ส่องสไตล์ ผบ.เหล่าทัพ สายบู๊ เล่นบทบุ๋น กลางพายุการเมือง ‘บิ๊กตู่-บิ๊กบี้-บิ๊กแก้ว’ กระชับพื้นที่หัวใจ และความแกร่งของทัพ 4/ รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

ส่องสไตล์ ผบ.เหล่าทัพ

สายบู๊ เล่นบทบุ๋น

กลางพายุการเมือง

‘บิ๊กตู่-บิ๊กบี้-บิ๊กแก้ว’

กระชับพื้นที่หัวใจ

และความแกร่งของทัพ 4

กองทัพยังคงถูกฝ่ายการเมืองมองว่าเป็นกองหนุนของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้เป็น รมว.กลาโหมด้วย จึงยิ่งทำให้กองทัพตกเป็นเป้าหมายทางการเมือง

ไม่ใช่แค่ฝ่ายค้าน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล แต่รวมทั้งฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปสถาบัน

เพราะจุดยืนกองทัพ คือการปกป้องสถาบัน และองค์จอมทัพไทยด้วย

แต่ทว่าบทบาทของผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดนี้แตกต่างจากในยุคก่อน ที่มีบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่มีการแสดงออก หรือวาจา วาทะที่ทำให้อุณหภูมิทางการเมืองร้อนขึ้น

และเป็นจังหวะที่ ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่ชุดนี้ ที่เพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อ 1 ตุลาคม 2563 เป็นนายทหารที่พูดน้อยเหมือนกันด้วย

โดยเฉพาะบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด แม้จะเป็นทหารม้า นักรบ รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด แต่ทว่าไม่ค่อยพูด แถมยังไม่ชอบออกสื่อด้วย เพราะตั้งแต่ขึ้นมา เพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อไปแค่ครั้งเดียว ในการประชุม ผบ.เหล่าทัพครั้งแรก เพราะไม่ต้องการตอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

พล.อ.เฉลิมพลไม่ชอบออกสื่อ หรือโปรโมตตัวเอง แต่ต้องการให้เป็นภาพรวมในนามของกองบัญชาการกองทัพไทยมากกว่า

แถมทั้งสไตล์การทำงานของ พล.อ.เฉลิมพล จะเน้นแบบทีมเวิร์ก คือ แบ่งงาน แจกงาน มอบหมายงานให้รับผิดชอบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในฐานะหัวหน้า ศปม. ที่ต้องคุมฝ่ายความมั่นคง ในการควบคุมโควิด ที่จะเห็นทั้งรอง ผบ.ทหารสูงสุด เสธ.ทหาร รองเสธ.ทหาร ที่มีตำแหน่งใน ศปม. ต่างลงพื้นที่ตรวจมาตรการควบคุมของ ศบค.

โดยที่ พล.อ.เฉลิมพลก็ลงพื้นที่ตรวจชายแดน และเยี่ยมกำลังพลไปในตัวด้วยเช่นกัน

ตลอดเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา พล.อ.เฉลิมพลเลี่ยงการพบปะสื่อ เลี่ยงการให้สัมภาษณ์ในภารกิจต่างๆ เช่น การตรวจเยี่ยมแต่ละเหล่าทัพ และการประชุม ผบ.เหล่าทัพในครั้งต่อมา ที่จะให้ทีมโฆษกกองทัพไทยแถลงข่าว แทนที่จะนำ ผบ.เหล่าทัพมายืนแถลงเช่นในยุคที่ผ่านมา

แม้แต่ในวันกองทัพไทย 18 มกราคมที่ผ่านมา ที่เมื่อเสร็จพิธีที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติแล้ว ผบ.ทหารสูงสุดจะนำ ผบ.เหล่าทัพแถลงข่าว แต่ครั้งนี้ พล.อ.เฉลิมพลก็งดการแถลงข่าว

