หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ไทย-ออสเตรเลีย / เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

หุ้นส่วนยุทธศาสตร์

ไทย-ออสเตรเลีย

ในท่ามกลางวิกฤตต่อเนื่องเชื่อมโยงกันตั้งแต่วิกฤตด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นตามมาในไทยเราตลอดทั้งปี 2020 ที่ผ่านมา

คนทั่วไปไม่มากนักที่รู้ว่า ไทยกับออสเตรเลียลงนามในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ไปเมื่อ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

คนที่รู้เบื้องหลังและความเป็นมาของการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นสู่ระดับใหม่ที่แนบแน่นกว่าเดิมดังกล่าวนั้นยิ่งน้อยลงไปอีก

ปฏิญญาร่วมที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอริสัน ของออสเตรเลียนั้น ครอบคลุมถึงการขยายความร่วมมือทั้งทางด้านการทหารและความมั่นคง, กิจการด้านไซเบอร์, การต่อต้านการฟอกเงิน และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติทั้งหลาย

จอห์น แบลกซ์แลนด์ ศาสตราจารย์ด้านข่าวกรองและความมั่นคงระหว่างประเทศ ในสังกัดศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกลาโหม ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ออสเตรเลีย (เอเอ็นยู) บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเรื่องนี้ไว้ ผ่านเว็บไซต์อีสต์ เอเชีย ฟอรั่ม เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมานี่เอง

ข้อเขียนของแบลกซ์แลนด์ ตอบคำถามถึงความเป็นมาของการยกระดับความสัมพันธ์ครั้งนี้ไว้ว่า เป็นเพราะไทยกับออสเตรเลียมีหลายต่อหลายอย่างร่วมกัน ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์, ในเชิงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ การมีผลประโยชน์ที่เหลื่อมซ้อนกัน และความวิตกกังวลเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันอีกด้วย

ศาสตราจารย์แบลกซ์แลนด์ชี้ให้เห็นว่า จุดเปลี่ยนในความสัมพันธ์ของไทยกับออสเตรเลียย้อนหลังไปถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบังคับให้เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลีย ลงมือก่อสร้าง “ทางรถไฟสายมรณะ” ไปยังประเทศเมียนมา

และยิ่งแนบแน่นมากขึ้นในยุคสงครามเย็น เมื่อต่างเลือกที่จะยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกาเหมือนๆ กัน

หลังจากนั้นไทยกับออสเตรเลียเคยจับมือกันเป็นแกนหลักในการก่อกำเนิด “ซีโต้” องค์การสนธิสัญญาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นมาในปี 1954

และเป็น “มิตรร่วมรบ” ในสงครามเวียดนามในเวลาต่อมา

ที่น่าสนใจมากก็คือ ศาสตราจารย์แบลกซ์แลนด์ชี้ให้เห็นว่า เมื่อออสเตรเลียพยายามเข้าไปจัดการแก้วิกฤตติมอร์ตะวันออก เมื่อปี 1999 “ไทยเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อาสาเข้าไปช่วยออสเตรเลียในการแก้วิกฤตหนนั้น”

เป็นการสมัครใจเสี่ยงก้าวแรกนำไปก่อน ก่อนที่ชาติอื่นๆ จะตามเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ก็ตาม

นั่นเป็นความใกล้ชิดที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะกระชับและขยายความสัมพันธ์ออกไปอีกหลากหลายรูปแบบผ่าน “อาเซียน” ซึ่งมีออสเตรเลียเป็นประเทศ “คู่เจรจา” เป็นชาติแรก ก่อนที่อีกหลายชาติจะตามมา

ซึ่งทำให้ไทยกับออสเตรเลียเชื่อมโยงถึงกันมากยิ่งขึ้นด้วยผลประโยชน์ร่วมที่เกิดขึ้นผ่านกลไกหลายๆ อย่างของอาเซียน อาทิ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและประเทศคู่เจรจา หรือการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ)

ไทยกับออสเตรเลียยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปก ที่นับวันยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังมีความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย

และเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซป เหมือนกันอีกด้วย

สุดท้ายก็คือ ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ที่ไทยกับออสเตรเลียเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและภัยคุกคามอันเกิดจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์, การต้องเผชิญกับการคุกคามของหายนะด้านสิ่งแวดล้อมๆ และปัญหาท้าทายสารพัดต่อรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยประกอบที่บรรจบกันแล้วผลักดันให้เกิดความต้องการที่จะยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นจากทั้งสองฝ่าย

ประเด็นสำคัญที่ศาสตราจารย์แบลกซ์แลนด์ชี้ให้เห็นก็คือว่า ออสเตรเลียยังคงตัดสินใจดำเนินความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันกับรัฐบาลไทยในท่ามกลางปัญหาการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะความพยายามในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้ ไม่ได้เกิดจากความไม่รู้ หรือไม่สนใจการปฏิรูปการเมืองดังกล่าว

แต่เป็นเพราะ “การคำนวณเชิงยุทธศาสตร์” ของออสเตรเลียต่างหาก ที่ทำให้เกิดความต้องการที่จะดำรงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยให้เป็นไปได้ต่อไป แม้จะมีความปั่นป่วนทางการเมืองในไทยเป็นครั้งคราว และเกิดความขัดแย้งในความคิดเห็นต่อประเด็นทางการเมืองภายในเหล่านี้อยู่ก็ตามที

ศาสตราจารย์แบลกซ์แลนด์สรุปเอาไว้ว่า ปัจจัยร่วมระหว่างไทยกับออสเตรเลียที่ผลักดันจนนำไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กันนั้น มีมากกว่าที่หลายฝ่ายตระหนักไม่น้อยเลยทีเดียว

ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในเวลานี้ก็คือ แผนที่จะนำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ใหม่นี้ไปสู่การปฏิบัติจริงเท่านั้นเอง