ปริศนาโบราณคดี : ‘มะเมียะ’ ยังมีตัวตนอยู่จริงไหม? เมื่อถอดเรื่องราวดราม่าออก (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

‘มะเมียะ’ ยังมีตัวตนอยู่จริงไหม?

เมื่อถอดเรื่องราวดราม่าออก (1)

ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากยังคงสงสัยอย่างต่อเนื่องว่า ผู้หญิงที่ชื่อ “มะเมียะ” (อ่านออกเสียง “หมะเมียะ” แต่เขียนแบบ “มะเมียะ”) ในบทเพลงของศิลปินโฟล์กซองคำเมืองชื่อก้อง “จรัล มโนเพ็ชร” ขับร้องโดย “สุนทรี เวชานนท์” นั้น มีตัวตนจริงหรือไม่

ฤๅเป็นแค่นวนิยาย?

เนื่องจากมีเรื่องราวหลายฉากหลายตอนที่ออกจะ Drama มากไปสักหน่อย มิพักต้องแปลกใจว่าทำไมจวบปัจจุบันในวงการละคร-ภาพยนตร์จึงยังคงนิยมนำพล็อตเรื่อง “มะเมียะ” ไปผลิตซ้ำอีกนับครั้งไม่ถ้วน ล่าสุดคือละครเพลงของคุณคำรณ คุณะดิลก ที่กาดเธียเตอร์เชียงใหม่ หรือปีกลายเมื่อหลัดๆ นี้ในเวทีละครมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

เราควรให้ความเป็นธรรมทั้งต่อ “คุณปราณี ศิริธร” นักเขียนสารคดีคนแรกผู้เปิดประเด็นเรื่อง “มะเมียะ” ในหนังสือ “เพ็ชรลานนา” ตั้งแต่ปี 2507 กับกลุ่มบุคคลต่างๆ ผู้เป็นประจักษ์พยานถูกอ้างอิงว่าได้พบเห็น “มะเมียะ” ตัวเป็นๆ เนื่องจากทุกท่านได้เสียชีวิตไปนานแล้ว

รวมทั้งเคารพต่อ “มุมมอง” ที่ได้มาจากการตามรอยมะเมียะของนักวิชาการไม่ว่าฝ่ายล้านนาหรือสยาม ด้วยการสืบค้นข้อมูลจากเอกสารจดหมายเหตุชั้นต้น การสัมภาษณ์ หรือการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ณ มาตุคามเมืองมะละแหม่ง (หนังสือของอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ใช้ “เมาะละแหม่ง”) ของมะเมียะ

ดิฉันพอจะประมวลประเด็นปัญหาที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงมิรู้จบเกี่ยวกับมะเมียะได้ประมาณ 8 ข้อหลักๆ ดังนี้

1.การส่งเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนในพม่า

2.นามสมมุติของ “มะเมียะ”

3.การสยายเกศาที่ประตูหายยา

4.เหตุที่ต้องส่งมะเมียะกลับพม่า

5.เส้นทางไปมะละแหม่ง

6.ชีวิตเจ้าน้อยศุขเกษมหลังมะเมียะกลับ

7.มะเมียะบวชเป็นแม่ชี

8.กู่เก็บกระดูกมะเมียะที่วัดสวนดอกมีจริงหรือ?

 

เจ้าน้อยศุขเกษมกับการถูกส่งไป

โรงเรียน St. Patrick มะละแหม่ง

การที่บทเพลงของจรัลแต่งว่าเจ้าน้อยศุขเกษมเป็น “ลูกเจ้าอุปราชท้าวเชียงใหม่” นั้น นักวิชาการหลายท่านนับแต่ อ.ธเนศวร์ เจริญเมือง อ.วรชาติ มีชูบท ฯลฯ ได้เปิดประเด็นเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดยิบ และได้ชี้ถึงข้อผิดพลาดว่าหนังสือ “เพ็ชรลานนา” ผู้ให้แรงบันดาลใจต่อการเขียนเพลงของจรัลน่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อน

เนื่องจากสถานะที่แท้จริงของเจ้าน้อยศุขเกษมขณะที่อายุได้ 18 ปี และถูกส่งไปเรียนเมืองมะละแหม่งเมื่อ พ.ศ.2441 นั้น เจ้าพ่อของท่านคือ “เจ้าแก้วนวรัฐ” ดำรงตำแหน่งเป็น “เจ้าราชวงศ์” อยู่ ยังมิได้เป็น “ว่าที่เจ้าเมืองเชียงใหม่” หรือ “เจ้าอุปราช” แต่อย่างใดไม่

