ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
กาแฟดำ
สุทธิชัย หยุ่น
เมื่อ ‘มาดามเจียง’ บุก
ทำเนียบขาว, สภาคองเกรสมะกัน
ถ้าวันนี้ใครบอกว่าสหรัฐกับจีนเคยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันอาจจะไม่มีใครเชื่อเท่าไหร่
เพราะเรื่องเล่าตลอดประวัติศาสตร์ช่วงหลังนี้สองยักษ์ใหญ่มีแต่เรื่องความขัดแย้งและสงคราม
แต่ครั้งหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐเข้ามาช่วยจีนที่นำโดยเจียงไคเช็กที่ปกครองสาธารณรัฐจีนขณะที่เขายังประหัตประหารกับเหมาเจ๋อตุงที่เป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่
ศัตรูร่วมของทั้งสองคือญี่ปุ่นที่รุกรานจีน
ญี่ปุ่นบุกจีนในปี 1937 และยึดเมืองใหญ่ๆ ของจีนได้อย่างง่ายดาย แต่ก็ต้องเผชิญกับแรงต้านของประเทศตะวันตกหลายชาติที่มีอิทธิพลอยู่ในจีนขณะนั้น
ในบรรดาประเทศตะวันตกนั้น สหรัฐเป็นประเทศแรกที่ยื่นมือช่วยจีนโดยหวังจะสกัดการรุกคืบของญี่ปุ่น
สหภาพโซเวียตเป็นสหายของจีนเพราะมีความขัดแย้งกับญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
มอสโกส่งหน่วยทหารอาสาสมัครจากกองทัพอากาศมาช่วยจีนในช่วงปีแรกของการสู้รบกับญี่ปุ่น
แต่หลังจากนั้นสหรัฐก็ยื่นมือเข้าช่วยจีนต้านญี่ปุ่นอย่างเต็มกำลัง
แรกเริ่ม วอชิงตันช่วยจีนอย่างไม่เป็นทางการ และหลายเรื่องเป็น “กิจการลับสุดยอด” ด้วยซ้ำไป
ผู้ประสานระหว่างจีนกับสหรัฐขณะนั้นคือสุภาพสตรีคนดัง “มาดามซ่งเหม่ยหลิง” ภรรยาของนายพลเจียงไคเช็ก, ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีน
เธอเป็นที่รู้จักกันดีในช่วงนั้นว่า “มาดามเจียง”

เธอเกิดที่เกาะไหหลำในปี 1897 แต่ไปโตที่สหรัฐ
ปี 1908 เธอและพี่สาว “ซ่งชิงหลิง” ไปเรียนหนังสือที่สหรัฐ
เธอเองเข้ามหาวิทยาลัยผู้หญิงชื่อดังคือ Wellesley College ในปี 1913
ด้วยเหตุนี้เธอจึงพูดและเขียนภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว และมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอเมริกันอย่างดียิ่ง อีกทั้งยังเป็นชาวคริสต์ที่เคร่งครัดด้วย
มาดามเจียงเรียนดนตรี, วรรณคดีและสังคมศาสตร์อย่างลึกซึ้ง
ต่อมาเธอศึกษาทฤษฎีการบิน และการออกแบบเครื่องบิน อีกทั้งยังให้ความสนใจอย่างยิ่งยวดในนิตยสารเกี่ยวกับชิ้นส่วนเครื่องบินและมาตรฐานการบินต่างๆ
ไม่แต่เท่านั้น มาดามเจียงก็ยังเป็นผู้นำการเจรจากับนักธุรกิจต่างชาติอย่างคล่องแคล่วอีกด้วย
ไม่ช้าไม่นานเธอก็ได้รับฉายาว่าเป็น “มารดาแห่งกองทัพอากาศของจีน”
เมื่อเธอต้องช่วยสามีสู้กับญี่ปุ่น (และเหมาเจ๋อตุงในเวลาต่อมา) มาดามเจียงเชิญนักบินอเมริกันชื่อพลโท Claire Lee Chennault มาช่วยพัฒนากองทัพอากาศของจีน