ท่าทีสอดคล้องกับบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่แม้จะเป็น ผบ.เหล่าทัพที่ให้สัมภาษณ์มากที่สุดในบรรดา ผบ.เหล่าทัพชุดนี้ แต่ก็นานๆ ครั้ง เมื่อมีประเด็นสำคัญที่ต้องการจะสื่อสารเท่านั้น

ทั้งการปกป้องสถาบัน และการดูแลความสงบเรียบร้อยในช่วงที่มีการชุมนุม ที่มีการพาดพิงสถาบัน เพราะ พล.อ.ณรงค์พันธ์เป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย แต่ก็นานๆ ครั้งที่จะพูดอะไรออกมา

แม้จะเป็นนายทหารสายคอมมานด์ โตมาในสายกำลังรบ เคยเป็น ผบ.ร.31 รอ. หมวกแดงของ พล.1 รอ. ผ่านมาหลายสมรภูมิ

แต่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็ไม่ได้มาเล่นบทบู๊ในการเมือง เพราะไม่ชอบออกสื่อหรือให้สัมภาษณ์ ยกเว้นในภารกิจกองทัพที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหากนักข่าวถามเรื่องการเมือง ก็จะไม่ตอบ และยุติการให้สัมภาษณ์ หรือที่เรียกว่าวงแตกเสมอๆ

ไม่แค่นั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์มักจะบอกให้นักข่าวไปพักผ่อน สวดมนต์ อย่าคิดอย่าถามแต่เรื่องการเมือง แต่อยากให้ทำข่าวภารกิจทางทหารมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อถูกถามเรื่องปฏิวัติรัฐประหาร ที่เคยตอบไว้แล้วว่า โอกาสเป็นศูนย์

ยกเว้นที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับสถาบัน ที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์จึงจะขยับ

ขณะที่บิ๊กอุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. นั้น แม้เป็นพรรคนาวินที่โตมาจากสายคุมกำลังรบ แต่ก็โตมาจากฝ่ายอำนวยการด้วย และยิ่งเป็นคนที่พูดน้อยมาก จึงมักเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ เพราะไม่อยากตอบเรื่องการเมือง แม้ ผบ.เหล่าทัพจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งก็ตาม

ตั้งแต่มาเป็น ผบ.ทร. เคยให้สัมภาษณ์แค่ครั้งเดียว แต่โดยส่วนตัวแล้ว พล.ร.อ.ชาติชายพูดคุยเป็นการส่วนตัว ให้ข้อมูลได้ หากนักข่าวสงสัยและถามไปเป็นการส่วนตัว แต่จะไม่ขอออกสื่อ

เช่นเดียวกับบิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. ที่ก็ไม่ค่อยพูด แต่ทุกครั้งที่เจอสื่อก็จะให้สัมภาษณ์ ไม่เคยหลบเลี่ยง หากแต่นานๆ ครั้งสื่อถึงจะได้เจอ ผบ.ทอ.

ทั้งๆ ที่ความจริงเรื่องใน ทอ.มีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะเรื่องระหว่าง พล.อ.อ.แอร์บูล กับบิ๊กนัต พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ. และการแก้ไขปัญหาใน ทอ. ที่เป็นผลพวงจากในยุค พล.อ.อ.มานัต และการแต่งตั้งโยกย้าย

ทั้งนี้เพราะสมัยนี้แต่ละเหล่าทัพจะไม่ค่อยแจ้งงาน หรือเชิญสื่อไปทำข่าวเช่นในยุคก่อนๆ ที่จะเป็นโอกาสให้นักข่าวได้เจอ ผบ.เหล่าทัพ ได้พูดคุย ได้สัมภาษณ์ จึงจัดงานเป็นการภายในเสียมากกว่า และส่งภาพข่าวให้สื่อเผยแพร่

หรือลงในเฟซบุ๊กของแต่ละเหล่าทัพเท่านั้น

บทบาทและการแสดงออกของ ผบ.เหล่าทัพในยุคนี้จึงเปลี่ยนไป แต่ก็เป็นผลดีในแง่ที่ไม่ทำให้การเมืองกระเพื่อม หรือเพิ่มอุณหภูมิ เพราะคำพูด คำให้สัมภาษณ์ของ ผบ.เหล่าทัพ

