ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2564 |
---|---|
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
สงครามวัคซีน
ไม่ใช่มีเพียงไทยเท่านั้นที่กำลังถกเถียงเรื่องวัคซีนที่ใช้ต้านโรคโควิด-19 ทั่วโลกก็กำลังถกเถียงเรื่องนี้อยู่ แล้วข้อถกเถียงก็มีนานัปการด้วย
สำหรับคนที่สนใจรัฐศาสตร์ ข้อถกเถียงเรื่องวัคซีนนี้ก็มีหลายประเด็น
อันหนึ่งที่น่าสนใจคือ วัคซีนในฐานะเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ก่อประเด็นการเมืองระหว่างประเทศสำคัญคือ ภูมิรัฐศาสตร์
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ นำเสนอเอาไว้น่าสนใจแล้วในมติชนสุดสัปดาห์ (วัคซีนแอนตี้โควิด : อาวุธใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ 3 ตอน ในมติชนสุดสัปดาห์)
วัคซีน : อาวุธใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์
ด้วยการค้นคว้าข้อมูลอย่างกว้างขวางและลุ่มลึก บทความของท่านอาจารย์เกษียรช่วยให้ผมพอประมวลความสำคัญของโควิด-19 และวัคซีนให้ผู้อ่านเห็นได้ว่า ท่ามกลางมหันตภัยของโควิด-19 และการผลิตวัคซีนแอนตี้โควิดก่อขึ้นพร้อมด้วยความยุ่งยากได้แก่ การทดลองวัคซีนนับเป็นสิ่งใหม่ทางการแพทย์ การคาดการณ์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ยังไม่แน่นอนถึงประสิทธิผลของวัคซีนกับการรักษาโรคระบาด วัคซีนนี้จึงยังคงสุ่มเสี่ยงด้วยภัยของโรคระบาดซึ่งเกิดขึ้นใหม่ โรคระบาดยังเป็นภัยต่อชีวิตของประชากรในโลก มีการใช้งบประมาณมหาศาล และยังอาจสร้างความพินาศต่อเศรษฐกิจมหาศาลอย่างไม่รู้จบ
กล่าวสำหรับแง่มุมทางรัฐศาสตร์ ผมคิดว่าแง่มุมทางรัฐศาสตร์ในประการสำคัญคือ
โรคระบาดและวัคซีนกลายเป็นอาวุธใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างชาติมหาอำนาจที่ต่อกรกันเพื่อช่วงชิงอำนาจนำ (Hegemony) ทางการเมืองระหว่างประเทศ ผ่านอาวุธเคมีชนิดหนึ่งคือ วัคซีนแอนตี้โควิด-19
ค่ายการเมืองของวัคซีนแอนตี้โควิด
หากสรุปอย่างคร่าวๆ ค่ายการเมือง น่าจะมี 3 ค่ายการเมืองคือ
1. สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป
2. สาธารณรัฐประชาชนจีน
3. องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ซึ่งเป็นองค์กรโลกบาล (หรือองค์กรดูแลโลก ตามคำเรียกขานของศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งดำเนินการผ่าน โครงการ (COVAX) Gani กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovation)
ดูผิวเผินแล้ว อาจจะคิดว่าผมและผู้ที่คิดเรื่องทำนองนี้ช่างมองอะไรด้านเดียวคือ มองอะไรเป็นการเมืองหรือรัฐศาสตร์ไปเสียทั้งหมด นั่นคือ มองอะไรเป็นการเมืองแห่งการช่วงชิงผลประโยชน์ด้านต่างๆ ไม่เว้นโรคระบาดใหม่ร้ายแรงของโลก ไม่เว้นเรื่องสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์การแพทย์
ไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ครับ แต่การมองเป็นการเมืองนั้นกลับช่วยให้เห็นความจริงชนิดหนึ่งของมนุษย์ รัฐ-ประชาชาติและโลก อันช่วยให้เราเห็นอะไรอื่นๆ อีกด้วย
ตรงข้าม หากมองแค่วิทยาศาสตร์การแพทย์เพียงอย่างเดียวย่อมเห็นแต่ไวรัส พยาธิวิทยา และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งอาจเป็นเพียงเทคนิควิธีเท่านั้น ไม่เห็นมนุษย์และผลประโยชน์เลย
หากมองค่ายการเมืองของวัคซีนแอนตี้โควิด การแบ่งค่ายการเมืองคือสหรัฐ จีนและองค์การอนามัยโลกก็หยาบเกินไป แบ่งแค่โลกเสรีประชาธิปไตย โลกสังคมนิยม และสุดท้ายคือ โลกที่ 3 หรือโลกกำลังพัฒนาที่นำโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศแนวสันติเพื่อประเทศยากจน ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ แต่ขอละเอาไว้ก่อนครับ