นายพลมะกันคนนี้แหละที่กลายเป็นคนสำคัญในการตั้งหน่วยรบทางอากาศช่วยนายพลเจียงไคเช็กทำสงคราม
เขากลายเป็นผู้ผลักดันรัฐบาลอเมริกันและออกข่าวให้คนอเมริกันร่วมกันสนับสนุนให้รัฐบาลของตนช่วยเหลือจีนในการทำสงคราม
เป็นที่มาของการตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐขณะนั้น Franklin Delano Roosevelt หรือ FDR อนุมัติให้สหรัฐทำ “ข้อตกลงลับ” ส่งเครื่องบินรบ P-40 รุ่นล่าสุดไปช่วยจีน
อีกทั้งยังอนุมัติให้ทหารอเมริกันที่เกษียณแล้วหรือในกองกำลังสำรองไปอาสาร่วมรบข้างเดียวกับจีน
หลังจากนั้นมีการก่อตั้งกองกำลังทางอากาศร่วมเฉพาะกิจที่เรียกว่า Chinese-American Composite Wing (Provisional) ในการต้านญี่ปุ่น
ผลก็คือญี่ปุ่นต้องถอยร่นไปในหลายจุดทีเดียว

วันที่ 1 สิงหาคม 1941 มีการก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครสหรัฐ (American Volunteer Group หรือ AVG) ที่เมืองคุนหมิงทางใต้ของจีน
ในเดือนธันวาคมปีนั้นเองนักรบมะกันกลุ่มนี้ตีพ่ายญี่ปุ่นในการปะทะกันครั้งแรก
สาเหตุที่ได้ชัยชนะอย่างชัดเจนก็เพราะมีฝูงบินจากอเมริกามาช่วย
รูปที่วาดติดบนเครื่องบินของฝูงบินนี้เป็นรูปหัวปลาฉลาม แต่ดูละม้ายคล้ายกับเสือ
เป็นที่มาของสมญา “Flying Tigers” หรือ “หน่วยรบเสือบิน” จนถูกจารึกเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐในช่วงนั้น
โลโก้ถูกออกแบบโดยมืออาชีพจาก Walt Disney Studios เลยทีเดียว
ถือเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับจีนที่แน่นเหนียวในยามที่ยังมีความคาดหวังว่าจีนจะกลายเป็นพันธมิตรของสหรัฐหากสามารถขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากจีน
สงครามโลกครั้งที่สองเปิดฉากขึ้นในแปซิฟิกในเดือนธันวาคม 1941 หลังญี่ปุ่นถล่ม Pearl Harbour ของสหรัฐ ทำให้อเมริกาประกาศสงครามกับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ
นั่นเป็นจุดที่มีการปรับรูปแบบและโครงสร้างของ AVG นักรบทางอากาศของสหรัฐที่มาช่วยจีนหลายครั้งก่อนที่จะแปรสถานภาพเป็นหน่วยรบทางอากาศเต็มรูปแบบที่เรียกว่า 14th Air Force
กองทัพอากาศจีนส่งนักบินไปฝึกที่อินเดียและสหรัฐ
พอฝึกเสร็จ นักบินของจีนเหล่านี้แหละที่กลับมากลายเป็นแกนสำคัญของกองทัพอากาศจีน
ในช่วงเวลานั้น มาดามเจียงก็ทำหน้าที่เป็นทูตพิเศษของจีนที่กล่าวปราศรัยผ่านสื่อต่างๆ ให้นักการเมืองและประชาชนคนอเมริกันเห็นความสำคัญของการจับมือกับจีนเพื่อเอาชนะสงครามให้ได้
เธอกลายเป็น “เซเลบ” ที่ทั้งสวย, ทั้งเก่ง และมีเสน่ห์ที่สื่อสหรัฐทุกสำนักต้องติดตามถ่ายรูป, สัมภาษณ์และเกาะติดความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าวของเธอ
บันทึกประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญที่สุดสำหรับมาดามเจียงเห็นจะเป็นการไปเยือนสหรัฐเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1943 ในฐานะตัวแทนของประธานาธิบดีเจียงไคเช็ก
นั่นเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน
ที่ฮือฮาเป็นพิเศษคือการที่มาดามเจียงได้เข้าพบประธานาธิบดี Franklin Roosevelt และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา
ยิ่งกว่านั้นยังได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาให้สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฟังอย่างเกรียวกราวด้วย
การที่สุภาพสตรีจากจีนซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาและไร้ศักยภาพระดับโลกมีโอกาสได้ปรากฏตัวต่อหน้าสภาคองเกรสถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูง
เพราะสหรัฐต้องการจะดึงให้จีนเป็นพวกเพื่อยันกับสหภาพโซเวียต
มาดามเจียงยังไปพบปะกับชาวจีนโพ้นทะเลในอเมริกาเพื่อปลุกระดมให้สนับสนุนการทำสงครามกับญี่ปุ่นที่บ้าน
เธอเป็นทั้งนักการทูตชั้นนำ และเป็นนักพูดที่สามารถน้าวโน้มผู้คนได้อย่างดีเยี่ยม
มาดามเจียงกล้าใช้ภาษาตรงๆ ในการตอกย้ำความสำคัญของอเมริกาที่จะต้องช่วยจีนในการสกัดการรุกคืบของญี่ปุ่น
เธอวาดภาพให้เห็นว่าหากญี่ปุ่นยึดจีนได้จะกลายเป็นมหาอำนาจเผด็จการที่ยึดครองเอเชียทั้งหมด
เป็นภาพที่น่ากลัวสำหรับคนอเมริกันในขณะนั้นเพราะนาซีเยอรมันและญี่ปุ่นวันนั้นเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นที่ยึดมั่นในหลัก “ฟาสซิสต์” ที่เป็นศัตรูสำคัญต่อเสรีนิยมและคอมมิวนิสต์ที่กำลังปราฏตัวขึ้นอย่างชัดเจน
ตัวละครที่สำคัญอีกคนหนึ่งในขณะนั้นคือ Henry Robinson Luce เจ้าของนิตยสาร Time, Fortune กับ Life อันทรงอิทธิพล
เขาเกิดที่เมืองชานตงของจีนในปี 1898 และมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับนายพลเจียงไคเช็กอย่างยิ่ง
พ่อแม่เป็นหมอสอนศาสนาอเมริกันที่ถูกส่งไปประจำประเทศจีน เขาจึงโตในประเทศจีนและมีความเข้าใจในวัฒนธรรมของจีนอย่างลึกซึ้ง
เฮนรี ลุส ใช้สื่อที่มีคนอ่านจำนวนมากในสหรัฐเป็นเครื่องมือสนับสนุนเจียงไคเช็กอย่างออกหน้าออกตา
เดือนกุมภาพันธ์ 1941 เขาตั้งกองทุนช่วยเหลือจีนชื่อ United China Relief และเชิญชวนให้ศิลปินคนดังของสหรัฐทำโปสเตอร์เพื่อกระตุ้นให้คนอเมริกันช่วยจีน
โปสเตอร์เหล่านี้เน้นว่าคนจีนสู้ศึกอย่างทุ่มเทและเสียสละเพื่อคนจีนและสหรัฐด้วย
แต่แล้วเมื่อเหมาเจ๋อตุงเข้ายึดปักกิ่งในปี 1949 และนายพลเจียงไคเช็กต้องหนีไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน…สหรัฐกับอเมริกาก็ประกาศเป็นศัตรูทางอุดการณ์ทางการเมืองอย่างร้อนแรง!