แต่ทว่านักข่าวจะต้องทำงานหนักมากขึ้น ในการตรวจสอบความคิด ท่าที และความเคลื่อนไหวของ ผบ.เหล่าทัพ ต่อประเด็นทางการเมือง และที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน จากแหล่งข่าว หรือการสื่อสารโดยตรงกับ ผบ.เหล่าทัพแบบส่วนตัว

จึงเป็นจังหวะพอดีกันที่ทั้ง 4 ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่ไม่ค่อยชอบออกสื่อ หรือให้สัมภาษณ์ จึงทำให้กองทัพดูเงียบๆ

แต่ทว่าในความเงียบนี้ ก็ถูกจับตามองในแง่ความใกล้ชิดสนิทสนมกลมเกลียวกันหรือไม่ และความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างไร

เพราะรู้กันดีว่า ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่นี้ไม่ได้สนิทสนมใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์เท่าใดนัก เพราะรุ่นเริ่มห่างกัน เตรียมทหาร 12 กับเตรียมทหาร 20-21-22 แต่ก็คุ้นหน้าคุ้นเคยกันมาบ้าง ก่อนที่จะขึ้น ผบ.เหล่าทัพ

โดยเฉพาะกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์นั้นถูกจับตามองมากที่สุด เพราะความเป็น ผบ.ทบ. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย

แม้ตอนเป็นนายทหารเด็กๆ จะเคยอยู่ พล.ร.2 รอ. แต่ก็ช่วงสั้นๆ ก่อนมาเติบโตใน พล.1 รอ. เป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ค่อยได้ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มาก่อน เพราะไม่ได้เป็นดาวรุ่งใน ทบ.

จนมาเป็น ผบ.ร.31 รอ. ที่ได้ทำงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงวิกฤตการเมือง กระชับพื้นที่คนเสื้อแดง และจนเป็น ผบ.พล.1 รอ. ที่เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ทบ.ในอนาคต

อีกทั้งโดยบุคลิกของ พล.อ.ณรงค์พันธ์แล้วก็จะไม่ค่อยเข้ากับผู้ใหญ่ได้มากนัก เพราะนิ่งๆ ไม่ค่อยพูดและเดาใจได้ยาก จึงทำให้ดูเหมือนมีระยะห่างระหว่าง ผบ.ทบ. กับ 3 ป. แม้ว่าช่วงปีใหม่ ผบ.เหล่าทัพจะตบเท้าอวยพรตามประเพณีก็ตาม

และเป็นที่จับตามองอย่างมากเมื่อ พล.อ.ณรงค์พันธ์ไม่ได้มาร่วมประชุมสภากลาโหม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ รมว.กลาโหมเป็นประธาน ร่วมด้วยปลัดกลาโหม ผบ.เหล่าทัพถึง 2 ครั้งในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม เพราะติดภารกิจกฐินพระราชทานที่อยุธยา และอีกครั้งคือติดประชุม ทบ. และประชุม ฉก.ทม.รอ.904

แต่ในการประชุมสภากลาโหมเมื่อ 25 มกราคมที่ผ่านมา พล.อ.ณรงค์พันธ์มาร่วมประชุมตามปกติ

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

ก่อนหน้านั้น 14 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์พร้อมพี่ๆ 2 ป.ไม่มาร่วมงาน 111 ปี วันสถาปนากองทัพภาคที่ 1 ทั้งๆ ที่เคยมาทุกปี ตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ.จนเป็นนายกฯ

แต่เพราะปีนี้มีสถานการณ์โควิด และจัดงานภายใน ลดจำนวนคน ทั้ง 3 ป.จึงไม่ได้มา เพราะถ้ามาจะมีทีมติดตามอีกจำนวนมาก

แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตจากทหารแตงโมว่า มีอะไรหรือไม่ ไม่ใช่ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับแม่ทัพต่อ พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพภาคที่ 1 เพราะเป็นน้องรักสายทหารเสือราชินีอยู่แล้ว แต่ทว่ากับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ หรือไม่ เพราะระยะห่าง

แต่ครั้งนี้ หลังเลิกประชุมสภากลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจรับประทานข้าวกลางวันที่กระทรวงกลาโหม จากเดิมที่มักจะกลับไปทำเนียบรัฐบาลเลย

อีกทั้งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังปีใหม่ พล.อ.ประยุทธ์จึงอยากพบปะพูดคุยกับ ผบ.เหล่าทัพ และน้องๆ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ในทุกเหล่าทัพ ก็ล้วนเป็นน้องๆ เตรียมทหาร และ จปร.ทั้งสิ้น เพื่อกระชับระยะห่าง สร้างความใกล้ชิดมากขึ้น จากที่คุยกันทางไลน์เสือและโทรศัพท์

แต่ทว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์เตรียมตัวที่จะกลับหลังเลิกประชุม รถ ผบ.ทบ.ขยับจากที่จอดรถมาเตรียมรับที่หน้าบันไดแล้ว แต่ก็ต้องถอยกลับ เพราะ พล.อ.ณรงค์พันธ์ต้องไปรับประทานข้าวกับ พล.อ.ประยุทธ์

ในวันนั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์จึงเดินเข้าห้องอัษฎางค์ เข้าห้องอาหารที่ชั้น 3 ของอาคารศาลาว่าการกลาโหม เป็นคนสุดท้าย

โดยที่อาหารกลางวันมื้อนั้นเป็นก๋วยเตี๋ยวเนื้อของโปรดนายกฯ แต่ก็มีก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำ และผัดไทย ประมาณว่าทุกคนกินเส้น ไม่มีใครกินเหลา

บรรยากาศที่กลาโหมในวันนั้นจึงคึกคัก แม้ว่า ผบ.เหล่าทัพอาจจะนั่งกันเงียบๆ ไม่ค่อยพูดนักก็ตาม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็พยายามทักทายพูดคุยบ้าง แซวบ้าง

ก่อนหน้านั้น เมื่อ 18 มกราคม วันกองทัพไทย พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็ไม่ได้ไปร่วมพิธีบวงสรวงและวางมาลาสักการะวีรชนที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ที่เป็นประเพณีทุกปี ทุกเช้าตรู่ ที่มี ผบ.ทหารสูงสุดเป็นประธาน

ปีนี้ ผบ.เหล่าทัพมาครบทุกคน รวมทั้งบิ๊กปั๊ด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ขาดแต่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เนื่องจากติดพิธีสงฆ์เนื่องในวันกองทัพบกเช่นกัน

แต่ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ ผบ.ทบ.จะเลื่อนเวลาจัดพิธีสงฆ์ในวันกองทัพบกสายหน่อย เพื่อไปร่วมพิธีที่อนุสรณ์สถานฯ ก่อน แล้วค่อยกลับมา ทบ.

แต่ พล.อ.ณรงค์พันธ์จัดพิธีที่ ทบ.ตรงกับที่อนุสรณ์สถานฯ พอดี และมี 5 เสือ ทบ.ร่วมพิธีพร้อมหน้า โดยส่งที่ปรึกษาพิเศษ ทบ.ไปเป็นตัวแทนเท่านั้น

แต่ทว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ได้แจ้งทาง บก.ทัพไทยล่วงหน้าแล้วว่า ติดงานพิธีที่ ทบ. เพราะวันนั้นตั้งเต่เช้าตรู่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ต้องไปตักบาตรที่วัดเบญจมบพิตรฯ แล้วไปไหว้ศาลที่ พล.1 รอ. ก่อนจะมาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน บก.ทบ.

