เครื่องเคียงข้างจอ : รำลึกถึงพนมเทียน / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

รำลึกถึงพนมเทียน

ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติมิตรของ “คุณโต้ง” ฐากูร บุนปาน รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา

ผมได้มีโอกาสไปร่วมสวดพระอภิธรรมศพครั้งหนึ่ง เห็นผู้คนมากมายมาร่วมงานจากหลายวงการ ก็ทราบได้ทันทีถึงความเป็น “คุณโต้ง ฐากูร” ที่ทุกคนรักใคร่ และบอกเสียดายที่ด่วนจากไปเร็วกันทั้งนั้น

แต่นี่แหละคือสัจธรรมของชีวิต ที่ไม่มีอะไรแน่นอนยิ่งกว่าความตายแล้ว

พูดถึงงานศพ วันก่อนผมได้รับหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของ คุณฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือ พนมเทียน เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นที่รักและเสียดายในการจากไปของคนที่รู้จัก รวมทั้งแฟนหนังสือด้วย

ในหนังสือนอกจากคำรำลึกถึงและแสดงความอาลัยจากผู้คนหลากหลายวงการที่มีต่อ “พนมเทียน” แล้ว ที่อ่านได้อย่างสนุกคือเรื่องราวประวัติชีวิตของพนมเทียน ที่พนมเทียนเป็นผู้เขียนไว้เอง

จากชีวิตวัยเด็กที่อ่านสนุกโลดโผนเหมือนอ่านนวนิยายเรื่องหนึ่ง ก็ต่อมาถึงเรื่องราวของการเป็น “นักประพันธ์” ซึ่งพนมเทียนได้บันทึกไว้ว่า เขาฝันอยากเติบโตขึ้นเป็นนักประพันธ์มาตั้งแต่ยังเด็ก อันเกิดจากนิสัยรักการอ่านนั่นเอง อ่านดะไปหมดกับหนังสือทุกประเภท

เขาเล่าว่ากลิ่นอายของการเป็นนักประพันธ์เริ่มต้นตอนเรียนอยู่ชั้น ม.6 ที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เริ่มจากการบันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันลงในไดอารี่ ซึ่งจะว่าไปแล้วนักเขียนดังๆ หลายคนก็เริ่มต้นจากไดอารี่นี้เช่นกัน

“…แต่เวลามีชั่วโมงของวิชาเรียงความ ผมทำคะแนนได้เลวมาก ครูมักจะตำหนิติติงและให้คะแนนต่ำเหลือเกิน”

ที่ได้คะแนนเลวนั้น พนมเทียนอธิบายว่าเป็นเพราะเขาเขียนด้วยทักษะภาษาแบบนักเขียนเขียนนิยาย ไม่ใช่แบบนักเรียนเขียนเรียงความ อย่างเช่นเขียนว่า “…ชีวิตของข้าพเจ้า เป็นชีวิตที่ห่างพ่อไกลแม่…” ครูเอาไปตรวจและบอกว่า “ต้องเป็นห่างไกลพ่อแม่ ไม่ใช่ ห่างพ่อ ไกลแม่”

ถ้าเป็นสมัยนี้เขาเรียกว่าเตะสกัดจุดไม่ให้เกิด แต่คนจะเกิดก็ต้องเกิดนะครับ

พนมเทียนเขียนนิยายเรื่องแรกไว้บนด้านหลังของสมุดจดวิชาประวัติศาสตร์ ชื่อเรื่อง “เห่าดง” เป็นการเขียนโดยสนองความต้องการเป็นนักเขียนเท่านั้น เขียนเสร็จแล้วก็เก็บนิ่งในสมุดนั่นแหละ จะบอกเพื่อนว่าตัวเองเขียนนิยาย ก็อายไม่กล้าบอก

ความมาแตกเมื่อเพื่อนคนหนึ่งเอาสมุดเล่มนั้นไปดูและเห็นเข้า อ่านเสร็จก็เอาไปโพนทะนาบอกเพื่อนในชั้นเรียน พนมเทียนเลยได้รับเสียงหัวเราะและคำล้อเลียนกลับมาว่า “นักประพันธ์ไส้แห้ง”

