เอกชนท่องเที่ยวน้อยใจ โควิด ทุบธุรกิจสาหัส ซ้ำไร้วี่แววความช่วยเหลือจากรัฐ / เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

เอกชนท่องเที่ยวน้อยใจ

โควิด ทุบธุรกิจสาหัส

ซ้ำไร้วี่แววความช่วยเหลือจากรัฐ

ที่ผ่านมา คนทำงานในภาคการท่องเที่ยว ภูมิใจกับการหารายได้และสร้างเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ

ในปี 2562 มีรายได้ภาคการท่องเที่ยว มูลค่ากว่า 3.01 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นคนต่างชาติจากทั่วโลกมาไทย มูลค่า 1.93 ล้านล้านบาท จากยอดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.7 ล้านคน ขณะที่ตลาดคนไทยเที่ยวไทย มีการเดินทางจำนวน 166 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้มูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท

จากตัวเลขดังกล่าวถูกยกเป็นเครื่องจักรตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และที่ผ่านมาไม่ว่าจะเจอวิกฤตอย่างไร แต่ภาคท่องเที่ยวก็ยังเดินหน้าต่อ…

แต่วันนี้ หนังคนละม้วน

ย้อนไปต้นปี 2563 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ตั้งเป้าหมายโตอย่างต่ำก็ 10-15% ทั้งแง่มูลค่าและปริมาณ ต่างก็คิดแผนงาน/กิจกรรม/โปรโมชั่นเตรียมไว้พร้อม บนความหวังรัฐบาลเพิ่มวันหยุดพิเศษ และขยายช่วงวันหยุดพิเศษให้มากขึ้น เดิมเคย 3 วัน ก็เป็น 4-5 วัน อิ่มเอิบกันถ้วนหน้า

จนเมื่อความวิตกต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามากระทบคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย หนักขึ้นในเดือนมีนาคม 2563 จนต้องประกาศล็อกดาวน์พร้อมมาตรการเข้มงวดเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัวเลขการติดเชื้อก็เพิ่มๆ ลดๆ ตามวิถีการใช้ชีวิตของประชาชนและมาตรการที่รัฐออกมาดูแล

รัฐบาลเลือกใช้ยาแรง ประกาศหยุดประเทศ ปิดน่านฟ้า สายการบินทยอยปิดตัวเอง ความวิตกลุกลามและกลายเป็นเชื้อไฟที่มอดไหม้ธุรกิจไปพร้อมๆ กัน หนักสุด ตั้งแต่เริ่มแรก ยกให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รายได้ใหม่ไม่มี เงินเก่าเริ่มหมด ทยอยตกงาน

การจะเปลี่ยนอาชีพก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำกันง่ายๆ ใน 1-2 เดือน

พิษเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดในปี 2563 กระหน่ำตัวเลขภาคการท่องเที่ยวเสียหายทำสถิติเป็นประวัติการณ์ แยกเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศ รายได้รวมเหลือ 4.8 แสนล้านบาท ติดลบหนัก 55% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีรายได้ถึง 1.08 ล้านล้านบาท

ในแง่จำนวนนักท่องเที่ยว อยู่ที่ 90.74 ล้านคน ติดลบหนักเช่นกันถึง 47%

เมื่อรวมกับรายได้การท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศอีก 3.32 แสนล้านบาท ติดลบกว่า 82% เทียบกับปีก่อนหน้า จากฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.69 ล้านคน ติดลบ 83% ทำให้ทั้งปี 2563 ประเทศไทยมีรายได้การท่องเที่ยวรวมแค่ 8.12 แสนล้านบาท ติดลบถึง 73%

ตลอดกว่า 10 เดือนที่ไทยเผชิญโควิด-19 และรัฐบาลประกาศใช้มาตรการเข้มงวดการเดินทาง แต่ในประเทศกันเอง ธุรกิจภาคท่องเที่ยวก็เดินเข้า-ออกหน่วยรัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมตะโกนถามรัฐบาลเกือบทุกเดือน ว่า “เขาจะได้รับการช่วยเหลือ และถึงคิวรัฐฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวเสียที”

ยกเหตุผลร่ายยาว ถึงเหตุที่รายได้เคยได้หายไปอย่างไร ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวยืนยันเหนื่อยมากมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ประคับประคองกันมาจนเข้าเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งรัฐก็ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือโดยตรง

แต่ก็มีความหวังเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ต่อเนื่องมาหลายเดือน ก็มีหวังกับปลายปี เข้าเทศกาลหยุดยาวรับปีใหม่ ต่างชาติมาไม่ได้ไม่เป็นไร มีคนไทยเที่ยวก็ยังดี ก็ฝันสลายเมื่อโควิด-19 กลับมาระบาดรอบใหม่ในประเทศไทย

ทุกอย่างย้อนกลับมาเหมือนฉายหนังซ้ำ รัฐออกคำสั่งชะลอการเดินทาง และทยอยปิดพื้นที่เสี่ยงที่เจอผู้ติดเชื้อ เพียงเดือนเศษก็เข้าไปกว่า 30 จังหวัด เชิงธุรกิจเมื่อรอบแรกยังไม่ทันได้ฟื้นตัว ถูกกระแทกรอบสองอีก ก็ตอกย้ำเรื่องความเดือดร้อนและร้องขอให้รัฐบาลช่วย ย้ำเดิมในเรื่องการเพิ่มสภาพคล่อง ผ่านการเข้าถึงโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ซึ่งรอบแรกยังคาราคาซัง และติดในหลักธรรมชาติของการค้า เมื่อธุรกิจใดยังไม่เห็นอนาคต ธนาคารหรือจะปล่อยกู้ ดังนั้น จึงตั้งเงื่อนไขที่ยุ่งยาก จนเข้าไม่ถึงเอง ไม่ผิดทั้งคำสั่งรัฐและธุรกิจไม่เสี่ยงต้องเจอหนี้สูญในอนาคต