แต่ก็ถูกจับตามองในสไตล์ความเป็น ผบ.ทบ.แบบบิ๊กบี้ ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง แถมมีอายุราชการถึง 3 ปี และขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.แบบไม่ธรรมดาอีกด้วย

รวมทั้งเมื่อครั้งที่ พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ. 2 ปี ก็เคยมาร่วมพิธีแค่ปีเดียว ในยุคที่บิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี เป็น ผบ.ทหารสูงสุด

ประเด็นนี้ไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาระหว่าง ผบ.ทบ. กับ ผบ.ทหารสูงสุด เพราะเป็นเรื่องของการติดภารกิจ

เพราะหากมองย้อนไปว่า ผบ.ทบ. และ ผบ.ทหารสูงสุด ในหลายยุคก็ไม่ค่อยแนบแน่นกันเท่าใดนัก

แม้จะเป็นเพื่อนกันอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ที่เป็นเพื่อน ตท.12 ด้วยกัน แถมติดตามถวายงานมาด้วยกัน แต่ก็มีระยะห่าง และมีเรื่องเล่าขานหลากหลาย

จึงไม่แปลกที่ตอนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้น พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้บอก พล.อ.ธนะศักดิ์ แถมเดินทางไปต่างประเทศด้วย และต้องรีบบินกลับมารายงานตัว และที่สุดก็ต้องร่วม ครม. คสช.

รวมทั้งในยุคที่บิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี เป็น ผบ.ทหารสูงสุด รุ่นพี่ ตท.18 ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ.รุ่นน้อง ตท.20 แต่ก็ไม่ได้แนบแน่น และบางครั้งเล่นบทบาทสวนทางกัน

พล.อ.พรพิพัฒน์ได้รื้อฟื้นการมีคณะผู้บัญชาการทหาร (ผบท.) ที่มี ผบ.ทหารสูงสุด เป็นผู้บัญชาการ เพื่อเพิ่มพลังอำนาจของ ผบ.ทหารสูงสุด ที่มักถูกมองว่าไม่มีเพาเวอร์ เพราะไม่ได้คุมกำลังในมือเหมือน ผบ.ทบ.

คณะ ผบท.ที่จะประชุมกันวงเล็ก ก่อนประชุม ผบ.เหล่าทัพในทุกๆ 2 เดือน หารือเรื่องสำคัญในเฉพาะ ผบ.4 เหล่าทัพ โดยมีเสธ.ทหาร เป็นเลขาฯ และตั้งปลัดกลาโหม และ ผบ.ตร. เป็นที่ปรึกษา

มาตอนนี้ พล.อ.เฉลิมพลทำหน้าที่ ผบ.ผบท.ต่อ และมีการประชุมทุกๆ 2 เดือนเช่นเดิม แต่ก็จะมาพร้อมหน้ากันทุกครั้ง

คงมีแค่วันกองทัพไทยเท่านั้นที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ไม่ได้มาร่วมพิธี เพราะติดภารกิจวันกองทัพบก

แต่มีการมองย้อนกลับไปว่า พล.อ.เฉลิมพล รุ่นพี่ ตท.21 และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ตท.22 มีระยะห่างทางใจกันหรือไม่

เพราะก่อนหน้าที่การโยกย้ายทหารลงตัวเมื่อตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า พล.อ.เฉลิมพลเป็น ผบ.ทหารสูงสุด และ พล.อ.ณรงค์พันธ์เป็น ผบ.ทบ. ผ่านกระแสข่าวที่ว่า พล.อ.เฉลิมพลจะข้ามจากเสธ.ทหาร มาเป็น ผบ.ทบ. เพราะ พล.อ.อภิรัชต์สนับสนุน พล.อ.เฉลิมพล

จนในเวลานั้น พล.อ.อภิรัชต์ต้องปิดห้องคุย ยืนยันว่าเสนอชื่อ พล.อ.ณรงค์พันธ์เป็น ผบ.ทบ. แต่ท้ายที่สุดจะปรับขยับหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ที่ก็สนิทสนมอย่างมากกับ พล.อ.อภิรัชต์