ส่วนการเลือกที่จะส่งเจ้าชายองค์หนึ่งของล้านนาไปศึกษาต่อแดนไกล ไยจึงไม่เลือกกรุงเทพฯ ในฐานะที่ล้านนาเป็นเมืองประเทศราชของสยาม แต่กลับท้าทายอำนาจส่วนกลางด้วยการส่งโอรสไปเรียนที่พม่าประเทศในอาณานิคมอังกฤษ

ทำเช่นนี้ได้ด้วยหรือ จะมิทำให้ถูกสยามเพ่งเล็งล้านนาว่าคิด “เอาใจออกห่าง” หรือเช่นไร ได้ขออนุญาตจากราชสำนักส่วนกลางอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ หรือว่าไม่จำเป็นต้องขอ ฯลฯ

ร้อยแปดพันเก้าคำถามได้ถาโถมมาสู่ประเด็นของการที่เจ้าราชวงศ์อินทแก้ว (นามเดิมของเจ้าแก้วนวรัฐคือ อิ่นแก้ว หรือเจ้าน้อยอินทแก้ว) กับแม่เจ้าจามรีวงศ์ กล้าส่งโอรสองค์โตไปเรียน ณ เมืองมะละแหม่ง ว่าการกระทำเช่นนี้ไม่น่าจะทำให้เจ้านายสยามปลื้ม

เจ้าราชวงศ์อินทแก้วทำไปเพราะ “คิดแข็งข้อต่อสยาม” โดยเอาพม่ามาเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจทางการเมือง?

หรือว่าไม่ได้คิดอะไรมากมาย แค่เห็นว่าพม่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตใกล้ชิดกันกับทางล้านนามากกว่าทางสยาม?

ประเด็นนี้มีแต่คำถามยังไม่มีคำตอบ ขอเก็บปริศนานี้ไว้วิเคราะห์ต่อร่วมกับประเด็นที่สามถัดไปอีกครั้ง

มาถึงกรณีที่ว่า โรงเรียนเซนต์แพตทริก (St. Patrick) ในเมืองมะละแหม่ง ถูกบันทึกไว้ตรงไหนในหนังสือ “เพ็ชรลานนา” ของคุณปราณี?

คำตอบคือไม่มี กล่าวไว้กว้างๆ เพียงแค่เป็นโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองมะละแหม่ง

ประเด็นนี้ ผู้มาเฉลยคำตอบว่า โรงเรียนที่เจ้าน้อยศุขเกษมควรไปศึกษาเล่าเรียนนั้น ควรเป็น) St. Patrick ก็คือกลุ่มของอาจารย์ธเนศวร์ และอาจารย์จีริจันทร์ ประทีปเสน ผู้ศึกษาเรื่องตามรอยมะเมียะมาตั้งแต่สองทศวรรษที่แล้ว เนื่องจากโรงเรียนนี้เป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในมะละแหม่งยุคนั้นที่ใช้ภาษาอังกฤษและนักเรียนส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะ

สอดคล้องกับข้อมูลในบทความเรื่อง “เจ้าอุตรการโกศล (เจ้าน้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่)” ที่คุณ “พิเชษฐ ตันตินามชัย” (ขณะที่เขียนบทความนี้ดำรงตำแหน่งเป็นนักจดหมายเหตุของกรมศิลปากร ปัจจุบันย้ายไปสังกัดสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่) เรียบเรียงไว้ใน “วารสารพื้นบ้านล้านนา” จัดทำโดยชมรมพื้นบ้านล้านนา สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2556

บทความนี้ยืนยันว่า เจ้าพ่อ (เจ้าราชวงศ์อินทแก้ว) ได้ส่งเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนที่มะละแหม่งจริง โดยมีประจักษ์พยานบุคคลที่ได้ร่วมเดินทางไปกับเจ้าน้อยศุขเกษม นั่นคือ “นายคำตั๋น” บุตรชายของพระญาประทุม (ต้นนามสกุล “ปทุมวัน) กับแม่ติ๊บ

นายคำตั๋นเป็นเพื่อนกับเจ้าน้อยศุขเกษมมาตั้งแต่ยังเด็ก สนิทสนมกันจนใครๆ ก็เรียกแกว่า “เจ้าน้อยคำตั๋น” ตาม “เจ้าน้อยศุขเกษม” ไปโดยปริยายด้วย

คุณพิเชษฐได้สัมภาษณ์ “พ่อทอง อรุณจิต” มีศักดิ์เป็นหลานน้าของนายคำตั๋น ได้ให้ข้อมูลว่า

“เจ้าน้อยคำตั๋นถูกส่งไปเรียนวิชาการป่าไม้ที่เมืองมะละแหม่ง พม่า พร้อมกับเจ้าน้อยศุขเกษม เจ้าเปิ้นไม่ได้เรียนป่าไม้ รู้สึกว่าจะเรียนด้านการปกครอง”

นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ประพันธ์ อรุณจิต เหลนของนายคำตั๋น ให้สัมภาษณ์กับคุณพิเชษฐว่า

“เคยได้ยินย่า (ชื่อแม่เตี๋ยมต๋า แม่เตี๋ยมต๋าเป็นพี่สาวนายคำตั๋น) พูดถึงเรื่องนี้เหมือนกัน ว่าเจ้าน้อยคำตั๋นได้ไปเรียนวิชาการป่าไม้ที่มะละแหม่ง ไปพร้อมกับเจ้าน้อยศุขเกษม เพราะเป็นเพื่อนรักกัน เจ้าหลวง (หมายถึงต่อมาคือเจ้าแก้วนวรัฐ) ยังมาฝากให้เจ้าน้อยคำตั๋นดูแลเจ้าน้อยศุขเกษมด้วย ต่อมาเมื่อเรียนจบเจ้าน้อยคำตั๋นได้รับราชการตำแหน่งเจ้ากรมป่าไม้”

ข้อมูลล่าสุดจากบทความของคุณสมฤทธิ์ ลือชัย ที่เปิดประเด็นมุมมองใหม่เรื่องมะเมียะในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” รวมทั้งการเสวนาร่วมกับคุณอดิศักดิ์ ศรีสม ที่มติชน จากการที่ทั้งสองท่านได้ตามรอยเจ้าน้อยศุขเกษมไปสืบค้นข้อเท็จจริงว่าท่านเคยเรียนที่นั่นจริงหรือไม่

ได้ข้อมูลว่า โรงเรียน St. Patrick ได้ปิดกิจการด้านการศึกษาไปนานหลายปีแล้ว ปัจจุบันมีสถานะเป็นเพียงโบสถ์ที่เปิดให้คริสต์ศาสนิกชนเข้ามาประกอบพิธีกรรม

และหากอยากทราบว่าเจ้าน้อยศุขเกษมเคยเรียนที่โรงเรียน St. Patrick ระหว่างปี 2441-2446 แผนกใด จริงหรือไม่ ต้องทำเรื่องสอบถามไปยังฝ่ายทะเบียนกลางของสภาคริสตจักรคาทอลิกสำนักงานใหญ่กรุงปารีส

คงเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควรที่จะให้ได้มาซึ่งหลักฐานชั้นต้นตรงนั้น

แต่หากมีท่านใดยังคงคาใจ อยากจะสืบค้นเรื่องนี้แบบให้สุดซอยไปเลยก็จะยินดีมาก

สาวงามนามสมมุติว่า “มะเมียะ”

ข้อมูลของคุณปราณีผู้จุดประเด็นต้นเรื่อง ระบุตรงกันกับคำสัมภาษณ์ของบุคคลหลายคนที่มีอายุร่วมสมัยกับเจ้าน้อยศุขเกษม ต่างยืนยันว่า สตรีที่เจ้าน้อยศุขเกษมพามาด้วยจากพม่าหลังเรียนจบนั้น เดิมทีไม่มีใครทราบชื่อเสียงเรียงนามของเธอเลย

ด้วยเป็นเรื่องอื้อฉาว Talk of the Town กลางเวียงเชียงใหม่ ทำให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ผู้หลักผู้ใหญ่และคนใกล้ตัวของเจ้าน้อยศุขเกษมทุกคนไม่ประสงค์ที่จะให้มีการจารจำเรื่องนี้ก็เป็นได้ อีกทั้งการที่สตรีผู้นี้มาอยู่ในคุ้มของเจ้าราชวงศ์อินทแก้วก็เป็นเวลาช่วงสั้นๆ เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น

กาลล่วงผ่านไปนานกว่า 60 ปี นับจากปี 2446 ที่เจ้าน้อยศุขเกษมพาหญิงสาวคนรักมาเมืองเชียงใหม่ กระทั่งเธอเสียชีวิต (หากเธอเป็นคนเดียวกันกับแม่ชีที่จะได้กล่าวถึงในประเด็นที่ 7 จริง) เมื่อปี 2505 ก็ถือว่านานโขอยู่ กลายเป็นหนึ่งหน้าตำนานที่ถูกพยายามทำให้ลืม และคนก็เกือบจะลืมไปแล้วจริงๆ หากคุณปราณีไม่ขุดขึ้นมาเขียน

ดังนั้น เมื่อคุณปราณีตัดสินใจร้อยเรียงเรื่องราวความรักของเจ้าน้อยศุขเกษมกับหญิงสาวจากเมืองมะละแหม่งนิรนาม มีตัวตนแต่ไม่ทราบชื่อ จึงจำเป็นต้องบัญญัตินามสมมติ “มะเมียะ” ขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการใช้เรียก

