กลยุทธ์ การเมือง อภิปราย ในเชิงคุณภาพ มองผ่านปริมาณ / กรองกระแส

กรองกระแส

กลยุทธ์ การเมือง

อภิปราย ในเชิงคุณภาพ

มองผ่านปริมาณ

สถานการณ์ของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรครั้งใหม่นี้

มิได้เป็นการต่อสู้ในเชิง “ปริมาณ”

แม้จะวัดจากปริมาณพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” จะได้รับเลือกมาเมื่อเดือนมกราคม 2562 ด้วยจำนวน 134 คน มากกว่าพรรคพลังประชารัฐที่ได้ 115 คน

กระนั้น ด้วยอภินิหารในทางกฎหมายและ “รัฐธรรมนูญ”

ณ เดือนมกราคม 2564 พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.รวมแล้ว 122 คน เมื่อผนวกตัวรวมพลังกับพันธมิตรเกือบ 20 พรรคการเมืองก็มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 277 คน

มากกว่าพรรคฝ่ายค้านร่วมซึ่งมี 212 คน

จึงเห็นอย่างเด่นชัดว่า หากต่อสู้กันในเชิง “ปริมาณ” จำนวนของพรรคร่วมฝ่ายค้านถึงอย่างไรก็มิอาจเอาชนะมือของพรรคร่วมรัฐบาลได้

กลยุทธ์ของฝ่ายค้านจึงต้องสู้ด้วย “คุณภาพ”

 

อภิปรายปี 2563

บทเรียนในปี 2564

ต้องยอมรับว่าการดำเนินญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเมื่อปี 2563 การจัดระบบ การจัดกระบวนของพรรคร่วมฝ่ายค้านมีปัญหา

แทนที่จะไม่ไว้วางใจ “รัฐบาล” กลับกลายเป็นไม่ไว้วางใจ “ฝ่ายค้าน”

พรรคที่กลายเป็นจำเลยทางสังคมย่อมเป็นพรรคเพื่อไทยอันถือได้ว่าเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” สังคมมองบทบาทของพรรคเพื่อไทยด้วยความแคลงคลางกังขา

รูปธรรมก็คือ มีผู้อภิปราย 2 คนอภิปรายในแบบ “น้ำท่วมทุ่ง”

กินเวลาของคนอื่น รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอื่น กระทั่งในที่สุดไม่สามารถอภิปราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อันถือว่าเป็นเป้าหมายใหญ่ได้

นี่คือด้านมืด นี่คือด้านลบของการเมือง “เก่า”

นี่ย่อมเป็น “บทเรียน” ไม่เพียงแต่ต่อภายในของพรรคเพื่อไทย หากแต่ยังต่อขบวนทั้งหมดของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าจะปรับปฏิรูปอย่างไรจึงจะเปลี่ยนแปลงและยกระดับได้

จำเป็นต้องเรียนรู้จากการเมือง “ใหม่” แนวโน้ม “ใหม่”

 

อภิปรายอย่างมีกลยุทธ์

จัดระบบ มีการวางแผน

นับแต่มีการเปิดประชุมรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา ต้องยอมรับว่าพรรคอนาคตใหม่ได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองอย่างเด่นชัด

เด่นชัดตั้งแต่ชู “นโยบาย” เข้ามาเป็น “เครื่องมือ”

เด่นชัดตั้งแต่เปิดโอกาสกว้างให้กับ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งล้วนเป็นคนหน้าใหม่ในทางการเมือง ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การเมืองที่ไม่ใช้เงินในการหว่านโปรยสร้างคะแนนและความนิยม

เมื่อเข้าสู่การประชุมในรัฐสภาก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่

นั่นก็คือ ระบบการอภิปรายอย่างมีการเริ่มต้น ตรงกลางและขมวดปิดท้ายอย่างสอดรับในเนื้อหาอันมีการตระเตรียมและประมวลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

ถือเอา “ข้อมูล” เป็นเรื่องสำคัญ ถือเอาการจัด “ระบบ” ข้อมูลเป็นเรื่องจำเป็น

หากการปฏิรูปภายในพรรคเพื่อไทยได้ทรัพยากรใหม่จาก “กลุ่มแคร์ คิดเคลื่อนไทย” ไปเป็นองค์ประกอบ พรรคเพื่อไทยก็ต้องใช้ทรัพยากรส่วนนี้ให้เป็นประโยชน์

ยกระดับและเสนอ “วิธีวิทยา” ที่ก้าวหน้ามากยิ่งไปกว่าของพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล

 

กลยุทธ์ ปริมาณ

กลยุทธ์ คุณภาพ

เมื่อไม่มีความเป็นไปได้ในชัยชนะจากการมีปริมาณเป็นเครื่องมือ พรรคร่วมฝ่ายค้านจำเป็นต้องมีอาวุธในมืออย่างน้อย 2 ส่วนประสานเข้าด้วยกัน

1 คืออาวุธจากข้อมูลในลักษณะชี้ขาด

นั่นก็คือ เป็นข้อมูลที่มีเอกสารหลักฐานอย่างแม่นยำ สามารถมัดตัวรัฐมนตรีอย่างชนิดดิ้นไม่หลุด ไม่ว่าจะเป็นอันส่อแนวโน้มทุจริต ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดในเชิงนโยบาย

ขณะเดียวกัน 1 คืออาวุธในการจัดแนวรบทางด้าน “ความคิด”

นั่นก็คือ การประมวลความผิดพลาดในเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ ซึ่งแทนที่จะเป็นคุณกลับกลายเป็นโทษ

โดยมีประชาชนเป็นเหยื่อ เป็นเครื่องสังเวย

เมื่อได้อาวุธมาอยู่ในมือแล้วคำถามก็คือ จะออกอาวุธอย่างไรจึงจะสามารถ “ช็อก” ที่ประชุมและประชาชนที่ติดตามการอภิปรายมาอย่างต่อเนื่อง

ตรงนี้แหละคือ “วิธีวิทยา” ตรงนี้แหละคือ “นวัตกรรม” ในทางการเมือง

 

เป้าหมาย เมล็ดพันธุ์

ปฏิบัติการ ไฟสุมขอน

กล่าวสำหรับคนใจร้อนใจเร็วย่อมต้องการเผด็จศึกในทางการเมืองด้วยหมัดเด็ดประเภทโป้งเดียวจอด แต่ในความเป็นจริงอนุญาตให้ได้เพียงไม่กี่ครั้ง

อภิปรายในปี 2564 จึงต้องเป็นปฏิบัติการ “ไฟสุมขอน”

นั่นก็คือ อาศัยกระบวนการอภิปรายทั่วไปในการบ่อนเซาะ ก่อรูปแห่งความไม่ไว้วางใจให้บังเกิดขึ้นในทางความคิดกระทั่งกลายเป็น “เมล็ดพันธุ์” ในทางการเมือง

หว่านโปรยลงไปในความรู้สึกของสังคม ของประชาชน

เป็นภาพต่อที่เริ่มตั้งแต่รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องและสัมพันธ์มายังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

กระทั่งกลายเป็นภาพที่สมบูรณ์ในทาง “ความคิด” อันดำรงอยู่ในปัจจุบัน