ผมเองก็เคยเจอคำนี้เหมือนกัน เมื่อเขียนเรียงความว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร และได้เขียนว่าอยากเป็นนักประพันธ์ ก็โดนครูพูดเปรยๆ ว่า “เป็นนักประพันธ์ไส้แห้งเหรอ” ผมยังจำน้ำเสียงที่ดูแคลนนั้นได้

เรื่อง “เห่าดง” บทประพันธ์ชิ้นแรกนี้ได้ถูกตีพิมพ์เป็นเล่มก็เมื่อหลังจากนั้นมา 8 ปี หลังจากที่เขาเริ่มมีชื่อเสียงบ้างแล้ว

ซึ่งจุดเริ่มของชื่อเสียงก็มาจากนิยายเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” นั่นเอง

จุฬาตรีคูณ เป็นงานเขียนของพนมเทียนในวัย 17 ปี เมื่อครั้งเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้แรงบันดาลใจของเรื่องราวมาจากตอนหนึ่งของเรื่อง “กามนิต” ที่ได้เอ่ยถึงการมาบรรจบกันของแม่น้ำสามสาย คือแม่น้ำบนโลกสองสาย และกับสวรรค์อีกหนึ่งสาย ตำแหน่งที่มาบรรจบกันนั้นเรียกว่า “จุฬาตรีคูณ”

เขาถูกใจคำว่า “จุฬาตรีคูณ” มาก เก็บไว้ในความทรงจำและฝันต่อว่า ถ้าเอามาเขียนต่อเป็นนิยายรักเศร้าๆ สักเรื่องหนึ่งคงจะดี แต่ยังหาพล็อตเรื่องที่ถูกใจไม่เจอ

วันหนึ่งได้มีโอกาสไปอ่านตำราของเทววิทยา ได้เจอเรื่องราวของเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ “นาร์ซิสซัส” ที่หลงเงาตัวเองในน้ำ เขาก็มาคิดต่อว่าถ้าเป็นผู้หญิงล่ะ แต่ให้เกลียดเงาตัวเองในน้ำแทน จะเป็นยังไง ก็ต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกลียดความสวยของตัวเอง จนสานต่อออกมาเป็นเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” ตามที่ใจฝันได้สำเร็จ

เขานำต้นฉบับไปเสนอกับสำนักพิมพ์สองแห่งก็ได้รับการปฏิเสธ แต่คนจะดังมันก็ดัง เมื่อต้นฉบับเรื่องจุฬาตรีคูณถูกส่งไปอยู่ในมือของ “ครูแก้ว อัจฉริยะกุล” เจ้าของคณะละครวิทยุ “แก้วฟ้า” ที่โด่งดัง

ครูแก้วคงเห็นแววของการเป็นนักประพันธ์ของเด็กอายุ 17 นี่ หลังจากเรียกมาดูตัวและสอบถามให้แน่ใจว่าเป็นคนเขียนเองจริงๆ ครูแก้วก็บอกว่าจะส่งเสริมด้วยการนำมาเสนอเป็นละครวิทยุ และจะเขียนเพลงประกอบละครให้ด้วย

ครูแก้วได้ขอให้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์เขียนทำนองเพลงให้ถึง 5 เพลง โดยครูแก้วเป็นคนใส่เนื้อ ต่อมาเพลงทั้ง 5 เพลงนี้ก็ได้รับความนิยมและโด่งดังเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ ได้แก่เพลง “จุฬาตรีคูณ” “เจ้าไม่มีศาล” “อ้อมกอดพี่” “ใต้ร่มมลุลี” และ “ปองใจรัก”

จุฬาตรีคูณมาตอกย้ำความดัง เมื่อนำมาแสดงเป็นละครเวทีที่ศาลาเฉลิมไทย มีคนไปชมมากในเวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 อาทิตย์ และทำรายได้สูง

ชื่อของพนมเทียนในฐานะนักประพันธ์รุ่นใหม่ก็เกิดขึ้นในโลกวรรณกรรมตั้งแต่บัดนั้น

หลังจากนั้นจุฬาตรีคูณก็ได้รับการตีพิมพ์ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องเพชรพระอุมา” ที่แฟนหนังสือรู้จักดี

“เพชรพระอุมา” เป็นบทประพันธ์ที่สร้างสถิติว่าใช้เวลาเขียนนานที่สุดในโลก พนมเทียนใช้เวลาเขียนรวมทั้งสองภาคถึง 25 ปี 7 เดือนกับ 2 วัน