คำว่า “เมียะ” เป็นภาษามอญ (ที่ส่งต่อให้ภาษาพม่าด้วย) แปลว่า “มรกต” เป็นคำยอดนิยมที่ใช้ตั้งชื่อของหญิงสาวชาวมอญม่านทั่วไป คุณปราณีได้ชื่อนี้มาจากสตรีชาวไทยใหญ่ท่านหนึ่งที่ตั้งบ้านเรือนแถววัดป่าเป้า ใกล้คูเวียงเชียงใหม่

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด หากแม่ชีผู้ที่บวชตลอดชีวิต ณ วัดบนยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองมะละแหม่งจะมีชื่ออื่นที่ไม่ใช่ “มะเมียะ”

การสยายเกศาของมะเมียะ

ภาพสะท้อนของวัฒนธรรมคนมอญ?

“สยายผมลงเช็ดบาทบาทา ขอลาไปก่อนแล้วชาตินี้” อาจารย์วรชาติ มีชูบท (ล่วงลับไปเมื่อปลายปี 2562) อดีตนักจดหมายเหตุหอวชิราวุธานุสรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ไม่เชื่อว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงที่ประตูหายยา ตอนที่ส่งตัวมะเมียะขึ้นช้างกลับพม่า

โดยอาจารย์วรชาติกล่าวว่า “คุณปราณีน่าจะนำภาพการสยายเกศาเช็ดพระบาทพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ตอนเสด็จประพาสนครเชียงใหม่เป็นการชั่วคราวเมื่อปี 2451 มาสวมในฉากดังกล่าวให้แม่มะเมียะกระมัง”

ถ้ามะเมียะสยายเกศาเช็ดบาทเจ้าน้อยศุขเกษมจริง โดยไม่ได้ขโมยซีนของเจ้าดารารัศมีมาสวมตามข้อสมมุติฐานของอาจารย์วรชาติ ก็มีข้อสงสัยตามมาว่า “ประเพณีการที่สตรีเอาเส้นผมเช็ดเท้าสวามีนี้เริ่มต้นจากชาติพันธุ์ใดก่อน มอญหรือล้านนา?”

ประเด็นการสยายเกศาเช็ดเท้าชายคนรักนั้น หากไม่มองให้เป็นปมดราม่าเกินไป ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นกุญแจไขประตูเปิดไปสู่เรื่องชาติพันธุ์ที่แท้จริงของมะเมียะได้ไม่มากก็น้อย

ดิฉันเคยเขียนบทความในคอลัมน์นี้ราว 10 ปีที่แล้วเรื่อง “จากพิมพาพิลาปถึงมะเมียะ” โดยนำเสนอว่า ภาพสลักนูนต่ำบนใบเสมาที่เมืองฟ้าแดดสงยาง กาฬสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น เป็นรูปนางพิมพา (ยโสธรา) เอาเส้นผมยาวเหยียดของนางเช็ดบาทาของพระพุทธเจ้า ซึ่งประติมากรรมชิ้นนี้สร้างในยุคทวารวดีเมื่อ 1,300 ปีก่อนโดยกลุ่มชนชาวมอญ (เหตุที่จารึกหลายหลักที่ร่วมสมัยกันมีการใช้อักขระมอญ)

เป็นธรรมเนียมสืบทอดต่อกันมาในกลุ่มสตรีชาวมอญ ว่าเมื่อต้องการแสดงคารวะอย่างสูงสุดต่อพระไตรรัตน์ก็ดี หรือต่อสวามีก็ตาม จักแสดงออกด้วยการก้มลงเอาเกศาของตนเช็ดที่เท้าของบุคคลผู้นั้น

เข้าใจว่าการที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี กระทำต่อพระพุทธเจ้าหลวง คงได้รับสืบทอดธรรมเนียมดังกล่าวมาจากชาวมอญในล้านนา

ถ้าเช่นนั้น จะฟันธงได้หรือไม่ว่า “มะเมียะน่าจะเป็นชาวมอญ” ไม่ใช่ชาวพม่าหรือไทยใหญ่ ประเด็นดังกล่าวก็อาจจะอนุมานกว้างๆ ว่ามีความเป็นไปได้มากถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุที่ประชากรส่วนใหญ่ในเมืองมะละแหม่งเกือบทั้งหมดเป็นชาวมอญ

แต่ก็ต้องเผื่อใจไว้บ้างสำหรับประชากรกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเราไม่อาจทราบได้อย่างแท้จริงถึงเชื้อสายของมะเมียะ