หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ฤดูโคลน’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวาง - ในช่วงฤดูฝนนั้น เป็นฤดูแห่งแมลง กวางใช้การนอนคลุกในปลัก เพื่อให้โคลนแห้งๆ คล้ายเป็นเกราะกันแมลง

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ฤดูโคลน’

เกินกว่าครึ่งของเวลาทำงานในป่า ผมอยู่ในป่าด้านตะวันตก เมื่อพูดถึงป่า ผมจะพูดถึงที่นี่ ไม่ผิดนักหรอกหากจะใช้คำว่า ในป่าด้านตะวันตก เป็นที่ซึ่งผมใช้เวลาอยู่มากกว่าที่บ้าน

ในระยะเริ่มแรก ผมเดินทางไปทั่ว ไปทุกๆ ที่ เมื่อได้ยินข่าวว่าที่ใดพบสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์หายาก ที่หลายตัวอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์

เดินทางจนกระทั่งพบว่า นี่คล้ายเป็นการวิ่งไล่ตามเงา ซึ่งไม่มีวันทัน

ผมเปลี่ยนวิธีการ หยุดนิ่งอยู่ที่เดิม เริ่มต้นทำความรู้จักกับสัตว์ป่าที่พบเจอได้ไม่ยาก

เมื่อหยุดเพื่อเรียนรู้ และมองพวกมันด้วยสายตาอันผ่านหัวใจ

ผมจึงพบว่า ป่าคล้ายเป็นโรงเรียน และชีวิตที่กำลังเฝ้ามอง เปลี่ยนสถานภาพจากสัตว์ป่ามาเป็นครู…

 

ผมนึกถึงป่าทุ่งใหญ่ หรือโรงเรียนในช่วงฤดูฝนเสมอ

ช่วงเวลานี้ ผมอยากเรียกว่า เป็น “ฤดูโคลน” น่าจะเหมาะสมกับสภาพที่ต้องเผชิญ

เป็นเวลาที่เราไม่ต้องห่วงเรื่องเสบียงนัก เพราะเห็ด, หน่อไม้ รวมทั้งผักกูด ผักหนาม อุดมสมบูรณ์ มีเพียงน้ำพริกกับข้าวสาร ก็อยู่ในป่าได้หลายวัน

พริกแกงเป็นส่วนสำคัญสำหรับการประกอบอาหาร

สำคัญพอๆ กับจีพีเอส แผนที่ และอาวุธของชุดลาดตระเวน

คืนก่อนจะออกลาดตระเวน ในครัวจะมีเสียงตำพริกแกงครกใหญ่

มีเสียงเฮฮา วันนี้หลายคนเพิ่งกลับจากหมู่บ้าน มีเหล้าขาวติดเป้มาหลายขวด

ในฤดูโคลน การเดินทางกลับบ้าน หรือไปประชุมที่สำนักงานเขตส่วนใหญ่ ใช้วิธีเดิน ไม่ได้ใช้มอเตอร์ไซค์เหมือนช่วงฤดูแล้ง

“เที่ยวนี้คงเดินไปถึงชายแดนที่ติดกับฝั่งตะวันออกครับ” ปะกาศิตบอก ตอนสมศักดิ์เริ่มตำพริกแกงครกที่สอง

“คุยกับชุดของฝั่งตะวันออกไว้ ช่องทางแถวนั้นน่าห่วงครับ พบร่องรอยพวกหาเขากระทิงแถวนั้น”

การเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทำให้พวกเขาค้นพบพบร่องรอยอันเป็นปัจจัยคุกคาม และเพิ่มความเข้มงวด การระวังในบริเวณนั้นๆ มากขึ้น

ผืนป่าทุ่งใหญ่กว้างไพศาล มีพื้นที่รวมกันกว่าสองล้านไร่ การแบ่งการบริหารจัดการออกเป็นฝั่งตะวันออกและตะวันตก ช่วยให้การทำงานได้ผลขึ้น

สมศักดิ์ตำพริกแกงครกที่สองเสร็จ

“พริกแกงต้องเตรียมให้พอครับ บางทีหมดหรือลืม ต้องส่งคนกลับมาเอา” ปะกาศิตเล่าขำๆ

แผนของปะกาศิต คือเดินถึงชายแดน และจะลัดเลาะลงมาถึงแม่น้ำ จากนั้นจะล่องแพลงไปถึงหน่วยพิทักษ์ป่า และเดินกลับสำนักงานเขต

พวกเขาจะใช้เวลาราว 10 วัน

กว่า 10 วัน ซึ่งต้องเดินไปตามด่าน ซึ่งเต็มไปด้วยโคลน

 

ด้วยโครงสร้างของดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว ดังนั้น จึงไม่เฉพาะเส้นทางสัญจรที่เป็นทางรถเท่านั้นที่จะลื่นไถล

การเดินตามด่านสัตว์ป่าก็ไม่ง่าย ป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตกมีประชากรช้างอาศัยอยู่น้อยมาก เรียกได้ว่า ไม่มีช้างอาศัยอยู่ประจำ

ไม่มีช้างจึงเสมือนไม่มีผู้เชี่ยวชาญการทำทาง ด่านต่างๆ ผู้บุกเบิกตกเป็นหน้าที่ของกระทิง

ทางจะค่อนข้างรก อีกทั้งการเดินบนด่านที่มีฝูงกระทิงเดินนำหน้า เราต้องเดินไปตามรอยตีนพวกมัน ที่กดลึกคล้ายเป็นหลุมเล็กๆ ตลอด ถ้าเป็นช่วงขึ้นหรือลงเขา ทางจะลื่น กระทั่งทรงตัวไม่อยู่ ต้องคว้าต้นไม้ข้างๆ พยุงตัวเสมอ