เริ่มเขียนวันที่ 19 พฤศจิกายน 2507 มาจบเอาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 เฉลี่ยเขียนตอนละ 1 อาทิตย์

เริ่มต้นจากที่เขียนเป็นรวมเล่ม แล้วพนมเทียนค่อยมาเขียนต่อเป็นตอนๆ ลงในนิตยสาร “จักรวาล” รายสัปดาห์

ตอนปี 2516 เขียนเพชรพระอุมาไปได้ราว 3 ใน 4 พนมเทียนเจ็บหนัก หายใจไม่ออก นึกว่าตนเองจะตายก่อนเพชรพระอุมาจบ โชคดีได้สองเพื่อนในวงวรรณกรรมคือ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ กับราช เลอสรวง พาส่งโรงพยาบาลทัน

ในหนังสือที่ระลึก พนมเทียนเขียนไว้ว่า

“ปี 2533 ผมขียน ‘เพชรพระอุมา’ จบตอนตี 2 เรียกลูกมา ถ้าพ่อตายอ่านให้จบนะ รู้สึกแบบนั้นจริงๆ นักอ่านหลายคนก็รู้สึกอย่างนี้ กลัวตายก่อนเรื่องจะจบ เป็นห่วง อยากให้ลูกหลานอ่านต่อ”

มีเรื่องตลกเรื่องหนึ่ง ที่บ้านหลังหนึ่งที่เชียงใหม่ มีโจรงัดเข้าบ้าน ทั้งที่มีทรัพย์สินอย่างอื่น แต่โจรเอาไปแค่หนังสือ “เพชรพระอุมา” 12 เล่มเท่าที่มี ทีวี วิทยุ อะไรก็ไม่เอา ตำรวจยังงง

น่าจะเป็นโจรมีการศึกษา รักการอ่าน และมีรสนิยมดีเป็นแน่…

“เขียน ‘เพชรพระอุมา’ จบ โล่งอก มีความสุขมากที่ได้ตามปรารถนา ทุกวันนี้ภูมิใจมาก เกมโอเวอร์ ตัวคนเขียนถึงเวลาจบแล้ว ตรงข้ามกับคนอ่าน ยังอาลัยอาวรณ์…ผมพอแล้ว เขียนต่อไป ยี้จะมากกว่าชมเชย ตอนนี้ตัวละครติดอยู่ในใจคนอ่านแล้ว ติดแม้แต่ลูกหาบที่บทบาทน้อย แต่เราสร้างเขาจนมีชีวิตจิตใจ”

พนมเทียนให้แง่มุมของคนที่อยากเป็นนักเขียนว่า นักเขียนควรรอบรู้ในสิ่งที่จะเขียน หากไม่รู้ เขียนไปไม่สำเร็จหรอก วิธีการเรียนรู้ก็มีทั้ง เรียนจากตำรา จากประสบการณ์ตัวเอง หรือถามผู้รู้

“เพชรพระอุมา ตอน 2 มีเรื่องนิวเคลียร์ ผมเรียนเรื่องนิวเคลียร์อยู่นาน กว่าจะเขียนได้ ต้องพหูสูตร ไม่งั้นตกม้าตาย เราเขียนคนเดียว คนอ่านเราทั้งประเทศ คนที่ชำนาญวิชาเฉพาะก็มี ถ้าเขาปฏิเสธ ก็จบเลย”

นั่นทำให้ผลงานของพนมเทียนจึงมีหลายแนว ทั้งเรื่องบู๊ ผจญภัย นิยายรัก เรื่องอิงประวัติศาสตร์ สืบสวนสอบสวน รวมทั้งแนวสารคดี

นักประพันธ์ดังอย่างพนมเทียน ย่อมได้รับการเชิญไปขึ้นเวทีเสวนาวรรณกรรมบ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งพิธีกรถามว่า “เขียนอย่างไรจึงอยู่ในใจนักอ่าน”

พนมเทียนตอบแบบไม่ต้องคิดมากว่า

“ก็เขียนให้มันสนุกสิ” เรียกเสียงหัวเราะจากคนทั้งหอประชุม

รึคุณว่าไม่จริงครับ