเกี่ยวกับวัคซีน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก

อย่างล่าสุด สื่อจีนได้ออกมาเรียกร้องให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ 23 คนในนอร์เวย์หลังรับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์เข้าไป พร้อมกับกล่าวหาว่าสื่อตะวันตกพยายามเมินเฉยต่อข่าวดังกล่าว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์หลายคนต่างออกมายืนยันว่าการเสียชีวิตดังกล่าว เหตุผลหลักไม่ได้เกิดจากตัววัคซีนเอง

หรืออย่างเมื่อหลังผลการทดลองของบราซิลออกมาว่าวัคซีนของจีนมีประสิทธิผลเพียง 50.4 เปอร์เซ็นต์ ก็มีการพบว่า สื่อจีนได้พยายามให้ข่าวที่ผิดๆ เกี่ยวกับวัคซีนเพิ่มขึ้น

โดยบทความออนไลน์เกี่ยวกับสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์บนโลกออนไลน์จำนวนมากของจีนพากันตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์

ซึ่งนายฟางบอกว่า จีนพยายามสร้างข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนของไฟเซอร์ เพื่อรักษาหน้าของตัวเอง และโปรโมตวัคซีนของตัวเอง

โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลจีนต่างพากันออกมาปลุกกระแสความไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอของชาติตะวันตกที่ไฟเซอร์และบริษัทโมเดอร์นาพัฒนาขึ้น ทั้งที่ทั้ง 2 วัคซีนนั้นผ่านการทดลองทั้งในสัตว์และมนุษย์มาแล้ว โดยในมนุษย์มีการทดลองแล้วกว่า 70,000 คน

ถือว่าเป็นสงครามที่ต้องห้ำหั่นกันอีกครั้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่มีชีวิตของผู้คนเป็นเดิมพันในสงครามโควิดครั้งนี้