ขึ้นปีใหม่เกือบหมดเดือนมกราคม หลายมาตรการช่วยเหลือ แจกเงิน อมยิ้มกันถ้วนหน้า แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้ว 3 ครั้ง ก็ยังไร้วี่แวว มาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว

ล่าสุด ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ออกมาสะกิดอีกครั้ง ว่า การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในไทย กำลังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างหนัก

จากความยืดเยื้อครั้งนี้ อาจทำให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวต้องตกงานมากกว่า 2 ล้านคน จากที่คาดว่าแรงงานภาคท่องเที่ยวมีประมาณ 4 ล้านคน

นั่นแค่ตัวเลขประมาณการ แต่ตัวเลขแรงงานภาคท่องเที่ยวทุกส่วนจริง มากมายกว่านี้ เอกชนจึงเสนอให้ภาครัฐจัดตั้ง “ธนาคารแรงงาน” ขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลจริงของแรงงานทั้งหมดในภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้ชัดเจนไปเลยว่า ขณะนี้มีแรงงานจำนวนเท่าใด แบ่งเป็นแรงงานด้านใด ที่มีงานทำเท่าไหร่ ตกงานแล้วเท่าไหร่ และกำลังตกงานอีกเท่าไหร่

เรื่องนี้ สทท.พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดตั้งธนาคารแรงงาน ขอเพียงรัฐบาลให้การสนับสนุนเท่านั้น โดยนำเสนอนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แล้ว โดยเสนอว่าควรป็นเรื่องเร่งด่วน และจัดทำก่อนเดือนมีนาคมนี้

บทบาทธนาคารแรงงาน คือ เพื่อให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือผู้ถูกพักงาน สามารถสมัครเข้ามาเพื่อหาโอกาสในการทำงานได้ โดยผู้ประกอบการก็สามารถเข้ามาเลือกจ้างผู้ที่มีทักษะตรงกับความต้องการได้ โดยแรงงานที่ยังเหลืออยู่ จะได้รับการแนะนำเพื่อไปพัฒนาทักษะอัพสกิลหรือรีสกิลเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่างๆ เพราะยังเชื่อว่า ข้อเสนอเร่งรัดเรื่องซอฟต์โลน และมาตรการช่วยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานคนละครึ่ง (โคเพย์) ระหว่างรัฐและเอกชน ไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน อาจใช้เวลานาน

ขณะที่การจัดตั้งธนาคารแรงงานสามารถนำรายละเอียดข้อมูลจริงของแรงงาน ช่วยเสริมให้รัฐบาลเห็นภาพ และออกความช่วยเหลือได้ชัดเจนและทันเวลา บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ

“แนวคิดโคเพย์ ต้องออกมาช่วยเหลือแรงงานในภาคการท่องเที่ยวจริงๆ เพราะเอกชนไม่ได้ขอให้รัฐช่วยจ่ายเงินเดือนให้ทั้งหมด แต่เป็นการจ่ายร่วมกันคนละครึ่ง ซึ่งหมายความว่าเอกชนมองแล้วเชื่อว่าธุรกิจจะสามารถกลับมาได้อย่างแน่นอน แต่โคเพย์จะต้องออกมาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีความชัดเจน อาทิ รัฐบาลมีงบฯ ให้ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้กับโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวใดบ้าง และจะออกมาช่วงใด ใช้เงินเท่าใดจนกว่าจะหมดตามแผนที่วางไว้”

“ขณะนี้สถานการณ์ยิ่งปล่อยไว้นานไป จะยิ่งแย่ลง หากรัฐไม่มีอะไรออกมาช่วยเหลือ หากตอนนี้ไม่ช่วย เมื่อสถานการณ์แย่ลงมากกว่านี้ ก็ต้องหาทางช่วยเหลืออยู่ดี ถึงตอนนั้นอาจต้องช่วยในระดับที่มากขึ้นอีก”

ชํานาญทิ้งท้ายว่า ที่น่าวิตกสำหรับเอกชน คือเมื่อถามความชัดเจนจากรัฐบาล พบว่า ข้อเสนอของเขายังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง

และแค่ความเป็นไปได้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาคการท่องเที่ยว ซึ่งก็ไม่มีความชัดเจน ทั้งที่ทุกฝ่ายไม่มีใครปฏิเสธว่าภาคการท่องเที่ยวเจ็บหนักหน่วง และเป็นเครื่องยนต์หลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมา ภาคเอกชนเหมือนถูกลืมเลือน

พร้อมกับสะอื้นไห้กับเงินที่ควรได้ในฤดูท่องเที่ยวอย่างช่วงตรุษจีน ที่ปีนี้ตรงกับสัปดาห์ที่สองเดือนภุมภาพันธ์ ซึ่งแต่ละปีแค่ช่วงนี้ก็สร้างเงินสะพัดหลายแสนล้านบาท