ว่าตามจริง ไม่เฉพาะผมหรอกที่ลื่นกับผิวดินที่มีสภาพเช่นนี้ กระทิงแม้จะมีสี่ขา แต่พวกมันก็ทิ้งร่องรอยการลื่นไถลไว้ให้ดูตลอดทางเช่นกัน

 

ในฤดูโคลน เป็นเรื่องปกติที่ในบริเวณป่าดิบ บนด่านจะมีทากชูตัวสลอน

แสงแดดจัดจ้า มีเฉพาะช่วงเช้า ก่อนเที่ยงไปถึงเย็น ท้องฟ้าจะมืดครึ้ม ลมแรง และบางวันเป็นพายุฝน กิ่งไม้หักโครมคราม

“ช่วงนี้พักริมลำห้วยไม่ดีนะหม่องโจ” อดิเทพ คู่หูผมเตือนบ่อยๆ

“ฝนตกไม่หยุด น้ำมาจะหลบไม่ทัน” เขาจะบอกเช่นนี้ ถ้าครั้งใดที่ติดธุระไปกับผมไม่ได้

“แคมป์เราที่พักเดือนที่แล้ว น้ำกวาดไปหมดแล้ว”

เราใช้แคมป์นั้นพักแรมในบริเวณทุ่งหญ้า ในช่วงแล้งเป็นทำเลที่ดี มีลำห้วยเล็กๆ เป็นที่รับน้ำ

หลังเดือนเมษายน ไฟไหม้เป็นบริเวณกว้าง หลังจากนั้น ทุ่งเกิดหญ้าอ่อน ที่เรียกว่า ระบัด เขียวๆ

นั่นคือ อาหารพิเศษของเหล่าสัตว์กินพืช กระทิงฝูงละ 20-30 ตัวกระจายในทุ่งกว้าง

พวกมันออกจากป่าทึบที่เข้าไปพักผ่อนตอนกลางวัน ตั้งแต่ราวๆ 5 โมงเย็น และเพลิดเพลินอยู่กับทุ่งหญ้าไปจนรุ่งเช้า

ทุกคืน เสียงกู่ร้องของกระทิงดังกังวานก้องไปทั่ว

สัตว์กินพืชมาชุมนุม สัตว์นักล่าก็ตามมา กระทิงหลายตัวพลาดท่าตกเป็นเหยื่อนักล่า

ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ ท่ามกลางความมีชีวิต

มีความตายร่วมอยู่ด้วย

 

พักแรมในป่า กลางฤดูโคลนเมื่อคุ้นชินก็ไม่ยุ่งยาก สายเปลมีห่วงดักกันน้ำไหลซึมเข้าเปล

ผูกเปลต่ำๆ ขึงฟลายชีตกันละอองฝนได้บ้าง กองไฟไม่ต้องห่วง เพราะชุดลาดตระเวนจะก่อไฟเฉพาะตอนหุงข้าว

“พวกล่าสัตว์เขาทำแบบนี้แหละครับ” ปะกาศิตบอก

“เขาไม่ก่อไฟแถวที่นอนหรอก แต่จะหุงข้าวใกล้ๆ ลำห้วย เสร็จแล้วไปนอนไกลๆ บางทีผูกเปลนอนบนสันเขาโน่นเลย”

 

ในฤดูโคลน เราไม่นั่งทอดอารมณ์ข้างกองไฟ

กินข้าวเสร็จก็แยกย้ายขึ้นเปล ก่อนขึ้นเปล ผมสำรวจเท้าและขา ทากชอบแอบซุกซ่อนตามซอกนิ้ว ไม่สนุกนักหากนอนเลือดโชกบนเปลจากแผลทากกัด

บนเปล แม้ว่าจะเป็นเปลมุ้ง แต่ผมหลีกเลี่ยงการเปิดไฟคาดหัวอ่านหนังสือเพราะมันเป็นการเรียกแมลงเข้ารุมตอม

นอนอยู่ในความมืด รายล้อมด้วยแสงระยิบจากหิ่งห้อย

พักแรมในช่วงฤดูโคลน ไม่ใช่ความยุ่งยาก

เพียงแต่บางครั้งก็ดูคล้ายจะเป็นค่ำคืนอันยาวนาน

 

ทุกครั้งที่ติดอยู่ใต้ฟลายชีตแคบๆ ถูกห่มคลุมด้วยสายฝน ผมนึกถึงเหล่าสัตว์ป่าที่อยู่ใกล้ๆ ที่คงมีสภาพไม่ต่างไปนัก

ยืนซุกตัวนิ่งๆ รอเวลาให้ท้องฟ้าสดใส

ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน แต่สำหรับสัตว์ป่า คงไม่กระวนกระวาย  พวกมันคงเข้าใจดีว่า นี้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต

เมื่อฝนหยุด พวกมันจะเดินกิน ได้รับอาหารอันเป็นผลพลอยได้จากการทำงานอย่างสบายอารมณ์

ในทุ่งหญ้า มีความอุดมสมบูรณ์ ความมืดมิดไม่ใช่อุปสรรคของการมองเห็น

จากบนเปล ผมนอนฟังเสียงกระทิงกู่ร้องรับกันไป-มา

เสียงกระทิงแทรกมาพร้อมกับเสียงคำรามกึกก้องของท้องฟ้า

 

พรุ่งนี้ผมจะพบกับเส้นทางอันมีสภาพเป็นโคลน

เดินอยู่บนทางที่เป็นโคลน การลื่นไถลคือเรื่องธรรมดา

“ครู” ผู้มีสี่ตีน ซึ่งเดินไปล่วงหน้า สอนไว้เช่นนั้น…