กระแสข่าวที่ออกมาในเวลานั้น อาจส่งผลต่อบางอย่างระหว่าง พล.อ.ณรงค์พันธ์ กับ พล.อ.เฉลิมพล และ พล.อ.ประยุทธ์อยู่บ้าง แต่ไม่ได้ถึงขั้นเกิดความขัดแย้ง เพราะมันเป็นแค่กระแสข่าว

แต่ในยุคนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์เป็น ผบ.ทบ.นานถึง 3 ปี ส่วน พล.อ.เฉลิมพลก็มีอายุราชการถึงปี 2566 เช่นกัน แน่นอนว่าพลังอำนาจของ ผบ.ทบ. ถูกมองว่ามากกว่า เพราะคุมกำลังรบ และเป็นทหารคอแดง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย แม้ พล.อ.เฉลิมพลจะเป็นทหารคอแดงก็ตาม

สะท้อนได้ว่า ผบ.เหล่าทัพ และกับ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ยังคงถูกจับตามองในความสัมพันธ์อยู่

แต่ทว่ามันไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องชั้นเชิงแห่งอำนาจ และสไตล์ในการทำงานของแต่ละคนเท่านั้น

เพราะถึงอย่างไร ผบ.เหล่าทัพชุดนี้ก็ยังคงเป็นกองหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ในการสู้ศึกการเมือง และปกป้องสถาบันต่อไป

ขณะที่ในกองทัพเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้ายนายพลกลางปีแล้ว แม้จะเป็นโผเล็ก แต่ก็พอจะเห็นเค้าของการโยกย้ายใหญ่ปลายปี

โดยเฉพาะที่ชายแดนภาคใต้ ที่คาดว่าจะมีการขยับรองแม่ทัพภาคที่ 4 เนื่องจากรองโต้ง พล.ต.สมดุลย์ เอี่ยมเอก มีปัญหาสุขภาพ ที่คาดว่าจะขยับขึ้นพลโทเพื่อไปรักษาตัว

จึงเป็นที่จับตามองกันว่า แม่ทัพเกรียง แม่ทัพภาคที่ 4 เตรียมวางตัวใครให้ขึ้นมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 คนต่อไปไว้หรือไม่

พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์

เพราะอาจจะเลือกจากนายทหารระดับผู้บัญชาการกองพล และผู้บัญชาการมณฑลทหารบก (มทบ.)

ที่ก็มีแคนดิเดต 3 คน คือ พล.ต.อุทิศ อนันตนานนท์ ผบ.มทบ.45 ที่ทำหน้าที่ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา (ผบ.ฉก.ยะลา) เตรียมทหาร 24 และ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.พล.ร.15 และ ผบ.ฉก.นราธิวาสรุ่นน้อง เตรียมทหาร 25 และ พล.ต.ศานติ สกุนตนาค ผบ.พล.ร.5 และ ผบ.ฉก.สงขลา รวมทั้ง ผบ.กองกำลังเทพสตรี เตรียมทหาร 25

แต่เป็นที่รู้กันดีว่า พล.ท.เกรียงไกรเป็นน้องรักของบิ๊กเดฟ พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผช.ผบ.ทบ. และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะที่เป็นคนสุราษฎร์ฯ ด้วยกัน พี่น้องเตรียมทหาร 20 กับเตรียมทหาร 22

พล.อ.พรศักดิ์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุน พล.ท.เกรียงไกรจากรองแม่ทัพภาคที่ 4 ขึ้นแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา เพราะเป็นเพื่อนรัก ตท.20 กับบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ตอนเป็น ผบ.ทบ.