ความจริงทางการเมืองระหว่างประเทศยังต้องมองเห็นปัจจัยอื่นที่ลึกไปกว่านี้
การเมืองในวิทยาศาสตร์ ยา และภูมิรัฐศาสตร์
ในความจริง การเมืองระหว่างประเทศยังมีด้านวัฒนธรรม มีการโฆษณาชวนเชื่อและ soft power เป็นต้น ในทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี อาวุธมหาประลัยชนิดต่างๆ สร้างขึ้นภายใต้อุดมการณ์ล้างเผ่าพันธุ์ เป็นต้น การแพทย์และการเมืองของความช่วยเหลือ (politics of aids) เช่น แพทย์เท้าเปล่าของจีน ยาเสพติดและองค์กรเป็นเรื่องของ Narcotic politics ของ CIA เป็นตัวอย่างของการเมืองระหว่างประเทศว่าด้วยยาและอาชญากรรมข้ามชาติได้ด้วย
ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อเราแบ่งค่ายการเมืองและประเภทวัคซีนต้านโควิด-19 เราแบ่งค่ายและวัคซีนโดยย่อดังนี้
สหรัฐ วัคซีนคือ Pfizer-BioNtech (สหรัฐและเยอรมนี) Moderna, Johnson & Johnson และ Novavax
อังกฤษ วัคซีนคือ AstraZeneca-Oxford University (สวีเดนและสหราชอาณาจักร)
สาธารณรัฐประชาชนจีน วัคซีนคือ บริษัท CanSino, China National Pharmaceutical Group Sinopharm (จีนและบราซิล) และ Zhifei Biologica1
แต่เมื่อมองการเมืองของการใช้วัคซีนต้านโควิด ไปตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก การใช้วัคซีนต้านโควิดของจีนและอินเดียเป็นดังนี้
อินเดียให้วัคซีนฟรีเอเชียใต้
เนปาล
บังกลาเทศ
ภูฏาน
มัลดีฟส์
ซีแซล
อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
เมียนมา
กัมพูชา
จีนให้วัคซีนเอเชียใต้
เนปาล
ศรีลังกา
ปากีสถาน
อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
เมียนมา
กัมพูชา
สปป.ลาว
เมื่อดูการกระจายวัคซีนต้านโควิด เราจะเห็นอินเดียต้านจีนในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยอินเดียใช้นโยบายการทูตวัคซีนในเอเชียใต้ (Vaccine Diplomacy in South Asia) ให้วัคซีนฟรีแก่เนปาล บังกลาเทศ ภูฏาน มัลดีฟส์ ซีแซล (Seychelles) อินเดียให้ฟรีวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดย the Serum Institute of India อินเดียเป็นประเทศที่มีโรงงานผลิตวัคซีนใหญ่ที่สุดในโลก2
ส่วนจีนนั้น จากข้อมูลของ Reuters จีนให้วัคซีน Sinopharm แก่ปากีสถาน3 และเนปาล (ซึ่งกำลังพิจารณาคำขอของทางการจีนอยู่) ให้วัคซีน จีนให้วัคซีน Sinovac Biotech ฟรีแก่กัมพูชา โดยที่ก่อนหน้านั้นจีนเสนอขายวัคซีนให้กัมพูชา
วัคซีนต้านโควิด-19 ของจีนเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งสนับสนุนมหายุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative-BRI สำหรับ BRI การลงทุนก่อสร้างถนน สะพาน ทางรถไฟ ท่าเรือเพื่อเป็นโครงข่ายการคมนาคม การค้าและบริการ การสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิตอลในเอเชีย ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลางทั้งภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทร นับเป็นภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ แห่งศตวรรษที่ 21 นำโดยจีน
วัคซีนต้านโควิดทั้งให้ฟรีและขายย่อมช่วยกระฉับภูมิรัฐศาสตร์ใหม่อีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่กำลังเข้าถึงระบบสาธารณสุข วิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบาดวิทยาของนานาชาติ เรียกว่า เข้าถึงเซลล์ ดีเอ็นเอและรหัสพันธุกรรมกันเลยทีเดียว
ดังนั้น ไม่เพียงแต่ค่ายสหรัฐ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรปและจีนเท่านั้น ค่ายอินเดียจึงเคลื่อนไหวโดยพลัน
การเมืองของวิทยาศาสตร์การแพทย์
1Le Monde 21 January 2021
2″To counter China, India pursues vaccine diplomacy in South Asia” Al Jazeera 21 January 2021
3Reuters 19 January 2021