และรู้กันดีในกองทัพภาคที่ 4 ว่า พล.ต.ศานตินั้นเป็นน้องรักของ พล.อ.พรศักดิ์ และทำงานใกล้ชิด พล.ท.เกรียงไกรมาตลอด จนถูกมองว่าเป็นทีมเดียวกัน

จนเป็นที่จับตามองว่า พล.ต.ศานติจะขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 คนต่อไป

เพราะตามแผนเดิม คาดกันว่า พล.ท.เกรียงไกรจะนั่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ราว 2 ปี ซึ่ง พล.ต.ศานติก็จะขยับขึ้นมาต่อได้ทันพอดี

พล.ต.อุทิศ อนันตนานนท์

แต่อะไรก็ไม่แน่นอน เพราะหากต้องมีการขยับรองแม่ทัพภาคที่ 4 ในโยกย้ายเมษายนนี้ ก็ต้องดูเกมการจัดวางอำนาจ ไม่ใช่แค่ พล.อ.พรศักดิ์ที่ยังคงมีบารมีในกองทัพภาคที่ 4 เท่านั้น

แต่ต้องดูหมากเกมของบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.ด้วย

คาดกันว่า พล.ท.กรียงไกรจะไม่เร่งรีบดันใครขึ้นมาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 จากแคนดิเดตทั้ง 3 คนในโยกย้ายเมษายนนี้ เพราะเกรงจะทำให้เกิดการแข่งขันกัน และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง

อาจจะดันเสธ.ครุฑ พล.ต.ธิรา แดหวา ผบ.มทบ.41 และรอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า/ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี เพื่อนรักร่วมรุ่น ตท.22 ขึ้นมาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 เพราะถือเป็นมือทำงานสำคัญของ พล.ท.เกรียงไกรเอง

แต่ไม่ได้หวังให้เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 แต่อาจจะถึงแม่ทัพน้อยที่ 4 เพราะจะเกษียณตุลาคม 2565 แล้ว

ทั้งนี้ เพื่อที่จะยังไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมในการโยกย้ายปลายปี หากดึง 1 ใน 3 แคนดิเดต ทั้ง พล.ต.อุทิศ พล.ต.ไพศาล หรือ พล.ต.ศานติขึ้นมา

และเพื่อให้เวลาแคนดิเดตในการทำงานแข่งกัน เพราะที่ชายแดนใต้ต่างมีภารกิจมากมาย และให้เวลา พล.ท.เกรียงไกรในการตัดสินใจ

ยกเว้นว่าจะมีการขยับเก้าอี้รองแม่ทัพภาคที่ 4 ถึง 2 คน ก็คาดกันว่า พล.ต.อุทิศอาจจะได้ขึ้นมาพร้อม พล.ต.ธิรา

ด้วยเพราะกำลังเป็นที่จับตามองกันว่า พล.ท.เกรียงไกรจะนั่งแม่ทัพภาคที่ 4 ทำงานต่อเนื่อง 2 ปี หรือว่านั่งแค่ปีเดียว แล้วขยับขึ้น 5 เสือ ทบ.หรือไม่

พล.ต.ไพศาล หนูสังข์

ด้วยเพราะมีข่าวสะพัดใน ทบ.จับตามองกันว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์อาจจะดันบิ๊กป๊อด พล.ท.สิทธิพร มุสิกะสิน แม่ทัพน้อยที่ 4 เพื่อนสนิท ตท.22 ขึ้นแม่ทัพภาคที่ 4 แทนหรือไม่ เพราะเป็นเพื่อน ตท.22 ด้วยกัน

เพราะ พล.ท.สิทธิพรนั้นเคยพลาดเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 4 ในการโยกย้ายตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา เพราะ พล.อ.พรศักดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในเวลานั้นเสนอชื่อ พล.ท.เกรียงไกร และมี พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ. สนับสนุนด้วย

แต่คราวนั้น พล.ท.สิทธิพรถูกแย้งในเรื่องการทำงานที่ไม่ได้อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อยู่ภาคใต้ตอนบน เรียกได้ว่าไม่ได้ลงมาทำงานภาคสนามเช่น พล.ท.เกรียงไกร ที่อยู่ชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่เป็นนายทหารหนุ่มๆ ที่มาร่วมยุทธการปราบโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) เมื่อกว่า 30 ปีก่อน จนก่อนขึ้นแม่ทัพภาคที่ 4

และยิ่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 แล้ว พล.ท.เกรียงไกรก็เน้นทั้งงานยุทธการ ยุทธวิธี งานการเมือง การทหาร โดยเฉพาะงานมวลชนกับชาวบ้าน และการดูแลลูกน้อง เยี่ยมลูกน้อง และตรวจชายแดน จะลุยน้ำ ขึ้นเขา ลงห้วย แบบไม่มีทีท่าเหน็ดเหนื่อย

เพราะในเมื่อผู้บังคับบัญชาไว้วางใจให้ทำหน้าที่แม่ทัพภาคที่ 4 แล้วก็ทำเต็มที่ สมฉายาที่เพื่อน ตท.22 เรียกว่าบักอึด

แถมทั้งยังมีบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธรรมนูญ วิถี ผช.ผบ.ทบ. เพื่อนรัก ตท.22 อีกคน ที่เป็นกองหนุน และพูดคุยกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ได้ และเพื่อน ตท.22 ส่วนใหญ่ก็หนุนพล.ท.เกรียงไกรดูแลชายแดนใต้ต่อ

อีกทั้งก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ออกมาจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ ว่าจะกระชับอำนาจในมือหรือไม่ เพราะโผที่แล้ว พล.อ.อภิรัชต์เป็นคนจัด จึงอาจไม่ได้ดั่งใจที่ตนเองต้องการ

เพราะชายแดนใต้เป็นพื้นที่อ่อนไหว ไม่ควรที่จะเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 บ่อยๆ หากยังไม่ใกล้เกษียณ

แถมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาแบบที่ พล.อ.พรศักดิ์วางเอาไว้ ทำให้เหตุการณ์รุนแรงลดลงถึง 60% ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับ พล.ท.เกรียงไกรที่ให้ทหารนอนนอกฐานบ้าง ลอกคราบบ้าง นอนในหมู่บ้าน และเดินเท้าลาดตระเวนทั้งกลางวันกลางคืน ใช้ถนนให้น้อยที่สุด ค่ำไหนนอนนั่น

และมายุค พล.ท.เกรียงไกรก็ไปนอนในหมู่บ้าน และนอนกับลูกน้องอยู่เนืองๆ

พล.ต.ศานติ สกุนตนาค

จึงคาดกันว่า โยกย้ายเมษายน ที่จะต้องทำคำสั่งออกมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม จึงอาจจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญนักในกองทัพภาคที่ 4

และตามธรรมเนียมที่ผ่านมา ก็จะไม่มีการเปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนแม่ทัพกลางเทอม

เพราะแม่ทัพภาคที่ 4 หลายคนก็ต้องการเกษียณในตำแหน่ง มากกว่าที่จะขึ้นเป็นพลเอกแล้วไม่มีงานทำ บางคนก็ยังอยากจะทำงานให้ต่อเนื่องสำเร็จ

ทั้งบิ๊กเอียด พล.อ.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ที่เกษียณในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 บิ๊กอาร์ต พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช ก็เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 รวม 2 ปี จนเกษียณ พล.อ.พรศักดิ์ก็เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 รวม 2 ปี ก่อนขึ้น 5 เสือ ทบ. ส่วน พล.ท.เกรียงไกรมีอายุราชการถึงกันยายน 2566 จึงสามารถที่จะนั่ง 2 ปีได้ และทำงานต่อเนื่อง

เพราะสถานการณ์ภาคใต้ต้องให้ทหารนักรบชายแดนใต้มืออาชีพ มากุมบังเหียน

ส่วนในศูนย์กลางอำนาจที่ บก.ทบ.จะเป็นอย่างไร ให้รอดูการจัดโผเมษายนนี้ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ที่จะได้จัดเองแบบเต็มๆ มือ และจะสะท้อนทิศทางการนำกองทัพและสไตล์ของบิ๊กบี้ได้ชัดเจนขึ้น

พล.ต.ธิรา แดหวา